จากรุ่งอรุณถึงรัตติกาล: Days of Future Passed บทกวีแห่งเสียงเพลงที่สะท้อนวัฏจักรชีวิต
Days of Future Passed ปี 1967 ของวงร็อกสัญชาติอังกฤษระดับตำนานอย่าง The Moody Blues นี้เป็นอัลบั้มแนวโปรเกรสซีฟร็อกที่โดดเด่นด้วยการผสมผสานระหว่างวงออร์เคสตราและดนตรีร็อกเข้าด้วยกัน ทั้งยังถือเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ทรงอิทธิพลที่สุดของวงต่อวงการดนตรีอีกด้วย
อัลบั้มเปิดตัวด้วยบทกวีและซิมโฟนิกโอเวอร์เจอร์ (Overture: เพลงโหมโรงก่อนการแสดง ที่เล่นโดยวงดนตรีขนาดใหญ่) ภายใต้เพลง "The Day Begins" ถ่ายทอดแนวคิดเรื่องกาลเวลาที่ไม่หยุดนิ่ง และการเดินทางของชีวิตตั้งแต่ต้นจนจบ โดยใช้เสียงออร์เคสตราเต็มรูปแบบจาก London Festival Orchestra พร้อมบทกวีโดย Graeme Edge ที่มีน้ำเสียงลึกลับและทรงพลัง เสริมบรรยากาศของการเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ให้แก่อัลบั้มนี้
Peter Knight วาทยากรของวงออร์เคสตรา London Festival Orchestra ผู้มีส่วนสำคัญในการรังสรรค์เสียงเพลงให้กับอัลบั้มนี้
"Dawn: Dawn is a feeling" แทนภาพของเช้าวันใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวังและความไม่แน่นอนของอนาคต เสียงร้องของ Mike Pinder ผสานกับเมโลดี้ที่ลื่นไหลและเครื่องสายจากออร์เคสตราให้ความรู้สึกอบอุ่นและอ่อนโยน ขณะที่เปียโนและเมลโลตรอน (Mellotron) เสริมบรรยากาศของรุ่งอรุณได้อย่างลงตัว
ความไร้เดียงสาและความสุขในวัยเด็ก ถูกถ่ายทอดผ่านภาพของเช้าวันใหม่ที่สดใสใน "The Morning: Another morning" เสียงฟลูตที่เล่นโดย Ray Thomas เป็นเครื่องดนตรีหลักในเพลงนี้ สร้างบรรยากาศที่ร่าเริงตามแบบฉบับไซเคเดลิกร็อก (Psychedelic Rock) คล้อยตามด้วยเสียงร้องที่สดใสและจังหวะดนตรีที่มีความเบาสบาย ผ่อนคลาย ที่ถูกสื่อสารออกมาผ่านแนวคิดนี้
วง London Festival Orchestra ขณะแสดงสด ณ Royal Festival Hall ลอนดอน ช่วงทศวรรษ 1960s
จุดเปลี่ยนของอัลบั้มมาถึงในเพลงดังของวงอย่าง "The Afternoon: Forever afternoon" หรือคุ้นเคยกันในชื่อ "Tuesday Afternoon" ที่ถ่ายทอดอารมณ์ของช่วงบ่ายที่เต็มไปด้วยความคิดคำนึงถึงอดีตและอนาคต เมโลดี้อันนุ่มนวลของกีตาร์อะคูสติกและเสียงเมลโลตรอนสร้างความรู้สึกชวนฝัน เสียงร้องของ Justin Hayward ในท่อน "I'm just beginning to see / Now I'm on my way..." สะท้อนถึงอารมณ์หม่นหมอง จากการตระหนักถึงความหมายที่แท้จริงและความไม่แน่นอนของชีวิต
ช่วงเวลาเย็นใน "Evening: The sun set: Twilight time" เป็นจุดเปลี่ยนจากความวุ่นวายของวันสู่ช่วงเวลาแห่งความสงบอีกครั้ง การใช้เมลโลตรอนและเสียงเบสที่หนักแน่น ช่วยสร้างบรรยากาศของการเปลี่ยนผ่าน เสียงร้องของ John Lodge ถ่ายทอดความรู้สึกของการปล่อยวางและการมองหาความสงบในช่วงเวลาที่เหลือของวันนี้ได้เป็นอย่างดี
ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเวลาสุดท้ายของวัน ผ่านค่ำคืนที่เหน็บหนาวไปกับ "The Night: Nights in white satin" หนึ่งในเพลงที่ดังที่สุดของวง ที่เป็นดั่งบทสรุปของอัลบั้ม การถ่ายทอดอารมณ์ของความรัก ความโหยหา และการยอมรับสิ่งที่ผ่านไปแล้วถูกสะท้อนออกมาผ่านบทเพลง
เพลงนี้โดดเด่นด้วยเสียงเครื่องสาย เมลโลตรอน และเสียงร้องอันทรงพลังของ Justin Hayward ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ บวกกับจังหวะที่ช้าและหนักแน่น ท่อนเพลงที่ว่า "Letters I've written, never meaning to send..." คือความเสียใจและอารมณ์ที่ไม่เคยถูกเอื้อนเอ่ย เปรียบเหมือนสิ่งที่เราอยากพูดหรือทำ แต่กลับปล่อยให้มันผ่านไป
หรือท่อน "Just what you want to be, you will be in the end..." ก็เป็นประโยคที่เต็มไปด้วยความหวังแต่ก็คลุมเครือในเวลาเดียวกัน อาจหมายถึงโชคชะตาที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง หรือเราต่างเป็นผู้กำหนดโชคชะตาของตัวเองก็ได้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เพลงนี้กลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งของวงการดนตรีร็อกยุค 60s-70s
สมาชิกวง The Moody Blues ปี 1967 (ซ้ายไปขวา): Mike Pinder, Graeme Edge, Justin Hayward, Ray Thomas และ John Lodge
อัลบั้ม "Days of Future Passed" ไม่เพียงแต่เป็นอัลบั้มแนวคอนเซ็ปต์ที่เล่าเรื่องราวชีวิต ผ่านอารมณ์อันหลากหลายในหนึ่งวันเท่านั้น แต่ยังเป็นการเดินทางทางดนตรีอันงดงาม ด้วยการผสมผสานระหว่างร็อกกับออร์เคสตราได้อย่างสมบูรณ์แบบ อัลบั้มนี้จึงถือเป็นหนึ่งในผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ The Moody Blues และดนตรีแนวโปรเกรสซีฟร็อกไปโดยปริยาย