9 ชั่วโมงที่แล้ว • ข่าวรอบโลก

‘จีน’ กลัวอะไรที่สุด เมื่อ ‘ทรัมป์’ เดินหน้าผูกมิตรกับ ‘รัสเซีย’

การผลักดันการยุติสงครามในยูเครนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนพร้อมที่จะมอบผลประโยชน์บางอย่างให้กับรัสเซีย และทิ้งให้เคียฟ และชาติยุโรปคอยสนับสนุนอยู่แค่ข้างสนาม และกังวลความเป็นไปได้ที่ข้อตกลงสันติภาพอาจบรรลุข้ามหน้าข้ามตา
อย่างไรก็ตาม ยูเครน และชาติยุโรปไม่ได้เป็นผู้เล่นสำคัญเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องรับมือกับผลที่ตามมา จากการเปลี่ยนจุดยืนของทรัมป์ที่มีต่อรัสเซีย ซึ่งทำให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐพลิกผันไปอย่างรวดเร็วจากการทูตเดินเร็ว เพราะรัฐบาลปักกิ่งก็เผชิญเรื่องนี้เช่นกัน
เหตุการณ์ที่พลิกผันไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดคำถามว่า การขับเคลื่อนสันติภาพของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อย่างไร รวมถึงความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคงระหว่างจีน และรัฐบาลทรัมป์
เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน จีนดูเหมือนจะมีบทบาทสำคัญในความพยายามทำข้อตกลงสันติภาพของทรัมป์ โดยผู้นำสหรัฐได้ย้ำหลายครั้งว่า เขาสามารถทำงานร่วมกับ ปธน.สีได้ โดยอาศัยอิทธิพลเศรษฐกิจของจีนกับรัสเซียเพื่อช่วยยุติความขัดแย้ง ซึ่งถือเป็นอำนาจสำคัญสำหรับรัฐบาลปักกิ่ง และจีนก็มีความมุ่งมั่นหลีกเลี่ยงสงครามการค้ากับเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน
การดำเนินการดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับความพยายามมาอย่างยาวนานของจีน ที่ต้องการนำเสนอบทบาท และเป็นกระบอกเสียงที่เป็นกลางในกลุ่มประเทศโลกใต้ที่พร้อมเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้ง แม้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กล่าวโทษว่าจีนจัดหาซัพพลายในอุตสาหกรรมกลาโหมให้รัสเซียผ่านสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ซึ่งจีนแก้ต่างว่าเป็นการค้าแบบทั่วไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันปักกิ่งยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งการเจรจาในฐานะพันธมิตรของรัสเซีย หรือการเป็นกระบอกเสียงที่มีความสำคัญในระดับโลก และจีนยังคงอยู่นอกสนามของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้สังเกตการณ์มองว่า สถานการณ์นั้น ได้สร้างความประหลาดใจให้ทางการจีน และทำให้จีนต้องเปลี่ยนแปลง
• จีนกลัวสัมพันธ์รัสเซียสั่นคลอน
ซีเอ็น ระบุว่า การเดิมพันของ ปธน.สี นั้นสูงมาก ซึ่งสีได้พยายามสร้างสัมพันธ์อันดีผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัวของตนเองกับ ปธน.ปูติน และผ่านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ผู้นำจีนได้เดิมพันอย่างระมัดระวังในช่วงที่รัสเซียรุกรานดินแดนยูเครน 3 ปีที่ผ่านมา โดยหลีกเลี่ยงการประณามการรุกรานดังกล่าว และให้ประเทศจีนเป็นเส้นทางหล่อเลี้ยงชีวิตของปูติน ด้วยการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย และส่งสินค้าสำคัญไปขายให้รัสเซีย แต่นั่นทำให้ปักกิ่งสูญเสียความเชื่อมั่นจากยุโรป และทำให้พันธมิตรอเมริกันในเอเชียทำงานร่วมกับนาโตอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
• ขณะที่จีนก็พยายามแสดงการเข้าไปมีส่วนร่วมกับยุโรป แต่ดูเหมือนว่ายังคงถูกเมิน
สองสามวันที่ผ่านมา ทางการจีนได้แสดงการสนับสนุนข้อตกลงระหว่างสหรัฐ และรัสเซียเพื่อเริ่มการเจรจาสันติภาพ โดยหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันอังคาร (18 ก.พ.68) ว่า จีนสนับสนุนความพยายามทุกอย่างที่นำไปสู่การเจรจาสันติภาพ ซึ่งในวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่รัสเซีย และสหรัฐได้จัดประชุมร่วมกันในซาอุดีอาระเบีย เพื่อปูทางสู่การเจรจายุติสงครามในยูเครน
แต่ความคิดเห็นจากฝ่ายทางการสหรัฐในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงความพยายามดึงความสนใจออกจากจีน ไปที่เป้าหมายของสหรัฐแทน ซึ่งเป็นเป้าหมายเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับรัสเซีย
มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้เผยถึง โอกาสของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างวอชิงตัน และมอสโกในอนาคต ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ประเด็นที่ได้หารือร่วมกับรัสเซียในกรุงริยาด และก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน คีธ เคลล็อกก์ ผู้แทนรัสเซีย-ยูเครนของรัฐบาลทรัมป์ กล่าวต่อคณะผู้ร่วมอภิปรายในที่ประชุมความมั่นคงในเมืองมิวนิก เยอรมนีว่า สหรัฐหวัง "ผลักดัน" ให้ปูตินดำเนินการที่เขา “ไม่สบายใจ” ซึ่งอาจรวมถึงการขัดขวางพันธมิตรของรัสเซียกับอิหร่าน ซึ่งก็คือ เกาหลีเหนือ และจีน
ด้านผู้สังเกตการณ์สงสัยว่า การกระทำของรัฐบาลวอชิงตันจะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย-จีนหรือไม่ เพราะทั้งสองประเทศมีแผนที่ขัดแย้งกับความต้องการของสหรัฐ และเศรษฐกิจรัสเซียยังคงต้องพึ่งพาจีนอย่างหนัก
แต่ความกังวลใดๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้นกับจีน เช่นเรื่องที่ "ทรัมป์" (ผู้ที่กล่าวชื่นชมทั้งปธน.สี และปูตินอยู่หลายครั้ง) เสี่ยงทำลายความสัมพันธ์ทั้งสองได้นั้น อาจเห็นได้จากความไม่ไว้วางใจระหว่างรัสเซีย-จีนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
• ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย?
จีน และรัสเซียเคยเกิดข้อพิพาทเรื่องเขตแดนตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปี 1969 ตอนนั้นเป็นปัญหาระหว่างโซเวียต รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ และได้รับการแก้ไขข้อพิพาทส่วนใหญ่แค่ในช่วงทศวรรษ 1990
จากนั้นก็มีการปฏิวัติทางการทูตซึ่งวางแผนโดยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐ และเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาของเขาโดยทั้งสองใช้ประโยชน์จากความแตกแยกระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ สร้างความสัมพันธ์กับปักกิ่ง และเปลี่ยนสมดุลอำนาจในช่วงสงครามเย็นให้เอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐ
แม้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นน่าจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก แต่ผู้สังเกตการณ์บอกว่า หากเกิดการเปลี่ยนแปลงในความจงรักภักดีขึ้นเพียงเล็กน้อยระหว่างรัสเซีย-จีน ก็ถือเป็นผลดีต่อเป้าหมายของสหรัฐ
“แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียง 30% ของสมัยนิกสัน ก็สามารถก่อให้เกิดความเคลือบแคลงใจได้” ยุน ซุน ผู้อำนวยการโครงการจีน ศูนย์สติมสันซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในวอชิงตัน กล่าว
“นั่นจะทำให้สี จิ้นผิง สงสัยในความจงรักภักดีเชิงยุทธศาสตร์ที่เขาร่วมสร้างในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา กับรัสเซียว่า มันอาจจะไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่แข็งแกร่งมากพอ”
หากวันหนึ่งจีนตัดสินใจจะรุกรานไต้หวัน “จีนจะมองกลับไปข้างหลัง แล้วสงสัยว่า รัสเซียจะทำอะไรไหม” ซุน กล่าว โดยอ้างถึงเกาะประชาธิปไตยที่จีนอ้างครอบครอง “และสำหรับสหรัฐ คือ การเข้ายับยั้ง”
• ผูกมิตรยุโรปลุ้นที่นั่งโต๊ะเจรจา
ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ มองว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจมีความมั่นใจในความสัมพันธ์กับรัสเซียมากขึ้น
หยู ปิน นักวิชาการอาวุโสของศูนย์รัสเซียศึกษา มหาวิทยาลัยครูจีนตะวันออกในเซี่ยงไฮ้ บอกว่า “ความสัมพันธ์จีน และรัสเซียมีความเฉพาะตัว พวกเขามีรากฐานที่แข็งแกร่ง และมีความเชื่อมโยงทางสถาบันที่เหนียวแน่นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา”
โดยหยูชี้ให้เห็นถึงความพยายามผลักดันด้านพหุภาคีของทั้งสองประเทศ และการสร้างองค์กรระหว่างประเทศร่วมกัน เช่น กลุ่มบริกส์ (BRICS) และองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ รวมถึงความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงชายแดน
“ผมไม่คิดว่าฝ่ายใดจะปล่อยเรื่องนี้ไป เพราะทรัมป์จะอยู่ 4 ปี” หยู กล่าว
แต่จีนกลับกังวลว่า “หากรัสเซีย และสหรัฐแก้ไขความขัดแย้ง และบรรลุสันติภาพในยูเครนได้ในระดับหนึ่งแล้ว รัฐบาลทรัมป์อาจจะว่างกลับไปสนใจจีน”
พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ส่งสัญญาณอยู่หลายครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในตอนที่เขาบอกกับบรรดารัฐมนตรีกลาโหมยุโรปว่า สหรัฐไม่สามารถให้ความสำคัญกับความมั่นคงของภูมิภาคได้ในเบื้องต้น เมื่อต้องให้ความสำคัญกับการขัดขวางสงครามกับจีน
อย่างไรก็ตาม หากทรัมป์ไม่สามารถพูดคุยกับปูตินได้โดยตรง ปักกิ่งอาจพยายามคลี่คลายความขัดแย้งกับสหรัฐ ด้วยการทำงานร่วมกับรัฐบาลวอชิงตันเพื่อนำรัสเซียเข้าร่วมโต๊ะเจรจา แต่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจีนจะมีบทบาทอย่างไรในการเจรจาสันติภาพยูเครนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บอกว่า หากบรรลุดีลสันติภาพ ปักกิ่งอาจส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปในยูเครน ผ่านสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และอาจมีบทบาทในการฟื้นฟูยูเครนด้วย
ตอนนี้ทางการจีนได้ใช้กลยุทธ์ทางการทูตมากมายในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เพื่อพยายาม และฟื้นความเชื่อมั่นในยุโรป โดยเรียกร้องให้ “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวิกฤติยูเครน” ได้ "เข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพ” ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อสิทธิของยุโรปที่ควรมีที่นั่งในโต๊ะเจรจา
ปธน.เซเลนสกี ที่ได้รับความสนใจน้อยมาก จากปักกิ่งนับตั้งแต่เกิดสงคราม ก็ได้แสดงความคิดเห็นหลังการประชุมในเยอรมนีระหว่างนายหวัง นักการทูตระดับสูงของจีน และเจ้าหน้าที่ของยูเครนเมื่อวันเสาร์ (15 ก.พ.68) ว่า “สำคัญมากสำหรับเราที่จะร่วมมือจีนช่วยกดดันปูตินยุติสงคราม เราได้เห็นความสนใจของจีนเป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่มาจากความจริงที่ว่ากระบวนการทั้งหมดเดินหน้าเร็วมากขึ้น”
ผู้นำยูเครนกล่าวย้ำว่า คนที่ควรอยู่ที่โต๊ะเจรจา ควรจะเป็นประเทศที่ “พร้อมจะรับผิดชอบในการรับประกันความมั่นคง ให้ความช่วยเหลือ หยุดปูติน และลงทุนเพื่อการฟื้นฟูยูเครน”
อ้างอิง: CNN
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์
21 ก.พ. 2025 เวลา 7:00 น.
โฆษณา