23 ก.พ. เวลา 17:38 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มีความรู้สึกว่า ถ้าผมอยากอ่านงบเก่ง ๆ
ผมจะชอบเข้าไปดูงบ MINOR เป็นที่แรก ๆ
แม้ว่า MINOR จะเป็นธุรกิจอาหาร และโรงแรม
แต่ไส้ในจริง ๆ ก็ต้องบอกว่าธุรกิจของ MINOR นั้น มีอะไรที่ยุบยับเต็มไปหมด
- ทั้งรูปแบบการบริหารจัดการโรงแรม 5-6 แบบ
- ทั้งร้านอาหาร มากมายหลายแบรนด์ เป็นทั้งเจ้าของเองด้วย และเป็นเฟรนไชส์ด้วย
ซึ่งหลายโมเดลธุรกิจ ยังไม่พอ ดันมีธุรกิจหลายประเทศอีก
ดังนั้น ด้วยความที่มันมีหลายโมเดลธุรกิจ และหลายแบรนด์
การเอารายได้และกำไร มาหารจำนวนร้านค้า หรือจำนวนโรงแรม แบบตรง ๆ นั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย
แล้ว MINOR ก็ดันมีธุรกิจเยอะแยะมากกว่า 60 ประเทศ ดังนั้น
ดังนั้น บริษัทก็ต้อง Booking งบกำไร / ขาดทุน ในส่วนที่เป็น One time อีก
อย่างเช่น ผลตอบแทนจากการลงทุน,
กำไร / ขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยน, กำไร / ขาดทุน จากตราสารอนุพันธ์
ซึ่งการลงทุนทั้งหมดนี้ MINOR ก็อาจต้องทำ เพื่อ Balance เงินสดที่มี หรือเพื่อป้องกันความเสี่ยง จากค่าเงินสกุลต่าง ๆ ที่เป็นรายรับจากประเทศต่าง ๆ มากกว่า 60 ประเทศ
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราลองกดเข้าไปอ่าน MD&A ของ MINOR จะเห็นว่าเขารายงานงบ "2 เวอชั่น" ด้วยกัน นั่นคือ
- เวอชั่น รายได้ / กำไรสุทธิ จากการดำเนินงาน
- เวอชั่น รายได้ / กำไรสุทธิ ตามที่รายงาน
โดยแบบแรก จะเป็นเวอชั่น ที่ตัดกำไร / ขาดทุน จาก One time หรือค่าเงินออก
ส่วนแบบหลัง คือกำไรทั้งหมด (รวม One time เข้าไปด้วย)
ทีนี้ลองมาแกะงบดู
รายได้ / กำไรสุทธิ "จากการดำเนินงาน" ปี 2567 MINOR
- มีรายได้ 166,034 ล้านบาท
- กำไร 8,390 ล้านบาท
รายได้ / กำไรสุทธิ "ตามที่รายงาน" ปี 2567 MINOR
- มีรายได้ 166,409 ล้านบาท
- กำไร 7,750 ล้านบาท
จะเห็นว่า ผลประกอบการ ก็ค่อนข้างแตกต่าง
แล้วเราจะพิจารณาดูงบไหนดี ?
ถ้าดูงบแบบทางการ แน่นอนว่า เราจะต้องดูงบเวอชั่นตามที่เครือ MINOR รายงาน
นั่นคือ กำไรที่ 7,750 ล้านบาท (รวม One time แล้ว)
ซึ่งหลาย ๆ คนก็อาจใช้งบตรงนี้ ประเมิน Valuation ให้เสร็จสรรพ
แต่ก็ต้องบอกว่าการใช้งบเวอชันนี้ ประเมิน Valuation ก็ค่อนข้างจะประเมินยาก
นั่นก็เพราะว่า มันรวม One Time เข้าไปด้วย ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่า ปี 68, ปี 69, ปี70
MINOR จะขาดทุน หรือกำไร จากค่าเงิน ตราสารอนุพันธ์การเงิน บลา ๆ ๆๆๆๆ คิดเป็นจำนวนเท่าไหร่
(ซึ่งอันนี้ ผมเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน 555)
ด้วยกำไร ที่ไม่ได้มาจากธุรกิจที่เป็นเนื้อแท้เพียงอย่างเดียว ทำให้เราอาจ Forward การเติบโตได้ยากหน่อย
ดังนั้น เราก็อาจดูกำไร (ตามที่รายงาน) ไม่รวมผลกระทบจาก One Time แทน
ซึ่งแน่นอนว่า พอเราดูแค่เฉพาะตรงนั้น มันก็อาจจะสะท้อนกำไร จากการดำเนินธุรกิจจริง แต่ก็ไม่ได้บอกว่า MINOR นั้นจะมีเงินสดเท่าไหร่
ดังนั้น เราจึงต้องขยายเพื่อไปดูไส้ใน นั่นก็คือตัว "Free Cash Flow" หรือ กระแสเงินสดอิสระ
ถ้าเราไปดูตัวงบกระแสเงินสด จะเห็นว่า
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO) ของ MINOR = 40,791 ล้านบาท
"โดย CFO ก็จะเอากำไรมาบวกกลับเป็นเงินสด
โดย "บวก" ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ย และการเปลี่ยนแปลงของลูกหนี้ เจ้าหนี้การค้าเข้าไป"
- ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capex) ของ MINOR = 9,104 ล้านบาท
"โดย Capex คิดจากค่าใช้จ่าย ที่ต้องลงทุน สำหรับสินทรัพย์ และอุปกรณ์ที่ใช้ทำธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระแสเงินสดจากการลงทุน (CFI) นั่นเอง
ทีนี้คิด FCF ก็จะได้ เท่ากับ CFO - Capex
เท่ากับ 40,791 - 9,104 เท่ากับ 31,687 ล้านบาท
จะเห็นว่าเวลาคิด Free Cash Flow
หรือ "กระแสเงินสดอิสระ" ที่แท้จริงของเครือ MINOR แล้ว มันมากกว่ากำไรเสียอีก
ซึ่งจะเอา FCF นี้ ไป Valuation คิด DCF หรือ FCFF/EBITDA ต่อ ก็แล้วแต่ ผมขี้เกียจ 55555
แต่จริง ๆ ก็ต้องบอกว่า เราจะไปดูแค่ FCF ว่ามันมากกว่ากำไรสุทธิ มั้ย แบบนี้เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้
เพราะสิ่งที่เราต้องดูเพิ่มเติม คือ Balance Sheet หรือ "ฐานะการเงิน" ของบริษัทประกอบด้วย
โดยถ้าเอา หนี้ และ ส่วนของเจ้าของทั้งหมดของ MINOR มากาง เราจะเห็นว่า
- หนี้สิน 247,708 ล้านบาท
- ส่วนของเจ้าของ 99,137 ล้านบาท
1
เมื่อคิดเร็ว ๆ เราจะเห็นว่า D/E ของ MINOR สูงถึง 2.5 เท่าเลยทีเดียว
และหลายคนคงจะเห็นว่า MINOR มีหนี้สินเยอะมาก ๆ
แต่ถ้าเราเข้าไปดูลึก ๆ ก็อาจจะไม่ใช่อย่างนั้น
ถ้าเราไปดูว่าหนี้ของ MINOR มีองค์ประกอบอะไรบ้าง
ก็ต้องบอกว่า ในก้อนหนี้มากกว่า 240,000 ล้านของเครือ MINOR แบ่งออกเป็น
1. "หนี้สินหมุนเวียน" หรือ "หนี้ระยะสั้น" 61,762 ล้านบาท
ในหนี้ระยะสั้น หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นหนี้สิน "ไม่มีดอกเบี้ย"
แต่จริง ๆ แล้วในก้อนหนี้ระยะสั้น มีหนี้ที่ "มีดอกเบี้ย" รวมอยู่ด้วย
นั่นก็คือ หุ้นกู้ หรือ เงินกู้ยืมระยะยาวที่ต้องชำระไม่เกิน 1 ปี
โดยเครือ MINOR มีหนี้ก้อนนี้อยู่ 13,556 ล้านบาท
เมื่อเป็นแบบนี้ ก็แน่นอนว่าเครือ MINOR จะต้องหาเงินสดมาจ่ายหนี้ เป็นจำนวนอย่างน้อย 13,000 ล้านบาท พร้อมกับดอกเบี้ย มาจ่ายให้ทันภายในปีนี้นั่นเอง
2. หนี้ระยะยาว ทั้งหมด 185,946 ล้านบาท
ในหนี้ระยะยาวนี้ ถ้าดูดีดี จะมีหนี้สินตามสัญญาเช่า 71,970 ล้านบาท รวมอยู่ด้วย
โดยหนี้สินตามสัญญาเช่า ถือเป็นหนี้ระยะยาว ที่ไม่ใช่หนี้ระยะยาวโดยตรง
เพราะเป็นหนี้ ที่เกิดจากค่าเช่าที่ ร้านอาหาร โรงแรม หรือที่ดินต่าง ๆ
โดยหนี้ก้อนนี้ จะระบุเงินค่าเช่า ในส่วนที่ต้องจ่ายในอนาคตตามสัญญาเช่า
ซึ่งหนี้ก้อนนี้ จะต้อง Book เพิ่มขึ้นมาตามมาตรฐานบัญชีใหม่ โดยจะคิดจากส่วนค่าเช่าที่เหลือ ที่ต้องจ่ายตามสัญญาในอนาคต แล้ว คำนวณกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน
ดังนั้น หนี้ก้อนนี้ จึงถือเป็นค่าใช้จ่าย "ในอนาคต" ตามสัญญาเช่า
โดยจะไม่น่านำมาคำนวณเป็น "หนี้สินที่มีดอกเบี้ย"
โดยถ้าไปดูไส้ใน ของหนี้ระยะยาว เฉพาะหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจริง ๆ ของเครือ MINOR ก็จะคิดเป็นจำนวน 78,955 ล้านบาท
โดยมาจาก "เงินกู้ยืมระยะยาว" + "หุ้นกู้"
รวมแล้ว MINOR มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจริง ๆ
เท่ากับ ข้อ 1 + ข้อ 2
คือ 13,556 + 78,955 ล้านบาท เท่ากับ 91,955 ล้านบาทนั่นเอง
เมื่อไปดูส่วนของเจ้าของที่ 99,137 ล้านบาท ก็ถือว่าหนี้น้อยกว่าเล็กน้อย
แล้วถ้าคิดเลขเร็ว ๆ ก็ IBD/E เกือบ ๆ 1
แต่อย่าเพิ่งเชื่อตัวเลขที่คิดมานี้
เวลาดูงบ เมื่อเราส่อง "หนี้" แล้ว เราก็ต้องส่อง "ทุน" ด้วย
โดยในส่วนของเจ้าของที่ได้กล่าวไป 99,137 ล้านบาท
พบสิ่งที่เรียกว่าเป็น "หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน" 31,047 ล้านบาท
แล้วหุ้นกู้ มันต้องเป็นหนี้ไม่ใช่เหรอ ทำไมถึงกลายมาเป็นทุนได้ ?
ก็ต้องบอกว่า หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ มีลักษณะที่เป็น "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" หรือ Perpetual Bond
คือ ไม่มีอายุครบกำหนดไถ่ถอน คนที่ถือหุ้นกู้ตัวนี้ ไม่รู้จะได้ทุนคืนเมื่อไหร่
แต่จะได้รับดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้ชั่วนิรันดร์
ซึ่ง Perpetual Bond จริง ๆ ก็อาจมีระยะเวลาที่ไถ่ถอน แต่อาจจะนานมาก
แล้วทำไม บริษัทใหญ่ ๆ รวมถึง MINOR เอง อยากออกหุ้นกู้แบบนี้ ?
นั่นก็เพราะบริษัท ต้องการให้มันเป็นทุนนั่นเอง
จริง ๆ แล้วหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ มีสมบัติเหมือนทุนหลายอย่าง ทั้ง
- ไม่มีกำหนดการไถ่ถอน
- สามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้
แต่บางมุมสำหรับ คนทั่วไปที่ถือหุ้นกู้นี้ ก็จะมองว่าเป็น "หนี้" ที่เวลาบริษัทปิดกิจการ ก็สามารถทวงถามได้ตามกฏหมายเช่นเดียวกัน
แต่ในมุมของบริษัท การออกหุ้นกู้แบบนี้ สามารถนำมาเพิ่มเป็นทุนให้กับบริษัท
โดยที่ไม่ต้องออกหุ้นสามัญเพิ่มเพื่อ "เพิ่มทุน" ด้วยตัวเอง จนสร้างความระคาย และไม่พอใจให้กับเจ้าของผู้ถือหุ้น
ดังนั้น การเพิ่มทุนด้วย "กระบวนท่านี้" ก็ถือเป็นวิธีที่เวิร์ก สำหรับหลาย ๆ บริษัทในตลาด
คือ ฝ่ายผู้ถือหุ้นก็วิน บริษัทไม่มีหนี้ทางบัญชีเพิ่ม
ทำให้บริษัทสามารถกด D/E ให้ต่ำลงมา จนมีเพดานมากพอให้กู้เงินธนาคารเพิ่มเติมได้
ดังนั้น การพิจารณาหนี้ (ที่มีดอกเบี้ยของ MINOR) ก็อาจพิจารณาได้ 2 มุม
- มุมที่ 1 คือ มุมของหนี้ระยะยาวล้วน ๆ ก็คือ 91,955 ล้านบาท
- มุมที่ 2 คือ มุมของหนี้ระยะยาว + Perp Bond ก็คือ 91,955 + 31,047 ล้านบาท
123,002 ล้านบาท
สำหรับมุมที่ 2 คือมุมของนักลงทุนแบบ Conservative ที่จำเป็นต้องรวมหนี้
ที่มีดอกเบี้ย รวมถึง หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (ที่มีดอกเบี้ย) เช่นเดียวกัน
และเมื่อเอาทั้ง 2 มุมมาคิด ก็จะเห็นว่า IBD/E
- แบบที่ 1 เท่ากับ 0.9 เท่า
- แบบที่ 2 เท่ากับ 1.2 เท่า
ซึ่งนักลงทุน จะสะดวกคิดด้วยวิธีแบบไหนก็แล้วแต่ อาจจะใช้วิธีที่ไม่เหมือน 2 มุมที่ได้กล่าวไป
หรือวิธีของผม อาจจะลืมคิดอะไรบางอย่างที่ผมไม่รู้ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน
แต่แก่นจริง ๆ ก็ต้องบอกว่า การมองดูงบ "ฐานะการเงิน" ทั้งส่วนทุน
และส่วนหนี้ที่มีดอกเบี้ยที่หลาย ๆ บริษัทนิยมเอามา Leverage กิจการ
ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะเราจะได้รู้ว่า บริษัทใช้ "Capital" ที่มาจากทั้งส่วนทุน และส่วนหนี้
มาสร้างเป็น "กระแสเงินสดอิสระ" หรือ
"NOPAT ซึ่งก็คือ กำไรสุทธิจากการดำเนินงานหลังหักภาษี" ได้ดีแค่ไหนนั่นเอง..
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือการดูงบการเงินแบบละเอียด ๆ เพื่อนำมาประเมินมูลค่ากิจการ โดยดูจากงบ MINOR ซึ่งเป็นงบที่ Advance จนผมอยากจะเรียนรู้และเข้ามาดู
_____ ต่อไปนี้เป็นมุมมองส่วนตัว _____
ต้องบอกว่า สำหรับหุ้นตัวนี้ ผมก็มีมุมมองที่เป็นบวก เพราะเอาจริง ๆ ผมก็ถืออยู่ ที่ชอบก็เพราะเรื่องกลยุทธ์การขยายธุรกิจ แบบเชิงรุก และพยายามจะเป็น Global Brand ขยายตลาดโรงแรม ในอีกหลาย ๆ ประเทศ
และงบปีนี้ของ MINOR ก็ถือเป็นงบที่ดีพอสมควรสำหรับผม เพราะดูจากหนี้ระยะยาว และหนี้ที่มีดอกเบี้ยแล้ว ก็จะเห็นว่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตรงตามที่ผู้บริหารได้พูดใน Oppday ว่าบริษัทตั้งใจจะลดหนี้จริง ๆ
แถมในอนาคต ก็จะไม่เน้นใช้เงินลงทุน (ในร้านอาหาร หรือโรงแรมเพิ่ม)
แต่จะใช้ความเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ในการทำธุรกิจแบบ Asset Light
คือธุรกิจโรงแรม ก็ไปเน้นรับจ้างบริหารโรงแรม
หรือธุรกิจร้านอาหาร ก็เน้นขายแบรนด์ ขายสิทธิให้คนอื่น หรือที่เรียกว่าเฟรนไชส์
โดยเครือ MINOR ก็จะรับรู้รายได้เป็นค่า Royalty Fee
ด้วยการขยายธุรกิจแบบนี้ ก็ทำให้มั่นใจว่า MINOR จะใช้ทุนน้อยลง และไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มให้มาก จนจ่ายดอกเบี้ยเยอะ ๆ
จนรายได้สามารถไหลลงกลายเป็นกำไรได้มากขึ้น..
โฆษณา