24 ก.พ. เวลา 11:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

โลกนี้เกือบไม่มี PlayStation? จากโปรเจกต์ที่ SONY ไม่คาดหวังสู่เสาหลักวงการเกม

สายเกมเมอร์ทราบหรือไม่ว่า “PlayStation” เกือบไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้ เพราะ SONY ไม่ชอบ แต่สุดท้ายทุกวันนี้เป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท
ย้อนไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน หากมีคนไปบอก “โซนี” (SONY) ว่า บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของพวกเขา ซึ่งผลิตวิทยุ โทรทัศน์ เครื่องเล่น เครื่องบันทึกเสียง ฯลฯ วันหนึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักของวงการเกม เชื่อว่าคงถูกตะเพิดไล่ออกมาและหาว่าเป็นเรื่องไร้สาระ
แต่ด้วยการถือกำเนิดของ “PlayStaytion” (เพลย์สเตชัน) หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่า “เกมเพลย์” ได้เปลี่ยนให้โซนีกลายเป็นหนึ่งในเจ้าตลาดเกม และครองใจคอเกมต่อเนื่องจนเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัทในปัจจุบัน มาจากเกม!
PlayStaytion หนึ่งในแบรนด์เกมที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด
PlayStation เป็นหนึ่งในแบรนด์เกมที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่คอนโซลเครื่องแรก ที่มีเกมดังอย่าง Crash Bandicoot และ Final Fantasy VII มาจนถึงยุคของ PlayStation 5 รวมเป็นเวลามากกว่า 30 ปีแล้วที่มอบประสบการณ์อันยอดเยี่ยมให้เหล่าเกมเมอร์
แต่รู้หรือไม่ว่า โลกใบนี้เกือบจะไม่มี PlayStation!
วิศวกรผู้ไม่สนใจเกม
ต้องบอกว่าในช่วงปี 1990 อุตสาหกรรมเกมมีผู้เล่นสำคัญอยู่ 2 เจ้า นั่นคือ “นินเทนโด” (Nintendo) ที่ประสบความสำเร็จจากเครื่อง NES หรือ “แฟมิคอม” (Famicom) และ “เซกา” (Sega) ที่มีคอนโซลเรือธงคือ Sega Genesis
ส่วนโซนีนั้นไม่มีความสนใจในตลาดเกมเลย ยกเว้น “คุตารากิ เคน” วิศวกรจากฝ่ายวิจัยดิจิทัล
คุตารากิเป็นลูกเจ้าของโรงพิมพ์เล็ก ๆ ชอบปลุกปล้ำกับเครื่องยนต์กลไกในโรงพิมพ์ของที่บ้านตั้งแต่เด็ก และมักกลับมาช่วยงานที่บ้านหลังเลิกเรียนเสมอ มีเรื่องเล่าว่าในขณะที่เด็กคนอื่นเล่นของเล่น แต่เขาแยกชิ้นส่วนของเล่นและประกอบมันกลับไปใหม่
ความอยากรู้อยากเห็นในกลไกทำให้เขาหลงใหลในความซับซ้อนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จนเข้าศึกษาปริญญาตรีสาขาอิเล็กทรอนิกส์ที่มหาวิทยาลัยไฟฟ้าสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ (University of Electro-Communications)
ทันทีหลังจากสำเร็จการศึกษา คุตารากิเริ่มทำงานให้กับโซนีในห้องปฏิบัติการวิจัยด้านดิจิทัลในช่วงกลางทศวรรษ 1970 เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยมและวิศวกรที่มีแนวคิดก้าวหน้า โดยมีชื่อเสียงอย่างมากจากการทำงานในโครงการพัฒนาจอแสดงผลคริสตัลเหลว (LCD) ในยุคแรกและกล้องดิจิทัล
ในช่วงเวลานี้ แม้ว่าวิดีโอเกมจะได้รับความนิยมในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1980 แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า คุตารากิเป็นนักเล่นเกมตัวยง หรือมีความสนใจในเกม (เพราะแม้แต่ของเล่นเขายังเลือกที่จะชำแหละมันมากกว่าเล่นเลย!)
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญมาจาก “ลูก” ของเขา
ความสนใจในวิดีโอเกมของเขาคือตอนที่เห็นลูกสาวเล่นเกมบนเครื่องแฟมิคอมของนินเทนโด ซึ่งได้จุดประกายความคิดในหัวของคุตารากิ และเขาเริ่มมองเห็นว่าวิดีโอเกมจะได้รับความนิยมในอนาคต
คุตารากิ เคน บิดาผู้ให้กำเนิด PlayStation
PlayStation เกือบเป็นของนินเทนโด?
ด้วยชื่อเสียงที่เลื่องลือของคุตารากิ ทำให้นินเทนโดติดต่อมาหาเขาเพื่อให้ช่วยพัฒนา “ชิปเสียง” สำหรับคอนโซล 16 บิตที่กำลังจะวางจำหน่าย
แต่โซนีในช่วงนั้นไม่มีความสนใจในเกมเลยแม้แต่น้อย ทำให้คุตารากิมองว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่หัวหน้าจะอนุมัติให้เขาทำงานเกี่ยวกับชิปสำหรับคอนโซลนินเทนโด เขาจึงตัดสินใจไม่บอกหัวหน้า และแอบลงมือออกแบบชิปอย่างลับ ๆ จนในที่สุดได้ให้กำเนิดชิป SPC700 ซึ่งเป็นชิปเสียงล้ำยุคที่ทำให้ Super NES เอาชนะคู่แข่งในด้านเสียงและดนตรีได้สำเร็จ
เมื่อผู้บริหารของโซนีทราบข่าว ต่างตกตะลึงและโกรธจัดถึงขั้นต้องการไล่คุตารากิออก แต่เขาได้รับการช่วยเหลือจาก โอกะ โนริโอะ ประธานบริษัทโซนีในขณะนั้น และอนุญาตให้คุตารากิทำงานเกี่ยวกับชิปจนเสร็จ
ชิป SPC700 ทำให้คุตารากิกลายเป็นหนึ่งในคนโปรดของนินเทนโด ซึ่งส่งผลให้เมื่อนินเทนโดมีแผนที่จะพัฒนาคอนโซลตัวใหม่ที่ใช้ “แผ่นซีดีรอม” แทนตลับเกมแบบเดิม พวกเขาจึงติดต่อคุตารากิและโซนีมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม คุตารากินไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก เพราะแม้ว่านินเทนโดและเซกาจะประสบความสำเร็จในการสร้างคอนโซลในขณะนั้น แต่หลายคนในโซนีมองว่า วิดีโอเกมเป็นเพียงกระแสนิยมและไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงมองว่าเกมเป็นของเล่น และจะทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับไฮเอนด์ต้องมัวหมอง
แต่ด้วยความช่วยเหลืออีกครั้งจากประธานโอกะ คุตารากิจึงสามารถเริ่มโปรเจกต์กับนินเทนโดได้ พวกเขาจะสร้างอุปกรณ์ 2 ชิ้น ได้แก่ อุปกรณ์เสริมซีดีรอมสำหรับ Super NES ที่เรียกว่า SNES-CD และคอนโซลแบบสแตนด์อะโลนแบรนด์โซนีที่สามารถเล่นเกม Super NES-CD หรือตลับเกมนินเทนโดทั่วไปได้ ซึ่งจะเรียกว่า “Play Station” (มีเว้นวรรคระหว่างคำว่า Play กับ Station)
โดยโซนีจะอนุญาตให้นินเทนโดใช้ซอฟต์แวร์ซีดีรอม รวมถึงจะผลิตสื่อซีดี ส่วนนินเทนโดจะคงสิทธิ์อนุญาตและผลิตตลับเกมทั้งหมดไว้ แต่นินเทนโดไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้ เนื่องจากเป็นการตัดพวกเขาออกจากธุรกิจพาร์ตซีดีรอมที่อาจทำกำไรได้และกำลังขยายตัว
SONY เจ้าของ PlayStation
ต่อมา ระหว่างงาน Consumer Electronics Show ในปี 1991 บริษัทโซนีได้ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับนินเทนโดเพื่อเปิดตัวส่วนเสริม CD-ROM PlayStation ของ Super NES และเกมหลายเกมก็อยู่ระหว่างการพัฒนา
อย่างไรก็ตาม ในงานดังกล่าว บริษัทนินเทนโดได้ประกาศสวนว่า ได้ทำข้อตกลงแยกต่างหากกับบริษัทฟิลิปส์ (Philips) เพื่อเปิดตัวส่วนเสริม CD-i สำหรับ Super NES
หลังจากการเจรจาเพิ่มเติมระหว่างโซนีและนินเทนโด ข้อตกลง Play Station จึงถูกยกเลิกในที่สุด
คุตารากิรู้สึกโกรธกับการกระทำของนินเทนโด จึงติดต่อไปหาคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของนินเทนโดในขณะนั้นอย่างเซกา และได้เริ่มเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือในการสร้างคอนโซลแบบแผ่นดิสก์
ไม่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อคุตารากิกลับมาจากการประชุมกับเซกาในสหรัฐฯ เขาบอกกับเพื่อนร่วมงานว่า เขาอาจจะไม่รับข้อเสนอ และทำให้ดีลล่มเป็นครั้งที่ 2
คุตารากิจึงตัดสินใจเดินหน้าโดยลำพัง ไม่พึ่งบริษัทอื่นอีกต่อไป และได้ติดต่อหาประธานโอกะเพื่อโน้มน้าวว่าโซนีควรพัฒนาคอนโซลวิดีโอเกมของตนเองต่อไป
ประธานโอกะที่ยังเดือดดาลมากเช่นกันจากกรณีของนินเทนโดได้บอกกับคุตารากิว่า “ลุยเลย!”
คุตารากิจึงเริ่มภารกิจลับในการออกแบบคอนโซลวิดีโอเกมรุ่นใหม่
อย่างไรก็ดี โซนีเกือบถูกคุมกำเนิดไม่ให้ได้เกิดในอุตสาหกรรมเกม เนื่องจากตอนแรกนินเทนโดเชื่อว่าโซนีไม่น่าจะไปต่อกับการพัฒนาคอนโซลหากไม่มีบริษัทอื่นเข้ามามีส่วนร่วม แต่เมื่อมีกระแสข่าวออกมาว่าโซนีกำลังซุ่มพัฒนาคอนโซลของตัวเองที่อาจรองรับเกมของ Super NES ได้ บรัษัทจึงดำเนินคดีเพื่อป้องกันไม่ให้ Play Station เข้าสู่ตลาด
แต่คำสั่งห้ามที่อ้างว่าชื่อ Play Station เป็นของนินเทนโดล้มเหลว และโซนีมีอิสระที่จะนำระบบดังกล่าวออกสู่ตลาดในปี 1991
เมื่อปัญหาเกิดจากความกังวลว่าคอนโซลโซนีจะซ้ำกับ Super NES ของนินเทนโด คุตารากิจึงมุ่งหน้าสู่การสร้างสรรค์สิ่งที่ทรงพลังและล้ำสมัยยิ่งขึ้น
ในปี 1993 เขาได้เป็นหัวหน้าโครงการที่โซนีเพื่อสร้างคอนโซลใหม่ทั้งหมดที่ใช้แผ่นซีดี พร้อมเทคโนโลยี 32 บิตที่ล้ำสมัย เพื่อให้ได้เสียงและภาพกราฟิก 3 มิติ (3D) ที่ทรงพลัง ต่างจากคอนโซลของคู่แข่งที่กราฟิกและเสียงมีข้อจำกัด แก้ปัญหาภาพแตกเป็นบิต
คอนโซลนี้มีชื่อว่า “PlayStation” (ไม่มีเว้นวรรคระหว่าง Play กับ Station) และไม่มีความเกี่ยวข้องกับ SNES อีกต่อไป
PlayStation คอนโซลที่ปฏิวัติโลกของการเล่นเกม
บิดาแห่ง PlayStation พระเจ้าของเหล่าเกมเมอร์
ในช่วงปลายปี 1994 PlayStation ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในญี่ปุ่น และในเดือนกันยายน 1995 PlayStation เปิดตัวในสหรัฐฯ และยุโรป
ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าใครซึ่งสร้างประสบการณ์การเล่นเกมที่เหนือล้ำและชวนเสพติดยิ่งกว่าที่เคย เปลี่ยนโลกของการเล่นเกมไม่ให้เหมือนเดิมอีกต่อไป ส่งผลให้ PlayStation มียอดขายทะลุ 100 ล้านเครื่องในปี 2005 ถือเป็นคอนโซลแรกของโลกที่ทำได้
ขณะที่คอนโซลของคู่แข่งที่เปิดตัวในช่วงเวลาใกล้เคียงกันอย่าง Nintendo 64 มียอดขายอยู่ที่ราว 33 ล้านเครื่อง ส่วน Sega Saturn ยอดขายอยู่ที่ 9 ล้านเครื่อง ถือเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมเกมซึ่งไม่ว่าใครก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าโซนีจะทำได้
ความสำเร็จของ PlayStation ทำให้ประธานโอกะอนุมัติให้ตั้งบริษัทย่อยเพื่อดูแล PlayStation โดยเฉพาะ นั่นคือ Sony Computer Entertainment (SCE) โดยให้คุตารากิดูแล
ความสำเร็จอันน่าทึ่งของ PlayStation ทำให้ SCE ขยายอาณาจักรอย่างรวดเร็ว มีการเปิดบริษัทสาขาที่สหรัฐฯ และยุโรป จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้น งบประมาณพุ่งสูงขึ้น มีการลงนามข้อตกลงการพัฒนาและเปิดสตูดิโอ เงินไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว PlayStation กลายเป็นอัญมณีที่ส่องประกายบนมงกุฎของโซนี
ในปี 2000 โซนีเปิดตัวคอนโซลเครื่องที่สอง ซึ่งก็คือ PlayStation 2 โดยแทบจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ครองตลาดเพียงหนึ่งเดียวในยุคนั้น เพราะคู่แข่งในตลาดยังก้าวตามเทคโนโลยีไม่ทัน
PlayStation 2 ทำยอดขายแซงหน้ารุ่นก่อน ด้วยยอดขาย 160 ล้านเครื่องทั่วโลก ซึ่งเป็นผลจากการทุ่มทุนด้านการวิจัยและพัฒนามูลค่าราว 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้กลับกลายเป็นผลตอบแทนมหาศาล โดย SCE มีรายได้ราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีในช่วงเวลานั้น
ด้วยความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์การเล่นเกมของผู้คนทั่วโลก ทำให้เหล่าเกมเมอร์พากันยกย่องคุตารากิว่าเป็น “บิดาแห่ง PlayStation” และในบางงานที่เขาไปปรากฏตัสว เคยมีเหล่าเกมเมอร์จำนวนมากมารอต้อนรับและเชิดชูเขาแทบไม่ต่างอะไรจากพระเจ้า
ดังนั้น หากจะเรียกว่าคุตารากิว่าเป็น “พระเจ้าของวงการเกม” คงเป็นคำยกย่องที่ไม่เกินไปนัก
คุตารากิน เคน กับ PlayStation 2 คอนโซลที่ขายได้ถึง 160 ล้านเครื่องทั่วโลก
พระเจ้าผู้หนีไม่พ้นสัจธรรม
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพระเจ้าของวงการเกม แต่คุตารากิเองหนีไม่พ้นสัจธรรมของการเปลี่ยนแปลงที่ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
จุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่ประธานโอกะเกษียณไป และแต่งตั้งให้ อิเดอิ โนบุยูกิ เป็นประธานคนใหม่ในปี 2003 ซึ่งเขามีมุมมองการบริหารที่ต่างจากคุตารากิ และมักเกิดความขัดแย้งกันบ่อยครั้ง
ในปีเดียวกัน อิเดอิได้เลื่อนตำแหน่งให้คุตารากิดำรงตำแหน่งรองประธานบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ คุตารากิไม่ได้ทำหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะแผนกวิดีโอเกมอีกต่อไป แต่ได้คุมแผนกอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคทั้งหมดของโซนีควบคู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม โซนีสูญเสียพื้นที่ยืนในตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคมาสักระยะแล้ว และต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่ง เช่น บริษัทซัมซุงของเกาหลีใต้ นอกจากนี้ คุตารากิยังไม่เป็นที่นิยมอย่างมากในบางส่วนของแผนก
นั่นทำให้คุตารากิล้มเหลวในแผนกนี้ ในช่วงเวลา 1 ปีครึ่งที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค ความพยายามของเขาไม่ได้ช่วยปรับปรุงยอดขายของแผนกนี้ในตลาดเลย
ในปี 2005 คุตารากิกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าของ SCE อีกครั้ง โดยมุ่งเน้นไปที่การเปิดตัว PlayStation 3 ในปี 2006 ซึ่งล่าช้าอย่างมากและถูกวิจารณ์ว่าใช้งบประมาณเกินความจำเป็น
ประกอบกับคู่แข่งของโซนีไล่ฝีเท้าก้าวขึ้นมาทัน และนำเสนอคอนโซลรุ่นใหม่ที่รวมเอาความสามารถทางอินเทอร์เน็ตมาไว้ในเครื่อง นั่นคือ Wii ของนินเทนโดที่ได้รับความนิยมแซงหน้าคอนโซลรุ่นอื่น ๆ ทันที ในขณะเดียวกัน PlayStation 3 ซึ่งเป็นผลงานใหม่ของโซนีถูกเหล่าเกมเมอร์วิจารณ์ว่าเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง
การแข่งขันจาก Wii และ Xbox 360 ของไมโครซอฟต์ ทำให้ PlayStation 3 เติบโตอย่างยากลำบาก แม้ว่าคอนโซลจะได้รับความนิยมในญี่ปุ่นทันที ด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ความสามารถในการเล่นเกมแบบออนไลน์ รวมถึงรองรับแผ่นบลูเรย์ แต่ไม่สามารถเทียบชั้นกับคอนโซล PlayStation สองรุ่นแรกได้ ทำยอดขายไปเพียง 87 ล้านเครื่อง
ท้ายที่สุดในปี 2007 คุตารากิต้องเกษียณไปด้วยอายุ 56 ปี และกลายเป็นพระเจ้าที่ถูกลืมไปแล้ว
กอบกู้ชื่อเสียง
โซนีต้องการไถ่โทษให้กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับ PlayStation 3 จึงซุ่มพัฒนาPlayStation 4 ตั้งแต่ปี 2008 และใช้เวลาพัฒนาถึง 5 ปีเต็มก่อนจะเปิดตัวในปี 2013 เนื่องจากตระหนักดีว่า เกมเมอร์มีตัวเลือกการเล่นออนไลน์ที่ซับซ้อนและต้องการสิ่งที่มากกว่านั้นจากคอนโซลของพวกเขา
โซนีมองเห็นช่องทางในตลาดที่จะรวมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันและเปลี่ยน PlayStation 4 ให้กลายเป็นมัลติทาสก์มัลติมีเดียที่แท้จริง นอกจากนี้ เครื่องยังเล่นแผ่นดีวีดีบลูเรย์ และเสนอระบบผู้เล่นหลายคน (Co-op) ที่ได้ใจเกมเมอร์ยุคใหม่ จนทำยอดขายเกิน 100 ล้านเครื่องได้เช่นเดียวกับคอนโซลสองรุ่นแรก
จากนั้นในปี 2020 โซนีเปิดตัว PlayStation 5 ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ซึ่งดูจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะในช่วงที่ทุกคนต้องอยู่แต่ในบ้าน การเล่นเกมเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ความต้องการคอนโซลจึงเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ณ เดือน ธ.ค. 2024 ยอดขายของ PlayStation 5 อยู่ที่ 75 ล้านเครื่องทั่วโลก ซึ่งหากดูเผิน ๆ เหมือนจะน้อยลง แต่หากมองในแง่รายได้ ต้องบอกว่าโซนียังประสบความสำเร็จอยู่
PlayStation 5 เปิดตัวท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2025 โซนีเปิดเผยผลประกอบการทางการเงินประจำไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2024 โดยมีรายได้รวม 4.4 ล้านล้านเยน (ราว 9.86 แสนล้านบาท) มาจากพาร์ตเกม (G&NS) ถึง 1.68 ล้านล้านเยน (ราว 3.76 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็น 38% ของรายได้ทั้งหมด
ขณะที่ Sony Music คิดเป็น 11% และ Sony Pictures คิดเป็น 9% ของส่วนแบ่งรายได้
รายได้จากพาร์ต G&NS ดังกล่าวเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี และขับเคลื่อนโดยยอดขายฮาร์ดแวร์ที่เพิ่มขึ้นถึง 23% และการเติบโตของรายได้จากซอฟต์แวร์ก็เติบโตขึ้นเช่นกัน
ไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2024 ค่อนข้างเงียบสำหรับเกมฟอร์มยักษ์จาก PlayStation โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่ Spider-Man 2 เปิดตัว แม้ว่า Astro Bot ซึ่งเป็นเกมเรือธงของบริษัทในไตรมาสนี้จะสร้างความประทับใจให้กับนักวิจารณ์และแฟนตัวยง แต่ยอดขายกลับไม่แข็งแกร่งเท่ากับ Spider-Man 2
Astro Bot ขายได้ 1.5 ล้านชุดใน 2 เดือน เทียบกับ Spider-Man 2 ที่ขายได้ 6 ล้านชุดใน 11 วัน
ในไตรมาสที่ 3 โซนีขาย PlayStation 5 ได้ 9.5 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 15.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนยอดขายเกมเต็มอยู่ที่ 95.9 ล้าน เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ณ วันที่ 30 มิถุนายน PlayStation Network มีผู้ใช้งานรายเดือน (MAU) อยู่ที่ 129 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ถือเป็นสถิติใหม่
นั่นทำให้โดยรวมแล้ว PlayStation มีผลงานที่ดี ส่งผลให้เพิ่มการคาดการณ์กำไรขึ้น 3-4% สำหรับช่วงปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2025 โดยคาดว่ารายได้รวมจะอยู่ที่ 13.2 ล้านล้านบาท (ราว 2.95 ล้านล้านบาท) ส่วนกำไรคาดว่าจะอยู่ที่ 1.34 ล้านล้านเยน (ราว 3 แสนล้านบาท)
แม้ว่าโซนีจะพอใจกับตัวเลขนี้ แต่เชื่อว่าผู้ผลิตเกมรายใหญ่ของโลกเจ้านี้ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะขณะนี้กำลังวางแผนสำหรับ PlayStation 6 อยู่ และจะใช้บทเรียนจากคอนโซลรุ่นก่อน ๆ สำหรับการเปิดตัวคอนโซลรุ่นใหม่ล่าสุดต่อไป ให้สมราคาที่ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในเสาหลักของอุตสาหกรรมเกม
ประวัติ PlayStation
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/243349
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา