24 ก.พ. เวลา 09:12 • ข่าวรอบโลก

ทำไม “เจ้าชายซาอุ MBS” จึงอาสาเป็นคนกลาง

สร้างความปรองดองระหว่าง “รัสเซีย” กับ “สหรัฐ”
ผู้ที่ได้รับประโยชน์หลักจากการเจรจาระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ที่ริยาดเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2025 ก็คือ ใช่! “ปูติน” นั่นเอง เขาสามารถหลุดพ้นจากความโดดเดี่ยวทางการทูตและประสบความสำเร็จในการหารืออย่างจริงจังเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของเขา แต่ก็มีผู้ได้รับประโยชน์รองลงมารายที่สอง นั่นคือ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุฯ “โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน” (MBS)
เจ้าชายซาอุฯ เอาชนะเพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย และอาจรวมถึงยูเครนด้วยในอนาคต (คู่แข่งหลักของซาอุดิอาระเบียคือ “ตุรกี” และ “จีน” ที่ต้องการทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยเช่นกัน) เรื่องนี้สร้างความน่าเชื่อถือและเครดิตให้กับเจ้าชาย MBS อย่างมาก
  • ทำไมเจ้าชายซาอุฯ จึงขอทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ
เจ้าชาย MBS เป็นผู้นำระดับโลกเพียงไม่กี่คนที่ยังคงติดต่อกับทั้ง “โดนัลด์ ทรัมป์” และ “วลาดิเมียร์ ปูติน”
“ซาอุดิอาระเบีย” และ “รัสเซีย” เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดสองรายของโลกและเป็นสมาชิกที่สำคัญของกลุ่มโอเปกพลัส (บวกรัสเซียเข้าไปในโอเปกเป็นโอเปกพลัส) ความเป็นพันธมิตรของทั้งสองประเทศอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจากทั้งสองแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงตลาด แต่ทั้งสองประเทศก็ให้ความสำคัญกับความเคารพซึ่งกันและกัน
ในปี 2018 หลังจากเหตุการณ์สังหาร จามาล คาช็อกกี นักข่าวฝ่ายต่อต้านราชวงศ์ซาอุฯ โดยมีการกล่าวหาว่าได้รับคำสั่งมาจากเจ้าชายซาอุฯ ปูตินก็ไม่ยอมเข้าร่วมการคว่ำบาตรทางการทูตต่อเจ้าชาย MBS และในขณะเดียวกันเจ้าชายซาอุฯ ก็ไม่ยอมเข้าร่วมการคว่ำบาตรปูตินหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน และเมื่อธันวาคม 2023 เขาได้ต้อนรับปูตินประธานาธิบดีแห่งรัสเซียที่ริยาด [1]
1
ภาพถ่ายเมื่อ ธันวาคม 2023 เครดิตภาพ: Saudi Press Agency via AFP
สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรสำคัญของซาอุดิอาระเบียมายาวนาน แต่รัฐบาลไบเดนพยายามโดดเดี่ยวเจ้าชาย MBS หลังจากเหตุการณ์ลอบสังหารคาช็อกกี และเปิดเผยข้อมูลข่าวกรองอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการมีส่วนเกี่ยวข้องของพระองค์ในอาชญากรรมดังกล่าว แต่ล้มเหลว เจ้าชายถือเป็นบุคคลสำคัญบนเวทีระหว่างประเทศเกินกว่าที่จะแสร้งทำเป็นว่าเขาไม่มีตัวตนและหลบอยู่ในมุมมืด ทุกการเคลื่อนไหวถูกจับตามองอยู่แล้ว [2]
ในทางตรงกันข้าม “ทรัมป์” มีความใกล้ชิดกับ MBS เป็นการส่วนตัว ในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ตอนที่เขาได้เดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยทำลายประเพณีที่ยึดถือกันมายาวนาน ไม่ใช่ไปที่แคนาดา เม็กซิโก หรือยุโรป แต่ไปที่ซาอุดิอาระเบีย [3]
หลังจากที่ทรัมป์พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2020 กองทุนเพื่อการลงทุนด้านสาธารณะของซาอุดิอาระเบียซึ่งต้นคิดโดยเจ้าชาย MBS ได้ลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์ใน Affinity Partners ซึ่งเป็นกองทุนหุ้นเอกชนที่มีเจ้าของโดย “จาเร็ด คุชเนอร์” ลูกเขยของทรัมป์ นอกจากนี้ซาอุดิอาระเบียยังประกาศโครงการพัฒนาหลายโครงการร่วมกับบริษัทของทรัมป์อีกด้วย [4]
คุชเนอร์ซึ่งมีผลประโยชน์ทางธุรกิจมากมายในตะวันออกกลาง มักจะติดต่อสื่อสารกับเจ้าชายเป็นประจำ ในทางกลับกัน พันธมิตรที่สำคัญของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดิอาระเบียคือกองทุนของรัสเซียที่ชื่อ RDIF ซึ่งนำโดย “คิริลล์ ดมิทรีเยฟ” (นักลงทุนรัสเซียที่เข้าร่วมการเจรจาที่ริยาดรอบที่ผ่านมาด้วยกับลาฟรอฟ) กล่าวโดยสรุปคือ “สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างเครือข่ายในชุมชนทางธุรกิจ” [5]
1
เครดิตภาพ: Jonathan Ernst/Reuters
สำหรับ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” MBS ในภาพรวมวางตัวเป็นกลาง ในความคิดของเขานี่เป็นเพียงความขัดแย้งในระดับภูมิภาคของยุโรปที่ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของเขา ในทางปฏิบัติแล้วเขาไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการพิจารณาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมทางประวัติศาสตร์ ตัวเขาเป็นผู้ปกครองโดยพฤตินัยของซาอุฯ เขามีแนวความคิดที่ต่างออกไป เขาอาจมองว่าการยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเป็นเพียงแค่ข้อตกลงเท่านั้น
ไม่นานก่อนการประชุมของคณะผู้แทนรัสเซียและอเมริกาในกรุงริยาด เจ้าชาย MBS ทรงต้อนรับ “อาเหม็ด อัล-ชารา” ผู้นำชั่วคราวของซีเรียนับตั้งแต่การโค่นล้มอำนาจบาชาร์ อัล-อัสซาด อย่างน้อยก็มี 3 ประเทศในละแวกนั้น ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี และกาตาร์ เข้ามาหาทางสร้างอิทธิพลเหนือระบอบการปกครองใหม่ในซีเรีย [6]
เครดิตภาพ: Bandar Algaloud/Saudi Royal Royal Court/Handout via Reuters
ไม่นานหลังจากคณะผู้แทนฝั่งรัสเซียและอเมริกาเดินทางออกจากริยาด เจ้าชายได้ต้อนรับผู้นำของอียิปต์ จอร์แดน คูเวต บาห์เรน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน
4 มีนาคม 2025 เจ้าชาย MBS จะเดินทางไปยังกรุงไคโรเพื่อเข้าร่วมการประชุมฉุกเฉินของกลุ่มสันนิบาตอาหรับ กิจกรรมทางการทูตทั้งหมดนี้อุทิศให้กับการเตรียมแผนของอาหรับสำหรับการฟื้นฟูฉนวนกาซา ซึ่งเป็นอีกแผนหนึ่งนอกเหนือจากแผนอันน่าอื้อฉาวของทรัมป์ที่จะขับไล่ชาวปาเลสไตน์สองล้านคนและเปลี่ยนฉนวนกาซาให้กลายเป็น “ริเวียร่าแห่งตะวันออกกลาง” [7][8]
นอกจากนี้เจ้าชาย MBS กำลังพยายามเป็นตัวกลางระหว่าง “อิหร่าน” กับ “สหรัฐ” ในแง่หนึ่งเขาไม่ต้องการให้อิหร่านซึ่งเป็นศัตรูยาวนานของซาอุดิอาระเบียมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง และในอีกแง่หนึ่งเขาไม่ต้องการให้ปัญหาได้รับการแก้ไขด้วยการทิ้งระเบิดอิหร่านโดยอิสราเอลและสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ตะวันออกกลางเกิดความไม่มั่นคงเพิ่มมากขึ้น [9]
ในที่สุดความสัมพันธ์ระหว่าง “ซาอุดิอาระเบีย” กับ “อิสราเอล” ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมา ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการระหว่างประเทศทั้งสองนี้ค่อนข้างแข็งแกร่งแล้ว เช่น จาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยทรัมป์ลงทุนเงินของซาอุดิอาระเบียในบริษัทสตาร์ทอัพด้านไอทีของอิสราเอล เมื่อกลุ่มฮูตีในเยเมนซึ่งเป็นศัตรูร่วมกันของอิสราเอลและซาอุดิอาระเบีย ยิงจรวดใส่อิสราเอล ซาอุดิอาระเบียก็ช่วยสกัดกั้นจรวดเหล่านั้นไว้ [10]
แต่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิสราเอลให้อยู่ในระดับปกติที่เป็นทางการนั้น คือซาอุดิอาระเบียยืนกรานว่าอิสราเอลจะต้องยอมรับรัฐปาเลสไตน์เสียก่อน หลักการนี้ได้รับการกำหนดขึ้นในปี 1981 โดยเจ้าชายฟาฮัด (ลุงของ MBS) และได้รับการยืนยันอีกครั้งในปี 2002 ในฐานะกษัตริย์ในแผนริเริ่มสันติภาพอาหรับ การที่ซาอุดิอาระเบียจะละทิ้งหลักการนี้เป็นเรื่องยาก แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ก็ตาม
เครดิตภาพ: Shutterstock
เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งหมดนี้ และเพื่อเสริมสร้างสถานะของตนในฐานะผู้นำระดับภูมิภาคและผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองระหว่างประเทศ เจ้าชาย MBS จึงต้องการความปรารถนาดีจากรัฐบาลสหรัฐฯ เหนือสิ่งอื่นใดมีความเป็นไปได้สูงที่เจ้าชายจะเข้าร่วมการเจรจาเรื่องยูเครนเพื่อช่วยเหลือทรัมป์ด้วยเช่นกัน
เรียบเรียงโดย Right Style
24th Feb 2025
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: Facebook - MBS>
โฆษณา