25 ก.พ. เวลา 00:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ

AOT งบไตรมาส 1/68 รายได้โต กำไรโต แล้วมีข้อน่าสนใจอะไร มาอ่านกัน

AOT จะตัดงบปีที่ 30 ก.ย. ดังนั้น งบไตรมาส 1/68 คือ 1 ต.ค. 67 - 31 ธ.ค. 67
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน).ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานของประเทศไทย โดยมีท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ซึ่ง ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ
โครงสร้างรายได้ มี 2 ส่วน
1. รายได้จากกิจการการบิน (Aeronautical Revenues) สัดส่วนรายได้ 50% ได้แก่ ค่าบริการผู้โดยสารขาออก (รายได้มาจากส่วนนี้ประมาณ 40% ซึ่งค่าบริการผู้โดยสารขาออกในประเทศ 130 บ. ระหว่างประเทศ 730 บ.) ค่าบริการสนามบิน (ค่าบริการเครื่องขึ้นลง) และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก
2. รายได้ที่่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Revenues) สัดส่วนรายได้ 50% ได้แก่ รายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ (รายได้ส่วนนี้ประมาณ 30% ซึ่งรายได้จากกลุ่ม บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) อยู่ในส่วนนี้) ค่าเช่าพื้นที่และที่ดิน และรายได้เกี่ยวกับการบริการ
งบ Q1/68 รายได้ทั้งหมด 17,663.91 ลบ. เพิ่มขึ้น 12.5% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY)
เมื่อดูแต่ละกลุ่มธุรกิจ
ธุรกิจกิจการการบิน รายได้ 8,804.42 ลบ. เพิ่มขึ้น 24.41% จากจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 14.7% และผู้โดยสารรวมทั้งหมด 33.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนรายได้ที่่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 8,859.49 ลบ. เพิ่มขึ้นเพียง 2.65% เมื่อเทียบ YoY ซึ่งในช่วงปี 67 มีการขอคืนพื้นที่เชิงพาณิชย์
AOT ไตรมาส 1/68 มีกำไรสุทธิ 5,511.16 ลบ. เพิ่มขึ้น 17.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY)
รายได้ กำไรยังโตจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบินไม่ค่อยโต และตลาดกังวลเรื่องที่ทาง บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) ขอเลื่อนการชําระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำซึ่งครบกำหนดชําระตั้งแต่เดือน ส.ค. 67 จนถึง ก.ค. 68 (รวม 12 งวด) ออกไปเป็นระยะเวลางวดละ 18 เดือน ซึ่งจะทำให้ KPD มีระยะของช่องว่างทางการเงินที่เพียงพอกับการฟื้นฟูให้สภาพคล่องของ KPD กลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ถ้าดูในงบของ AOT จะมีลูกหนี้การค้าไม่หมุนเวียน เพิ่มขึ้น (ลูกหนี้การค้าโดยทั่วไป จะเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนเนื่องจากจะเป็นหนี้ที่เรียกเก็บได้ใน 1 ปี) จากเมื่อสิ้นไตรมาส 3/67 เดือน มิ.ย. 67 ที่ 848 ลบ. เมื่อสิ้นไตรมาส 4/67 เดือน ก.ย. 67 ขึ้นมาเป็น 2,025 ลบ. และเมื่อสิ้นไตรมาส 1/68 เดือน ธ.ค. 67 ขึ้นมาที่ 5,703 ลบ.
ซึ่งถ้าเข้ามาอ่านในหมายเหตุประกอบงบการเงิน มีเขียนไว้ว่า “ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 และ 30 กันยายน 2567 กลุ่มบริษัทได้จัดประเภทลูกหนี้การค้าเป็นลูกหนี้การค้าไม่หมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการจ่ายชำระหนี้”
ซึ่งทาง AOT ยังไม่ได้มีการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่จะเกิดขึ้นในส่วนนี้ เนื่องจากยังมีการวางหลักประกัน Bank Guarantee (หนังสือคำประกันจากธนาคาร) ที่ครอบคลุมจำนวนหนี้ในปัจจุบัน จึงยังไม่กระทบการรับรู้รายได้กำไร
คงต้องติดตามว่าหลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น สภาพคล่องของ KPD จะเป็นอย่างไรต่อไป จะจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) ตามสัมปทานที่ประมูลมาได้ไหม
#AOT #งบการเงิน #หุ้น #หมอยุ่งอยากมีเวลา
โฆษณา