26 ก.พ. เวลา 13:11 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ล่าสุดวันนี้ CPALL ยืนยันแล้วว่าจะไม่เข้าร่วมดีลซื้อ Seven & i Holdings ที่ญี่ปุ่นเรียบร้อย ตามหลังข่าว ITOCHU ที่ถอนตัวไปก่อนหน้า เพราะไม่คิดว่าธุรกิจ 7-Eleven จะ Synergy กับตัวเอง + ดีลกันไม่ลงตัวว่าใครจะคุมเซเว่น ถ้าออกจากตลาดไปแล้ว
เรื่องนี้ผู้ถือหุ้น CPALL ก็คงสบายใจไปได้เปลาะหนึ่งว่า คงไม่ได้เจอหนี้ก้อนใหญ่มหาศาล ที่ไม่รู้ชาติไหนจะใช้หมด จากการเข้าร่วมดีลนี้ บวกกับดอกเบี้ยขาลง ก็อาจจะทำให้ภาระดอกเบี้ย ไม่ค่อยกดดันกำไรของ CPALL มากนัก
แต่ไหน ๆ ก็พูดถึง Seven & i Holdings แล้ว ผมรู้สึกว่าดีลนี้มันสนุกดีจนสามารถสร้างซีรีย์ Netflix ได้สักเรื่องเลยล่ะ แถมจากการตามข่าวเรื่องนี้ ยังทำให้ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกธุรกิจเพิ่มขึ้นมากเลยด้วย
ผมได้มีโอกาสฟังเทปล่าสุดในรายการ "ไกลบ้าน" ของคุณพี่ฟาโรส ซึ่งเขาได้ไปคุยกับนักเรียนไทยที่เมืองโยโกฮาม่า เขาบอกว่า คนญี่ปุ่นมองธุรกิจใหญ่ ๆ ในประเทศตัวเองเป็นเหมือน สมบัติของชาติ
ผมจึงเริ่มเข้าใจได้ว่าทำไมครอบครัว Ito ถึงป้องกันธุรกิจ Seven & i Holdings ของตัวเองอย่างสุดความสามารถ เพราะมันไม่ใช่แค่ปกป้องธุรกิจครอบครัวเท่านั้น แต่มันคือการปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศชาติ
ทำให้มุมมองของคนญี่ปุ่น ต่อการเทคโอเวอร์ครั้งนี้ มองว่าถ้าทาง Seven&i Holdings ล้มเหลว ก็คงรู้สึกเหมือน Toyota ตกไปอยู่ในมือของคนต่างชาติอย่างไรอย่างนั้นเลย
แต่จากการที่พันธมิตรรายใหญ่อย่าง ITOCHU และ CPALL ถอนตัวไป ทิ้งให้ครอบครัว Ito เจ้าของ Seven & i Holdings โดดเดี่ยวในสงครามนี้
ทางครอบครัว Ito อาจจะแอบทำใจไว้แล้วว่า สุดท้าย 7-Eleven ที่ตัวเองปั้นมากับมือ คงจะต้องไปอยู่ในมือไอ้คนต่างชาติอย่าง Alimentation Couche-Tard ด้วยความจำยอม
อย่างไรก็ตามครอบครัว Ito ก็ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกเสียทีเดียว เพราะพวกเขาก็มีแผน B ด้วยการใช้กลยุทธ์ป้องกันการควบรวมกิจการที่เรียกว่า Crown Jewel Defense ที่มีคนเคยเรียกให้ผมฟังเท่ ๆ ว่าเป็น กระบวนท่า "ซ่อนมุกมังกร"
จากภาพนี้ก็คือ บริษัท Seven & i Holdings จะดูแลแค่ 7-Eleven ตามชื่อจริง ๆ โดยดูแลร้าน 7-Eleven ในญี่ปุ่น, อเมริกาเหนือ และประเทศอื่น ๆ ที่ไปเปิด
ส่วนธุรกิจค้าปลีกซึ่งเป็นธุรกิจเริ่มแรกของตระกูล Ito อย่าง ห้าง Ito-Yokado และ York-Benimaru จะโอนไปอยู่ในบริษัท York Holdings ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่ และมีแผนจะเข้า IPO เป็นบริษัทใหม่ด้วย
แต่ที่แสบที่สุดก็คือการนำ Seven Bank ซึ่งเป็นธุรกิจการเงินของบริษัท ออกไปอยู่ในบริษัท York Holdings ด้วย ทั้งที่ก็ชื่อ Seven เหมือนกันแท้ ๆ
ถ้าถามว่าแสบยังไง ก็ลองดูอัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit Margin ของ Seven Bank เทียบกับร้าน 7-Eleven ญี่ปุ่นดูครับ
1
ทำให้ถ้าหาก Couche-Tard ได้ไปจริง ก็จะได้ไปแค่ ร้าน 7-Eleven ในญี่ปุ่นที่รายได้ภายภาคหน้า ดูท่าจะมีแต่ทรง ๆ ทรุด ๆ จากการเป็นประเทศโคตรสูงอายุ กับปวดหัวในการบริหารร้าน 7-Eleven ในอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
ส่วนตระกูล Ito ก็ยังรักษาธุรกิจดั้งเดิมของตัวเองไว้ได้ แถมยังไม่เสีย "มุกมังกร" อย่าง Seven Banks ที่ถือเป็นธุรกิจ Scale ง่าย มี Margin สูง (ที่หลัง ๆ ไม่รู้ทำไมถึงลดลงมา ไม่แน่ใจว่าเพราะลงทุนกับคนกับระบบไหม) มี Potential ที่จะเติบโต จากการที่ปัจจุบันทั้งจำนวนเงินฝาก เงินกู้ และบัญชี ก็ยังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
แล้วที่น่าสนใจคือ Seven & i Holdings เริ่มใช้กระบวนท่านี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 3 เดือนหลัง Couche-Tard เริ่มยื่นซื้อ Seven & i Holdings ครั้งแรก และคาดว่าน่าจะเสร็จในกุมภานี้แหละ
สุดท้ายก็ได้แต่แกะป๊อปคอร์นนั่งรอดูแหละครับ ว่าจะจบลงแบบไหน แต่เห็นไหมล่ะครับว่าการศึกษา Case Study ของธุรกิจ น่าสนุกจะตาย ไม่แพ้การดูซีรีย์ Netflix สักเรื่องเลย ^^
โฆษณา