1 มี.ค. เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์

“ยุคทองแห่งกระเบื้องเคลือบ” เมื่อการค้าโลก ถูกยึดครองโดยเครื่องลายคราม

เมื่อสักช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นว่ามีข่าวสำคัญอีกข่าวหนึ่งอย่างการที่กระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรได้ออกมาแถลงมาตรการคว่ำบาตรบริษัทจีนกว่า 10 แห่งซึ่งถูกระบุว่าเป็นบริษัทที่ได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมกลาโหมของรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทในกลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กัน
2
อันที่จริงในยุคปัจจุบันนี้ ถ้าเราพูดถึงศูนย์กลางที่ผลิตอุปกรณ์หรือเครื่องมือเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ มั่นใจว่าชื่อของประเทศจีนคงจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง สินค้าขึ้นชื่อจากเมืองจีน อันที่จริงก็ต้องบอกว่าค่อนข้างพัฒนามาไกลพอสมควรเมื่อเทียบกับสินค้ายุคแรก ๆ ที่จีนได้ส่งออกไปยังต่างประเทศเมื่อราวศตวรรษที่ 18 ตั้งแต่ผ้าไหม, ชา, ไปจนถึง “เครื่องกระเบื้องเคลือบ”
ชาวยุโรปในศตวรรษที่ 18 มีความคลั่งไคล้ในสินค้าจีนเหล่านี้มาก โดยเฉพาะกับเครื่องกระเบื้องเคลือบเขียนลายจีนสวยงาม ซึ่งด้วยความคลั่งไคล้สินค้าจีนนี้เองที่ทำให้การค้าโลกในยุโรปศตวรรษที่ 18 ถูกครองโดยจีนจนต้องหามาตรการรับมือ ใน All About History สัปดาห์นี้เราจะพาไปดูกันว่าเครื่องกระเบื้องเคลือบจีนส่งผลต่อยุโรปอย่างไร และชาวยุโรปศตวรรษที่ 18 ใช้มาตรการอะไรในการรับมือสินค้าจีน
⭐ ยามตะวันตกพบตะวันออก
จีนกับตะวันตกก็นับว่าได้รู้จักและไปมาหาสู่กันนานพอสมควร โดยเฉพาะกับเส้นทางสายไหมซึ่งเป็นเส้นทางการค้าบนบกสำคัญที่เชื่อมตะวันตกกับตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน โดยตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่าชาวโรมันเป็นชนกลุ่มแรกที่เดินทางไปถึงจีนในช่วงราชวงศ์ฮั่นราวปี ค.ศ. 166 แต่ถึงอย่างนั้นชาวตะวันตกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในฐานะผู้เชื่อมจีนกับยุโรปกลับเป็นมาร์โค โปโลในศตวรรษที่ 13 แทน
1
เส้นทางสายไหม เป็นเส้นทางหลักที่จีนใช้ในการติดต่อกับโลกตะวันตกในช่วงแรก โดยเดิมทีเส้นทางสายไหมใช้ในการติดต่อระหว่างจีนกับตะวันออกกลางก่อน โดยเส้นทางสายไหมนี้ถูกใช้มาอย่างเนิ่นนาน ตั้งแต่ก่อนคริสต์กาล ไปจนถึงช่วงศตวรรษที่ 15 ที่ซึ่งอาณาจักรออตโตมันได้ปิดกั้นเส้นทาง พร้อม ๆ กันกับการริเริ่มเดินทางค้าขายทางเรือ ทำให้เส้นทางสายไหมเสื่อมอิทธิพลในการค้าไป
การเดินทางทางเรือได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการกระจายสินค้าของจีนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้จีนสามารถนำสินค้าเข้ายุโรปได้อย่างง่ายดายทั้งจากพ่อค้าจีนและพ่อค้าชาวยุโรป โดยสินค้าที่จีนขายให้กับชาวยุโรปก็มีตั้งแต่ผ้าไหมที่ได้ทำการค้าขายมาตั้งแต่โบราณ ไปจนถึงชาต่าง ๆ ที่ชาวยุโรปเริ่มนิยมบริโภคกัน และแน่นอนว่าในเมื่อมีชา ถ้วยชากระเบื้องเคลือบสวย ๆ งาม ๆ ก็มาพร้อมกัน ซึ่งเจ้าถ้วยชาสวย ๆ นี่แหละที่ทำให้ชาวยุโรปหลงรักมันเข้าเต็ม ๆ
1
⭐ จาก “ซิโนฟีเลีย” ถึง “ชินัวเซรี่” เมื่อสีหวาน ๆ ของเครื่องถ้วยทำให้คนตกหลุมรัก
อาการคลั่งรักจีน หรือซิโนฟีเลียของชาวยุโรปนั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสันในช่วงศตวรรษที่ 17 ที่ซึ่งมีการพยายามศึกษาวัฒนธรรมและพยายามทำความเข้าใจความเป็นจีนให้มากขึ้นโดยเหล่าปัญญาชนชาวยุโรป ซึ่งก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่หลงไหลความเป็นจีนเหล่านี้ เช่นวอลแตร์ หรือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เองก็ชื่นชอบความเป็นจีนเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน โดยพบความนิยมในการสะสมเครื่องลายครามราชวงศ์หมิงในยุคนี้
จากความคลั่งรักจีน ก็ได้นำมาสู่การหยิบยกเอาความเป็นจีนมาผสมผสาน และตีความใหม่ในแบบฉบับของชาวยุโรป กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ชินัวเซรี” ขึ้นมาโดยชินัวเซรี่เป็นคำที่ใช้เรียกงานศิลปกรรมที่นำสีหวาน ๆ สวย ๆ ของเครื่องถ้วยกระเบื้องเคลือบสมัยราชวงศ์ชิงมาผสมผสานกับความเป็นยุโรปและเป็นส่วนหนึ่งของกระแสนิยมโรโกโกในศตวรรษที่ 18
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็เป็นการตีความที่ค่อนข้างจะเหมารวมหน่อย ๆ ดังที่เราพอจะพบเห็นผ่านภาพจิตรกรรมยุโรปที่เป็นความสำราญของชาวจีนที่ใช้ชีวิตอย่างสบาย ๆ สวมหมวกเจ๊ก, ชุดฮั่นฝู, ไว้หนวดแหลมยาว เป็นต้น โดยชินัวเซรีได้รับความนิยมไปทั่วทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน ไปจนถึงอังกฤษ
ตัวอย่างของชินัวเซรี่ที่สำคัญก็ยกตัวอย่างเช่นเรือนจีนในพระราชวังไกลกังวล “ซ็องซูซี” ของพระเจ้าฟรีดริชมหาราชแห่งปรัสเซีย ที่ถ้าคนเอเชียอย่างเรา ๆ ได้เห็นครั้งแรกก็คงจะสงสัยว่ามันจีนแบบใด เพราะว่ามันเป็นเรือนจีนที่ออกมาจากมุมมองที่ชาวตะวันตกมองมา และตีความจนเพี้ยนไปจากความเป็นจีนในมุมมองของชาวตะวันออก
1
⭐ ยุคทองแห่งกระเบื้องเคลือบ
ถึงแม้ว่าในช่วงศตวรรษที่ 17 จะมีความนิยมเครื่องลายครามราชวงศ์หมิงจากจีน แต่ก็มีอยู่จุดหนึ่งที่พ่อค้ายุโรปตัดสินใจที่จะหันไปใช้บริการเครื่องกระเบื้องเคลือบจากญี่ปุ่นแทนในช่วงกลางศตวรรษ เนื่องจากสถานการณ์ในจีนที่กำลังเกิดการผลัดแผ่นดินจากราชวงศ์หมิงมาสู่ราชวงศ์ชิง แต่อย่างไรก็ดี พอบ้านเมืองสงบจีนก็สามารถกลับมาค้าขายกับตะวันตกเหมือนเดิม กระทั่งเข้าสู่ “ยุคทองแห่งกระเบื้องเคลือบ” ราวรัชสมัยของจักรพรรดิคังซี
ความนิยมเครื่องถ้วยกระเบื้องเคลือบของชาวยุโรปนำมาซึ่งการขนส่งเครื่องกระเบื้องเคลือบจำนวนมหาศาลจากจีนมายังยุโรปเพื่อสนองค่านิยมของผู้ดีมีเงินชาวยุโรป โดยเครื่องกระเบื้องเคลือบราชวงศ์ชิงจะมีการใช้สีสันที่โดดเด่นและอ่อนหวาน ทำให้เป็นที่หลงรักของชาวตะวันตก จนเกิดเป็นชินัวเซรีดังที่กล่าวไป ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นผลดีต่อศิลปวัฒนธรรมในยุโรปแต่สำหรับในทางการค้าล่ะ มันส่งผลดีด้วยหรือเปล่า?
ความนิยมของสินค้าจีน ได้ทำให้เกิดการแข่งขันกันนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่พยายามแข่งกันตั้งสถานีการค้าเพื่อนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งบริษัทอินเดียตะวันออกของบริเตนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และสามารถขยายบริษัทออกไปได้กว้างขวางกว่าเดิม แน่นอนว่ามันส่งผลดีต่อการค้าและเศรษฐกิจยุโรปในยุคนั้นด้วย
ในเมื่อมีการนำเข้ามาก นั่นย่อมหมายความว่าเครื่องกระเบื้องเคลือบจีนที่เป็นงานทำมือนั้นกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเพื่อผลิตให้ทันความต้องการซื้อของชาวยุโรป ช่างฝีมือชาวจีนจึงพยายามคิดหาวิธีการแปลก ๆ ในการคิดสินค้ามาขายชาวยุโรป มีลวดลายใหม่ ๆ มีรูปทรงใหม่ ๆ ที่ผลิตยาก ตลอดจนจำนวนการผลิตที่มากก็ทำให้บ่อยครั้งที่เครื่องกระเบื้องเคลือบจีนที่ได้นั้นสวยน้อยลงเพื่อความรวดเร็วในการผลิต
⭐ เมื่อของนำเข้าแพง ก็ผลิตเองซะเลย
“ของแพงทำอย่างไรดี” ชาวยุโรปบางส่วนในยุคนั้นอาจจะคิดขึ้นมา จะทำยังไงดีให้เราสามารถซื้อเครื่องกระเบื้องเคลือบสวย ๆ ในราคาถูกได้บ้าง? คำตอบก็คือ “ผลิตเองซะเลยสิ”
ด้วยความแพงของเครื่องกระเบื้องเคลือบจีน ทำให้ชาวยุโรปบางกลุ่ม อย่างเช่นในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ตัดสินใจที่จะตั้งโรงงานเครื่องเคลือบขึ้นมาในยุโรปที่ประสบความสำเร็จเป็นเจ้าแรก ๆ อย่าง โรงงาน "ไมเซิน" (Meissen) ขึ้นมาในปี 1708 ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าออกุสตุสที่ 2 แห่งราชรัฐผู้คัดเลือกซัคเซิน (Augustus II the Strong, Elector of Saxony) จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
1
โรงงานไมเซินนี้ อันที่ถูกสร้างมาเพื่อต่อสู้กับสินค้าจีนในช่วงศตวรรษที่ 17 ก่อน โดยก็ได้ลองผิดลองถูกกันมาหลายครั้ง จนได้ผลิตอย่างจริงจังในทศวรรษที่ 1710s และเริ่มติดตลาดได้ในช่วงปี 1720s ซึ่งหลังจากการเกิดขึ้นของไมเซิน ก็ได้ทำให้เกิดการตั้งบริษัทอื่น ๆ เข้ามาแข่งขันกัน ด้วยความที่ผลิตในยุโรปเอง ทำให้เครื่องกระเบื้องเคลือบยุโรปราคาถูกกว่าของนำเข้าจากจีนเยอะมาก และนั่นเองก็นำมาซึ่งการเสื่อมถอยของเครื่องกระเบื้องเคลือบจีนไป และหมดความนิยมในปลายศตวรรษที่ 18 ในรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลง
1
วงเวียนการเกิดและดับของวงการกระเบื้องเคลือบจีนได้สะท้อนให้เราเห็นถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่อิทธิพลของสินค้าและความเป็นจีนที่มีต่อวัฒนธรรมของชาวยุโรป จนเกิดเป็นกระแสความนิยมขึ้นมาในสังคม สินค้าอย่างเครื่องกระเบื้องเคลือบจีนได้กลายมาเป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคม อีกทั้งยังมีบทบาทในเศรษฐกิจและการค้ายุโรปในเรื่องของการนำเข้าสินค้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในเรื่องของการกระจายตัวของสถานีการค้าจากการแข่งกันนำเข้าสินค้า ไปจนถึงการพยายามตั้งโรงงานผลิตเองเพื่อต่อสู้กับการนำเข้าสินค้านั้น
ซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลดีของความนิยมเครื่องกระเบื้องเคลือบจีนที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมของยุโรปในศตวรรษที่ 18 ได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง:
WOODWARD, HIRAM. “SEVENTEENTH-CENTURY CHINESE PORCELAIN IN VARIOUS WORLDS.” The Journal of the Walters Art Museum 70/71 (2012): 25–38. http://www.jstor.org/stable/24412686.
Pritchard, E. H. “The Struggle for Control of the China Trade during the Eighteenth Century.” Pacific Historical Review 3, no. 3 (1934): 280–95. https://doi.org/10.2307/3633708.
Dillon, Michael. “Transport and Marketing in the Development of the Jingdezhen Porcelain Industry during the Ming and Qing Dynasties.” Journal of the Economic and Social History of the Orient 35, no. 3 (1992): 278–90. https://doi.org/10.2307/3632734.
PIERSON, STACEY. “The Movement of Chinese Ceramics: Appropriation in Global History.” Journal of World History 23, no. 1 (2012): 9–39. http://www.jstor.org/stable/41508050.
GERRITSEN, ANNE, and STEPHEN MCDOWALL. “Material Culture and the Other: European Encounters with Chinese Porcelain, ca. 1650-1800.” Journal of World History 23, no. 1 (2012): 87–113. http://www.jstor.org/stable/41508052.
โฆษณา