Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
NTP59
•
ติดตาม
28 ก.พ. เวลา 02:27 • ข่าวรอบโลก
มัสก์จะปฏิรูปราชการสหรัฐฯสำเร็จหรือไม่
นิติการุณย์
มิ่งรุจิราลัย
1
อย่างที่ผมเรียนรับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพไปเมื่อวันก่อนว่า ตอนนี้หน่วยงานรัฐของสหรัฐอเมริกาปั่นป่วนรวนเรอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์
1
เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีมหาเศรษฐี (ทรัพย์สิน 6 พันล้านดอลลาร์) แท็กทีมกับอีลอน มัสก์ อภิพญามหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของโลก ในตำแหน่งหัวหน้ากระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล หรือ DOGE (ทรัพย์สิน 4 แสนล้านดอลลาร์)
มัสก์เข้ามาคุมภารกิจลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองของรัฐบาล โดยใช้วิธีเจ้านายสั่งลูกน้อง สั่ง สั่ง แล้วก็สั่ง
แม้ว่าการบริหารรัฐและการบริหารเอกชนจะมีหลักการที่คล้ายกันในบางด้าน แต่หลายอย่างมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ภาครัฐมีวัตถุประสงค์หลักในการให้บริการประชาชนและบรรลุเป้าหมายเชิงสังคม ส่วนภาคเอกชนมุ่งแสวงหากำไรและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ภาครัฐมีรายได้จากภาษีและเงินอุดหนุนจากรัฐ ภาคเอกชนมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ
เอกชนวัดความสำเร็จจากผลกำไร ส่วนแบ่งตลาด หรือผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น ส่วนรัฐวัดจากผลกระทบต่อสังคม คุณภาพการให้บริการ หรือความพึงพอใจของประชาชน
ระบบการตัดสินใจของเอกชนสามารถทำได้รวดเร็วกว่าเน้นประสิทธิภาพและยืดหยุ่นกว่า ส่วนรัฐจะมีลำดับชั้นและกฎระเบียบมาก ถูกควบคุมโดยกฎหมายและนโยบายสาธารณะ ส่วนภาคเอกชนแม้ว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแต่ก็มีความเป็นอิสระมากกว่า
ที่สำคัญที่สุดในเรื่องบุคลากรคือ แรงจูงใจในการทำงานที่เอกชนเน้นผลตอบแทน โบนัส และโอกาสเติบโตในอาชีพ ส่วนรัฐ บุคลากรมีแรงจูงใจทางสังคมและความมั่นคงในการทำงาน
หนึ่งในมาตรการที่มัสก์นำมาใช้คือ การส่งอีเมลถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางนับแสนคนให้รายงานผลงานสำคัญ 5 ประการที่ได้ดำเนินการในสัปดาห์ที่ผ่านมาภายในเวลา 48 ชั่วโมง ถ้าไม่อย่างนั้นจะถูกไล่ออก ทำเอาเจ้าหน้าที่รัฐอเมริกันจำนวนไม่น้อยตกใจจนขวัญหนีดีฝ่อ
ท่ามกลางความสับสนกังวลใจ ผมเห็นหน่วยงานที่ออกมาปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐก็คือ สำนักงานบริหารบุคคลแห่งสหรัฐฯ หรือ OPMโดยบอกว่าเรื่องการตอบอีเมลเป็นเรื่องของความสมัครใจ
ผู้อ่านท่านลองนึกถึงใจเจ้าหน้าที่รัฐสิครับ วันดีคืนดีก็มีเจ้านายที่ไม่ฟังอีร้าค่าอีรมมาไล่บี้ไล่บีบจนหน้าเขียว โดยลืมไปว่านี่คือหน่วยงานรัฐ
แน่นอนว่าในหลายหน่วยงานควรต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สั่งได้ในชั่วข้ามคืน
ที่สำคัญคือต้องได้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ใช่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง
ผู้อ่านท่านคงทราบว่า อีลอน มัสก์ ขึ้นชื่อเรื่องการบริหารบริษัท Tesla, SpaceX และ X (เดิมคือ Twitter) แบบเข้มงวดและคาดหวังประสิทธิภาพสูงสุดจากพนักงาน
ตัวของมัสก์ทำงานหนักมาก บางครั้งทำงานถึง 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แถมยังเคยบอกพนักงานว่า
“ถ้าคุณไม่สามารถทำงาน 80-100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้ ก็อย่าคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จ” และในช่วงที่ต้องเร่งการผลิต พนักงานต้องอยู่ทำงานกันข้ามวันข้ามคืน
มัสก์ถนัดสั่งงานด้วยความเผด็จการ แกเคยส่งเมลถึงพนักงาน Twitter ว่า “ต้องทำงานหนักสุดขีด” แถมขู่ว่าพนักงานที่ไม่ยอมทำงานแบบฮาร์ดคอร์ควรลาออก
มัสก์เคยไล่หัวหน้าวิศวกรและผู้บริหารออกกลางที่ประชุม หากไม่สามารถตอบคำถามด้านเทคนิคได้ดีพอ
แม้ว่ามาตรการฮาร์ดคอร์จะทำให้พนักงานเครียด หมดไฟ องค์กรขาดเสถียรภาพในการบริหาร และอัตราการลาออกสูง
สำหรับบริษัทของตัวเองทำได้ครับ แต่หน่วยงานรัฐไม่ใช่
บุคลิกภาพของนักการเมืองมีความสำคัญต่อความสำเร็จและการยอมรับจากประชาชน
ทั้งทรัมป์และมัสก์สะท้อนให้เห็นถึงภาพของมหาเศรษฐี ซุปเปอร์อีโก้ โคตรแห่งความสุดโต่ง มั่นใจในตัวเองสูงจนทะลุจักรวาล และใช้พระเดชแทนพระคุณจนคนทั้งเกลียดและกลัว
ไม่มีใครปฏิเสธว่ามัสก์เป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ แต่จากการบริหารงานไม่ถึงเดือนทำให้คนทั้งโลกเห็นว่ามัสก์ไม่ใช่ผู้นำที่จะสามารถกุมหัวใจคนทำงานได้
และหากปล่อยไปในระยะยาว นี่คือหนึ่งในสนิมร้ายที่กร่อนกินการทำงานรัฐบาลของทรัมป์
นี่ยังแค่น้ำจิ้มเท่านั้นนะครับ จนกว่าจะครบเทอม คนอเมริกันยังต้องปวดหัวกับทรัมป์และมัสก์อีกหลายตลบ.
1
ข่าวรอบโลก
11 บันทึก
68
7
9
11
68
7
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย