28 ก.พ. เวลา 12:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จาก ‘ทุนนิยม’ สู่ ‘ศักดินาเทคโนโลยี’ เมื่อโลกเปลี่ยนจากการล้อมรั้วที่ดินไปสู่การล้อมรั้วดิจิทัล

ไม่รู้ว่าใครสังเกตเห็นกันบ้างหรือเปล่านะครับ กับระบบศักดินาเทคโนโลยี (Technofeudalism)… ที่กำลังเกิดขึ้นกับพวกเราทุกคนในทุกวันนี้ มันคือการที่เศรษฐกิจของเราที่กำลังถดถอยกลับไปสู่ยุคกลาง ที่ซึ่งเราทุกคนกำลังกลายเป็นทาสที่ไถพื้นที่บนโลกดิจิทัลซึ่งเป็นของเจ้าขุนมูลนายสมัยใหม่แห่ง Silicon Valley
แล้วถามว่าใครที่กำลังทำให้วิสัยทัศน์สุดบ้าคลั่งนี้เป็นจริง? ก็ต้องว่าไม่ใช่ใครที่ไหน ชายผู้นั้นก็คือ Elon Musk นั่นเอง! ชายที่รวยที่สุดในโลกที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อจัดระเบียบโลกใหม่ในยุคหลังทุนนิยมให้มันเกิดขึ้นจริง
เราเห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาที่แสดงออกอย่างชัดเจน ทั้งการสนับสนุนพรรคขวาจัดในเยอรมนี กล่าวหาผู้นำพรรคแรงงานอังกฤษ และยังทำตัวเสมือนเป็นลูกพี่ของ Trump โดยพักอยู่ใน Mar-a-Lago รีสอร์ทสุดหรู คืนละ 2,000 ดอลลาร์ ที่โหดกว่านั้นคือการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตัวเองเผยแพร่ความเกลียดชัง
บางคนอาจคิดว่านี่เป็นแค่พฤติกรรมประหลาด ๆ ของมหาเศรษฐี ที่อยากหันมาเอาดีทางด้านการเมือง แต่ถ้ามองให้ลึกจริง ๆ การกระทำทั้งหมดของเขาเชื่อมโยงกับโครงการที่ใหญ่กว่านั่นคือการใช้พื้นที่ดิจิทัลเพื่อทำให้รัฐบาลอ่อนแอลงและควบคุมชีวิตของเราเพิ่มขึ้น
ระบบศักดินาเทคโนโลยีคืออะไร? เรามาย้อนดูระบบศักดินาดั้งเดิมกันก่อน ซึ่งเป็นระบบก่อนยุคอุตสาหกรรมที่มนุษย์เราเกิดมาเป็นเจ้าขุนมูลนาย (คือเป็นเจ้าของที่ดิน) หรือเป็นทาส (คือทำงานบนที่ดิน) และเพราะที่ดินเป็นมรดกตกทอด ทำให้ไม่มีทางปีนบันไดทางสังคมเปลี่ยนจากทาสขึ้นไปเป็นชนชั้นสูงได้เลย
ในศตวรรษที่ 19 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่ดินกลายเป็นสินค้าในตลาด เจ้าของที่ดินจึงไล่ทาสออกแล้วจ้างกลับมาเพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างแรงงานกับเงิน ทำให้เกิด “การล้อมรั้ว” ที่ชาวนาถูกขับออกจากที่ดินที่ครอบครัวทำมาหลายชั่วอายุ และนี่คือจุดเริ่มต้นระบบทุนนิยม
ปัจจุบัน แม้เราไม่ได้ย้ายกลับไปอยู่บนที่ดินของเจ้าขุนมูลนาย แต่ชีวิตเราส่วนใหญ่ใช้เวลาบนแอปและพื้นที่ดิจิทัลที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ เราสร้างมูลค่าให้เจ้าของพื้นที่เหล่านี้ทุกครั้งที่คลิก อ่านข่าว ติดต่อเพื่อน หรือสั่งอาหาร
ระบบศักดินาเทคโนโลยีอธิบายชีวิตบนคลาวด์นี้ ที่เรากลายเป็นทาสอาศัยอยู่บนดินแดนดิจิทัลของมหาเศรษฐี Silicon Valley และเหมือนทาสสมัยก่อน เราไม่มีทางเลือกจริงๆ เพราะการมีชีวิตในโลกสมัยใหม่ต้องพึ่งพาพื้นที่ดิจิทัลเหล่านี้ ลองคิดดูว่าถ้าคุณทิ้งโทรศัพท์ ออกจากอินเทอร์เน็ต ไม่ใช้แอป ชีวิตคุณจะเป็นยังไง?
ตามทฤษฎีของนักวิชาการอย่าง McMahan, Stratch และ Inferno ระบบศักดินาเทคโนโลยีมันเลวร้ายถึงขนาดที่ว่าแม้แต่ความชอบของเราก็ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป มันถูกสร้างโดยเครือข่ายอัลกอริทึม เราฝึกให้อัลกอริทึมหาสิ่งที่เราชอบ แล้วอัลกอริทึมก็ฝึกเราให้ชอบสิ่งที่มันนำเสนอ
เราไม่เพียงต้องพึ่งพาเครือข่ายแอปพลิเคชั่นที่อยู่บนคลาวด์เหล่านี้เพียงเท่านั้น แต่ยิ่งเรามีส่วนร่วมมากเท่าไร เราก็ยิ่งต้องการมันมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งพวกมันเป็นเจ้าของเรามากขึ้น เหล่าเจ้าขุนมูลนายทางด้านเทคโนโลยีก็จะร่ำรวยบนกองเงินกองทองที่มากขึ้น
กิจกรรมทางการเมืองล่าสุดของ Musk อาจดูเหมือนต้องการใช้ระบบรัฐบาลแบบดั้งเดิมเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ แต่ความจริงตรงกันข้าม เขากำลังใช้รัฐบาลเพื่อทำลายอำนาจของรัฐบาลเอง
Trump ถึงกับประเคนหน่วยงานรัฐบาลอย่าง DOGE หรือ Department of Government Efficiency ให้ Musk มาดูแล โดยมีเป้าหมายกำจัดการใช้จ่ายของรัฐบาลที่สิ้นเปลือง
สิ่งเหล่านี้มันสอดคล้องกับแนวโน้มที่รัฐบาลกำลังยอมแพ้ทางอำนาจให้กับบริษัทบิ๊กเทค เพราะถ้ามองกันตามความเป็นจริง บริการสาธารณะตั้งแต่การขนส่ง ไปรษณีย์ ห้องสมุด การศึกษา กำลังถูกยึดครองโดยบริษัทเอกชน และที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นก็คือ นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของฝ่ายขวาโดยเฉพาะ คนที่นำพาบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้มาเข้าร่วมกับรัฐบาลคือ Barack Obama ที่หวังจะเปลี่ยนอเมริกาเป็นศูนย์กลาง Silicon Valley
มีเหล่าพนักงานที่มีการหมุนเวียนทำงานระหว่างรัฐบาล Obama และบริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี เจ้าหน้าที่ Obama จำนวนมากไปทำงานให้ Lyft และบริษัทอื่นๆ บางคนช่วยร่างกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้เจ้าของที่ดินดิจิทัลและริดรอนสิทธิแรงงาน
1
Yanis Varoufakis ผู้เขียนหนังสือ Technofeudalism: What Killed Capitalism ระบุว่าเหมือนการล้อมรั้วในยุคศักดินาเดิม ต้องมีรั้วบางอย่างเพื่อกันมวลชนออกจากทรัพยากรที่สำคัญ ซึ่งในศตวรรษที่ 18 คือที่ดิน แต่ในศตวรรษที่ 21 คือการเข้าถึงอัตลักษณ์ของเราเอง เพื่อมีส่วนร่วมในการใช้แพลตฟอร์ม เราต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวเพื่อการเข้าถึง
1
Musk กำลังเข้ามาปิดจ๊อบโครงการที่ริเริ่มโดย Obama และนักการเมืองเสรีนิยมให้เสร็จสิ้น และเขาไม่ได้หยุดแค่อเมริกา แต่พยายามขยายโครงการนี้ไประดับโลก ไม่ต่างจากการยึดครองที่ดินก่อนยุคอุตสาหกรรมเพื่อขยายอาณาเขตของเจ้าขุนมูลนายศักดินา
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “10 ปีที่แล้วใครจะจินตนาการได้ว่าเจ้าของเครือข่ายสังคมใหญ่ที่สุดจะสนับสนุนขบวนการระหว่างประเทศและแทรกแซงการเลือกตั้งได้โดยตรง รวมถึงในเยอรมนี” และคำพูดดังกล่าวนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากนายกฯ นอร์เวย์ด้วย
Musk มีบทบาทสำคัญในสงครามรัสเซีย-ยูเครนผ่านดาวเทียม Starlink ที่ยูเครนต้องพึ่งพา และเมื่อเร็วๆ นี้เขาสนับสนุนพรรคขวาจัด Alternative for Germany (AfD) และเตือนชาวเยอรมันว่า “มีเพียง AfD เท่านั้นที่จะช่วยเยอรมนีได้”
ผู้นำพรรค AfD, Alice Weidel ใช้การสนทนากับ Musk เปรียบเทียบ Hitler กับคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมร่วมสมัย เธอบอกว่า “Hitler เป็นพวกสังคมนิยมที่ต่อต้านชาวยิว แต่พวกเรา (AfD) เป็นสิ่งตรงกันข้าม”
นี่ไม่ใช่แค่ Elon ที่ใกล้ชิดกับนาซีอีกครั้ง แต่เป็นการดำเนินโครงการระบบศักดินาเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น ผู้สมัครพรรค Green ของเยอรมนีกล่าวว่า “ด้วยเงินหลายพันล้านและอำนาจสื่อไร้ขีดจำกัด การสนับสนุน AfD ของ Elon Musk มันไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่มันกำลังทำให้ยุโรปอ่อนแอลงได้จริง ๆ”
แฟนคลับ Musk อาจมองว่าเขาแค่พยายามส่งเสริมแนวคิดเสรีนิยมและการพูดอย่างเสรี แต่ตามที่นักปรัชญาการเมือง Guillaume David Blunt ได้ออกมาวิจารณ์ว่า Musk ไม่ใช่เสรีนิยม แต่เป็นเผด็จการที่สนใจเฉพาะการปกป้องตัวเองจากกฎระเบียบ พวกเขาคือเจ้าขุนมูลนายที่ต้องการเป็นอิสระจากข้อจำกัด
มีเหตุผลที่ Musk ต้องการทำลายยุโรป เพราะยุโรปรู้ทันบริษัทบิ๊กเทคจาก Silicon Valley และควบคุมบริษัทเทคโนโลยีเข้มงวดกว่าพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงกฎหมายตลาดดิจิทัลล่าสุดที่ห้ามบริษัทแสวงหาผลกำไรจากข้อมูลบนแอปมือถือ ซึ่ง Musk เปรียบเสมือนตัวแทนบิ๊กเทคเพื่อเข้ามาทลายสิ่งนี้โดยเฉพาะ
หลายคนอาจสงสัยว่าสิ่งนี้จะทำให้ระบบทุนนิยมล่มสลายได้อย่างไร ลองคิดถึงการเปลี่ยนผ่านจากระบบศักดินาเป็นอุตสาหกรรมเมื่อการล้อมรั้วที่ดินเปลี่ยนทุกอย่างเป็นความสัมพันธ์ในตลาด เหมือนที่อินเทอร์เน็ตแบบเปิดถูกขายเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าในทศวรรษ 90 และถูกล้อมรั้วโดยบริษัทเทคโนโลยี
แต่การเปลี่ยนไปสู่ระบบศักดินาเทคโนโลยีมันโหดกว่านั้นเพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของอำนาจและการควบคุมมากกว่าแค่เรื่องของกลไกตลาด ตามที่ Varoufakis เขียนไว้ในหนังสือของเขา ระบบศักดินาเทคโนโลยีมีความแตกต่างในเชิงคุณภาพจากระบบทุนนิยม มันแยกออกจากตรรกะของกลไกตลาดที่ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีส่วนใหญ่
การใช้และสนับสนุนคำพูดแสดงความเกลียดชังของ Musk ก็เข้าใจได้เช่นกัน Varoufakis กล่าวว่า “อัลกอริทึมของระบบศักดินาเทคโนโลยีมักจะโฟกัสในเรื่อง ผู้ชายเป็นใหญ่ ภาพเหมารวม และการกดขี่ ผู้เปราะบางที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิง ผู้ป่วยทางจิต ผู้ด้อยโอกาส และคนจน จะทนทุกข์มากที่สุด”
เราเห็นเรื่องนี้เมื่อเร็วๆ นี้กับ Mark Zuckerberg ที่ดึงโปรแกรมความหลากหลายออกจาก Meta พร้อมโปรแกรมการกำกับดูแลเนื้อหาที่ได้ปิดไปแล้ว ที่ตอนนี้อนุญาตให้มีการใช้คำพูดแสดงความเกลียดชังในแพลตฟอร์มของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ และยิ่งเนื้อหาเหล่านี้มีมากเท่าไหร่ engagement จะมากขึ้นเท่านั้น และพวกเขาก็จะรับทรัพย์มากขึ้นไปอีก
Varoufakis กล่าวว่า “ความเกลียดชังเป็นการชดเชยทางอารมณ์ของระบบศักดินาเทคโนโลยีสำหรับความคับข้องใจในความสัมพันธ์กับอัตลักษณ์” และแม้การกำกับดูแลเนื้อหาที่เข้มที่สุดก็ไม่สามารถยับยั้งความเกลียดชังทั้งหมดได้
Varoufakis ยังชี้ให้เห็นว่าอีกผลกระทบคือในท้ายที่สุดเราก็จะไม่ได้เป็นเจ้าของจิตใจของเราเองอีกต่อไป ในชั่วโมงทำงาน เรานำตัวเองเข้าไปในระบบดิจิทัลต่างๆ เมื่อกลับบ้าน เรากลายเป็นทาสคลาวด์ที่หล่อเลี้ยงการเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเรา วนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นวัน เดือน ปี และตลอดไป
Varoufakis ยังกล่าวอีกว่า ในยุคอดีตที่เราเคยทั้งอาศัยและทำงานบนที่ดินของเจ้าขุนมูลนายศักดินา แต่ความเป็นทาสแบบใหม่เกิดขึ้นในคลาวด์ที่ควบคุมโดยเจ้าขุนมูลนายเทคโนโลยีแทน
ในยุคที่ Trump กลับเข้ามาพร้อมกับคนที่มีวาระเพื่อสร้างระบบศักดินาเทคโนโลยีอย่างชัดเจน เช่น Elon Musk และ J.D.Vance รองประธานาธิบดีที่มาจากสายเทคโดยตรง
เพราะฉะนั้นทุกคนต้องฉุกคิดกันได้แล้ว ต้องต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเหล่านี้ และรวมตัวกันผ่านพื้นที่ดิจิทัลของเจ้าขุนมูลนายทางเทคโนโลยีทั้งหลายนี่แหละ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เรียกร้องการกำกับดูแลที่ดีขึ้น และสนับสนุนทางเลือกที่มีความรับผิดชอบมากกว่านี้
การต่อสู้กับระบบศักดินาเทคโนโลยีไม่ใช่การต่อต้านความก้าวหน้า แต่เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีของมนุษย์ในยุคดิจิทัล เป็นการยืนยันว่าเทคโนโลยีควรรับใช้มนุษยชาติ ไม่ใช่ทำในสิ่งตรงกันข้ามเหมือนที่เราเห็นกันในทุกวันนี้
เพราะฉะนั้นทุกคนต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับพลวัตของอำนาจในโลกดิจิทัล และทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของเรา อนาคตที่เทคโนโลยีอยู่ภายใต้การควบคุมของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่อยู่เหนือมันนั่นเองครับผม
References :
หนังสือ Technofeudalism: What Killed Capitalism โดย Yanis Varoufakis
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
คิดเห็นอย่างไรคอมเม้นต์กันได้เลยครับผม
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA ด.ดล Blog
คลิกเลย --> https://lin.ee/aMEkyNA
รวม Blog Post ที่มีผู้อ่านมากที่สุด
——————————————–
ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
=========================
โฆษณา