Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Pawdoc Station.
•
ติดตาม
1 มี.ค. เวลา 12:06 • สัตว์เลี้ยง
Pawdoc station EP.1 : What Aging changes : ความสำคัญของวัยชราในสัตว์เลี้ยง
ปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อน มีอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกๆช่วงวัยของมนุษย์ เมื่อเวลาแห่งความรักความผูกผันผ่านไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดไม่ว่าจะคนหรือสัตว์เลี้ยงก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของความชราภาพ ซึ่งอายุขัยของน้องสุนัขและน้องแมวนั้นมีน้อยกว่ามนุษย์อย่างเราๆอยู่แล้ว ทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายๆท่านจะต้องพบเจอกับปัญหาวัยชราของสัตว์เลี้ยงอย่างแน่นอน วันนี้Pawdoc station จะนำเสนอเรื่องของ “ความสำคัญของวัยชราในสัตว์เลี้ยง” มาฝากทุกๆคนกันครับ
เมื่อพูดถึงแต่ล่ะช่วงวัยของสุนัขและแมว วัยชราก็ถือได้ว่าเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่มีความแตกต่างจากช่วงวัยอื่นๆอย่างชัดเจน ทำให้ต้องมีการดูแลเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงของเราอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรคต่าง ๆที่อาจจะพบได้ในช่วงวัยนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ของเจ้าของสัตว์และสัตว์เลี้ยงจะแน่นแฟ้นมากขึ้นในช่วงนี้เลยก็ว่าได้ โดยในสัตว์สูงวัยจะมีภาวะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปได้หลายอย่างดังนี้
1. ร่างกายจะเริ่มเข้าสู่สภาวะเปราะบาง สัตว์จะเริ่มมีความสามารถในการฟื้นตัวได้ลดลง ส่งผลให้ สมรรถภาพร่างกายลดลงไป , การทำงานของสมองเสื่อมถอยลงไป และความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งหากตัวสัตว์มีภาวะความเปราะบางที่สูง อาจสัมพันธ์ต่ออัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นได้
2. ภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมถอย เป็นกระบวนการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานลดลงตามวัย ส่งผลให้ ร่างกายมีความสามารถในการต้านทานโรคได้น้อยลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจหรือติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และอาจเพิ่มโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ตัวเองและมะเร็งได้
3. ภาวะการอักเสบเรื้อรังจากความชรา มีการศึกษาพบว่า ระดับการอักเสบในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดของโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคข้อเสื่อม โรคหัวใจ และโรคสมองเสื่อมในสัตว์สูงวัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องภาวะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงในสัตว์เลี้ยงวัยชรา บางแนวคิดเป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในทางการแพทย์มาใช้ โดยในทางสัตวแพทย์บางแนวคิดก็ยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจนหรือบางอย่างก็ยังมีข้อมูลที่จำกัดเกินกว่าจะอธิบายได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจนำมาปรับใช้กับงานทางสัตวแพทย์ได้อย่างดีเยี่ยม
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงของเราเริ่มเข้าสู่วัยชราแล้ว ในทางปฏิบัติจะมีวิธีการกำหนดช่วงวัยชราของสัตว์ได้ดังนี้
การกำหนดว่าสัตว์เลี้ยงของท่านกำลังเข้าสู่วัยชราหรือไม่ ต้องบอกก่อนว่าโดยปกติแล้วเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงตามวัยของสัตว์จะขึ้นอยู่กับ สายพันธุ์และขนาดของตัวสัตว์ จึงไม่มีการกำหนดอายุที่แน่นอนได้ว่าอายุเท่าไหร่ถึงจะเข้าสู่วัยชรา (เช่น สุนัขพันธุ์เล็กมักจะอายุยืนยาวกว่าสายพันธุ์ใหญ่ เป็นต้น) ดังนั้นจึงมีแนวทางการปฏิบัติร่วมกันดังนี้
- ในสุนัขจะเริ่มเข้าสู่วัยชราในช่วง 25%สุดท้ายของอายุขัยที่คาดการณ์ไว้ (อ้างอิงจาก The 2019 AAHA Canine Life Stage Guidelines )
- ในแมววัยชราจะเริ่มต้นมีแมวมีอายุ 10 ปี ขึ้นไป ( อ้างอิงจาก The 2021 AAHA/AAFP Feline Life Stage Guideline และ The 2021 AAFP Feline Senior Care Guidelines) เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว หากสัตว์เลี้ยงของท่านกำลังเข้าสู่วัยชราจะมี
แนวทางในการจัดการเรื่องนี้อย่างไร พวกเราPawdoc Station สรุปออกมาให้ทุกคนเข้าใจง่ายๆดังนี้ครับ
1. การตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองโรค
ถึงแม้ว่าสัตว์เลี้ยงสูงวัยบางตัวจะดูแข็งแรง และความชราในสัตว์ไม่ได้เท่ากับการเป็นโรค แต่เมื่อเข้าสู่วัยชรา กระบวนการต่างๆของร่างกายจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในหลายๆระบบตามที่ได้กล่าวไว้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆของร่างกายเหล่านี้ อาจไม่ได้แสดงออกทางอาการอย่างชัดเจน ดังนั้น การตรวจสุขภาพเป็นประจำ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ จะทำให้รู้ถึงความเป็นไปของร่างกายของสัตว์เลี้ยงของเราและหากเริ่มพบความผิดปกติของร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะสามารถวางแผนการดูแลได้ดียิ่งขึ้น
2. การดูแลสัตว์สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
การดูแลสัตว์สูงวัย ไม่ใช่แค่การมุ่งเน้นในเรื่องของการรักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงและให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของตัวสัตว์ด้วย ซึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของตัวสัตว์ได้ สรุปเป็นหัวข้อต่างๆได้ดังนี้ครับ
2.1 การควบคุมน้ำหนัก เพื่อป้องกันโรคข้อเสื่อมและโรคเรื้อรังอื่นๆที่จะตามมา ในหลายๆครั้งเจ้าของสัตว์คิดว่าการที่สัตว์กินอิ่มนอนหลับและได้กินสิ่งที่ชอบนั้นส่งเสริมต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเขาแล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่ง การทำเช่นนี้อาจจะยิ่งส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาแย่ลงได้ เช่น สุนัขบางสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเสื่อมได้ง่าย หากไม่มีการควบคุมน้ำหนักที่ดี ปล่อยให้น้ำหนักเยอะเกินไป ก็อาจจะส่งผลให้ข้อต่างๆเสื่อมได้เร็วขึ้นเช่นเดียวกัน การลดน้ำหนักจึงมีความสำคัญ
2.2 โภชนาการที่เหมาะสม ในกลุ่มสุนัขป่วยที่มีโรคเรื้องรัง จำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหารที่เหมาะสมกับตัวโรคนั้นๆ เช่น สัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคไต ก็ควรได้รับอาหารสูตรเฉพาะโรคไต หรือ สัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคอ้วน ก็ควรได้รับอาหารสูตรลดน้ำหนักและมีการควบคุมปริมาณอาหารอย่างเหมาะสม ส่วนในสุนัขสูงวัยที่สุขภาพดี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเลือกกินอะไรก็ได้ แต่ควรเลือกที่จะกินอาหารที่เหมาะสมแก่ช่วงวัยเช่นเดียวกัน ควรเป็นอาหารที่มีโปรตีนที่ย่อยง่ายและมีกรดไขมันโอเมก้า-3 เป็นต้น
2.3 การออกกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่นการเดินช้าๆ หรือ การกายภาพบำบัดเบาๆเพื่อลดภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบ
2.4 การจัดการสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสัตว์สูงวัย เช่น การปูพรมหรือวัสดุกันลื่นให้ในบริเวณที่สัตว์เลี้ยงของเราอาศัยอยู่ จะเป็นประโยชน์มากๆกับกระดูกและข้อของสัตว์เลี้ยงของเรา หรือ การปรับระดับชามอาหารให้สูงขึ้นเพื่อลดการก้มของสัตว์ ก็จะเป็นประโยชน์ในสัตว์เลี้ยงบางตัวที่เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการปวดคอหรือมีปัญหากระดูกสันหลัง หรือการหากะบะทรายขอบเตี้ยให้แมวสูงวัยสามารถเข้าออกกะบะทรายได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นต้น
2.5 การดูแลสุขภาพช่องปาก ค่อนข้างมีความสำคัญ เนื่องจากสัตว์เลี้ยงหลายๆตัวเมื่อเข้าสู่อายุที่มากขึ้นจะเริ่มมีหินปูนเกาะเป็นจำนวนมาก หรืออาจจะมีปัญหาอื่นๆ อย่างเช่นโรคไตที่อาจจะส่งผลทำให้เกิดการอักเสบของช่องปากได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการดูแลช่องปากจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากมีปัญหาเรื่องการอักเสบของเหงือกและฟัน จะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของตัวสัตว์ได้ ซึ่งการดูแลสุขภาพช่องปากควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยกลางเป็นต้นไปได้เลย เนื่องจากหลายๆหัตถการที่เกี่ยวข้องกับช่องปากเมื่อเข้าสู่วัยชราจะทำได้ยากขึ้น
2.6 การกระตุ้นสมอง ในสัตว์หลายๆตัวเมื่อเข้าสู่วัยกลางไปจนถึงวัยชรา สมองจะเริ่มมีความเสื่อมลง เพราะฉะนั้นของเล่นที่ช่วยฝึกสมอง หรือการใช้คำสั่ง การเปลี่ยนเส้นทางการเดิน(ในกรณีที่พาสุนัขหรือแมวไปออกกำลังกาย) รวมถึงอาหารเสริมต่างๆที่ช่วยบำรุงสมอง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของความเสื่อมของสมองได้
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จะช่วยให้เจ้าของน้องสุนัขและน้องแมวเข้าใจถึงภาวะของสัตว์เลี้ยงเมื่อเข้าสู่วัยชรารวมถึงได้แนวทางการปฏิบัติและการดูแลเบี้องต้นที่ดียิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเนื้อหาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดูแลสัตว์เลี้ยงวัยชราเท่านั้น ในสัตว์แต่ล่ะตัวจะมีรายละเอียดในการดูแลที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นอย่าลืมพาน้องสุนัขหรือน้องแมวไปตรวจสุขภาพเป็นระยะ และปรับเปลี่ยนแนวทางการดูแลให้เหมาะสมนะครับ
Pawdoc Station (1 มี.ค. 68)
แหล่งข้อมูล
- 2023 AAHA Senior Care Guidelines for Dogs and Cats?
- The 2019 AAHA Canine Life Stage Guidelines
- The 2021 AAHA/AAFP Feline Life Stage Guideline
- The 2021 AAFP Feline Senior Care Guidelines
สัตว์เลี้ยง
ข่าวรอบโลก
ไลฟ์สไตล์
2 บันทึก
3
1
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Pawdoc station Episode.
2
3
1
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย