16 มี.ค. เวลา 12:26 • ครอบครัว & เด็ก

วัฒนธรรมร้านหนังสือ

แทบจะทุกครั้งในช่วง 4-5 ปีมานี้ (มั้งนะ) เวลาที่เข้าร้านหนังสือประโยคที่ฉันมักจะได้ยินเสมอ ๆ คือ “ซื้อไปแล้วต้องอ่านนะ” ซึ่งเป็นคำพูดของผู้ปกครองที่อยากให้ลูกหลานมีนิสัยรักการอ่าน แต่…
ข้อที่ 1
ไม่ว่าเราจะอยากให้ลูกหลานมีนิสัยรักการอ่านแค่ไหนก็ตาม ถ้าผู้ปกครองไม่ได้เป็นคนเช่นนั้น…มันก็ยากที่จะสร้างนิสัยนั้นขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นตัวผู้ปกครองเองควรพิจารณาตัวเองก่อนเป็นลำดับแรก
ข้อที่ 2
การอาศัยอยู่ในที่ ๆ มีหนังสือวางระเกะระกะอยู่ทั่วไปก็เป็นส่วนหนึ่งในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านได้ ถ้าที่บ้านของคุณไม่เป็นเช่นนั้น ลูกหลานของคุณจะรักการอ่านได้อย่างไร?
ที่ ๆ ฉันโตมารับหนังสือพิมพ์ทุกวัน, มติชนรายสัปดาห์, สกุลไทยรายปักษ์, บ้านและสวนรายเดือน ซึ่งฉันไม่เคยถูกบังคับให้อ่านอะไรเลย แต่เพราะมันวางอยู่ทั่วไป ทั้งฉบับปัจจุบัน ทั้งฉบับเก่าที่กองเป็นภูเขา แล้วเด็กคนนั้นจะทำอะไรได้นอกจากหยิบมาเปิดอ่าน
โดยเฉพาะบ้านและสวน และนิตยสารแต่งบ้านอื่น ๆ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กคนนั้นตัดสินใจเรียนสถาปัตยกรรม แม้จะไม่เคยได้ทำงานตรงสายแบบจริง ๆ จัง ๆ เลย แต่ความชอบงานออกแบบนั้นเป็นของจริง เพราะทุกครั้งเวลาขับรถ สองข้างทางที่ฉันสนใจคือตึกรามบ้านช่องก่อนเป็นลำดับแรกเสมอมา
ส่วนที่อ่านน้อย และไม่รู้เรื่องมากที่สุดคือมติชนรายสัปดาห์ และส่วนน้อยที่อ่านนั้นคือคอลัมน์วิจารณ์ภาพนู้ด โดยนิวัติ กองเพียร ฮ่า ก็มันอ่านง่ายที่สุดแล้วในเล่ม
ข้อที่ 3
ร้านหนังสือในเมืองไทยไม่ส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอีกต่อไปแล้ว เพราะว่าพอรู้ตัวอีกทีฉันก็เห็นว่าหนังสือส่วนมากถูกซีลด้วยพลาสติกใสเกือบทั้งหมด การเข้าร้านหนังสือกลายเป็นการต้องเข้าไปซื้อแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่การไปสำรวจอีกต่อไป ดังนั้น มันจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะ…หยิบขึ้นมา…พลิกไปมา…และวางไว้ที่เดิม ถ้าหน้าปก และคำโปรยไม่ดึงดูดพอให้จ่ายเงิน
ทำไมฉันถึงมั่นใจว่าสิ่งนี้เป็นเหตุผลหนึ่งในการสร้างนิสัยรักการอ่าน เพราะการเริ่มต้นอ่านหนังสือของฉันมาจากการไปยืนอ่านในร้านหนังสือ ซึ่งเมื่อก่อนในร้านหนังสือจะมีเด็ก ๆ นั่ง-ยืนอ่านระเกะระกะเต็มไปหมด
แต่ก็ต้องยอมรับอย่างจริงใจว่าที่มันเป็นอย่างนั้นได้ส่วนหนึ่งก็เพราะตอนนั้นยังไม่มีสมาร์ทโฟน
ฉันอยากจะสรุปแบบนี้ว่านิสัยรักการอ่านไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง แต่มันต้องมีตัวช่วย การบังคับก็ถือเป็นตัวช่วยหนึ่ง แต่มันมาพร้อมความเจ็บปวด และไม่น่ารักเอาเสียเลย
ทั้งหมดทั้งมวล จริง ๆ แล้วฉันแค่ไม่ชอบคำว่า “ต้องอ่านนะ!” ของคุณ ๆ ผู้ปกครองทั้งหลายเอามาก ๆ คนบ้าซื้อหนังสือทุกคนเขาไม่ได้ซื้อหนังสือมาอ่าน เขาซื้อมาเก็บ! ซื้อมาไว้ “จะ” อ่าน ในสักวันหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงรึเปล่า แต่ต้องมีไว้ก่อนเพราะมันอุ่นใจกว่า
พูดถึงเรื่องการมีตัวช่วย การสร้างนิสัยรักการอ่านต้องมีตัวช่วยฉันใด การอยากให้ลูกหลานรู้จักทำงานพิเศษก็ต้องมีตัวช่วยฉันนั้น
ฉันอาศัย และทำงานอยู่ในต่างจังหวัด อำเภอที่ฉันอยู่ไม่ใช่อำเภอเมือง และฉันในฐานะผู้จัดการปั๊มน้ำมันก็มักจะโดนถามเรื่องการรับสมัครพนักงานพาร์ทไทม์จากทั้งผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนเป็นประจำ ซึ่งก็สามารถรับได้แค่ในจำนวนที่น้อย และจำกัด
แต่มีร้านสะดวกซื้อหนึ่งที่เปิดอยู่แทบจะทุกหัวมุมถนน ที่พนักงานไม่เคยพอ และมีงานพันอย่างที่ต้องทำ กลับไม่ยอมรับพนักงานที่อายุไม่ถึง 18 ปี ฉันคิดเอาเองว่าที่เขาไม่รับอาจเป็นเพราะไม่อยากยุ่งยากกับกฎหมายแรงงานเด็ก บลา ๆ ๆ ก็ในเมื่อคนที่เป็นผู้(ยิ่ง)ใหญ่ขนาดนี้ไม่ช่วยทั้งที่ช่วยได้ เด็ก ๆ จะทำอย่างไรได้
ทำไมต้องอยากให้เด็ก ๆ ไปทำงานที่ร้านค้าหมายเลขเจ็ดนี่เสียจริง
ข้อที่ 1 ร้านนี้ไม่มีคำว่า low season มีแต่ high กับ peak น่ะสิ แสดงว่าจะมีงานให้ทำทั้งปี เด็ก ๆ ที่อยากทำงานจะมีรายได้ตลอดทั้งปี ถึงจะเล็กน้อย อย่างไรก็ดีกว่าตัวเลขที่เป็น “0”
ข้อที่ 2 ร้านนี้มีอยู่ทุกหัวมุมถนนไม่ใช่คำพูดเกินจริง ทุกคนมีร้านนี้ใกล้ฉันกันทั้งนั้น ดังนั้น จึงพอจะมั่นใจได้ส่วนหนึ่งว่าการเดินทางมาทำงานจะสะดวก และไม่อันตราย
ข้อดี 3 การใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ภายในร้าน ถ้าสอนเด็กยุคนี้ แน่นอนว่าจะสามารถรับข้อมูลได้ดี และไวกว่า
จริง ๆ ไม่ใช่แค่ร้านค้าหมายเลขเจ็ดเท่านั้นหรอก ร้านอื่น ๆ แนวนี้ก็ไม่รับพนักงานอายุไม่ถึง 18 ปีทั้งนั้น แต่ที่ต้องยกตัวอย่างเป็นร้านค้าหมายเลขเจ็ดเพราะมันเห็นภาพชัดเจนที่สุดเท่านั้นเอง
แต่ถามว่าฉันรู้ไหมว่ามีแต่คนพูดกันว่างานที่นั่นหนักอย่างนั้นอย่างนี้ รู้สิ แต่งานที่ไหนก็หนักทั้งนั้น แต่ร้านพวกนี้ฉันคิดว่าเด็กจะได้ฝึกทักษะอะไรหลายอย่าง ทั้งความอดทนในการรับมือลูกค้า การแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ทักษะการขาย ทักษะการใช้เครื่องคิดเงิน เครื่องรูดบัตรต่าง ๆ ทักษะการทำบัญชี การนับสต๊อกสินค้า การทำความสะอาด การทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่ช่วงอายุต่าง ๆ กัน การตรงต่อเวลา การรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทั้งหมดนี้สรุปสั้น ๆ ก็คือการเติบโต
เรือเล็กควรออกจากฝั่ง พี่ตูนก็บอกอยู่ว่า “ฟ้าครามไม่สร้างคน”
แม้ว่าการทำงานกับเด็กจะมีอาการงอแงบ้าง ติดเล่นบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน เด็กที่ตั้งใจ และหัวไวก็มี แต่จะโทษเด็กอย่างเดียวก็ไม่ถูก บางครั้งผู้ใหญ่ที่ไร้เหตุผล ทำตนเป็นไม้แก่ดัดยากก็มีอยู่มากเสียด้วย
ก็นะ… ฉันเองยังไม่รับพนักงานที่เป็นคู่รักเข้าทำงาน เพราะความยุ่งยาก เขาเองก็คงเป็นเหมือนกัน
แต่ถึงอย่างนั้น… ก็ยังอยากให้เขาเปลี่ยนใจอยู่ดี ฮ่า
โฆษณา