Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เลาอยากเขียน
•
ติดตาม
4 มี.ค. เวลา 05:05 • ข่าวรอบโลก
ส่ง “ชาวอุยกูร์ 40 คนกลับจีน” ทำไมถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อนานาชาติ
เมื่อตอนช่วงเวลาเย็น ๆ ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ก็มีข่าวบางอย่างที่ซึ่งต่อมาจะกลายเป็น talk of the town ต่อวงการการเมืองไทยที่สร้างแรงกระเพื่อมไปยังต่างประเทศกับกรณีที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการส่งชาวอุยกูร์ทั้งหมด 40 คนที่ถูกคุมขังอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน 10 ปีให้กับประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวอุยกูร์อาศัยอยู่ โดยเฉพาะมณฑลซินเจียง
แม้ว่าข่าวนี้จะเป็นข่าวทั่วไปหากประชากรประเทศใดประเทศหนึ่งลับลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายก็จะมีการส่งประชากรของประเทศนั้นกลับไป แต่กรณีของชาวอุยกูร์ที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างกันออกไปเพราะชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับไปนั้นเป็นผู้อพยพลี้ภัยมาจากประเทศจีน ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่สำคัญไปในช่วงนี้ เดี๋ยววันนี้ “เลาอยากเขียน” จะมาอธิบายถึงต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ให้ฟัง
ชาวอุยกูร์ คือใคร?
ชาวอุยกูร์คือชนเผ่าเร่ร่อนในแถบเอเชียกลาง อาจมีเชื้อสายมาจากชนเผ่าตุรกีโบราณ เคยมีอาณาจักรเป็นของตัวเองที่มีชื่อว่า "อุยกูร์คานาเต" แต่ทว่าในศตวรรษที่ 9 อาณาจักรได้ล่มสลายลงจากการโจมตีจากกองกำลังคีร์กีซ ทำให้ชาวอุยกูร์อพยพหนีภัยมายังพื้นที่ที่เป็นมณฑลซินเจียงในปัจจุบัน
ชาวอุยกูร์กลายเป็นเผ่าพันธ์ุที่มีความสำคัญต่อเส้นทางสายไหม มีการติดต่อค้าขายจากหลากหลายวัฒนธรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม หันมาใช้ตัวอักษรอาหรับในการเขียน รวมถึงการมีศิลปะและวัฒธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
จีนแผ่ขยายอำนาจ เข้าครอบครองดินแดนซินเจียง
อิทธิพลของจีนเริ่มแผ่ขยายมาสู่ดินแดนนี้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง แต่ก็ไม่ได้เข้าการปกครองอย่างจริงจังมากนัก จนกระทั่งในคริตศตวรรษที่ 20 ได้มีความพยายามปลดแอกตนเองของชาวอุยกูรย์จากประเทศจีนโดยการก่อตั้ง “สาธารณรัฐตุรกีตะวันออก” ถึง 2 ครั้งในปี 1933 และปี 1944 แต่ก็ถูกกองทัพของจีนดำเนินการปราบปรามลง
ภายหลังจากเหมา เจ๋อ ตุง รวมประเทศจีนให้เป็นหนึ่งพร้อมเปลี่ยนการปกครองให้เป็นแบบสังคมนิยมในปี 1949 เขตซินเจียงถึงแม้ว่าจะถูกกำหนดให้เป็นเขตปกครองตนเองก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้วเขตนี้ได้ถูกปกครองอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลกลางด้วยเหตุผลคือ ต้องการให้ทุกพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การปกครองเป็น “จีนเดียว” ซึ่งความแตกต่างหลากหลายโดยเฉพาะศาสนาและวัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับแนวคิดดังกล่าว
จึงทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นในเขตมณฑลซินเจียงอย่างมีนัยยะสำคัญคือ การอพยพเข้ามาของชาวฮั่น เชื้อชาติหลักของจีนผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของจีน ทำให้สัดส่วนระหว่างชาวฮั่นเพิ่มขึ้นในพื้นที่นี้เป็นอย่างมาก และทางรัฐบาลจีนยังอ้างว่าชาวอุยกูร์เป็นพวกคลั่งศาสนาหัวรุนแรงและมีแนวคิดในการแบ่งแยกดินแดน ทำให้เกิดค่ายกักกันปรับทัศนคติขึ้นหลายแห่งในพื้นที่มณฑลดังกล่าว นอกจากนี้มีรายงานจากต่างประเทศด้วยว่าสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมและศาสนาถูกทำลายหรือรื้อถอนออกเป็นจำนวนมาก
ชาวอุยกูร์เริ่มเป็นที่รู้จักต่อคนไทย
ข่าวการพบเจอชาวอุยกูร์ในประเทศไทยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2014 (พ.ศ. 2557) ในสวนยาง จ. สงขลา โดยมีจำนวนมากกว่า 200 คนซึ่งกำลังจะลี้ภัยเข้าไปในประเทศมาเลเซียเพื่อขอทำพาสปอร์ตสำหรับเข้าประเทศตุรกีต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีการติดต่อประสานงานไปยังประเทศตุรกีให้ขอรับชาวอุยกูร์ไปพำนักอาศัยแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายการดำเนินการก็ไม่ได้เกิดขึ้น
อีกทั้งยังมีการส่งชาวอุยกูร์จำนวน 109 คนกลับไปยังประเทศจีนภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2015 (พ.ศ. 2558) หลังจากนั้น 1 เดือนก็เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และผู้บาดเจ็บ 163 ราย ซึ่งรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้จับกุมผู้ต้องสงสัยที่เป็นชาวอุยกูร์ได้ 2 คน ทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่าการกระทำในครั้งนี้อาจเป็นการตอบโต้ที่ทางรัฐบาลไทยได้ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศจีน
2568 - ส่งชาวอุยกูร์กลับ 40 คน กระทบต่อไทยอย่างไร
การส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนในปีนี้ นานาชาติรวมองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้ออกมาแถลงการณ์ตอบโต้ โดยแอมเนสตี้ประเทศไทยได้ประนามการกระทำในครั้งนี้ว่าเป็นการละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน ทางด้านสถานทูตต่างประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา ก็ได้ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน
สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศ นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส. พรรคเป็นธรรม ได้ออกมาเคลื่อนไหวในกรณีดังกล่าวโดยโชว์หลักฐานจดหมายของชาวอุยกูร์ที่เขียนถึงรัฐบาลไทยรวมถึงนายกรัฐมนตรีซึ่งมีใจความสำคัญว่าไม่ต้องส่งพวกเขากลับไปยังประเทศจีน และยังได้ตอบโต้เรื่องข่าวลือว่าจดหมายของชาวอุยกูร์นั้นเป็นของปลอม
แม้ทางรัฐบาลไทยจะมีการแถลงการณ์ในภายหลังว่า การส่งชาวอุยกูร์กลับไปนั้นไม่ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด และชาวอุยกูร์ทั้งหมดสมัครใจอยากกลับไปบ้านเกิดของตัวเอง พร้อมได้ประสานงานไปยังรัฐบาลจีนในเรื่องของการดูแลและติดตามผลในเรื่องการส่งชาวอุยกูร์กลับไปในพื้นที่ต่อไป
การแถลงการณ์ส่งชาวอุยกูร์กลับไปประเทศจีนในครั้งนี้ หลายฝ่ายได้มีข้อกังขาอยู่หลายประเด็น ทั้งเรื่องของการที่ชาวอุยกูร์สมัครใจอยากกลับไปยังประเทศจีนด้วยตนเอง และความน่าถือของคำรับรองจากการทางจีนว่าจะรับรองความปลอดภัยให้กับชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับไป
แม้ว่าเรื่องของชาวอุยกูร์ที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อในการด้านสิทธิมนุษยชนต่อสาธารณะและเวทีโลกของไทยก็ตาม แต่ทว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้บอกให้เรารับรู้หรือให้เราได้วิเคราะห์ในอีกหลาย ๆ ประเด็น ทั้งในเรื่องของสิทธิมนุษยชน การต่างประเทศ รวมถึงท่าทีของทางไทยและประเทศต่าง ๆ ที่มีต่อสถานการณ์นี้
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/articles/cj677j4r6jno
https://www.bbc.com/thai/articles/c9vyyyp81kro
https://www.thaipbs.or.th/news/content/349716
https://th.usembassy.gov/th/on-thailands-forced-return-of-uyghurs-to-china-th/
https://thestandard.co/timeline-uyghur-refugees-thailand-detention-crisis/
https://thestandard.co/kanviee-uyghur-letter-verification/
ขอบคุณรูปภาพจากวิกิพิเดีย
#ชาวอุยกูร์ #จีน #ไทย #ซินเจียง #ซินเจียงอุยกูร์ #ส่งตัวกลับ #กัณวีร์สืบแสง #แอมเนสตี้
ข่าวรอบโลก
ข่าว
จีน
บันทึก
4
1
4
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย