5 มี.ค. เวลา 08:00 • หนังสือ

ทำไมโสเครติสไม่ชอบระบอบประชาธิปไตย

ต่อจากประเด็นลีกวนยูไม่สนใจเรื่องระบอบประชาธิปไตย
อ้างอิง...
พูดประเด็นนี้ต้องระวัง โดยเฉพาะในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หากใครคนหนึ่งบอกว่าไม่ชอบระบอบประชาธิปไตย จะถูกตราหน้าว่าเป็นเผด็จการทันที เพราะสมองถูกฝังชิพอย่างนี้มาแต่เด็ก ถ้าไม่ใช่ ก. ก็ต้อง ข. ไม่ขาวก็ดำ โลกกว้างแค่นี้
แต่เราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ ต้องอ่านประวัติศาสตร์ถอยไปไกลๆ อ่านแล้ววิเคราะห์ขบคิด จึงจะมองทะลุ
หากถามชาวบ้านทั่วไปว่า “อะไรคือระบอบประชาธิปไตย?” คำตอบที่ได้รับมักคล้ายการท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองว่า “ประชาธิปไตยคือประชาชนเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของประเทศ เราเลือกตัวแทนไปทำงานปกครองแทนเรา”
และ “ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง หนึ่งคนหนึ่งเสียง เท่าเทียมกัน”
ระบอบประชาธิปไตยในคำจำกัดความแบบนี้ เรียกว่า pure democracy ถือกำเนิดที่กรีกโบราณ ต้นกำเนิดการโหวตหนึ่งคนหนึ่งเสียง
แต่เชื่อไหมว่า โสเครติส ปราชญ์เอกของกรีก ไม่ชอบระบอบนี้เลย เขามองไม่เห็นว่ามันเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดอย่างไร
1
ทำไมปราชญ์เอกของโลกมีความคิดแบบนี้?
โสเครติสอธิบายโดยอุปมาว่า สมมุติว่าเราเดินทางด้วยเรือข้ามทะเล ต้องฝ่าคลื่นลมและพายุ บนเรือลำนั้นมีนายท้ายเรือคนเดียวที่รู้เรื่องการเดินเรืออย่างดี รู้เรื่องทิศทางลมดี รู้จักทะเลโดยรอบ บนเรือยังมีผู้โดยสารจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้วิธีเดินเรือ
หากเราใช้ระบอบประชาธิปไตยบนเรือลำนั้น โดยการออกเสียงเลือกตั้งผู้นำพาประเทศ (เรือ) ไปสู่จุดหมาย หนึ่งคนหนึ่งเสียง เราก็อาจได้ผู้นำที่ชนะเลือกตั้งซึ่งไม่รู้เรื่องการเดินเรือเลย และมีโอกาสพาเรือไปอับปางสูง
โสเครติสเห็นว่า การปกครองประเทศก็เหมือนการเดินเรือ ควรมอบให้เป็นหน้าที่ของคนที่รู้เรื่องการปกครอง รู้เรื่องการเมืองระหว่างรัฐ ไม่ใช่คนที่ชนะเลือกตั้ง
เหตุผลเพราะในการเลือกตั้ง ผู้สมัครทุกคนจะพยายามหาจุดขาย ไม่ว่ามีจริงหรือไม่มี คนที่มีเสน่ห์ดึงดูดคนหมู่มาก และคนที่พูดเก่งกว่าอาจสามารถโน้มน้าวใจคนหมู่มากได้สูงกว่า และเมื่อโหวต ก็ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด แต่อาจไม่รู้เรื่องการปกครองอะไรเลย
1
ถ้าเป็นคนมีเงิน ก็สามารถซื้อเสียงได้ เพราะพวกเขามองว่า การเมืองก็เป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง มันไม่ใช่ democracy (ประชาธิปไตย) แล้ว มันคือ demagoguery
democracy กับ demagoguery เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน
1
demagoguery คือกระบวนการหาเสียงสนับสนุนโดยพูดสิ่งที่ประชาชนอยากได้ยิน หรือทำให้กลัว เพื่อที่จะเลือกพวกเขา พวก demagogue นี้จะทำลายระบอบประชาธิปไตย เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยพูดเพื่อให้คนฟังรู้สึก มากกว่าสำนึกถึงเหตุผล
ประชาชนที่คิดไม่เป็น เชื่อง่าย จะเป็นพลังที่นำพาประเทศรอดได้อย่างไร เมื่อเสียงส่วนใหญ่เดินไปตามเสียงที่พูดในสิ่งที่ประชาชนอยากได้ยิน มันก็คือการปลุกระดมมวลชนนั่นเอง
แต่นี่เป็นภาพที่ชาวเราคุ้นเคยมาตลอดชีวิต
หากคิดว่าโสเครติสเป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์โลกที่คิดแบบนี้ ก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เจ้าแห่งลัทธิประชาธิปไตยด้วย
เมื่อแรกที่มีการร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกานั้น กลุ่มผู้ก่อตั้ง (Founding Fathers) ไม่เคยต้องการให้ประชาชนเสมอภาคจริง ๆ ที่ย้อนแย้งอย่างยิ่งคือ กลุ่มผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของทาส จอร์จ วอชิงตัน มีทาสหลายร้อยคน ธอมัส เจฟเฟอร์สัน
คนเขียน “มนุษย์ทุกคนถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน (All men are created equal)” ในประกาศอิสรภาพก็มีทาสหลายร้อยคน และทำให้ทาสสาวจำนวนมากตั้งท้อง
จอห์น อดัมส์ หนึ่งใน Founding Fathers และประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่สอง ไม่ต้องการให้คนจนและผู้หญิงโหวต คนมากไปจะยุ่ง พวกเขาต้องการให้คนรวยและมีการศึกษาโหวตมากกว่า จุดนี้ตรงกับแนวคิดของโสเครติส
ในการตัดสินใจเรื่องการเมือง จอห์น อดัมส์ เห็นว่าคนมีความรู้กว่าน่าจะกำหนดทิศทางการปกครอง ไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า unwashed masses
unwashed masses หมายถึงคนที่ไร้การศึกษา ขาดข้อมูล
1
ในความคิดของเขา โลกเราไม่เคยเท่าเทียม และประชาธิปไตยจริง ๆ ไม่มีในจักรวาล
1
ถึงบรรทัดนี้ต้องอ่านอย่างระวัง โสเครติสไม่ได้บอกว่าประชาธิปไตยเลวร้าย แต่บอกว่ามันเลวร้ายเมื่อปล่อยให้ประชาธิปไตยตกอยู่ในมือของคนที่ด้อยปัญญา แล้วใช้คำว่า ‘ความเท่าเทียม’ นำ
3
เราต้องระวังอย่าปนกันระหว่างคำว่า ‘ความเท่าเทียม’ กับ ‘หนึ่งคนหนึ่งเสียง’ มันเป็นคนละเรื่องกัน
โสเครติสเห็นว่าคนควรมีความเท่าเทียม แต่ในการนำเรือข้ามห้วงสมุทร ต้องใช้คนที่เดินเรือเป็น ไม่ใช่เลือกคนจากระบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง
‘หนึ่งคนหนึ่งเสียง’ จะได้ผลก็ต่อเมื่อทุกเสียงมีคุณภาพเท่ากัน
อีกตัวอย่างหนึ่งที่มักยกมาเป็นอุปมาคือ หมู่บ้านหนึ่งมีแต่คนตาบอด ชายคนเดียวที่นัยน์ตาดีบอกว่า “เดินตามผม แล้วจะไม่ตกเหว” หากมีการโหวต ทุกคนก็ไปตามเสียงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนตาบอด ก็จะพากันตกเหวตายหมด
2
นี่ชี้ว่ากติกา ‘หนึ่งเสียงหนึ่งโหวต’ อาจไม่ใช่ทางพัฒนาชาติ เพราะประชาธิปไตยเป็นคนละเรื่องกับการพัฒนาชาติ แม้ว่ามีประเทศประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อยที่ระบอบประชาธิปไตยช่วยพัฒนาชาติจริง แต่ดูเหมือนว่ามีปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจาก ‘หนึ่งเสียงหนึ่งโหวต’
นั่นคือคุณภาพประชาชน
1
จาก สร้างชาติจากศูนย์ / วินทร์ เลียววาริณ
สารคดีเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของลีกวนยู รัฐบุรุษผู้สร้างชาติสิงคโปร์จากศูนย์ ที่เหมาะสำหรับผู้นำองค์กร ผู้บริการ นักการเมือง
21 เรื่อง ราคา 300 บาท = เรื่องละ 14.2 บาท (ไม่คิดค่าส่ง)
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
โปรโมชั่นรวม 3 เล่ม
ทำไมควรซื้อหนังสือเล่มนี้: https://www.facebook.com/photo/?fbid=1207283390760350&set=a.208269707328395
โฆษณา