4 มี.ค. เวลา 12:07 • ปรัชญา

Amor fati : ปรัชญาโอบรับความทุกข์

--------------------
   ปรัชญาโอบรับความทุกข์  ไม่ใช่ของใหม่ มันมีมาตั้งแต่กรีกโบราณ ภาษาละตินว่า amor fati แปลตรงตัวว่า "รักชะตากรรม" หรือ "รักชะตาของตนเอง"
 
    เอพิคทีตัส(Epictetus) นักปรัชญากรีก พูดถึงแนวคิดนี้ว่า  "สิ่งต่างๆภายนอก อยู่เหนือการควบคุมของเรา เราจึงควรยอมรับอย่างสงบ แต่เราก็รับผิดชอบต่อชีวิตของเราเอง  จงอย่าแสวงหาทางให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นอย่างที่ท่านต้องการ  แต่จงหวังว่า สิ่งต่างๆเกิดขึ้นตามทางของมัน แล้วท่านจะเป็นสุข"
เราสามารถรักชีวิตของเรา แม้มันไม่ดีนักตามมาตรฐาน แต่ท้ายที่สุดมันก็คือความพอใจ
 
  ความสุขคือความพอใจ พอใจเมื่อใดก็สุขเมื่อนั้น
เราอาจไม่ชอบทุกจุด ทุกบททุกตอนในชีวิตของเรา แต่เราสามารถยอมรับได้ว่า ชีวิตมีทั้งจุดดีและไม่ดี
คนส่วนมากรับไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุร้ายหรือเคราะห์กรรม มักบ่นหรือตีโพยตีพาย
    "ทำไมจึงเกิดกับฉัน?"
    "ทำไมฉันซวยอย่างนี้?"
    "ชาติก่อนฉันทำกรรมอะไรไว้?" ฯลฯ
และวลียอดฮิต "รู้งี้..."
    รู้งี้ทำอย่างนั้นก็ดี  รู้งี้ไม่ไปกับเขา รู้งี้ไม่แต่งงานฯลฯ
    แต่ใครเล่าจะสามารถกำหนดปัจจัยภายนอกได้?
ถ้าเราไม่ยอมรับความจริง ลงท้ายก็เสียใจ ก่นด่า บ่น โทษคนอื่น โทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ และเราอยากย้อนเวลากลับไปแก้ไข
     แต่ต่อให้เราสามารถแก้ไขอดีต ลบส่วนไม่ดีออกไปในไทม์ไลน์ใหม่   เราก็อาจสร้างหรือประสบเรื่องทุกข์ในรูปแบบใหม่เช่นกัน  เพราะมันเป็นธรรมชาติของชีวิต ที่ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า "ความทุกข์"
Amor fati ไม่ใช่การยกธงขาวยอมแพ้ แล้วไม่ทำอะไร เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ชีวิตแย่กว่าเดิม  แต่ Amor fati คือการยอมรับก่อน แล้วดำเนินชีวิตต่อไป มันจะทำให้ทุกข์น้อยกว่าเดิม
     เมื่อยอมรับก็ไม่ทุรนทุราย  แล้วหาทางทำชีวิตที่เหลือให้ดีที่สุด 
      "โอบรับความทุกข์" ไม่ใช่รักทุกข์ แต่เพราะเข้าใจทุกข์ 
    ตรงกับที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) กล่าวว่า "ทุกอย่างในโลกนี้ แม้แต่เลวที่สุด ถ้ามองเป็น ก็เป็นประโยชน์ อย่างน้อยก็ได้ความรู้ได้ความจริง"
***สรุปจากหนังสือ หิน 15 ก้อน ของสตีฟ จ๊อบส์"
ของ วินทร์  เลียววาริณ
โฆษณา