4 มี.ค. เวลา 15:21 • สุขภาพ

หัวใจทำงานนอกร่างกายได้ไหม

ใครที่เคยอ่านวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ จะเคยผ่านตากับช็อตที่ทศกัณฑ์ ถอดหัวใจฝากไว้กับฤๅษี ก่อนที่สุดท้ายจะโดนหนุมานเอามาขยี้ทิ้งในตอนจบ(อุปส์ สปอย)
ผมที่มีชุดความคิดนี้ในวัยเด็ก ได้รับรู้ว่ามีญาติที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด มีการนำหัวใจออกมานอกร่างกาย และหัวใจนั้นยังทำงานได้ จึงมีความเชื่อมาตั้งแต่เด็กว่า คนเราสามารถถอดหัวใจได้จริงๆ
แม้ทุกวันนี้จะเข้าใจกลไกที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็ยังคงเป็นความอัศจรรย์ทางการแพทย์ และควรค่าต่อการศึกษา
หัวใจสามารถเต้นเองได้เพราะมีเซลล์สร้างและนำสัญญาณไฟฟ้าในตัวเอง โดยเฉพาะที่ปมประสาทไซโนเอเทรียล (Sinoatrial Node, SA node) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นจังหวะ (natural pacemaker) ของหัวใจ ทำให้เกิดสัญญาณไฟฟ้าและกระจายไปยังกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อให้เกิดการหดตัว แม้หัวใจจะถูกนำออกจากร่างกาย แต่ตราบใดที่เซลล์เหล่านี้ยังมีพลังงานและสมดุลของอิเล็กโทรไลต์เพียงพอ หัวใจก็ยังสามารถสร้างสัญญาณไฟฟ้าและเต้นต่อไปได้
หัวใจเป็นอวัยวะที่ต้องการออกซิเจนและสารอาหารอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้สร้างพลังงานโดยกระบวนการเมแทบอลิซึมแบบใช้ออกซิเจน (aerobic metabolism) หากหัวใจยังได้รับสารอาหารและออกซิเจนผ่านสารละลายพิเศษ เช่น Cardioplegic Solution หรือ Oxygenated Perfusion Solution ก็จะสามารถรักษากระบวนการเผาผลาญและการทำงานของเซลล์ได้
ทั้งนี้เนื่องจากแทบทุกเซลล์ในหัวใจทำหน้าที่เหมือนแบตเตอร์รี่ เมื่อมีกระแสประสาทมากระตุ้น SA node ทำให้เกิดการกระตุ้นส่วนอื่นๆลงไป เช่น AV node, purkinje fiber ทำให้หัวใจ ยังคงทำงานอยู่ได้
หัวใจสามารถเต้นได้นอกร่างกายเนื่องจากระบบนำไฟฟ้าภายในตัวเองและการรักษาสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น การให้ออกซิเจน การควบคุมอุณหภูมิ และการใช้สารละลายพิเศษ เทคโนโลยีเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในงานด้านการปลูกถ่ายหัวใจและการวิจัยทางการแพทย์ ทำให้สามารถยืดอายุการใช้งานของหัวใจที่ถูกนำออกจากร่างกายได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงความอัศจรรย์ของนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่ช่วยต่ออายุคนได้มากมายทั่วโลก
1
อ้างอิง
Opie, L. H. (2004). Heart Physiology: From Cell to Circulation (4th ed.). Lippincott Williams & Wilkins.
Ali, A., White, P., Dhital, K., & Large, S. (2015). "Heart Transplantation from Donation After Circulatory Death: Current Status and Future Developments." Journal of Thoracic and Cardiovascular Surgery, 149(2), 438-445.
1
โฆษณา