8 มี.ค. เวลา 00:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

บทความ Blockdit ตอน The Brutalist: ชีวิตที่เปลือย ดิบ และหม่นมืด

สมัยที่ผมเริ่มเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในวัยไม่ถึง 20 อาจารย์เล่าเรื่องโรงเรียนสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงของโลกตะวันตกคือเบาเฮาส์ (Bauhaus) ที่เยอรมนี ก่อตั้งโดยสถาปนิก Walter Gropius ในยุคต้นศตวรรษที่ 20 เบาเฮาส์โด่งดังเพราะแหวกแนวออกจากขนบสถาปัตยกรรมเดิม มองว่าสถาปัตยกรรมที่เน้นความเรียบง่ายก็เป็นประติมากรรมที่งดงามได้
เบาเฮาส์กลายเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ นอกจากนี้มันยังส่งอิทธิพลต่องานศิลปะ กราฟิก ดีไซน์ การออกแบบฟอนต์หรือ fontography ก็ได้รับอิทธิพลของเบาเฮาส์ คือตัวหนังสือที่เรียบง่าย ไร้หาง (ที่เรียกว่าอักษร san serif)
2
เบาเฮาส์ยังส่งอิทธิพลต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนจำนวนมากของ IKEA ก็ได้รับอิทธิพลมาจากเบาเฮาส์
2
เบาเฮาส์ในเยอรมนีถึงจุดจบเมื่อนาซีครองอำนาจ สถาปนิกหลายคนเผ่นไปประเทศอื่น รวมทั้งสหรัฐฯ เช่น Marcel Breuer (คนออกแบบเก้าอี้สวยๆ ไว้หลายแบบ) หลายคนเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสายแนวคิดสถาปัตยกรรมใหม่ที่ต่อมาเรียกว่า Brutalism หรือ Brutalist architecture
คำว่า Brutalism ไม่ใช้คำอังกฤษ brutal ที่แปลว่าโหด แต่มาจากภาษาฝรั่งเศส beton brut แปลว่าคอนกรีตเปลือย
5
Brutalism เป็นสไตล์การออกแบบที่นิยมในยุค 1950 ใช้หลัก minimalism น้อยที่สุด เรียบง่ายที่สุด ใช้สัดส่วนเรขาคณิตง่ายๆ ธรรมดา เนื่องจากวัสดุคอนกรีตไม่แพง มันจึงเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่แพง ซึ่งคนชั้นล่างก็มีได้ พูดง่ายๆ คือ มันเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างความเท่าเทียมในสังคม
3
Brutalism เน้นความเปลือย ดิบ เป็นธรรมชาติ หรือที่อาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร แห่งคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ใช้คำว่า ‘สัจจะ’ นั่นคือถ้าเป็นอิฐ ไม้ ก็ไม่ทาสี ใช้วัสดุคอนกรีตมาก และเป็นคอนกรีตเปลือย คือไม่ทาสี ไม่ตกแต่ง สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นก็มีลักษณะนี้มาก
3
แรกๆ ที่ผมเรียน รู้สึกว่างาน modern architecture พวกนี้แปลกๆ “มันเรียบง่ายเกินไปหรือเปล่า?” ตอนนั้นเรามีกรอบคิดว่า อาคารดีต้องดูเท่และมีลูกเล่นมากๆ แต่ผ่านพ้นชีวิตนิสิตมาหลายสิบปี และเริ่มรู้จักโลกของ minimalism ผมกลับมอง Brutalist architecture ด้วยสายตาคู่ใหม่ มันเรียบง่าย เป็น minimalism หรือ ‘น้อย’ คำที่สถาปนิกจำนวนไม่น้อยลืมไปแล้ว ไปยึดติดกับสไตล์และวัสดุ จนกลายเป็น “More is messy.”
เห็นชัดว่ารสนิยมการมองศิลปะของผมเปลี่ยนไป
สถาปนิกเบาเฮาส์และ Brutalism เชื่อว่า สถาปัตยกรรมไม่ใช่แค่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย มันสามารถมีคุณค่าทางศิลปะได้เช่นกัน พวกเขาเชื่อว่าศิลปะแต่ละแขนงแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดไม่ได้ มันเชื่อมจิตวิญญาณด้วยสายใยเดียวกัน ดังนั้นเวลาออกแบบอาคาร จะเหมือนทำงานประติมากรรมและจิตรกรรมไปพร้อมกัน
2
นี่คือมุมมองของ Brutalism ในการออกแบบ
ในหนังเรื่อง The Brutalist แนวคิด Brutalism ถูกนำไปใช้เปรียบเทียบกับชีวิต มันตั้งคำถามว่า ถ้าเปรียบคนเป็นตึก จะเป็นตึกแบบไหน เราใช้ตึก Brutalism แสดงสภาวะจิตและประสบการณ์ของคนได้หรือไม่
5
นี่เป็นคอนเส็ปต์ใหญ่และแปลก
2
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวละครเอกเรียนจบจากเบาเฮาส์ ถูกจับเข้าค่ายกักกันของนาซี เมื่อสงครามสงบ หลังจากหลุดรอดจากสงครามและความทรงจำเลวร้าย ตัวละครคนนี้เดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่ แสวงหาความฝันอเมริกัน
ในกรณีนี้ American Dream ไม่ใช่อุดมคติ มันคือ survival mode
4
แต่ American Dream ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน American Dream มีราคาของมัน มันหมายถึงการเปลี่ยนตัวตนดั้งเดิมเป็น ‘ชาวอเมริกัน’ ที่มีวิถีชีวิตแบบหนึ่ง (ดังที่ลูกพี่ลูกลูกน้องของเขาเลือกที่จะเปลี่ยน) และสำหรับตัวละครหลัก มันอาจหมายถึงการต้องเปลี่ยนมุมมองของอุดมคติสถาปัตยกรรมที่เขาเชื่อ นั่นคือ Brutalism ที่ชาวอเมริกันจำนวนมากยังไม่รู้จัก ในฉากแรกๆ ของเรื่อง เราเห็นอาคารต่างๆ ในสหรัฐฯเป็นแบบสมัยนิยม เต็มไปด้วยส่วนเกินของการประดับประดา เฟอร์นิเจอร์ในร้านที่ตัวละครเอกทำงานก็เป็นแบบเก่าที่คนอเมริกันนิยม
2
แต่ตัวละครหลักใน The Brutalist เชื่อมั่นในศิลปะ Brutalism และหลังจากผ่านความลำบากแสนสาหัสในค่ายกักกันนาซี เขาก็มองว่าเขาเองเป็นตึกแบบ Brutalism แห้ง แกร่ง ดิบ ต้านแดดลม เป็นคนที่ถูกเปลือยตัวตนดิบ ห้องหัวใจของเขาแคบ อึดอัด เพดานสูง มีช่องแสงอยู่ด้านบน ราวกับต้องแหงนรอแสงสว่างที่สาดเข้ามาในช่องแคบเป็นระยะ
5
The Brutalist เป็นหนังเปลือยตัวตน สำรวจตัวตนของคนที่ผ่านสงคราม สถานการณ์เลวร้าย สิ้นหวัง มองโลกเป็นสีเทาหม่น ท้องฟ้าไม่มีวันสดใส และเมื่อประสบกับ American Dream ที่เป็น American Nightmare ก็ยิ่งตอกย้ำชีวิตที่เป็นแบบ Brutalism
5
หนังแสดงฉากรุนแรงแบบอุปมา เช่น ฉากชำเราในภูผาที่ถูกมนุษย์ชำเรา จนภูเขาหายไปทั้งลูก เพื่อเอาหินอ่อนสวยงาม และฉากหินอ่อนที่มาจากการชำเราภูเขา กลายเป็นแท่นในโบสถ์ที่ใช้ไถ่บาปผ่านไม้กางเขน เป็นภาพขัดแย้ง และประหลาด
3
ในมุมนี้ The Brutalist จึงเป็นหนังอาร์ตที่เข้าสู่พื้นที่ของปรัชญาชีวิต ขณะเดียวกันก็สะท้อนสังคมอเมริกาที่ไม่ได้เหมาะสมกับทุกคน จนในที่สุด เมื่อตัวละครหลักตกผลึก ก็เลือกที่จะเดินทางจากประเทศนี้
2
ตัวละครหลักพบว่าชีวิตในประเทศเสรีอย่างอเมริกา ก็เป็นประสบการณ์ ‘Brutalist architecture’ อย่างหนึ่ง ความดิบของความแตกต่างของชนชั้น สีผิว และความร่ำรวยกับความยากจน คนรวยกับคนที่รอคิวรับอาหารบริจาค นี่ก็อาจทำให้หนังฉายภาพเทพีเสรีภาพกลับหัวในฉากแรกๆ
5
การเปรียบเทียบสถาปัตยกรรม Brutalist กับคนและใช้สถาปัตยกรรมโยงกับประสบการณ์ของชีวิตในค่ายกักกัน เป็นคอนเส็ปต์ที่น่าสนใจ มีความสดใหม่
หนังความยาวสามชั่วโมงครึ่ง ด้วยธีมเรื่องยากๆ แบบนี้ น่าจะทำให้หลับได้ง่าย แต่ตรงข้าม หนังจับเราอยู่ตั้งแต่ฉากแรก โทนและอารมณ์หนังหม่น แต่จับเราอยู่ ดนตรีประกอบดี
2
ไตเติ้ลหนังใช้ตัวหนังสือแบบเบาเฮาส์ เรียบ ดิบ แข็ง วาง composition เป็นก้อนแบบตึก Brutalist architecture เป็นการออกแบบตัวหนังสือไตเติ้ลหนังที่สวย แปลกตา ครั้งสุดท้ายที่เห็นการออกแบบดีๆ อย่างนี้คือหนังเรื่อง Se7en ของ เดวิด ฟินเชอร์
4
นี่เป็นหนังที่มีความสดใหม่ มีความกล้า แตกต่าง และเป็นหนังชวนให้คิดต่อ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตกับศิลปะก็เป็นเรื่องเดียวกัน
2
10/10
(มาตรการให้คะแนนของ วินทร์ เลียววาริณ : ความคิดสร้างสรรค์ + สาระ + ศิลปะการเล่าเรื่อง)
โฆษณา