6 มี.ค. เวลา 04:22 • ประวัติศาสตร์

“ส้วม” คำนี้มาจากไหน - เปิดประวัติศาสตร์สุขาและสุขภัณฑ์ไทย EP. 1

ในกิจวัตรประจำวันของมนุษย์เราตั้งแต่เช้าจนถึงเข้านอนนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การปลดทุกข์ถือเป็นหนึ่งในกิจวัตรที่ขาดไปไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการปลดทุกข์เบาหรือทุกข์หนักก็ตาม ทุกคนเคยมีความสงสัยไหมว่า “ห้องสุขา” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ห้องส้วม” คำว่าส้วมมีที่มายังไง หรือเกิดขึ้นได้ยังไง เดี๋ยววันเลาอยากเขียนจะมาอธิบายให้ฟัง
คำว่า “ส้วม” ต้นกำเนิดของคำนี้มาจากไหนหรือเกิดขึ้นได้อย่างไร ณ ตอนนี้ยังไม่มีผลสรุปชัดเจน แต่จากการค้นคว้า คำนี้เริ่มมีการใช้คำนี้มาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว ซึ่งปรากฎอยู่ในหมายรับสั่งรัชกาลที่ 3 เรื่องรับสั่งให้จัดเตรียมสิ่งของสำหรับ “พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์” เป็นพระราชพิธิตรุษซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยพระองค์ทรงมีรับสั่งให้ตำรวจสนมจัดเตรียมสิ่งของสำหรับพระสงฆ์ รวมถึงให้จัดเตรียมส้วมด้วย ดังปรากฎข้อความที่ว่า “ให้สนมตำรวจนอกไปทำส้วมไว้นอกพระระเบียงด้านตะวันออก 2 ส้วม”
มนฤทัย ไชยวิเศษ ผู้วิจัยและเขียนหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย” ได้วิเคราะห์ไว้ว่า คำว่าส้วมอาจจะเป็นคำที่ใช้มานานแล้วตั้งแต่ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้คำดังกล่าวยังได้บรรจุลงในหนังสืออักขราภิธานของหมอบลัดเลย์ เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงว่าคำนี้ได้ถูกใช้กันมาอย่างคุ้นเคยก่อนหน้านี้แล้ว
แม้คำว่าส้วมในภาคกลางจะมีความหมายว่าห้องสุขาหรือห้องปลดทุกข์ แต่ทว่าความหมายทางภาคอีสานจะมีความหมายคือ “ห้องนอนของลูกสาว” ซึ่งเป็นห้องที่มีความสำคัญของบ้าน เนื่องจากคติของทางภาคอีสานนั้นให้ความสำคัญต่อผู้หญิงหรือลูกสาวมากกว่าผู้ชายหรือลูกชาย ดังนั้นห้องดังกล่าวจึงกลายเป็นห้องสำหรับเชิดหน้าชูตาของบ้าน
ส่วนคำนี้ในทางภาคเหนือจะหมายถึง หิ้งบูชา, แผ่นกระดานติดข้างฝาไวเเพื่อวางของหรือเครื่องบูชา ต่อมาความหมายได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นห้องนอนซึ่งไม่อนุญาตให้คนภายนอกครอบครัวเข้า ดังนั้นความหมายของคำว่าส้วมในทางภาคเหนือจึงไม่ได้มีความแตกต่างจากภาคอีสานเท่าไหร่นัก จากการที่ทั้งสองภูมิภาคนี้ได้ติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ทั้งสังคมและด้านการเมือง
ที่มา : “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย” โดย มนฤทัย ไชยวิเศษ สำนักพิมพ์มติชน
#ส้วม #ส้วมในไทย #เรื่องน่ารู้ #เรื่องในไทย #เลาอยากเขียน #บทความ #บทความน่ารู้
โฆษณา