6 มี.ค. เวลา 04:41 • ความคิดเห็น

Playlist เพลงชีวิตของจิระ มะลิกุล

ผมไปคอนเสิร์ต Wednesday Song เมื่อวานมาแต่กลับเหมือนได้ดูภาพยนตร์ชีวิตดีๆ หนึ่งเรื่อง…
Wednesday Song เป็นคอนเสิร์ทสบายๆวันพุธที่พี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์เป็นโต้โผ จัดที่โรงละครสยามพิคเนศ เดือนนึงก็จะมีซักครั้งสองครั้ง ศิลปินก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปิดแป๊บเดียวบัตรหมดตลอด บรรยากาศสบายๆเป็นกันเองมากๆ
Wednesday Song จะมีสองช่วง ช่วงแรกเป็น playlist ของบุคคลที่น่าสนใจ โดยเป็นการพูดคุยและเลือกเพลงที่มีความทรงจำ ความประทับใจ 5 เพลงของแขกคนนั้นแล้วมีวงดนตรีมาเล่นเพลงที่เขาเลือก ส่วนอีกช่วงเป็นนักร้องมาเล่นเหมือนมินิคอนเสิร์ต
ผมนี่ชอบช่วงแรกมากๆ คอนเสิร์ต Wednesday song ครั้งแรกได้ฟัง playlist ของป๋าเต้ดนี่คือระดับระลึกชาติได้ แต่รอบล่าสุด playlist พอเห็นผมนี่รีบจองบัตรในทันที
เพราะเป็น playlist ของ พี่เก้ง จิระ มะลิกุล…
นอกจากพี่เก้ง จิระ มะลิกุลจะเป็นตำนานของวงการหนังไทย เป็นครูใหญ่แห่ง GDH แล้ว พี่เก้งคือสุดยอดแห่งความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์ขัน มากไปกว่านั้นพี่ตุ้มก็โปรยแล้วว่า วิชาก้นหีบของพี่เก้งคือวิชาทำเกิน จะทำงานอะไรไม่มีกั๊ก ใส่เต็ม ใส่เกิน คิดละเอียดและคิดเป็นเรื่องราวเหมือนภาพยนตร์
พอได้ฟังช่วง playlist ของพี่เก้ง … บอกได้คำเดียวว่านี่คือสุดยอด 40 นาทีแห่งความทรงจำของผม เหมือนได้ดูหนังดีมากๆ เรื่องนึง เหมือนได้ดูหลานม่า suckseed 15 ค่ำเดือน 11 รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ฯลฯ คือครบรส เพลิดเพลิน อิ่มเอมและดูแล้วยังต้องกลับมาคิดต่อถึงรายละเอียดที่พี่เก้งใส่จนข้ามวัน
แค่พี่เก้งขึ้นเวทีแล้วมีวงออเคสตร้า TPPO อยู่บนเวทีเตรียมบรรเลงเพลงที่พี่เก้งเลือกก็อึ้งแล้ว พี่เก้งเล่าว่าปกติเวลามีคนมาสัมภาษณ์จะถูกคำถามทิ้งท้ายเสมอว่า พี่เก้งมีเพลงในดวงใจหรือไม่ พี่เก้งก็จะนึกอยู่นาน และก็คิดถึงหลายเพลงมาก แน่นอนว่าเป็นเพลงที่ใช้ในภาพยนตร์เพราะเป็นอาชีพที่ทำมาหลายสิบปี
พี่เก้งเลือกเพลงแรกเป็น original score จากหนังหลานม่า ที่ออกแบบให้เหมือนกับเป็นเพลงที่เล่นอยู่ข้างห้องอาม่าด้วยเปียโนตัวเล็กๆ พอวงออเคสตร้าเล่นแล้วมีภาพจากหนังหลานม่าฉายประกอบนี่คือน้ำตารื้นเลย
เพลงนี้มีความหมายกับบ้านผมมากเพราะหลานม่ายังเป็นหนังที่ลูกสาวคนเล็กผมชอบที่สุดในชีวิต ถ่ายคลิปส่งให้เขาดู เขาก็ส่งรูปเขาร้องไห้ตอนดูหลานม่ารอบสองกลับมา บอกว่าร้องตอนเพลงประกอบนี้ขึ้นทุกที
ก่อนเขียนสำทับว่าถ้าพ่อเจอลุงเก้งช่วยบอกด้วยว่านี่คือนัมเบอร์วันในใจหนูเลย..
เพลงที่สองเป็นเพลงจากหนังเรื่องแรกที่พี่เก้งกำกับในวัยสี่สิบก็คือ 15 ค่ำเดือน 11 เป็นหนังไทยที่ผมชอบที่สุดเรื่องหนึ่งเช่นกัน พี่เก้งได้เพลงนี้จากการไปเดินร้านน้องท่าพระจันทร์เพื่อหาเพลงที่อธิบายหนังที่แหวกขนบหนังไทยในตอนนั้นให้ได้ เพราะหนังท้าทายความคิดของ ศรัทธา ธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์กันแน่ โดยฉากทัศน์ก็คือริมฝั่งโขง
และโดยบังเอิญพี่เก้งก็ได้เพลงดอกกระดังงาของวงกอไผ่ อัลบั้มอุบะมาลีมาใช้ในหนัง เวลาเพลงขึ้นแล้วมีภาพของหนัง 15 ค่ำขึ้นมา มีหลวงพ่อ มีบั้งไฟพญานาค มีภาพเรียลๆของชุมชนอีสานซึ่งผมก็เป็นคนโคราช เพลงและภาพมันทำให้ความทรงจำดีๆในอดีตมันกลับมาได้จริงๆ
เพลงที่สามเป็นเพลงจากหนังมหาลัยเหมืองแร่ เป็นหนังอีกเรื่องของพี่เก้ง หนังเรื่องนี้ตอนผมอยู่ดีแทคก็เป็นสปอนเซอร์และเคยเอาซิกเว่ไปเล่นอยู่ฉากนึงด้วยก็เลยผูกพันกับมหาลัยเหมืองแร่เป็นพิเศษ
พี่เก้งหาเพลงกลิ่นอายคาวบอยตามการตีความของงานประพันธ์ของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ แล้วไปได้จากร้าน tower record เป็นเพลงของเอ็ดการ์ ไมเยอร์ ชื่อว่า Short trip home พี่เก้งฟังได้แปดโน้ตแรกก็รู้ว่าใช่เลย
เพลงนี้บรรเลงโดยมีช็อตสั้นๆตัดมาจากหนัง บรรยากาศคึกคักและดุดันของเรือขุดเหมืองและผู้คนค่อยๆเดินทางจนถึงการล่มสลายผุพังของเรือขุดเป็นมหัศจรรย์แห่งภาพและเสียงโดยแท้
เพลงที่สี่เป็น original soundtrack ที่พี่เก้งบอกว่าพี่นิค จินนี่ชอบที่สุดในชีวิตและถึงกับเดินมาชมต่อหน้าและบอกว่าที่สุดของที่สุดคือการวางเพลงในหนังตัวอย่างที่พอขึ้นว่า... โปรดส่งใครมารักฉันที… แล้วหน้าเคนธีรเดชโผล่ขึ้นมา เป็นจังหวะที่เมจิกมากๆ จนทำให้หนังของผู้หญิงโสดวัยสามสิบที่ไม่น่ามีใครอยากดูทำเงินไปหลายร้อยล้าน
เพลงนั้นก็คือโปรดส่งใครมารักฉันทีของ instict ในหนังเรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอ
พี่เก้งออกแบบให้นักร้องร้องสดตาม trailer แล้วเอา trailer มาฉาย เห็นภาพเหมยลี่และมุกตลกต่างๆนี่คือ nostalgia ขั้นสุด และพอฟังจากพี่เก้งแล้วได้เห็นจังหวะส่งเข้าเคน ธีรเดชก็ยิ่งทำให้อินกับเรื่องราวมากขึ้นไปอีก แค่ซ้อมเพลงกับเทรลเลอร์ให้ตรงก็ใช้เวลาไปสองวัน
เพลงที่ห้าเป็นเพลง original soundtrack ที่แต่งเองของ GDH จากหนัง Suckseed ห่วยขั้นเทพที่แต่งโดย กบและออฟ bigass ที่ชื่อว่า ทุ้มอยู่ในใจ …
เป็นเพลงที่ความหมายดีมากๆ เหมือนกับคำอำลาที่ค่อยๆจางลงตามเสียงทุ้มของเบสแต่ก็ไม่จางหายไปซะทีเดียว
พี่เก้งเล่าว่าในปีที่หนังและเพลงนี้ออก พอสิ้นปีเป็นงานปัจฉิมนิเทศน์ของโรงเรียน ทุกโรงเรียนใช้เพลงนี้หมดในการปิดงาน รวมถึงตอนที่พี่เก้งปิดบริษัท GTH แล้วกลายเป็น GDH ด้วย พอเพลงนี้ขึ้นพี่เก้งก็จะนึกถึงงานนั้นเสมอ
ที่สุดมากๆคือพี่เก้งเอาคลิปของโรงเรียนต่างๆในยุคนั้นมาตัดสลับกับ MV เพลงนี้ให้เห็นบรรยากาศย้อนไปเมื่อ 14 ปีก่อน และพอเพลงนี้ถูกร้องสดก็ยิ่งฟังแล้วทั้งสนุก ทั้งประทับใจ และได้เห็นน้องๆ นักเรียนในภาพกอดคอเต้น ร้องไห้จบการศึกษากัน ยิ่งทำให้เพลงนี้มีความหมายมากๆ สำหรับคนที่ได้ดูภาพแต่ละโรงเรียนเรียงต่อกัน
เพลงสุดท้าย เป็นเพลงที่ไม่ใช่ original soundtrack แต่เป็น original life ของพี่เก้งเอง เป็นเพลงที่วงนั่งเล่นมาขอคุยชีวิตพี่เก้งแล้วเอาไปแต่งเพลงจาก wisdom ของพี่เก้ง ชื่อเพลงว่า คิดเองช้ำเอง แล้วพี่เก้งออกแบบเพลงนี้ด้วยการมีพี่กบ ทรงสิทธิ์มาร้อง
ภาพที่ฉายอยู่คือการเอาช็อตสั้นๆของหนัง GDH สี่สิบกว่าเรื่องมาร้อยเรียงให้เข้ากับเนื้อเพลง พี่ตุ้มบอกว่าพี่เก้งทำอยู่หลายวันมาก เพิ่งเสร็จตีสี่เมื่อคืน ดูๆ อยู่ พี่เก้งก็มาเป่าทรอมโบนประกอบอีก เพลงนี้คือตายไปเลย เป็นสรุปรวมของชีวิตพี่เก้งในหนึ่งเพลง เหมือนสามนาทีสุดท้ายของหนังระดับออสการ์ซักเรื่อง ดูแล้วไม่อยากให้จบเลย
สี่สิบกว่าเรื่องที่เราคุ้นเคย มาร้อยเรียงประกอบเพลงชีวิตของตำนานหนังไทย … ไม่มีโมเม้นแบบนี้อีกแล้วในชีวิตนี้แน่ๆ
เนื้อเพลง คิดเองช้ำเองมีท่อนนึงเขียนไว้ว่า
“ไม่ดีก็เอาใหม่ เอาใหม่ให้มันดี ถ้ายังไม่ดีก็เอาใหม่ ดีแค่ไหนที่ได้กำกับชีวิตตัวเอง
ไม่เห็นต้องเกร็งต้องเกรงใจใคร คิดเอง เขียนเอง เลือกเอง ก็รับไป จะเป็นพระเอกผู้ร้ายก็ตัวเรา”
มันคือบทสรุปชีวิตพี่เก้งแบบใช่เลย เหมือนกับที่พี่เก้งไปเลือกเพลงประกอบหนัง ฟังแค่แปดตัวโน้ตก็รู้เลยว่า เพลงนี้มันโดน…
พี่เก้งตบท้ายจากคำถามเปิดบทสนทนาว่า ถ้ามีใครมาถามหลังจากนี้ว่าเพลงในดวงใจของพี่เก้งคือเพลงไหน ก็คงจะตอบได้แล้วว่าก็คือเพลงที่เป็น original soundtrack ของตัวเองเพลงนี้ …คิดเองช้ำเอง…. นั่นเอง
40 นาทีกับ playlist พี่เก้ง จิระ มะลิกุลในงาน Wednesday song สำหรับผมนั้น ผมไม่ได้รู้สึกว่าเป็นแค่ playlist แต่เหมือนหนังไทยที่กำกับโดยพี่เก้งมากกว่า
เป็น 40 นาทีที่พี่เก้งแค่ลิสต์เพลงแล้วก็เล่าง่ายๆก็ได้ แต่ด้วยความคุ้นชินกับวิชาทำเกิน ความปราณีตและรักในงานที่ทำ และมือิทธิบาทสี่อย่างเต็มเปี่ยม ทำให้พี่เก้งเสกช่วงเวลาธรรมดาให้กลายเป็น magic moment เหมือนกับหนัง GDH หลายเรื่องตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
1
ซึ่ง 40 นาทีนี้ ผมยกให้เป็นหนึ่งในหนังในดวงใจผมที่เคยดูมาในชีวิตเลยครับ...
โฆษณา