7 มี.ค. เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 6 ในรอบ 9 เดือน

ธนาคารกลางยุโรปเห็นชอบปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% นับเป็นครั้งที่ 6 แล้วในระยะเวลา 9 เดือน
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จาก 2.75% เหลือ 2.5% และปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเขตยูโรอีกครั้ง
นี่นับเป็นครั้งที่ 6 ในรอบ 9 เดือนที่ธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยมุ่งหวังที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจยูโรโซน
ธนาคารยังคงยึดมั่นในแผนลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ รวมถึงภัยคุกคามจากกำแพงภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และแผนกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการทหารของชาติยุโรป
ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีถูกเทขายออกและกระจายไปยังตลาดพันธบัตรอื่น ๆ รวมถึงสหราชอาณาจักร
การเทขายดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เยอรมนีเคลื่อนไหวในสัปดาห์นี้เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารและโครงสร้างพื้นฐาน
พรรคการเมืองต่าง ๆ กำลังเจรจาเพื่อจัดตั้งแผนใหม่ของรัฐบาลเพื่อชำระเงินสำหรับเรื่องนี้ด้วยการผ่อนปรนกฎการคลังของเยอรมนี ซึ่งเพิ่มโอกาสที่จะเกิดหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
เพื่อตอบสนองต่อเรื่องนี้ พันธบัตรระยะยาวของเยอรมนีถูกเทขายออกมากที่สุดในรอบหลายปีเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืม ซึ่งวัดจากผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของเยอรมนี เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงินรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1997
เมื่อวันที่ 6 มี.ต. ต้นทุนการกู้ยืมของเยอรมนียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับ 2.929% ณ จุดหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023
การเพิ่มขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ โดยต้นทุนการกู้ยืมของสหราชอาณาจักรก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่ต่อเนื่องและอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้ลดลงอย่างรวดเร็วเท่าที่เคยคาดไว้
ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางยุโรปเผยว่า อัตราเงินเฟ้อใกล้จะถึงเป้าหมาย 2% แล้ว โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น “ทำให้การกู้ยืมใหม่มีค่าใช้จ่ายน้อยลงสำหรับบริษัทและครัวเรือน”
แต่ธนาคารกลางยุโรปได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของยูโรโซนลง โดยคาดการณ์ว่าการขยายตัวในปี 2568 จะอยู่ที่ 0.9% ซึ่งสูงกว่าอัตรา 0.7% ที่บันทึกไว้เมื่อปีที่แล้วเพียงเล็กน้อย
เผชิญกับความท้าทายหลายประการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงอาจได้รับผลกระทบหากรัฐบาลทรัมป์เดินหน้าตามแผนที่จะกำหนด “ภาษีศุลกากรตอบโต้” (Reciprocal Tariff) กับทุกประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ
เรียบเรียงจาก BBC
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/stock-investment/244263
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา