8 มี.ค. เวลา 01:38 • ประวัติศาสตร์

รู้หรือไม่ กาลครั้งหนึ่งในรัสเซีย ใครมีเคราต้องเสียภาษี?

ใด ๆ ในโลกล้วนเก็บภาษีได้ คำนี้คงไม่เกินจริงมากนักเพราะในโลกนี้ก็มีหลากหลายที่หลากหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่มีการเก็บภาษีกันได้ชวนงุนงงกันเหลือเกิน ยกตัวอย่างเช่นภาษีหน้าต่างที่เราเคยนำเสนอไปในช่วง All About History เมื่อนานนับปีก่อน ซึ่งในโพสต์เมื่อครั้งนั้นเราก็เคยได้แอบพูดถึง “ภาษีเครา” ไปบ้างนิดหน่อย ในวันนี้เราเลยจะพาไปเจาะลึกกันให้มากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องราวของวัฒนธรรมรัสเซียกับการไว้เครา และมูลเหตุแห่งภาษีเครากัน และผลที่ตามมาหลังการเก็บภาษีเครามันเป็นอย่างไร
⭐ เพราะเคราคือสัญลักษณ์แห่งความมาดแมน
วัฒนธรรมการไว้เคราของชาวรัสเซีย จะว่าเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอย่างยาวนานอีกอย่างหนึ่งก็ว่าได้ โดยในส่วนของชนชั้นสูงนั้น ได้ริเริ่มที่จะไว้เครามาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ราชวงศ์รูริกอพยพจากสแกดิเนเวียเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของรัสเซียในปัจจุบัน ซึ่งวัฒนธรรมเครานั้นเป็นอะไรที่มีอยู่ในวัฒนธรรมนอร์สอยู่แล้ว และด้วยความที่ชนชั้นสูงไว้เครา มันก็กลายเป็นแฟชั่นที่ส่งอิทธิพลต่อชนชั้นไพร่ทั่วไปซึ่งเป็นชาวสลาวิก
3
ในวัฒนธรรมสลาวิกนั้นก็มีวัฒนธรรมการไว้เคราอยู่แล้วในหลายพื้นที่ แต่กับที่รัสเซียนั้นมีวัฒนธรรมเรื่องเคราที่เข้มข้นเป็นพิเศษ ทำให้เกิดการสันนิษฐานกันว่าวัฒนธรรมเคราของชาวสลาวิกรัสเซียนั้นรับเอามาจากชนชั้นปกครองชาวนอร์สในยุคเคียฟานรุส (Kievan Rus') นี่เอง
1
หนวดเคราเป็นสิ่งที่ในมุมมองจากหลากวัฒนธรรมให้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหนุ่ม ชายที่มีหนวดเคราขึ้นนั้นหมายความว่าพวกเขาได้เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตามคติดั้งเดิม มันเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง และความเป็นพ่อผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว
2
ภาพเคราอาจจะเป็นอะไรที่เป็นภาพจำเมื่อเรานึกถึงบุคคลในประวัติศาสตร์รัสเซียในอดีต ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 หรือรัสปูตินก็ดี โดยถ้ามองในแง่มุมของนิกายออร์โทรดอกซ์รัสเซีย เครามันก็จะมีนัยยะทางศาสนาเพิ่มเข้ามาด้วย โดยมองว่าเคราเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าที่สถิตอยู่ในมนุษย์เพศชาย (เชื่อว่ามนุษย์เพศชายถูกสร้างขึ้นมาโดยอิงหน้าตามาจากพระเจ้า)
⭐ เมื่อ “เครา” ไม่เท่ากับ “ความอารยะ”
วัฒนธรรมเคราฝังลึกอยู่ในสังคมรัสเซียมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ราชวงศ์รูริก ผ่านช่วงยุคสมัยแห่งความยุ่งเหยิง เข้ามาถึงช่วงราชวงศ์โรมานอฟ กระทั่งมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 กษัตริย์องค์สุดท้ายของยุคราชอาณาจักร และกษัตริย์องค์แรกของยุคจักรวรรดิรัสเซีย
พระเจ้าซาร์ปีเตอร์เป็นบุคคลที่มีความสนอกสนใจในโลกฝั่งเบื้องตะวันตกมาก ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระองค์ได้เสด็จประพาสต้นเพื่อไปศึกษาดูความเป็นไปและความอารยะของทางฝั่งตะวันตกแบบเป็นส่วนตัวโดยใช้พระนามแฝงว่า “จ่าปีเตอร์ มีเคลอฟ” เพื่อที่จะแฝงตัวไปแบบลับ ๆ เนียน ๆ ไม่มีใครรู้ว่าเป็นกษัตริย์รัสเซีย
1
แต่ใด ๆ ก็ตาม ด้วยความที่เป็นรัสเซีย พระองค์เองก็ทรงมีเครา พอได้เสด็จเข้าไปในเมืองก็เกิดเป็นข่าวลือแพร่สะพัดไปว่า “มียักษ์สูง 7 ฟุต ดูปราดเปรื่องแต่งกายอย่างมีอารยะ แต่เป็นเพียงแค่อารยะไม่เต็มใบ” ซึ่งพอพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ทราบเรื่องก็เลยพิจารณาได้ว่า “เครา” ที่ทำให้พระองค์อารยะและเข้ากับชาวตะวันตกเหล่านี้ได้ไม่มากพอ
1
⭐ กำเนิด “ภาษีเครา”
หลังจากที่พระเจ้าซาร์ปีเตอร์นึกได้ว่าเครานี่เองที่เป็นอุปสรรรคต่อความอารยะ พระองค์จึงริเริ่มแผนการณ์พัฒนาประเทศให้เป็นตะวันตกขึ้นมาในทันทีที่กลับมาถึงรัสเซีย
1
ในงานเลี้ยงฉลองการนิวัติกลับพระนครของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ได้ถูกจัดขึ้นมาเป็นฉากหน้า โดยวัตถุประสงค์จริง ๆ ของงานดังกล่าวคือการรวบรวมกลุ่มเป้าหมายแรกอย่างเหล่าขุนนางโบยาร์ พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ได้เตรียมของขวัญเซอร์ไพรซ์เหล่าขุนนางโดยบอกว่าเป็นของขวัญจากตะวันตก ซึ่งของขวัญดังกล่าวก็คือการที่ได้รับการตัดเคราโดยตลกหลวงที่ถือกรรไกรเดินไปเดินมาในงานเลี้ยงนั้น ถ้าใครไม่ยอมก็จะโดนตบบ้องหู
2
ในบันทึกของกัปตันจอห์น เพอร์รี่ ซึ่งเป็นชาวอังกฤษที่เดินทางไปพำนักในรัสเซียช่วงเวลาดังกล่าวได้เขียนบรรยายความน่ากลัวในกระบวนการกำจัดเคราของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ไว้ว่า “ถูกดึงเคราแบบถอนรากถอนโคน บางครั้งก็รุนแรงถึงขั้นเนื้อหลุดเลยก็มี”
1
การที่พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ออกมาตรการขจัดเครานี้ ทำให้พระองค์เป็นที่โจษจันจากราษฎรว่าพระองค์ไม่ใช่พระเจ้าซาร์ที่แท้จริง หากแต่เป็นศัตรูของรัสเซียที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นซาร์ ซึ่งแน่นอนว่าพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ก็ไม่ได้ใส่ใจคำครหาและเดินหน้านโยบายตะวันตกของพระองค์ต่อไป ซึ่งปัญหาก็รุนแรงในระดับที่ทำให้ทหารก่อกบฏเลยทีเดียว
2
ดังที่เราได้บอกไปว่าในแง่ของศาสนานั้น เครามีความสำคัญในระดับความเชื่อ นั่นเองที่ทำให้พระเจ้าซาร์ปีเตอร์พยายามที่จะประณีประนอมกับศาสนจักร โดยการจัดตั้งภาษีเคราขึ้นมา ถ้าหากใครที่ประสงค์จะไว้เครานั้นก็จำเป็นที่จะต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐ ซึ่งสัดส่วนการเก็บภาษีนั้นก็แตกต่างกันไป โดยยึดตามสถานะภาพของคน ๆ นั้น ไพร่ทั่วไปจะต้องจ่ายภาษีทุกครั้งที่เดินทางเข้ามาในเมืองในราคไม่กี่โกเปค, พ่อค้าที่ขายดีจะโดบเก็บราคา 100 รูเบิลต่อปี, ขุนนางและชาวเมืองทั่วไปจะโดนเก็บในราคา 60 รูเบิลต่อปี เป็นต้น
ผู้ที่จ่ายภาษีจะได้รับเหรียญอย่างหนึ่งเอาไว้เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นผู้ที่จ่ายภาษีเคราในทุกปี เวลาจะออกจากบ้านไปไหนมาไหนก็ต้องพกเหรียญนี้เอาไว้ด้วย เพราะถ้าหากเจอเจ้าหน้าที่ตรวจตราแล้วไม่มีเหรียญไว้กับตัว ก็จะโดนบังคับตัดเคราในทันที
1
⭐ รัสเซียได้อะไรจากภาษีเครา
ถ้าว่ากันตามตรงแล้ว ภาษีเครานับว่าเป็นอะไรที่ล้มเหลวที่สุดเท่าที่เคยทำมา เพราะในแง่ของรายได้ที่เข้ารัฐต่อปีนั้นเป็นปริมาณเพียงแค่ 3,500 กว่ารูเบิลต่อปีเท่านั้นเอง โดยปัจจัยที่ทำให้เก็บภาษีได้น้อยขนาดนี้มาจากการที่เก็บภาษีได้ไม่ทั่วถึงจริง ๆ คนเลี่ยงภาษีก็มาก แถมผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยินยอมที่จะเสียเครามากกว่าที่จะเสียเงิน ทำให้เป็นภาษีที่ไม่มีประโยชน์มากนักในแง่ของตัวเลขทางการเงิน แต่ในแง่ของนโยบายปฏิรูปของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ก็นับว่าพอได้ผลบ้างอยู่เหมือนกัน
1
แต่อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วภาษีเคราก็ถูกยกเลิกไปในรัชสมัยของซารินาเยกาเตรินามหารานี ราวปี 1772 ซึ่งก็นับว่าเป็เวลาที่ยาวนานที่ภาษีเคราได้อยู่คู๋กับสังคมรัสเซียยุคใหม่มา
1
⭐ เรื่องเครา ๆ กับภาษีที่ไม่ได้มีแค่ไหนรัสเซีย
เรื่องราวของภาษีเคราในรัสเซียดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องเด่นในหน้าประวัติศาสตร์ แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์อีกทีหนึ่งเราจะพบว่าปรากฎการณ์ของภาษีเคราไม่ได้เกิดแค่กับที่รัสเซียอย่างเดียว แต่ยังเกิดกับที่อื่นด้วย ซึ่งก็มีวัตถุประสงค์ในการเก็บภาษีเคราแตกต่างกันไป
รัสเซียเก็บภาษีเคราเพื่อปฏิรูปสังคมและวัฒนธรรม ฝรั่งเศสเก็บภาษีเคราเพื่อใช้เป็นทุนอุดหนุนสงคราม เป็นต้น ในขณะที่โลกตะวันออกนั้นจะแตกต่างไปหน่อยตรงที่ว่าเขาไม่ได้เก็บภาษีเครา หากแต่เป็นการเก็บภาษีไร้เคราแทน ซึ่งสอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมของอิสลามที่มองว่าหนวดเครามีนัยยะถึงความจริงใจ เชื่อถือได้
2
เรื่องราวของการเก็บภาษีนั้นล้วนแต่เป็นการเก็บเพื่อมีวัตถุประสงค์สำคัญที่หลากหลาย โดยเป้าหมายหลักของเก็บภาษี คือ การหารายได้ให้กับภาครัฐเพื่อนำมาใช้จ่าย ในกิจการด้านต่างๆ ที่จำเป็นของประเทศ เรื่องราวของภาษีเคราอาจจะไม่ได้มีเป้าหมายหลักเพื่อนำเงินไปใช้จ่าย หากแต่เป็นการรณรงค์ให้คนเลิกไว้เครา ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างแตกต่างจากภาษีทั่วไปอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
1
ผู้เขียน : ณัฐรุจา งาตา
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
อ้างอิง:
Tebben, Gerald. "Five Facts: Peter the Great's beard tax". Coin World. https://www.coinworld.com/voices/gerald-tebben/_peter_the_greatsb.html
Hawkins, Walter. “RUSSIAN BEARD TOKEN.” The Numismatic Chronicle and Journal of the Numismatic Society 7 (1844): 153–55. http://www.jstor.org/stable/42686136.
Eschner, Kat. "Why Peter the Great Established a Beard Tax". Smithsonian Magazine. https://www.smithsonianmag.com/smart-news/why-tsar-peter-great-established-beard-tax-180964693/
LONG, HENRY F. “AMONG THE STATE TAX COMMISSIONS.” The Bulletin of the National Tax Association 22, no. 1 (1936): 7–12. http://www.jstor.org/stable/41786672.
ПОЛНОЕ СОБРАНІЕ ЗАКОНОВЪ РОССІЙСКОЙ ИМПЕРІИ, СЪ 1649 ГОДА. ТОМЪ IV 1700-1712. "Указ Императора Петра I — О бритiи бородъ и усовъ всякаго чина людямъ, кромѣ поповъ и дьяконовъ, о взятiи пошлины съ тѣхъ, которые сего исполнить не захотятъ, и о выдачѣ заплатившимъ пошлину знаковъ". https://runivers.ru/bookreader/book9812/#page/1/mode/1up
โฆษณา