7 มี.ค. เวลา 10:25 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

สรุปภาพรวมออสการ์ครั้งที่ 97

พิธีประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 97 ที่จัดขึ้นในปี 2025 ก็จบไปเป็นที่เรียบร้อย ผลปรากฏว่าผู้ชนะรางวัลในสาขาต่างๆ ก็ยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ค่อนข้างเยอะ แม้ว่าจะมีกระแสด้านลบเกิดขึ้นกับภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลก่อนหน้างานประกาศรางวัลหลายอย่าง แต่ภาพยนตร์เหล่านั้นก็ยังคว้ารางวัลกลับบ้านไปอย่างภาคภูมิ พร้อมกับเกิดสถิติใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
และเป็นดาวเด่นของงานอย่าง Anora ของผู้กำกับ Sean Baker ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอบครอง และกวาดรางวัลไปได้ทั้งหมด 5 สาขา จากการเข้าชิงทั้งหมด 6 สาขา ตัวผู้กำกับ Sean Baker เองก็สร้างสถิติเป็นบุคคลคนแรกที่คว้าออสการ์มากที่สุดจากภาพยนตร์เรื่องเดียว ที่จำนวน 4 ตัว จากสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และสาขาตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งทั้งหมดเป็นผลงานที่มีชื่อของเขาเป็นผู้เข้าชิงทั้งหมด
และ Anora ยังสร้างสถิติเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 4 ในประวัติศาสตร์ที่คว้าทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์และรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d'Or) อันเป็นรางวัลสูงสุดของเวทีเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประเทศฝรั่งเศส ต่อจาก The Lost Weekend (1945), Marty (1955) และ Parasite (2019)
ซึ่งหากนับที่ชื่อของผู้จัดจำหน่ายอย่าง Neon ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ 2 ต่อจาก Parasite ในปี 2020 ที่สามารถคว้าออสการ์ได้อย่างยิ่งใหญ่ถึง 4 สาขา ทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ปาดหน้าภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์หลายๆ เรื่อง และสร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการดำเนินเรื่องที่สามารถคว้ารางวัลใหญ่สุดของงานได้
อันดับต่อมาเป็น The Brutalist ที่คว้าออสการ์ไป 3 สาขา ได้แก่ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม และสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม จากการเข้าชิงทั้งหมด 10 สาขา น่าสนใจตรงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมที่ก่อนหน้านี้มีดราม่าเรื่องการใช้ AI แก้ไขเสียงพูดบางส่วนในภาษาฮังการีของ Adrien Brody แต่นั่นก็ไม่ได้ส่งผลให้เขาพลาดการคว้าออสการ์นำชายตัวที่ 2 ในชีวิตแต่อย่างใด ซึ่งเป็นตัวที่ต่อจากตัวแรกจากภาพยตร์เรื่อง The Pianist ในปี 2002
ส่วนภาพยนตร์ที่มีข่าวฉาวมากที่สุดจนคาดว่าน่าจะมีผลอย่างมากจนอาจจะพลาดรางวัลทั้งหมดอย่าง Emilia Peréz ก็สามารถฝ่าฟันกระแสเหล่านั้นจนคว้าออสการ์ไปได้ถึง 2 สาขา คือ Zoe Saldana ในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม และสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจากเพลง El Mal จากการเข้าชิงทั้งหมด 13 สาขา ซึ่งเยอะที่สุดในการประกาศรางวัลครั้งนี้
เท่ากันกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Dune: Part Two ที่ได้รางวัลในสาขาเสียงยอดเยี่ยม และสาขาเทคนิคพิเศษด้านภาพยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นการชนะรางวัลในสาขาเดียวกับที่ Dune: Part One ที่เคยทำได้ในปี 2022 (Dune: Part One เข้าชิง 10 สาขา คว้ารางวัลได้ 6 สาขา)
ในขณะที่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ขวัญใจมหาชนอีกหนึ่งเรื่องอย่าง Wicked ก็คว้ารางวัลได้เท่ากันที่ 2 สาขา คือ ในสาขาออกแบบการถ่ายทำยอดเยี่ยมและสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม จากการเข้าชิงทั้งหมด 10 สาขา และนั่นก็ทำให้ Paul Tazewell สร้างสถิติเป็นชายผิวดำคนแรกที่คว้ารางวัลในสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
ส่วนรางวัลในสาขาที่เหลือแบ่งกระจายกันไปเรื่องละ 1 รางวัล ได้แก่
Kieran Culkin จาก A Real Pain ในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
Conclave ในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม
The Substance ในสาขาแต่งหน้าและทำผมยอดเยี่ยม
I’m Still Here จากประเทศบราซิล ในภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม
.
Flow ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม
In the Shadow of Cypress ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้นยอดเยี่ยม
I’m Not a Robot ในสาขาภาพยนตร์ขนาดสั้นยอดเยี่ยม
No Other Land ในสาขาสารคดียอดเยี่ยม
The Only Girl in the Orchestra ในสาขาสารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม
เมื่อมีผู้สมหวังก็ต้องมีผู้ที่ผิดหวัง A Complete Unknown และ Nickel Boys เป็นสองภาพยนตร์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ต้องกลับบ้านมือเปล่าจากการเข้าชิง 8 สาขา และ 2 สาขา เช่นเดียวกับ Nosferatu ที่เข้าชิง 4 สาขา The Wild Robot และ Sing Sing เข้าชิงเรื่องละ 3 สาขา และ The Apprentice เข้าชิง 2 สาขา ที่ก็ต้องบอกว่าวันนี้ยังไม่ใช่วันของพวกเขา
แต่ Timothée Chalamet ผู้รับบทนำใน A Complete Unknown ก็มีบทบาทเด่น(จากการถูกแซว)ไม่น้อยเลย เห็นได้ชัดว่าเขาเป็นที่รักที่เอ็นดูสำหรับคนอื่นๆ ซึ่งหากสามารถคว้ารางวัลนักแสดงนำชายในครั้งนี้ได้ เขาจะทำสถิติเป็นนักแสดงที่อายุน้อยที่สุดที่คว้ารางวัลในสาขานี้ที่อายุ 29 ปี 2 เดือน 7 วัน ซึ่งผู้ครองสถิติในตอนนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น Adrien Brody นั่นแหละ โดยเขาคว้าออสการ์ตัวแรกเมื่ออายุ 29 ปี 11 เดือน 9 วัน (ต่างกันราวๆ 9 เดือน)
ส่วนสาขาที่พลิกโผที่สุดในครั้งนี้ เห็นทีจะเป็นสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมที่ชื่อของ Demi Moore จาก The Substance เป็นตัวเต็งเพราะคว้ามาแล้วทั้ง Golden Globe, Critics Choice และ SAG Awards ในขณะที่ Mikey Madison จาก Anora นั้นคว้ารางวัลจากเวที BAFTA
ซึ่งหากบวกกับที่ผ่านมาออสการ์มักจะ “เห็นใจ” นักแสดงที่อยู่ในวงการมาอย่างยาวนานหรือร้างราจอไปนาน เมื่อเขาและเธอเหล่านั้น “กลับมา” สร้างชื่ออีกครั้งก็มักจะได้ผลที่เป็นใจ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Demi Moore นักแสดงหญิงวัย 62 ปี และหลายคนคาดการณ์ว่าคงเป็นเรื่องยากที่ Demi Moore จะกลับมามีชื่อบนเวทีแห่งนี้เป็นครั้งที่สอง
เมื่อมองภาพรวมรางวัลในปีนี้ถือได้ว่าเป็นชัยชนะของภาพยนตร์อิสระอย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึงภาพยนตร์ที่ไม่ได้ถูกสร้างโดยสตูดิโอใหญ่ หากดูแล้วภาพยนตร์เหล่านั้นใช้ทุนต่ำสร้างต่ำกว่า 10 ล้านเหรียญฯ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Anora, The Brutalist, A Real Pain, Flow หรือ I’m Still Here แต่หากนับรวมกันแล้วภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่องนี้ กวาดรางวัลรวมกันไปถึง 11 สาขา
เป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้เหล่านักทำหนังหน้าใหม่ให้ได้ประจักษ์ว่าความสำเร็จสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนหากตั้งใจจริง ซึ่งตัวผู้กำกับ Sean Baker ก็ได้กล่าวขอบคุณทาง Academy ที่ให้ความสำคัญกับเหล่าคนทำหนังอิสระเช่นกัน
การมาของ Conan O'Brien นักแสดงตลกและนักเขียนในฐานะพิธีกร ทำให้เวทีออสการ์ในปีนี้เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะด้วยมุกตลกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา เปิดหัวด้วยการยืนเดี่ยวยิงมุกแซวทุกอย่างที่ขวางหน้า
ตั้งแต่มุกดราม่าเกี่ยวกับ Karla Sofía Gascón ที่เจ้าตัวก็ยังคงมาร่วมงานในครั้งนี้ มุก AI ในภาพยนตร์เรื่อง The Brutalist หรือมุกการเมืองระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียที่คล้ายๆ กับความสัมพันธ์ของตัวละครใน Anora และอื่นๆ อีกมากมาย คอยเรียกเสียงหัวเราะของผู้ร่วมงานเป็นระยะๆ กระทั่งการมอบรางวัลสดุดีแก่เหล่านักดับเพลิงในเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ที่ LA ก็ยังไม่วายยิงมุกตลกได้อีก ซึ่งเป็นสไตล์แตกต่างจาก Jimmy Kimmel ในปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด
ในด้านการแสดงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนๆ ที่จะหล่อเลี้ยงงานประกาศด้วยโชว์จากเพลงที่เข้าชิงในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมทั้ง 5 เพลง แต่ในครั้งนี้ได้ตัดโชว์เหล่านั้นออกไปและแทนที่ด้วยโชว์ที่พิจารณาแล้วว่าเป็น “มรดกทางภาพยนตร์” งานเปิดด้วยโชว์เพลงเมดเลย์จากภาพยนตร์ระดับตำนานเรื่อง The Wizard of Oz (1939)
โดยนักแสดงนำจากภาพยนตร์เรื่อง Wicked อย่าง Cynthia Erivo และ Ariana Grande ขึ้นมาร้องเพลง “Over the Rainbow” ซึ่งมาจาก The Wizard of Oz เอง ถัดมาเป็นเพลง “Home” จากภาพยนตร์เรื่อง The Wiz (1978) ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนว Musical ที่ดัดแปลงมาจาก The Wizard of Oz อีกที และ “Defying Gravity” จาก Wicked ที่เป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดในแฟรนไชส์พ่อมดออซ เรียกว่าเป็นการเปิดงานได้อย่างยิ่งใหญ่สมฐานะ
อีกหนึ่งโชว์ที่แฟนๆ ชาวไทยตั้งหน้าตั้งตาคอยเป็นพิเศษ คงหนีไม่พ้นโชว์พิเศษจากอีกตำนานแห่งโลกภาพยนตร์ “James bond” ที่ได้ศิลปินชาวไทยชื่อเสียงระดับโลกอย่าง “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” หรือ “ลิซ่า BLACKPINK” ขึ้นมาถ่ายทอดบทเพลง Live and Let Die จากภาคที่ใช้ชื่อเดียวกันในปี 1973
การปรากฏตัวของลิซ่าสร้างสถิติเป็น “คนไทย” คนที่สองที่ได้ขึ้นไปบนเวทีออสการ์ ถัดจาก “แก้ม-วิชญาณี เปียกลิ่น” ที่ขึ้นไปร้องเพลง Into the Unknown จากภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Frozen 2 ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2020
ถัดจากเพลง Live and Let Die เป็นเพลง Diamonds Are Forever จากภาคในปี 1971 ขับร้องโดยแร็ปเปอร์และนักร้องสาวชาวอเมริกา Doja Cat(โดจา แคท) และปิดท้ายด้วยเพลง Skyfall ในภาคปี 2012 ขับร้องด้วย RAYE(เรย์) นักร้องนักแต่งเพลงสาวชาวอังกฤษ เป็นโชว์ที่ได้รับเสียงตอบรับชื่นชมอย่างล้นหลาม ซึ่งต้นโชว์ก็มีนักแสดงสาวที่มาแรงอย่าง Margaret Qualley จากภาพยนตร์เรื่อง The Substance ร่วมแสดงด้วยเช่นกัน
ไฮไลท์การกล่าวสปีดหรือสุนทรพจน์ของผู้ได้รับรางวัลก็เป็นอีกเรื่องที่น่าพูดถึง เหล่าผู้กำกับจาก No Other Land ที่คว้ารางวัลในสาขาสารคดียอดเยี่ยม ซึ่งเป็นสารคดีที่ว่าถึงการอพยพของชุมชนชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง กล่าวสปีดเรียกร้องอิสระภาพให้กับชาวปาเลสไตน์จนได้รับเสียงปรบมืออื้ออึงทั้งโรงละคร
และที่พิเศษ(อีกแล้ว)สำหรับชาวไทย เมื่อ Ron Bartlett ซึ่งเป็น Sound Engineer ให้กับภาพยนตร์เรื่อง Dune: Part Two ขณะกล่าวสปีชหลังคว้ารางวัลในสาขาเสียงยอดเยี่ยม เขาได้กล่าวขอบคุณทีมงานและกล่าวมอบรางวัลนี้ให้กับภรรยา ก่อนกล่าวออกมาเป็นภาษาไทยว่า “ผมรักคุณ” เสียงดังฟังชัด สร้างความตื่นตะลึงไม่น้อย ซึ่งแท้จริงแล้วภรรยาของ Ron Bartlett เป็นชาวไทยชื่อว่า “คุณอ้อ” ที่แต่งงานกันมานานกว่า 30 ปีแล้วนั่นเอง และมีลูกด้วยกัน 2 คน กลายเป็นโมเมนต์พิเศษสำหรับชาวไทยอย่างมาก
โดยใน Dune: Part One ตัวของ Ron Bartlett ก็มีชื่อเป็นผู้ชนะรางวัลเช่นกัน เพียงแต่ในปีนั้น(การประกาศรางวัลครั้งที่ 94) ได้มีการตัดการขึ้นรับรางวัลบางสาขารวมถึงสาขาเสียงยอดเยี่ยม ให้เหลือเพียงวิดีโอสปีชของผู้ชนะรางวัล(ซึ่งถูกประกาศผลและบันทึกไว้ล่วงหน้า 1 ชั่วโมงก่อนงานจริง) แทนเพื่อความกระชับของงาน แน่นอนว่าถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เท่าเทียมของสาขารางวัล
จนออสการ์ต้องกลับมาให้ทุกรางวัลถูกประกาศในงานจริงเหมือนเดิม และแน่นอนสำหรับปีนี้การตัดการแสดงจากเพลงประกอบภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่องก็ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับเหล่าผู้เข้าชิง ที่พวกเขาควรจะได้มีช่วงเวลาดีๆ บนเวที ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าในครั้งหน้าจะกลับมาใช้รูปแบบเดิมหรือไม่
อีกหนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ พิธีมอบรางวัลในสาขาประเภทการแสดง ในปีที่แล้วใช้วิธีให้ผู้ชนะรางวัล 5 คนก่อนหน้าในสาขานั้นๆ เป็นตัวแทนกล่าวชื่นชมผู้เข้าชิงทั้ง 5 ในสาขาของตนเอง ซึ่งวิธีนี้ถูกใช้ครั้งแรกในปี 2009 ก่อนจะกลับมาใช้อีกครั้งในปี 2024 หรือปีที่แล้วนี่เอง แต่ในคราวนี้กลับมาใช้วิธีปกติ คือ ให้ผู้ชนะรางวัลในปีก่อนหน้าเพียงคนเดียวมาอ่านชื่อผู้เข้าชิงและประกาศชื่อผู้ชนะรางวัล
ส่วนวิธีการเปิดตัวแบบ 5 คน ถูกนำไปใช้ในสาขาอื่นแทน โดยจะมีตัวแทนจากภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ส่วนใหญ่เป็นนักแสดงมากล่าวชื่นชมผู้ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังของพวกเขา ที่เป็นส่วนสำคัญให้ภาพยนตร์ทั้งเรื่องออกมาสมบูรณ์ รวมถึงเป็นการผลักดันการแสดงของเหล่านักแสดงให้ออกมาได้ยอดเยี่ยมเป็นที่ประจักษ์
แถมด้วยสถิติประหลาดๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อ Adrien Brody ผู้ชนะรางวัลในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม กล่าวสปีชนานถึง 5 นาที 40 วินาที แซงหน้าสถิติเดิมของนักแสดงหญิง Greer Garson จากภาพยนตร์เรื่อง Mrs. Miniver ในปี 1943 ซึ่งคราวนั้นเธอใช้เวลาไป 5 นาที 30 วินาที แม้ตอนเริ่มงานจะมีเจ้าหนอนทะเลทรายจาก Dune มาดีดเปียโนในเพลง I Won’t Waste Time และมีตัวละครสุดปากจ้ออย่างเดดพูลมาเป็นสัญลักษณ์ว่าจะไม่มีใครพูดนานจนเสียเวลา (เพราะขนาดตัวเขายังไม่พูดและหันไปเป็นแดนซ์เซอร์เลย)
แต่ Adrien Brody หาได้สนใจไม่ ขนาดดนตรีบรรเลงส่ง(ไล่)ลงจากเวทีแล้ว เขาก็ยังยกมือให้หยุดเล่นและบอกว่า “ผมเคยทำแบบนี้มาก่อนแล้ว ขอบคุณ” น่าจะเป็นการสื่อถึงว่าเขาเคยขึ้นเวทีรับรางวัลนี้มาก่อน ซึ่งในงานประกาศรางวัลครั้งแรกที่ตัวเขาได้ออสการ์ก็ได้ทำเรื่องงามหน้าไว้ โดยการจูบนักแสดงสาว Halle Berry แบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งเป็นที่วิพากย์วิจารณ์กันพอสมควรในครั้งนั้น ก่อนจะถูก Halle Berry เอาคืนในการเดินพรมแดงครั้งนี้ (ในเชิงล้อเลียนขำขัน)
โดยคนที่น่าสงสารที่สุดเห็นทีจะเป็นนักแสดงนำชายผู้ชนะในปีที่แล้วที่ต้องมารับหน้าที่ประกาศรางวัลในครั้งนี้อย่าง Cillian Murphy จากภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer สีหน้าของเขาบ่งบอกเหลือเกินว่า “อยากกลับบ้านแล้ว”
สุดท้ายสำหรับงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 97 ในครั้งนี้ ทำยอดผู้ชมได้มากถึง 19.7 ล้านคน (วัดจากเรทติ้ง) เป็นยอดผู้ชมสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ครั้งที่ 92 เคยทำได้สูงถึง 25.6 ล้านคน (ปีที่ Parasite คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) และใช้ระยะเวลาดำเนินงานถึง 3 ชั่วโมง 50 นาที นานที่สุดในรอบ 7 ปี ถัดจากงานประกาศรางวัลครั้งที่ 90 ที่ใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง 53 นาที และผู้ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้นก็คือ The Shape of Water ของผู้กำกับ Guillermo del Tor นั่นเอง
Story Decoder
โฆษณา