Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ
•
ติดตาม
8 มี.ค. เวลา 11:27 • หนังสือ
ฉั น คื อ ม า ล า ล า
I Am Malala
เมื่อเอ่ยถึงเรื่องการเรียกร้องสิทธิของสตรี ชื่อหนึ่งที่เราน่าจะคุ้นหูกันดีคือ มาลาลา ยูซัฟไซ (Malala Yousafzai) เด็กหญิงวัยเพียง ๑๕ ปีชาวปากีสถานที่โด่งดังไปทั่วโลกเพียงชั่วข้ามคืนเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๒ หลังจากที่เธอถูกกลุ่มก่อการร้ายตาลิบันยิงในระยะเผาขนขณะนั่งรถโรงเรียนกลับบ้านเพราะออกมาต่อสู้เพื่อให้เด็กผู้หญิงได้ไปโรงเรียน
.
มาลาลา ไม่ใช่นักเรียกร้องสิทธิสตรีแต่อย่างใด เธอเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบเรียนหนังสือ แต่สิ่งที่เธอทำสื่อให้เห็นสตรีตัวน้อยคนหนึ่งที่รักการศึกษาและกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อขอโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้หญิงในสังคมที่ให้คุณค่าแก่ลูกผู้ชาย
.
เหตุการณ์โลกไม่ลืมครั้งนี้ไม่เพียงมีผลทำให้เธอต้องออกจากบ้านเกิดไปเข้ารับการรักษาเป็นกรณีฉุกเฉินที่ประเทศอังกฤษเท่านั้น แต่ยังทำให้เธอกลายเป็นสัญลักษณ์สากลแห่งการประท้วงอย่างสันติหลังเธอหายดีราวปาฏิหาริย์ และเดินทางไปสู่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่ออายุเพียง ๑๖ ปี เป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุด
.
การไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กๆ ทุกคน โดยเฉพาะเด็กในชนบทห่างไกลที่หุบเขาสวัตในปากีสถานตอนเหนือ ซึ่งห่างจากกรุงอิสลามาบัดไม่กี่ร้อยกิโลเมตร และถูกตาลิบันเข้ายึดครอง (ดูแผนที่ในช่องความเห็น) หนังสือชื่อ 'I Am Malala' ซึ่งเป็นบันทึกของมาลาลาจะพาเราไปรู้จักปากีสถาน ครอบครัวเธอ และสิ่งที่เธอได้รับการหล่อหลอมจากพ่อแม่ เนื่องใน #วันสตรีสากล #๘มีนาคม #internationalwomenday2025 เพจจึงขอแนะนำหนังสือเล่มนี้
.
มาลาลาเป็นลูกคนโต หลังจากลูกคนแรกของพ่อแม่คลอดออกมาตาย วันที่เธอเกิดไม่มีใครในหมู่บ้านแสดงความยินดีกับพ่อเลย เพราะสังคมของเธอชื่นชอบลูกชาย และจะยิงปืนฉลองให้กับลูกชาย มีเพียงญาติของพ่อมาร่วมยินดีและให้เงินเป็นของขวัญ เธอเล่าว่า "พ่อบอกว่า "ผมรู้ว่าเด็กคนนี้มีบางสิ่งพิเศษ ต่างจากเด็กคนอื่นๆ" และพ่อตั้งชื่อเธอว่า 'มาลาลา' ตามชื่อของ 'มาลาไลแห่งไมวานด์' วีรสตรีที่คนชื่นชมของอัฟกานิสถาน
.
พ่อแม่มีบทบาทสำคัญต่อเธอมาก ในสังคมของชาวพัชตุน ครอบครัวจะจัดแจงการแต่งงาน แต่กรณีของพ่อแม่แต่งงานด้วยความรักและรู้จักกันเอง แม้แม่อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้เพราะต้องออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยที่บ้าน แต่พ่อซึ่งเป็นครูก็ถ่ายทอดทุกอย่างให้แม่ฟัง แม่เคยเล่าว่ารู้สึกเสียใจที่ไม่กลับไปเรียนเมื่อมาพบพ่อเพราะพ่อคือผู้ชายที่อ่านหนังสือมากมาย เขียนบทกวีให้แม่ แต่แม่อ่านไม่ออก
.
ช่วงที่มาลาลาเติบโตมาพ่อมีงานยุ่งทั้งเรื่องตั้งโรงเรียนของตนเองชื่อคูชาล (ชื่อของน้องชายเธอ) และสมาคมวรรณกรรม ผู้คนชอบฟังพ่อพูดและมักแวะมาที่บ้าน พ่อจะเล่าเรื่องชนเผ่า และอ่านเรื่องราวจากบทกวี แม่จะจัดอาหารเลี้ยงและลูกๆก็ล้อมวงนั่งฟังด้วย
.
แม่รู้ว่าพ่อมีความทะเยอทะยานจะสร้างโรงเรียนและก็อยากช่วยให้พ่อทำสำเร็จ เธอเล่าว่าน้องสาวพ่อหรืออาของเธอไม่ได้ไปโรงเรียนเหมือนเด็กผู้หญิงอีกนับล้านในประเทศ "การศึกษาเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่สำหรับพ่อ พ่อเชื่อว่าการไร้การศึกษาเป็นรากเหง้าของปัญหาทั้งหมดในปากีสถาน ความไม่รู้ทำให้นักการเมืองหลอกลวงประชาชน และผู้บริหารที่ไม่ดีกลับได้รับเลือกตั้ง พ่อเชื่อว่าทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน เด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิง ควรได้เรียนหนังสือ" (น. ๔๔)
.
มาลาลาตามพ่อออกไปเดินสายรณรงค์เรื่องการศึกษาของเด็กผู้หญิงเสมอ คนที่โรงเรียนถูกข่มขู่เสมอ บางคำขู่อยู่ในหนังสือพิมพ์โรงเรียนของพ่อขยายตัวมากขึ้นมีทั้งอาคารที่เป็นโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมสำหรับเด็กผู้หญิงและโรงเรียนมัธยมสำหรับเด็กผู้ชาย และให้นักเรียนเรียนฟรีกว่า ๑๐๐ คน เธอเคยเดินไปโรงเรียนแต่ต่อมาแม่เป็นห่วงจึงให้นั่งรถโรงเรียน
.
พวกตาลิบันไม่เคยเล่นงานเด็กผู้หญิง แต่กลัวว่าจะพุ่งเป้าไปที่พ่อมากกว่าเพราะพ่อโจมตีพวกนั้นเสมอ เพื่อนสนิทและผู้ช่วยรณรงค์ของพ่อถูกยิงขณะเดินทางไปทำละหมาด. ทุกคนจึงเตือนพ่อว่าให้ระวังว่าจะเป็นรายต่อไป
.
วันที่เกิดเหตุร้ายแรง มาลาลาและเด็กผู้หญิงอีก ๒๐ คนกำลังนั่งรถกระบะไปโรงเรียนพร้อมครูอีกสามคน พ่อก็อยู่ในรถด้วย เช้านั้นมีกลุ่มคนมาขวางทาง คนขับต้องหยุดรถกะทันหัน และมีขึ้นมาบนรถถามว่า "คนไหนคือมาลาลา"
.
ชายคนที่เอ่ยถามเอาปืนสั้นออกมายิ่งไปที่มาลาลา ๓ นัดติดกัน นัดแรกเข้าเบ้าตาซ้ายของเธอและทะลุออกใต้ไหล่ซ้าย เธอฟุบลงทันที เลือดไหลออกจากหูซ้าย กระสุนอีก ๒ นัดโดนเพื่อนที่นั่งข้างๆ สองคน
.
มาลาลาถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษและรอดชีวิตราวปาฏิหาริย์ เธอได้รับการผ่าตัดอีกและทำกายภาพบำบัดเพื่อกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติแม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์เหมือนเดิมก็ตาม เมื่อเธอกลับมาอ่านหนังสือได้อีกเล่มแรกที่เธออ่านคือ "พ่อมดแห่งอ๊อซ"
.
เมื่อเธอเขียนหนังสือเล่มนี้ โรงเรียนของพ่อในหุบเขาสวัตที่เริ่มจากพื้นที่ว่างเปล่่า ผ่านไปเกือบยี่สิบปีโรงเรียนมีตึกสามหลัง มีนักเรียนกว่า ๑,๐๐๐ คน และอาจารย์ ๗๐ คน เธอเล่าว่า "ความฝันในชีวิตของพ่อคือการมีโรงเรียนขนาดใหญ่ในสวัตให้การศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และมีประชาธิปไตยในประเทศของเรา" (น.๓๐๙)
'I Am Malala' เป็นหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนที่น่าอ่านมาก เป็นผลงานเขียนร่วมกันโดยมาลาลา ยูซัฟไซและคริสติน่า แลมป์ แปลโดยสหชน สากลทรรศน์ ผู้สนใจประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติและภูมิหลังของประเทศอินเดีย ปากีสถานและอัฟกานิสถาน ก็จะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์
.
ผู้อ่านยังจะได้รู้จักครอบครัวเล็กๆ ที่มีพ่อเป็นแรงบันดาลใจเรื่องการศึกษาและการต่อสู้เพื่อให้เด็กๆ ได้ไปโรงเรียนโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง และยังสะท้อนสภาพสังคมของประเทศที่เคยสงบอละงดงามจนเรียกกันว่า 'สวิตเซอร์แลนด์ในโลกตะวันออก' ซึ่งเผชิญความขัดแย้งทางการเมืองยาวนาน และถูกครอบครองโดยลัทธิก่อการร้ายและอิทธิพลด้านการเมืองจากต่างประเทศในช่วงหนึ่ง
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #iammalala #หนังสือแปล #การศึกษา__อิสลาม #โอกาสทางการศึกษาของทุกคน
หนังสือ
การศึกษา
ประวัติศาสตร์
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย