9 มี.ค. เวลา 03:00 • ข่าวรอบโลก

‘อายที่จะใช้รถ Tesla’ คนอเมริกันแห่คว่ำบาตร ตอบโต้มัสก์ปลดคนตามใจชอบ

‘Tesla’ เข้าสู่ช่วงตกต่ำครั้งใหญ่ ถูกคว่ำบาตรทั่วทั้งสหรัฐและยุโรป ผลจากมัสก์แห่ปลดคนอย่างไม่เป็นธรรม แทรกแซงกิจการต่างประเทศ และการแสดงท่าที่ถูกมองว่าคล้ายสัญลักษณ์นาซี จนผู้คนต่อต้าน แม้แต่ผู้ใช้ Tesla ก็รู้สึกอายกับพฤติกรรมมัสก์ จนต้องติดสติ๊กเกอร์ “I bought this before Elon went crazy” ที่ท้ายรถ
รถ “Tesla” ที่เคยครองใจชาวอเมริกัน มาบัดนี้เข้าสู่ “ยุคตกต่ำครั้งใหญ่” เกิดกระแสคว่ำบาตรแบรนด์นี้ทั่วทั้งสหรัฐ อีกทั้งคริสเตีย ฟรีแลนด์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแคนาดาประกาศลั่น จะขึ้นภาษีรถ Tesla 100% ลูกค้ายุโรปพากันต่อต้าน ไม่ซื้อแบรนด์รถนี้ จนกดราคาหุ้น Tesla ให้ร่วงกว่า 40% นับตั้งแต่จุดสูงสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม
เจนนิเฟอร์ เทร็บ ผู้ขับรถ Tesla โมเดลวายเผยว่า แต่เดิมเคยชอบรถแบรนด์นี้ เพราะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และดีใจที่ได้เป็นเจ้าของสิ่งที่ล้ำสมัยและแตกต่าง แต่ไม่นานมานี้ เทร็บ “เปลี่ยนใจ” หันไปเข้ากลุ่มเจ้าของเทสลาที่ประกาศขายรถของตน โดยคนในกลุ่มให้เหตุผลว่า ค่านิยมและจุดยืนทางการเมืองของอีลอน มัสก์ ทำให้พวกเขารู้สึกห่างเหินยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของมัสก์ในรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งถูกมองว่า “วางอำนาจเหนือรัฐบาลกลาง”
1
กระแสไม่เอา Tesla ที่ดังกระหึ่มทั่วสหรัฐ เกิดขึ้นหลังจากที่มัสก์เข้าเล่นการเมืองแบบเต็มตัว แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม ในฐานะหัวหน้ากระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลหรือ “กระทรวง DOGE” ซึ่งได้ปลดพนักงานรัฐออกไปเป็นจำนวนมากหลายหมื่นคน โดยไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน แต่ใช้ “การส่งอีเมล” ให้พนักงานรัฐระบุผลงานตนเองในสัปดาห์นั้น
หากไม่ตอบกลับก็ถือว่าลาออก ซึ่งการคัดคนจากการตอบอีเมลก็ไม่ได้หมายความว่า ตอบเอาใจมัสก์แล้วจะหมายถึงทำงานดี หรือหากเลือกไม่ตอบ เพราะรายละเอียดงานเกี่ยวพันทางความมั่นคง ก็ไม่ได้หมายความว่าควรถูกไล่ออก
ไม่เพียงเท่านั้น การปลดคนของมัสก์ที่ทำอย่างรวดเร็ว ยังก่อข้อผิดพลาดไม่น้อย อย่างการลดบุคลากรสำคัญที่พยากรณ์อากาศและภัยพิบัติ ผู้ตรวจสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์ทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่โครงการอาวุธนิวเคลียร์ เจ้าหน้าที่ดูแลป่าไม้และเฝ้าระวังไฟป่า ฯลฯ จนบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างกังวล “คุณภาพ” ของระบบราชการสหรัฐนับจากนี้ แม้ว่ารายจ่ายรัฐจะลดลงก็ตาม
2
ที่สำคัญคือ หากรวมพนักงานรัฐทั้งที่ถูกปลดออก และยอมลาออกเพื่อจะได้เงินก้อนเลิกจ้าง จะมีจำนวนรวมกันสูงถึง “หลักแสนคน” ซึ่งถือว่าสูงมากในระยะเวลาไม่ถึง 50 วันที่กระทรวง DOGE เข้าทำงาน
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์บริการลูกค้าและโรงงานผลิตของ Tesla จึงตกอยู่ท่ามกลาง “การประท้วง” จากพนักงานรัฐที่ไม่พอใจต่อการปลดที่ไม่เป็นธรรม
📌เมื่อ Tesla ไม่ใช่แค่รถ แต่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง
นอกจากเรื่องปลดพนักงานรัฐอย่างไม่มีแบบแผนแล้ว มัสก์ยังแสดงท่าชูมือขวาขึ้นฟ้า 2 ครั้ง หลังพิธีสาบานตนของทรัมป์ โดยบางส่วนมองว่าคล้ายท่า “Sieg Heil” หรือท่าแสดงความเคารพแบบนาซี ประกอบกับมัสก์ยังสนับสนุนพรรคฝ่ายขวาที่ชื่อ AfD ในเยอรมนีแบบเปิดเผยด้วย ซึ่งดูเหมือนการแทรกแซงกิจการต่างประเทศ จนจุดกระแสวิจารณ์อีลอนอย่างเผ็ดร้อน
1
เทร็บ ในวัย 54 ปี นักบำบัดครอบครัวและเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตเล่าว่า เธอตัดสินใจแลกเปลี่ยน Tesla ของเธอกับรถ Mercedes ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปแทน โดยยอมรับมูลค่าเพียง 32,000 ดอลลาร์ จากราคาเดิมที่ 55,880 ดอลลาร์ แม้ว่า Tesla ของเธอจะวิ่งไปเพียง 16,000 กิโลเมตรก็ตาม
เธอเผยว่า การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นขณะไปซูเปอร์มาร์เก็ต Kroger ในสหรัฐ
“สองสัปดาห์ก่อน ฉันถูกเรียกว่า ‘นาซี’ ที่ลานจอดรถ” เธอกล่าว “ฉันกลับถึงบ้านแล้วบอกสามีว่า พอแล้ว ฉันเลิกแล้ว”
1
“ฉันรู้สึกอายที่จะให้ใครเห็นว่าฉันขับรถคันนั้น” เทร็บกล่าว พร้อมกับบอกว่า เธอได้ติดสติ๊กเกอร์กันชนที่เขียนว่า “ฉันซื้อคันนี้ก่อนที่อีลอนจะบ้าคลั่ง” (I bought this before Elon went crazy) ซึ่งเป็นสติ๊กเกอร์ที่ได้รับความนิยมในตอนนี้
ไม่เพียงแต่สมาชิกพรรคเดโมแครต ดร.คุมัยต์ จาโรจ อายุ 40 ปี สมาชิกพรรครีพับลิกันจากเมืองวูสเตอร์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ใช้รถ Tesla Cybertruck สีทองมูลค่า 113,000 ดอลลาร์ พร้อมโฆษณาธุรกิจแพทย์ด้านความงามของเขา โดยติดสติกเกอร์ข้อมูลติดต่อไว้ที่ด้านข้างของรถ เพื่อดึงดูดความสนใจ แต่ไม่นานมานี้ เขากลับเผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรง จนจำเป็นต้องถอดข้อมูลเหล่านั้นออกจากรถ
2
“นี่แย่มากจริงๆ หลังจากวันสาบานตน” ดร.จาโรจกล่าว
ไม่กี่วันหลังจากนั้น ดร.จาโรจ ซึ่งเป็นผู้อพยพชาวซีเรียเล่าว่า ตัวเขาได้รับข้อความข่มขู่ทางโทรศัพท์ที่คลินิก เขาจึงต้องแจ้งความกับตำรวจ อีกทั้งคลินิกของเขายังได้รับรีวิวทางออนไลน์ในเชิงลบจำนวนมากอีกด้วย
ดร.จาโรจกล่าวว่า พยายามติดต่อ Tesla เกี่ยวกับการแลกรถ Cybertruck แต่ไม่สำเร็จ และเขาวางแผนที่จะขายรถคันนั้นแทน
ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนว่า แม้ว่ารถ Tesla จะเปี่ยมด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย แต่การตลาดที่ “ผูกโยงแบรนด์กับตัวบุคคล” อย่างแนบแน่น จนเมื่อเอ่ยถึง Tesla ก็ปรากฏภาพของ “อีลอน มัสก์” ขึ้นในความคิด ต่างจากแบรนด์รถยนต์อื่น ๆ ที่ผู้คนอาจไม่รู้จักเจ้าของ ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของธุรกิจ Tesla ผันแปรไปตามภาพลักษณ์ของมัสก์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โฆษณา