10 มี.ค. เวลา 01:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Flash : Weekly Economic Highlights – ตัวเลขเศรษฐกิจน่าสนใจ มีอะไรบ้าง ? (10 มี.ค. 2025)

สภาวะตลาดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ตลาดหุ้นโลกเคลื่อนไหวผันผวนและปรับตัวลดลงแรง จากความกังวลภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯที่เริ่มประกาศใช้ในวันอังคาร (4 มี.ค.) ทำให้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะดัชนี Nasdaq Composite ที่ปรับตัวลงต่อเนื่องสะสม -10% จากจุดสูงสุด ทำให้ดัชนีเข้าสู่ระยะพักฐาน และแรงขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ้น Semiconductor หลายบริษัท ที่ออกคาดการณ์รายได้ชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ปธน. Trump ของสหรัฐฯ ประกาศยกเว้นภาษีสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาที่เป็นไปตามข้อตกลง United States-Mexico-Canada Agreement (USMCA) ที่ทั้ง 3 ชาติได้ตกลงทำกันไว้ในสมัย ปธน. Trump ครั้งแรก ออกไป 30 วันเป็นเริ่ม 2 เม.ย. ซึ่งครอบคลุมสินค้าจากเม็กซิโกประมาณ 50% และแคนาดา 40%
เท่านั้น ที่เหลือ ไม่รอด !!! โดนเก็บภาษีในอัตรา 25% ตามกำหนดเดิม
ดอกเบี้ยนโยบายเงินฝากของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลดลงเป็น 2.50% - ภาพจาก TradingEconomics.com
ด้านยุโรป มี 2 ข่าวที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลดดอกเบี้ยนโยบายตามที่ -0.25% เป็น 2.50% , ชี้ว่า นโยบายการเงินเริ่มผ่อนคลายมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และปรับลดประมาณการ GDP เพิ่มประมาณการเงินเฟ้อในยูโรโซนขึ้น (อ่านสรุปเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์ด้านล่าง*)
และ 2. เยอรมนี + อังกฤษ ประกาศว่าจะเพิ่มงบฯด้านกลาโหม เพื่อปกป้องยูเครน และเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันตัวเอง หลังจากที่สมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เห็นชอบที่จะเพิ่มงบประมาณด้านการทหารของแต่ละประเทศให้เป็นอย่างน้อย 3% ของ GDP ทำให้นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs คาดว่า เศรษฐกิจยุโรปจะเติบโตได้ดีขึ้นในปี 2026-2027
จีนประกาศเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ในงานประชุม Two Session เมื่อวันอังคาร - ภาพจาก China-Briefing.com
ข้ามมาทางเอเชีย การประชุมประจำปีของจีน (Two Session) ระหว่างสภาที่ปรึกษาการเมืองจีน (CPPCC) และสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) เมื่อวันอังคาร ทางการจีนตั้งเป้าการเติบโต GDP ในปีนี้ที่ “ราว 5%”, เงินเฟ้อ “ราว 2%” รวมทั้ง ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่าน 1. นโยบายขาดดุลการคลังมากขึ้นเป็น 4% ของ GDP
2. ออกพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น และ 3. เบิกจ่ายงบประมาณจากภาครัฐเพิ่มขึ้น
รวมทั้ง ให้ความสำคัญกับ 10 นโยบายที่จะทำในปีนี้ เช่น การกระตุ้นการบริโภค, ส่งเสริมนวัตกรรม, แก้ปัญหาภาคอสังหาฯ, ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น ซึ่งตลาดหุ้นตอบรับในเชิงบวก
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น อายุ 10 ปี พุ่งแตะ 1.50% สูงสุดตั้งแต่ปี 2007/2008 – ภาพจาก CNBC.com
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Yield) ญี่ปุ่น อายุ 10-30 ปี พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี จากการขึ้นดอกเบี้ย และแรงเทขายพันธบัตร ทำให้ราคาพันธบัตรปรับตัวลง และ Yield ปรับตัวขึ้น
ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ฝั่งสหรัฐฯ การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน ก.พ. เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนเป็น +1.51 แสนตำแหน่ง แต่น้อยกว่าคาด ท่ามกลางมาตรการลดพนักงานภาครัฐของ ปธน.Trump และ Musk ซึ่งคาดว่าจะ “สะท้อนในการจ้างงานเดือน มี.ค.”, อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 4.1% และค่าจ้างแรงงานสหรัฐฯ +4.0%YoY ลดลงเล็กน้อย ขณะที่ยอดส่งออก-นำเข้าสินค้าของจีน เดือน ม.ค. - ก.พ. เพิ่มขึ้น +2.3%YoY แย่กว่าคาดค่อนข้างมากที่ +5.0%YoY
การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือน ก.พ. ชะลอตัวลง ใกล้เคียงกับเดือน ม.ค. สะท้อนภาวการณ์จ้างงานที่ลดลง - ภาพจาก CNBC.com
ด้านสินทรัพย์ทางเลือก ราคาทองคำ ปรับตัวขึ้น +1.7% ในสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย, ราคาน้ำมัน เคลื่อนไหวผันผวน หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร (OPEC+) เตรียมเพิ่มการผลิตน้ำมันในเดือน เม.ย. แต่ ปธน. Trump ขู่ว่าอาจจะคว่ำบาตรธนาคารและสินค้าจากรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียไม่หยุดโจมตียูเครน ทำให้ทิศทางตลาดน้ำมันยังไม่แน่นอน ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent อยู่ที่ 67 และ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ภาพจาก CNBC.com
ขณะที่ ราคา Bitcoin ร่วงลงต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยง แม้ ปธน. Trump ลงนามคำสั่งพิเศษจัดตั้งกองทุนสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของ Bitcoin เพื่อจัดเก็บเหรียญที่ถูกทางการยึดได้ โดยจะไม่ขายเหรียญเหล่านี้ออกมา ล่าสุด ราคา Bitcoin อยู่ที่ 86,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเหรียญ
ตัวเลขเศรษฐกิจ และเหตุการณ์ที่น่าติดตาม
10 มี.ค. : GDP ไตรมาส 4 ของญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัว +0.7%QoQ
12 มี.ค. : เงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ คาดว่า จะชะลอตัวลงเล็กน้อยเป็น +2.9%YoY จาก +3.0%YoY ในเดือนก่อน
13 มี.ค. : ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ครั้งแรก ของสหรัฐฯ
14 มี.ค. : GDP เดือน ม.ค. ของอังกฤษ + เงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน ก.พ. ของเยอรมนี คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น +0.4%MoM
ภาพจาก CNBC.com
Mr. เต่า มองว่ายังไง ?
ผมมองว่า ตลาดยังอาจเคลื่อนไหวผันผวนแต่จะ ”ปรับตัวขึ้น” เนื่องจากความกังวลภาษีนำเข้าผ่อนคลายลงไปในระดับหนึ่งแล้ว รวมทั้ง อาจมีแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยระยะสั้น เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จะประกาศออกมาในสัปดาห์นี้มีค่อนข้างน้อย ทำให้นักลงทุนบางส่วน อาจเลือกที่จะป้องกันความเสี่ยงด้วยการซื้อทองคำครับ
แนะนำ “ทยอยซื้อหุ้นรายประเทศ” เช่น สหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย และทองคำ เนื่องจากจะได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังแข็งแกร่ง, การลดดอกเบี้ยของ ECB ในยุโรป, ผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้าต่ออินเดียจำกัด และแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ภายใต้สถานการณ์การลงทุนที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งจะช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกระยะ
ส่วนตัว Mr. เต่า “ชอบยุโรปมากที่สุด”ครับ เพราะเชื่อว่า เป็นตลาดหุ้นที่หลายคนเลิกสนใจไปแล้ว หรือลงทุนอยู่ในสัดส่วนที่ไม่เยอะ แต่ผมมองว่า ยุโรป น่าสนใจและจะเป็นภูมิภาคที่ช่วยกระจายการลงทุนออกจากสหรัฐฯได้ดีในปีนี้ครับ
โชคดีในการลงทุนนะครับ
Mr. เต่า
*อ่านสรุปเพิ่มเติมได้ที่ บทความ “Easy Reading : ECB ลดดอกเบี้ย พร้อมส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น” วันที่ 7 มี.ค. 2025 ได้ที่ลิงค์ bit.ly/3F7luIy
ค้นหาบทความเต่าน้อยลงทุนผ่าน Facebook ได้อีกช่องทางที่
#อัพเดตการลงทุน #เต่าน้อยลงทุน #ลงทุน #การลงทุน #กองทุนรวม #ข่าวต่างประเทศ #หุ้น #ตลาดหุ้นโลก #กองทุนรวม #ข่าวการลงทุน #ข่าวเศรษฐกิจ #เศรษฐกิจโลก
ติดตามเพจ “เต่าน้อยลงทุน” ได้ที่
Source : “China’s Two Sessions 2025: Key Takeaways from the Government Work Report” – China-Briefing.com
“Dow tumbles 400 points, Nasdaq enters correction as trade policy fatigue ignites sell-off: Live updates” – CNBC.com
“European Central Bank cuts rates again, says policy is becoming ‘meaningfully less restrictive’” – CNBC.com
“Medium-term outlook for Germany has improved despite uncertainty: Goldman Sachs” – CNBC.com
"U.S. payroll growth totals 151,000 in February, less than expected” – CNBC.com
โฆษณา