28 มี.ค. เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์

10 วิธีฝึกทักษะการปล่อยวาง ลดเครียด สำคัญกับวัยทำงานกว่าที่คิด

เคยไหม? เมื่อทำงานผิดพลาดแล้วโดนหัวหน้าตำหนิ หรือถูกวิจารณ์ผลงานที่ตั้งใจทำ วัยทำงานหลายคนจมอยู่กับความทุกข์และรู้สึกผิด บางคนก็ทำใจฟื้นกลับมาได้เร็ว แต่บางคนก็ปล่อยวางไม่ได้จนส่งผลเสียต่อการทำงานและการใช้ชีวิตต่อไปอีกนาน ซึ่งนั่นไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ตรงกันข้าม หากเราปล่อยวางได้เร็ว ก็จะมีส่วนช่วยให้เราเติบโตก้าวหน้าทั้งในเรื่องการงานและการใช้ชีวิต
ในชีวิตของวัยทำงานแทบทุกคนย่อมมีปัญหารบกวนจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการการยอมรับ ความกลัวการถูกปฏิเสธ ความเสียใจจากอดีต หรือความคาดหวังที่ไม่เป็นจริง หากเรายังคงยึดมั่นกับสิ่งเหล่านี้ พวกมันจะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งและขัดขวางไม่ให้เราก้าวไปข้างหน้า หากไม่อยากจมอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ เหล่านี้ ก็ต้องฝึกทักษะการปล่อยวางให้เป็น
การปล่อยวางคืออะไร? ผู้เชี่ยวชาญด้านการเสริมพลังชีวิตและนักเขียนชื่อดังอย่าง บริอานนา เวสต์ (Brianna Wiest) เจ้าของหนังสือขายดี "101 Essays That Will Change The Way You Think, The Mountain Is You, The Pivot Year และ Ceremony" ได้ให้คำนิยามไว้ว่า การปล่อยวางไม่ใช่แค่การปลดเปลื้องสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดเท่านั้น แต่มันคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลัง เป็นสัญญาณของการยอมรับและไว้วางใจในเส้นทางชีวิตของตนเอง การปล่อยวางจะช่วยให้คนเราเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม ได้เข้ามาเติมเต็มในชีวิต
"การปล่อยวางไม่ใช่แค่สิ่งที่เราต้องทำเมื่อมีบางอย่างผิดพลาด แต่มันเป็นกระบวนการที่ต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา ในขณะที่เราเติบโตและเรียนรู้ เรากำลังปล่อยวางสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไปเสมอ และเมื่อเราฝึกฝนการปล่อยวางกับเรื่องเล็กๆ ได้ เราก็จะสามารถรับมือกับเรื่องใหญ่ๆ ได้ดีขึ้น" บริอานนา บอกไว้ในหนังสือของเธอ
อีกทั้งเธอยังได้แบ่งปันแนวทาง 10 ประการ ที่จะช่วยให้วัยทำงานทุกคนฝึกฝนทักษะการปล่อยวางให้ได้ และได้รับประโยชน์สูงสุดจากกระบวนการนี้จนนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตและการทำงาน
📌 1. แทนที่ "ความอยากได้" ด้วย "เลิกคาดหวัง"
อย่ายึดติดกับสิ่งที่อยากได้มากเกินไป บอกกับชีวิตว่าเราต้องการอะไร แล้วปล่อยวางให้ทุกอย่างไหลไปตามทางของมัน จังหวะชีวิตจะบอกเราเองว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร ตอนไหน ยิ่งเรายึดติดกับผลลัพธ์ที่ต้องการมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างแรงต้านมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราจะรู้สึกว่ามีบางอย่างขาดหายไปตลอดเวลา ทั้งที่จริงๆ แล้วเราไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็ได้ ยกตัวอย่างหนังสือขายดีของบริอานนาเล่มดังกล่าว เธอไม่ได้ประสบความสำเร็จชั่วข้ามคืน หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาถึง 7 ปีกว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
“สิ่งที่ช่วยฉันได้มากคือการปล่อยวางความคาดหวัง” ฉันเลิกยึดติดว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ กรอบเวลา หรือแม้แต่ตัวหนังสือเองว่าจะออกมาเป็นแบบไหน” บริอานนา สะท้อนวิธีคิดของเธอ และอธิบายอีกว่า
เวลาที่คนเราต้องการอะไรอย่างหนักแน่น มันจะสร้างพลังงานของ ‘การไม่มี’ ขึ้นมา” เมื่อเราอยู่ในภาวะรู้สึกขาดหายมากๆ ต่อให้สิ่งที่เราต้องการกำลังจะเข้ามาหาเรา เราก็มักจะผลักมันออกไปโดยไม่รู้ตัว เราอาจเผลอทำลายโอกาสของตัวเอง เพราะมันขัดกับสิ่งที่เรายึดติดอยู่
📌 2. เชื่อมั่นใน "กฎแห่งการเติบโต"
บริอานนาบอกว่า เธอมุ่งมั่นกับสิ่งที่เธอต้องการเสมอ แต่จะปล่อยให้จังหวะชีวิตนำพาตัวเองไปสู่เป้าหมาย เช่น ไม่ขีดเส้นตายที่เคร่งเกินไปในการทำงาน หรือไม่บังคับตัวเองว่าเรื่องนี้ต้องใช้วิธีนี้จัดการเท่านั้น ฯลฯ เธอบอกว่ามันก็เหมือนกับการหว่านเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งต้องใช้เวลาในการเติบโต ต้องใจเย็นๆ อย่าไปขุดดินขึ้นมาดูว่าเมล็ดเหล่านั้นมันงอกหรือยัง จงเชื่อมั่นในกระบวนการ
📌 3. รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเปลี่ยนเส้นทาง
ถ้าสิ่งที่ทำอยู่มันไม่เวิร์ก ก็ต้องยอมรับและพร้อมปรับเปลี่ยน เส้นทางที่ผิดพลาดไม่ใช่จุดจบ แต่มันเป็นแค่การเปลี่ยนทิศทางใหม่ บริอานนาบอกว่า บางครั้งชีวิตไม่ได้บอกเราว่า ‘ไม่’ แต่กำลังบอกว่า ‘สิ่งที่เธออยากได้อยู่ทางนั้นนะ ลองเลี้ยวขวาสิ’
ลองถามตัวเองดูว่าหลังจากผิดหวังแล้ว มีส่วนหนึ่งในใจที่รู้สึกโล่งใจบ้างไหม? หลายครั้งคนเรามักรู้ตัวว่าลึกๆ แล้วเราก็ไม่ได้มั่นใจ 100% กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ถ้าเรายอมรับความรู้สึกนี้ ประตูใหม่ๆ ก็จะเปิดออกให้เรา บางทีเราอาจจะอยากลองทำสิ่งอื่นมาตลอด หรือบางทีการโดนปฏิเสธครั้งนี้อาจกำลังพาเราไปสู่เส้นทางอื่นที่เหมาะกับเรามากกว่า
📌 4. ปล่อยวางความสมบูรณ์แบบ
ชีวิตคนเราไม่จำเป็นต้องรอให้สมบูรณ์แบบก่อนถึงจะก้าวต่อไปได้ เลิกที่จะรอให้ทุกอย่างพร้อมที่สุดก่อนแล้วค่อยทำ แต่จงลงมือทำทันที! ไม่มีใครเคยมีความสุขเพราะชีวิตสมบูรณ์แบบ ไม่เคยมีเลย การมีความสุขเพราะความสมบูรณ์แบบนั้นไม่ใช่ความจริงของชีวิต ถ้าเรารอจนกว่าทุกอย่างจะลงตัวแล้วค่อยรู้สึกดี หรือรู้สึกพร้อม แบบนั้นเราอาจจะต้องรอไปตลอดชีวิต
📌 5. เลิกแคร์การยอมรับจากทุกคน
เราไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนเห็นด้วยกับเรา ควรเลือกฟังเฉพาะคนที่มีความหมายสำหรับเรา แล้วปล่อยความเห็นของคนอื่นๆ ที่ไม่ได้สำคัญออกไปจากชีวิต ยกตัวอย่างเช่น เหล่าคนดังหรือนักกีฬาระดับโลกมักได้รับข้อความแย่ๆ วันละเป็นพันๆ ข้อความ ถ้าพวกเขาไปใส่ใจกับทุกคำวิจารณ์ พวกเขาคงไม่มีทางไปถึงจุดสูงสุดในอาชีพได้
คำแนะนำนี้ช่วยให้หลายคนสามารถเปลี่ยนมุมมองใหม่ได้ หากปล่อยให้คำวิจารณ์มากมายมาครอบงำตัวเรา เราก็จะไม่มีทางดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เลย สิ่งนี้เตือนให้เรารู้ว่า พลังที่แท้จริงมาจากการโฟกัสเส้นทางของตัวเอง และไม่ให้เสียงรบกวนที่ไม่จำเป็นมามีอิทธิพลกับชีวิตเรา
📌 6. หากปล่อยวางไม่ได้ ก็ต้องเรียนรู้จากมัน
ถ้าปล่อยวางเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ยาก อาจเป็นเพราะยังมีบทเรียนบางอย่างที่เราต้องเรียนรู้จากมัน บริอานนาบอกว่า บางครั้งการปล่อยวางมันยากกว่าที่คิด เพราะมันยังมีสิ่งที่เราต้องได้รับจากประสบการณ์นั้น อาจจะเป็นทักษะ บทเรียน หรือการพัฒนาตัวเองที่สำคัญสำหรับชีวิตเราในอนาคต
📌 7. ก้าวไปข้างหน้าต่อไป
โฟกัสที่ก้าวเล็กๆ ที่ช่วยให้เราพัฒนาและเยียวยาตัวเองได้ พูดให้กำลังใจตนเองด้วยคำพูดที่ส่งเสริมพลังใจ เช่น "ฉันกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน" เพื่อสร้างพลังบวกในการเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้มีความหมายกับวัยทำงานทุกคนมาก แทนที่จะพยายามแก้ไขทุกอย่างในชีวิตพร้อมกัน แต่คุณควรเลือกโฟกัสที่การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่สามารถทำได้ตอนนี้ มันจะทำให้คุณรู้สึกภูมิใจ และสุดท้าย มุมมองของคุณก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปในเชิงบวกมากขึ้น
📌 8. ให้เวลากับกระบวนการเยียวยา
การปล่อยวางก็เหมือนกับการรักษาบาดแผล ถ้าจับแผลบ่อยๆ หรือแกะมันมากเกินไป แผลอาจจะแย่ลง แต่ถ้าปล่อยมันไว้แล้วให้เวลาสักหน่อย แผลจะค่อยๆ หายเอง แต่ถ้าคุณยังไม่พร้อมปล่อยวางตอนนี้ ก็ไม่เป็นไร ถ้าคุณยังโกรธหรือยังเศร้า มันก็โอเคทั้งนั้น
บริอานนาบอกว่า สำหรับเธอแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง และหัวใจที่แข็งแกร่ง เมื่อถึงเวลาที่คุณพร้อม คุณจะรู้สึกได้เอง มันไม่ใช่อะไรที่เราจะตื่นมาแล้วพูดว่า ‘โอเค ฉันปล่อยได้แล้ว’ แต่เราจะรู้ว่าถึงเวลาหยุดวนเวียนอยู่กับบาดแผลนั้นได้แล้ว เพราะการจมอยู่กับมันนานเกินไป ก็เท่ากับว่าเรากำลังขัดขวางกระบวนการเยียวยาของตัวเอง
📌 9. ฝึกการปล่อยวางผ่านกิจกรรม
วิธีฝึกปล่อยวางในเบื้องต้นสำหรับมือใหม่ อาจทำได้ผ่านกิจกรรมง่ายๆ เช่น การเขียนระบายความรู้สึกเชิงลบลงไปบนกระดาษ แล้วทำลายกระดาษเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปล่อยวาง (ลองใช้ "กฎของ Kidlin" ที่บอกว่า ถ้าสามารถเขียนปัญหาออกมาได้ชัดเจน ก็เท่ากับแก้ปัญหานั้นไปแล้วครึ่งหนึ่ง)
นอกจากนี้ ยังอาจใช้วิธีธรรมชาติบำบัดและการเคลื่อนไหว เช่น เดินเล่น ออกกำลังกาย หรือเล่นโยคะ เพื่อช่วยปลดปล่อยอารมณ์เสียหรือหงุดหงิดออกไป รวมไปถึงการฝึกทำสมาธิ ตั้งจิตให้สงบ และฝึกความรู้สึกขอบคุณสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน
📌 10. กลับมาเชื่อมโยงกับความรู้สึกขอบคุณ
ในวันที่รู้สึกแย่หรือปล่อยวางเรื่องแย่ๆ ไม่ได้ ให้ลองมองย้อนกลับไปว่าชีวิตเราตอนนี้มาไกลแค่ไหน และขอบคุณสิ่งที่ตนเองมีอยู่ในตอนนี้โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ผู้เชี่ยวชาญคนเดิมบอกว่า ถ้าเราไม่ฝึกซาบซึ้งและมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ ในชีวิต สิ่งใหญ่ๆ ก็อาจจะไม่มีวันมาถึง มันก็เหมือนกับการปล่อยวาง การหาความสุขและความรู้สึกขอบคุณก็เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเหมือนกัน
ท้ายที่สุดแล้วแม้การปล่อยวางไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แต่เป็นทักษะจำเป็นที่ควรฝึกฝน เพราะมันคือกระบวนการที่ช่วยให้เราสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองและเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในเส้นทางการทำงานและการใช้ชีวิต ที่สำคัญ..เมื่อปล่อยวางเป็นชีวิตก็มีความสุขมากขึ้นตามมาด้วย
โฆษณา