11 มี.ค. เวลา 11:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จี้รัฐกู้วิกฤติการค้าไม่เป็นธรรม "เจอนอมินี" ธุรกิจสีเทา ผู้ประกอบการไทยเสียส่วนแบ่ง-ปิดตัว

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จี้รัฐกู้วิกฤติการค้าไม่เป็นธรรม "เจอนอมินี" ธุรกิจสีเทา ทำการตลาดแบบ B2C ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ ผู้ประกอบการไทยเสียส่วนแบ่งตลาดและต้องปิดตัว
นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สินค้าต่างชาติเข้าตีตลาดไทยอย่างรวดเร็ว และอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายย่อยและธุรกิจท้องถิ่น ได้รับผลกระทบหนักจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยปัญหาหลักประกอบด้วย สินค้านำเข้าราคาต่ำ ที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ทำให้ธุรกิจไทยแข่งขันลำบาก การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย เปิดทางให้มีการใช้ "นอมินี" ดำเนินธุรกิจสีเทา
นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย
การทำตลาดแบบ B2C ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ ซึ่งกฎหมายไทยยังควบคุมได้ไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยเสียส่วนแบ่งตลาดและหลายธุรกิจต้องปิดตัวลง
ผลกระทบไม่ได้จำกัดเพียงผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีกว่า 3.3 ล้านราย โดยเป็นภาคค้าปลีกและบริการถึง 2.8 ล้านรายหรือเกือบ 90% แต่ ผู้บริโภคไทยก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เช่นกันเนื่องจากสินค้านำเข้าหลายรายการไม่มีมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องสำอาง และสินค้าไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากภาษาไทย
ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้ธุรกิจไทย แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หากปล่อยให้สถานการณ์นี้ดำเนินต่อไป ไม่เพียงแต่ธุรกิจค้าปลีกไทยจะถูกบีบให้ลดขนาดหรือปิดตัวลง แต่ยังอาจกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
​สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงขอเสนอแนะ 3 แนวทางเร่งด่วน เพื่อสร้างสมดุลทางการแข่งขันและปกป้องเศรษฐกิจไทย ดังนี้
1. คุมเข้มคุณภาพสินค้านำเข้า อย่างสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศจำนวนมากอาจมีคุณภาพต่ำ ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอางตกมาตรฐาน โดยเฉพาะไม่มีฉลากภาษาไทย หรือปรับปรุงกฏระเบียบให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และปิดช่องโหว่ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทุ่มตลาด
2. ปรับโครงสร้างภาษี จัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างเท่าเทียม
และ 3. แก้ปัญหานอมินี ปิดช่องโหว่ธุรกิจต่างชาติ ตรวจสอบการจัดตั้งบริษัทที่อาจสวมสิทธิ์โดยชาวต่างชาติ เพื่อป้องกันการเลี่ยงกฎหมายธุรกิจต่างด้าว ซึ่งกำหนดให้ชาวต่างชาติต้องมีหุ้นส่วนคนไทยไม่น้อยกว่า 51% โดยธุรกิจที่เสี่ยงต่อการใช้ช่องโหว่นี้ เช่น ร้านอาหาร, ซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้เม็ดเงินไหลกลับเข้าประเทศไทย กำหนดมาตรฐานการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ เช่น มีการจ้างแรงงานไทยในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อลดอัตราการว่างงานของคนไทย กำหนดพื้นที่หรือโซนสำหรับธุรกิจของชาวต่างชาติ
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/244483
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา