12 มี.ค. เวลา 11:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“คูโบต้า” แทรกเตอร์-รถไถคู่ใจเกษตรกรไทย ประวัติยาวนานกว่า 130 ปี

จุดสตาร์ท “คูโบต้า” บริษัทเครื่องจักรกลยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น คือความฝันของเด็กชายที่หนีออกจากบ้านเพื่อหาเงินดูแลครอบครัว
ประเทศไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ข้อมูลสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 พบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองทำการเกษตร จำนวน 8.7 ล้านราย (37.5% ของครัวเรือนทั้งประเทศ) และมีเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรทั้งสิ้น 142.9 ล้านไร่ (ร้44.5 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ) โดยคนไทยที่ทำการเกษตร เป็นผู้ปลูกพืชมากที่สุด คือกว่า 8.0 ล้านราย
นั่นทำให้เรื่องของอุปกรณ์เครื่องจักรกลการเกษตร โดยเฉพาะรถแทรกเตอร์ รถไถ รถเกี่ยวนวดข้าว มีความสำคัญอย่างมากในยุคที่การใช้โคกระบือแทบไม่เหลือให้เห็นแล้ว
“คูโบต้า” (Kubota) แบรนด์เครื่องจักรกลสัญชาติญี่ปุ่น
เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหูคุ้นตากันดีกับชื่อ “คูโบต้า” (Kubota) แบรนด์เครื่องจักรกลสัญชาติญี่ปุ่นที่อยู่คู่ภาคการเกษตรไทยมานานเป็นสิบปี แต่เคยทราบกันหรือไม่ว่า แบรนด์ที่เราเห็นกันชินตานี้ มีประวัติไม่ธรรมดา และยาวนานมากกว่า 130 ปีแล้ว
รวมถึงชีวิตของผู้ก่อตั้งอย่าง “คุโบตะ กอนชิโระ” เองอาจเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้แก่ใครที่กำลังท้อถอยได้
ออกเดินทางเพื่อทวงคืนเสียงหัวเราะ
คุโบตะ กอนชิโร เดิมชื่อ “โอเดะ กอนชิโระ” เกิดในปี 1870 ที่หมู่บ้านโอฮามะ บนเกาะอินโนะชิมะ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดฮิโรชิมะ มีพี่น้อง 4 คน โดยเขาเป็นลูกคนสุดท้อง
ในสมัยนั้น หมู่บ้านโอฮามะเป็นหมู่บ้านที่สงบสุข มีประชากรเพียง 1,200 คน ส่วนครอบครัวโอเดะเป็นชาวนาที่ประกอบอาชีพเสริมด้านงานไม้ พวกเขาไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็มีทุกสิ่งที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม หลังเปลี่ยนผ่านจากยุคเอโดะเข้าสู่ยุคเมจิ ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนระบบการจ่ายภาษีเป็นเงินสดแทนระบบการจ่ายภาษีที่ดินด้วยข้าว ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของครอบครัวแย่ลงอย่างกะทันหัน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อกอนชิโระอายุได้ 7-8 ขวบ และเขาเห็นว่าเสียงหัวเราะหายไปจากบ้าน เขาจึงสาบานกับตัวเองว่า เขาจะประสบความสำเร็จในชีวิตและพาครอบครัวออกจากความยากจน และนำเสียงหัวเราะกลับมาอีกครั้ง
แต่ต้องทำอย่างไรถึงจะรวย? กอนชิโระมักจะปีนขึ้นไปบนยอดเขาและมองออกไปทางทะเล เห็นเรือไอน้ำขนาดใหญ่บรรทุกสินค้าแล่นไปมาปะปนกับเรือใบ และทำให้กอนชิโระตัดสินใจได้ว่า เขาอยากเป็นช่างเหล็ก เพื่อสร้างเครื่องจักรที่ทำให้เรือเหล่านั้นแล่นได้
ทางเดียวที่จะเป็นช่างเหล็กได้ในยุคนั้น คือต้องไปโอซากาและหาอาจารย์ฝึกวิชา กอนชิโระลองปรึกษาพ่อแม่ของเขา แต่พวกท่านไม่อนุญาต เมื่ออายุได้ 14 ปี กอนชิโระจึงหนีออกจากบ้านและแอบขึ้นเรือไปโอซากา จนกระทั่งกอนชิโระลงเรือไปแล้ว พ่อแม่ของเขาจึงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
“คุโบตะ กอนชิโระ” ผู้ก่อตั้งคูโบต้า
สร้างโอกาสให้ตัวเอง
เมื่อมาถึงโอซากา กอนชิโระไปคารวะช่างตีเหล็กหลายคนเพื่อของานทำและฝึกวิชา แต่ถูกปฏิเสธหมด เขาต้องหลบอยู่ตามชายคาบ้านในยามค่ำคืน และเงินที่พกมาด้วยเริ่มร่อยหรอไปเรื่อย ๆ
จนกระทั่งมาที่โรงเหล็ก คุโระโอะแคสติง ของอาจารย์ คุโรโอะ โคมาคิจิ เขาได้รับอนุญาตให้อยู่ที่โรงเหล็กได้ แต่ในฐานะพี่เลี้ยงเด็ก พนักงานทำความสะอาด และเด็กรับใช้
กอนชิโระไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานเหล็กใด และไม่มีใครสอนงานให้เขาด้วย อย่างไรก็ตาม กอนชิโระทำงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายอย่างจริงจัง และบางครั้งเมื่อมีคนบอกให้เขาทำความสะอาดพื้นที่ทำงาน เขาจะหยิบเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ขึ้นมาด้วยความยินดี เพื่อศึกษาและแอบดูขั้นตอนการตีเหล็ก
ในที่สุดอาจารย์โคมาคิจิยอมรับในความตั้งใจและกระตือรือร้นของเขา จึงเริ่มสอนกอนชิโระเกี่ยวกับการหล่อโลหะ และไม่นานทักษะของกอนชิโระก็เหนือกว่าฝีมือของช่างฝีมือผู้มากประสบการณ์
กอนชิโระเคยกล่าวไว้ว่า “วันหนึ่ง ในวันหยุด ฉันแอบเข้าไปในห้องทำงานว่างเปล่าของอาจารย์ ทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำโดยไม่ได้กินหรือดื่มอะไร และพยายามสร้างแม่พิมพ์ให้ดีที่สุด เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็วางทิ้งไว้ในที่ที่อาจารย์จะมองเห็น โอกาสจะมาหาผู้ที่รอคอย แต่การสร้างโอกาสของตัวเองก็มีความสำคัญเช่นกัน”
หลังจากที่เขาฝึกงานอยู่ที่คุโรโอะแคสติง 3 ปี กอนชิโระได้ย้ายไปที่บริษัทชิโอมิแคสติง ซึ่งผลิตเครื่องใช้โลหะในครัวเรือน เพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และเก็บเงินที่จะนำไปใช้ตั้งกิจการของตัวเอง แต่ในข่วงเวลานั้น เขาก็สูญเสียพ่อไปในปี 1888
ในยุคนั้น การจะตั้งโรงเหล็กของตัวเองต้องมีเงินอย่างน้อย 100 เยน แต่กอนชิโระมีเงินเก็บอยู่ 21 เยนเศษ ๆ เท่านั้น เขาจึงต้องทำงานอยู่อีก 1 ปีครึ่งจึงเก็บเงินได้ครบ และก่อตั้ง “โอเดะแคสติง” ขึ้นมาในปี 1890 ขณะที่เขาอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น
และนี่คือจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของคูโบต้า
โรงงานบริษัทคูโบต้าที่ประเทศญี่ปุ่น (แฟ้มภาพ)
จากโอเดะเป็นคุโบตะ
ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ผลิตภัณฑ์หลักของโอเดะแคสติงคืออุปกรณ์ประกอบและอุปกรณ์ถ่วงน้ำหนักสำหรับเครื่องชั่ง อย่างไรก็ตาม เหล็กของเขามีคุณภาพและความแม่นยำสูงมาก ทำให้ได้รับเสียงชื่นชมและการยอมรับในเวลาอันรวดเร็ว จนเริ่มได้รับคำสั่งผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนทางเทคนิคมากขึ้น เช่น ชิ้นส่วนเครื่องจักร และการหล่อสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น กระทะและกาน้ำ
ทั้งนี้ ในช่วงต้นยุคเมจิ ได้เกิดโรคระบาด เช่น โรคอหิวาตกโรค ทางการญี่ปุ่นจึงตัดสินใจพัฒนาระบบประปา ซึ่งต้องใช้ท่อเหล็กจำนวนมาก แต่ในเวลานั้นยังไม่สามารถผลิตในประเทศได้ จึงต้องนำเข้าเท่านั้น
กอนชิโรตั้งใจที่จะผลิตท่อเหล็กเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง และเหมือนความผิดหวังยิ่งถาโถม เมื่อแม่ของเขาเสียชีวิตลงในปี 1895
ระหว่างนั้น ในปี 1897 ลูกค้ารายหนึ่งของโอเดะแคสติง คือบริษัทผู้ผลิตไม้ขีดไฟของ “คุโบตะ โทชิโระ” ซึ่งได้เห็นผลงานของกอนชิโระ รวมถึงความทุ่มเทและพยายามในการผลิตท่อเหล็กสำหรับระบบประปาในประเทศ
โทชิโระมีอายุเกือบ 70 ปีแล้ว และเขากับภรรยาไม่มีลูก วันหนึ่งเขาจึงถามกอนชิโระว่า สนใจเป็นลูกบุญธรรมของเขาหรือไม่
กอนชิโระถามจนแน่ใจว่าโทชิโระไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเป็นพิเศษจึงตอบตกลง เพราะไม่อยากให้ใครพูดว่าเขาประสบความสำเร็จเพราะมีครอบครัวเศรษฐีรับเลี้ยง นับแต่นั้นเป็นต้นมา กอนชิโระจึงเปลี่ยนชื่อสกุลเป็นคุโบตะ และเปลี่ยนโรงงานหล่อเหล็กโอเดะแคสติงเป็น “โรงเหล็กคุโบตะ” หรือที่หลังจากนี้เราจะเรียกว่า คูโบต้า ตามที่เราคุ้นชินกัน
โรงงานคูโบต้าในยุคเแรกยังเป็นโรงเหล็กคุโบตะ
สินค้าแรกเพื่อประเทศชาติ
กอนชิโระคลำหาทางอยู่นานมากในการพัฒนาท่อเหล็ก เนื่องจากแม้ว่าการผลิตท่อเหล็กหล่อทรงกระบอกธรรมดาดูจะเป็นเรื่องง่าย แต่ในความเป็นจริง เมื่อท่อยาวขึ้น ความหนาจะเปลี่ยนแปลงไป และยังมีอีกหลายปัญหา
กระทั่งปี 1897 กอนชิโระประสบความสำเร็จในการพัฒนาท่อเหล็กครั้งแรก โดยเขาได้พัฒนาวิธีการหล่อแบบ Joint-Type Casting Method ทำให้เขาสามารถผลิตท่อตรงที่มีรูขนาด 3-4 นิ้วได้
ในปี 1900 เขาได้พัฒนาวิธีการหล่อแบบ Vertical Round-Blow Casting Method ซึ่งทำให้สามารถผลิตท่อเหล็กที่ไม่มีข้อต่อได้ จากนั้นในปี 1904 ในที่สุด เขาพัฒนาอุปกรณ์ที่ทำให้สามารถผลิตท่อเหล็กจำนวนมากได้
ท่อประปาเหล็กถือเป็นจุดเปลี่ยนของกอนชิโระ เพราะท่อเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในสถานที่ต่าง ๆ และยังถูกนำไปใช้เป็นท่อส่งก๊าซในปริมาณมากอีกด้วย ทำให้การผลิตท่อเหล็กกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงของคูโบต้า และธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนกอนชิโระต้องขยายโรงงาน
เขาเริ่มก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่เมืองฟุนาเดะ ของโอซากา (ปัจจุบันคือเมืองชิคิทสึฮิงาชิ เขตนานิวะ) ในปี 1908 โรงงานที่ทันสมัยซึ่งผลิตท่อเหล็กโดยเฉพาะได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ ชื่อของ “ผู้ผลิตท่อเหล็กหล่อคูโบต้า” กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วงเวลานี้
ปี 1912 บริษัทบรรลุเป้าหมายผลิตท่อเหล็ก 40,000 ตัน และคิดเป็นประมาณ 60% ของท่อเหล็กทั้งหมดที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น
ท่อเหล็กของคูโบต้ายังขยายตัวไปต่างประเทศในปี 1917 โดยส่งออกท่อเหล็ก 2,000 ตันไปยังเกาะชวา (ปัจจุบันคืออินโดนีเซีย) และได้เริ่มส่งออกท่อเหล็กไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประจำ
นอกจากนี้ ในปี 1932 บริษัทได้รับคำสั่งซื้อท่อส่งก๊าซจำนวน 3,000 ตันจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อมาในปี 1935 บริษัทได้ส่งออกเครื่องยนต์ดีเซลไปยังสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันคือรัสเซีย)
เข้าสู่ภาคการเกษตร
นอกเหนือจากท่อเหล็ก กอนชิโระได้พยายามขยายการผลิตไปยังสินค้ากลุ่มอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง หนึ่งในนั้นคือ รถยนต์
รถยนต์เริ่มแพร่หลายในญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงกลางยุคไทโช (ค.ศ. 1912–1926) กอนชิโระตัดสินใจสร้างรถยนต์ขนาดเล็กและราคาไม่แพงเพื่อให้เหมาะกับตลาดญี่ปุ่น และในปี 1919 ได้ก่อตั้งบริษัท Jitsuyo Jidosha Co., Ltd. โดยซื้อสิทธิบัตรจาก วิลเลียม อาร์. กอร์แฮม ชาวอเมริกัน และเริ่มดำเนินการผลิต
อย่างไรก็ตาม บริษัทประสบปัญหาทางการเงินเมื่อเริ่มมีการนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตในอเมริกาจำนวนมาก เช่น รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด และได้ควบรวมกิจการกับบริษัทแห่งหนึ่งในโตเกียวที่ชื่อว่า DAT Motorcar Company ในปี 1931 วางจำหน่ายภายใต้ชื่อ Datson
แต่ในที่สุด กอนชิโระตัดสินใจว่า เขาไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งรถยนต์ต่างประเทศได้ หุ้นในบริษัทจึงถูกโอนไปยังบริษัท Tobata Casting Co., Ltd. ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นบริษัท Nissan Motors Co., Ltd. หรือนิสสัน
ต่อมาคูโบต้าเริ่มผลิตเครื่องยนต์ใช้น้ำมันสำหรับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมหลังจากได้รับการติดต่อจากบริษัท สึกิยามะ โชเท็น ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายปั๊มและตัวแทนนำเข้าเครื่องยนต์
จนปี 1923 คูโบต้าพัฒนาเครื่องยนต์การเกษตรและอุตสาหกรรม Type A ซึ่งมีกำลัง 3 แรงม้า โดยวางจำหน่ายผ่าน สึกิยามะ โชเท็น และได้ต่อยอดพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับเรือประมง
เครื่องยนต์การเกษตรและอุตสาหกรรม Type A
คูโบต้ายังได้เข้าร่วมการแข่งขันเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่ใช้ในการเกษตรซึ่งจัดโดยกระทรวงเกษตรและป่าไม้ญี่ปุ่น โดยจากเครื่องยนต์ 76 เครื่องที่เข้าร่วมการแข่งขัน มี 19 เครื่องที่ได้รับการจัดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม รวมถึงเครื่องยนต์ของคูโบต้า
และในปี 1930 เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันของคูโบต้าได้รับเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมในประเทศโดยกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น
ช่วงเวลานี้ คูโบต้ายังไม่ได้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรของตัวเอง เป็นเพียงผู้ผลิตเครื่องยนต์ที่นำไปใช้ในเครื่องจักรกลการเกษตรเท่านั้น กระทั่งปี 1947 หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ในขณะนั้นการจัดหาอาหารถือเป็นประเด็นเร่งด่วนของรัฐบาลญี่ปุ่น การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมนำไปสู่การกำเนิดของเจ้าของฟาร์มรายใหม่จำนวนมาก และความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมากสำหรับการใช้งานใหม่ ๆ เช่น การชลประทาน การนวดข้าว และการสีข้าว
คูโบต้าจึงตัดสินใจเริ่มพัฒนาเครื่องไถพรวน โดยมีแผนพัฒนามาตั้งแต่ปี 1935 แต่ไม่คืบหน้าเนื่องจากเผชิญสงคราม และสร้างเครื่องจักรต้นแบบเครื่องแรกสำเร็จ
เครื่องจักรกลดังกล่าวถูกจัดแสดงในงานนิทรรศการเครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติครั้งแรก และวางจำหน่ายในชื่อเครื่องไถพรวนดินแบบโรตารี “Kubota K1” ในเดือน ก.ย. 1947 ถือเป็นก้าวแรกที่สวยงามในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรของคูโบต้า
สร้างตั้งแต่อาคารจนถึงนาข้าว
ปี 1953 บริษัทได้เข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องจักรก่อสร้าง และได้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมากในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงครองส่วนแบ่งสูงสุดในตลาดเครนเคลื่อนที่ของญี่ปุ่น
เพื่อแสดงให้เห็นว่า คูโบต้าเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจกรรมหลากหลายมากขึ้น จึงมีการคิดคำขวัญของบริษัทขึ้นในปี 1955 ว่า “สร้างตั้งแต่อาคารจนถึงนาข้าว” เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของบริษัทที่มีต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ
เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงปลายทศวรรษ 1950 ธุรกิจการเกษตรในญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงที่ขยายตัวเต็มที่ ทำให้แผนกเครื่องจักรกลการเกษตรของคูโบต้าเติบโตอย่างรวดเร็ว จนปี 1958 แผนกจักรกลการเกษตรของคูโบต้ามีปริมาณการขายแซงหน้าแผนกท่อเหล็กที่เป็นรากฐานของบริษัท
ช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงที่การใช้เครื่องไถแพร่หลายอย่างรวดเร็วอีกด้วย โดยในปี 1955 มีเครื่องไถเพียง 89,000 เครื่องในญี่ปุ่น และในปี 1960 จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 746,000 เครื่อง จนมีคำกล่าวว่า ญี่ปุ่นได้เข้าสู่ยุคเครื่องไถ
ขณะเดียวกัน รถแทรกเตอร์แบบคนขับเริ่มถูกนำมาใช้ประมาณปี 1956 โดยเฉพาะในฮอกไกโด แต่ได้รับความนิยมน้อยลงเนื่องจากมีขนาดใหญ่และราคาสูง ทำให้ใช้งานยากและไม่คุ้มค่า
เมื่อสังเกตเห็นสิ่งนี้ คูโบต้าจึงทุ่มเทความพยายามในการศึกษาความต้องการของเกษตรกรทีละราย โดยพิจารณาจากโครงสร้าง ความสามารถ การใช้งาน และปัจจัยอื่น ๆ ของรถแทรกเตอร์
หลังจากการทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในปี 1960 คูโบต้าเปิดตัวรถแทรกเตอร์แบบคนขับ “Kubota T15” สำหรับการทำไร่บนพื้นที่แห้ง (Dry Field) และนำออกสู่ตลาด
“Kubota T15” แทรกเตอร์รุ่นแรกของคูโบต้า
จากนั้นในปี 1962 คูโบตาพัฒนา “Kubota L15R” รถแทรกเตอร์แบบมีคนขับสำหรับทำงานในไร่นา (Paddy Field) ได้ โดยติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลแนวตั้ง และส่วนไถได้รับการพัฒนาโดยใช้ความเชี่ยวชาญที่คูโบต้าสั่งสมมาจากการผลิตเครื่องไถ
นอกจากรถแทรกเตอร์ คูโบต้ายังสนใจพัฒนาเครื่องปลูกข้าวหรือเครื่องดำนา ซึ่งเป็นความฝันของชาวนาญี่ปุ่นมาช้านาน
บริษัทเชื่อว่า วิธีที่ดีที่สุดคือการใช้เครื่องปลูกเพื่อวางต้นกล้าในดินโดยใช้ถาดเพาะต้นกล้าและวิธีการ “ปลูกต้นกล้าแบบกระจาย” ทำให้เครื่องปลูกข้าว “SP Type” ได้รับการพัฒนาในปี 1968 และในปีถัดมาก็วางจำหน่ายเครื่องปลูก “SPS Type” ซึ่งเป็นเครื่องปลูกแบบล้อเดียว 2 แถวที่เป็นพื้นฐานของเครื่องปลูกข้าวแบบเดินตาม (Walking-Type)
จากนั้นมาคูโบต้าได้พัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรออกมาอีกหลายต่อหลายรุ่น และกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
และในปี 1990 เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้ง บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น Kubota Corporation (คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น)
เพื่อนคู่ใจเกษตรกรทั่วโลก
บริษัทฟอร์ดได้ติดต่อคูโบต้าเพื่อขอซื้อรถแทรกเตอร์ขนาดเล็กไปขายในสหรัฐฯ แต่บริษัทเล็งเห็นโอกาส จึงตัดสินใจเข้าสู่ตลาดอเมริกาเหนือด้วยแบรนด์ของตนเอง
คูโบต้าได้สร้างแทรกเตอร์ดีเซลเครื่องยนต์หลายสูบที่น้ำหนักเบาและกะทัดรัด ซึ่งใช้งานได้ดีเทียบเท่ากับรุ่นใหญ่ และกลายเป็นที่รู้จักอย่างมากในตลาดอเมริกา โดยมียอดขายมากกว่า 2,000 คันในปีแรก
บริษัทจึงได้สร้างฐานการขายรถแทรกเตอร์แห่งแรกในต่างประเทศ ซึ่งก็คือ Kubota Tractor Corporation (KTC) ในเมืองคอมป์ตัน รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยดำเนินการร่วมกับ Marubeni Corporation
เมื่อมีก้าวแรก ก้าวต่อมาจึงไม่ใช่เรื่องยากอะไร คูโบต้าได้ส่งออกรถแทรกเตอร์ไปยังประเทศในยุโรป รวมถึงฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ฯลฯ
นอกจากนี้ บริษัทคูโบต้ายังเปิดดำเนินการในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย โดยในปี 1978 (พ.ศ.2521) ประเทศไทยได้มีการก่อตั้ง บริษัท สยามคูโบต้าดีเซล จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราสินค้า “คูโบต้า” และ “ตราช้าง” ณ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สยามคูโบต้าอุตสาหกรรม จำกัด
จากนั้นในปี 2007 ได้ก่อตั้ง “บริษัท สยามคูโบต้าแทรกเตอร์ จำกัด” ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และ 3 ปีต่อมา ควบรวมกิจการกับสยามคูโบต้าอุตสาหกรรม เป็น “บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียน 3,114 ล้านบาท โดยการร่วมทุนระหว่างคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) และ SCG (เอสซีจี)
โรงงานหลักของสยามคูโบต้าแทรกเตอร์ก่อสร้างแล้วเสร็จที่จังหวัดชลบุรี โดยได้เริ่มผลิตแทรกเตอร์รุ่นใหม่ขนาด 30 แรงม้าและ 36 แรงม้า และเครื่องเกี่ยวนวดข้าว เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ตอบสนองความต้องการแทรกเตอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย
ปัจจุบัน คูโบต้ามีการดำเนินงานประมาณ 80% อยู่นอกประเทศญี่ปุ่น มีบริษัทในเครือ 180 แห่งใน 120 ประเทศ และมีพนักงานประมาณ 52,000 คนทั่วโลก รายได้ปีงบประมาณ 2024 อยู่ที่ 3 ล้านล้านเยน (ราว 6.88 แสนล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนหน้า 4.4%
รายได้ส่วนใหญ่ของคูโบต้ามาจากต่างประเทศ อยู่ที่ 2.38 ล้านล้านเยน (ราว 5.44 แสนล้านบาท) โตขึ้น 6.2% คิดเป็น 79% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนตลาดญี่ปุ่นทำรายได้ 6.32 แสนล้านเยน (ราว 1.44 แสนล้านบาท) ลดลงไปจากปีก่อนหน้าถึง 10.7%
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรคูโบต้า ที่เริ่มต้นจากความฝันเล็ก ๆ ของเด็กชายคนหนึ่งในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของญี่ปุ่นที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน
ประวัติธุรกิจคูโบต้า
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/stock-investment/244453
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา