Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เศรษฐศาสตร์และการพัฒนาประเทศ
•
ติดตาม
11 มี.ค. เวลา 09:37 • การเมือง
ภาษีประชาชนไปไหน? ภาระที่ควรแบกรับ หรือถึงเวลาต้องเปลี่ยน?
ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศที่ต้องการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคมต่างพากันปฏิรูประบบราชการเพื่อทำให้ระบบราชการมีขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มจากประเทศที่มีปัญหามาก ๆ ได้แก่ อาร์เจนติน่า ที่ประธานาธิบดีฮาเวียร์ มิเลย์ ประกาศปิดกระทรวงจำนวน 13 กระทรวงพร้อมลดจำนวนข้าราชการลง 70,000 ตำแหน่ง ทันทีที่รับตำแหน่งในปลายปี 2023 พร้อมกับตั้งกระทรวงใหม่ที่ชื่อว่า Ministry of deregulation and State Transformation เพื่อปรับโครงสร้างประเทศขนานใหญ่
แต่ที่ดังมากคือ สหรัฐอเมริกาในยุค Trump ที่ประกาศเลิกจ้างข้าราชการประจำของรัฐบาลกลางจำนวน 30,000 ตำแหน่ง และยุติการจ้างงานเจ้าหน้าที่ที่ยังอยู่ในช่วงทดลองงานอีกกว่า 200,000 ตำแหน่ง ประกาศจะยุบกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมกับตั้งหน่วยงานใหม่ชื่อ Department of Government Efficiency หรือ DOGE ที่มี Elon Musk เป็นหัวหน้าทีม เข้ามาทำหน้าที่ปรับโครงสร้างระบบราชการทั้งระบบ
และแม้แต่ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจดีมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเช่นเวียดนาม ก็ยังประกาศปลดข้าราชการกว่า 200,000 ตำแหน่ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
เมื่อหลายประเทศเริ่มปฏิรูประบบราชการเพื่อรักษาชีวิตของประเทศเช่นอาร์เจนติน่า สหรัฐอเมริกา หรือเพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็งมากขึ้นแม้ไม่มีปัญหาเหมือนประเทศอื่นเช่นเวียดนาม ทำให้น่าสนใจว่า ประเทศเหล่านี้มีงบรายได้รายจ่ายเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับรัฐบาลไทย ที่มีระบบราชการใหญ่โต เทอะทะ และไม่มีประสิทธิภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
เพื่อลดความแคลงใจด้านตัวเลข ผมจึงลองนำงบประมาณของรัฐบาลไทย และ รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา (ไม่รวมรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐ) มาเทียบกัน
ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลไทยมีรายได้และรายจ่าย ดังนี้
ข้อมูลในปี พ.ศ. 2567 ประเทศไทยมีขนาดของเศรษฐกิจวัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาประจำปี เท่ากับ 18.58 ล้านล้านบาท
รายได้จัดเก็บภาษีของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 2.9 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 15.7% ของ GDP เมื่อรวมกับรายได้จากรัฐวิสาหกิจและอื่นๆ ทำให้รายได้รวมของรัฐบาลเพิ่มเป็น 3.33 ล้านล้านบาท หรือ 17.9% ของ GDP
งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 3.48 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 18.7% ของ GDP รวมขาดดุลงบประมาณ 0.8% ของ GDP
เปรียบเทียบรายได้ รายจ่าย ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ในปี 2566 (ค.ศ.2023)
หมายเหตุ หากสภาคองเกรสไม่สามารถอนุมัติงบ Discretionary ได้ทันเวลา อาจนำไปสู่ Government Shutdown หรือการปิดทำการของหน่วยงานรัฐบาลบางส่วน
ข้อมูลในปี พ.ศ. 2566 ก่อนรัฐบาล Trump สหรัฐอเมริกามีขนาดของเศรษฐกิจวัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาประจำปี ประมาณ 27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
รายได้จัดเก็บภาษีของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2566 เท่ากับ 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 16.4% ของ GDP เมื่อรวมกับรายได้อื่นๆ ทำให้รายได้รวมของรัฐบาลปรับเป็น 4.44 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 16.5% ของ GDP
งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2566 เท่ากับ 6.13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 22.7% ของ GDP รวมขาดดุลงบประมาณ 6.2% ของ GDP
จากข้อมูลของทั้งสองประเทศจะเห็นว่า โครงสร้างรายรับรายจ่ายของรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะแตกต่างกันในภาพรวม กล่าวคือ รายการที่ 1, 5-7 และบางส่วนของรายการที่ 4 ของงบรายจ่ายรัฐบาลไทยจะรวมกันอยู่ในรายการที่ 2 ของงบรัฐบาลกลางอเมริกัน นั่นหมายความว่า สัดส่วนเงินเดือนและค่าจ้างเจ้าหน้าที่รัฐของรัฐบาลอเมริกันต่อขนาดของจีดีพี น้อยกว่าประเทศไทย เพราะรายจ่ายทั้งหมดของรายการที่ 2 ของรัฐบาลอเมริกันจะมีเพียง 6.4% ของจีดีพี
ในขณะที่ รายจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างของไทยรายการเดียว โดยยังไม่รวมงบดำเนินงานและงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน งบป้องกันประเทศ และอื่นๆ กลับสูงมากถึง 4.2% จึงแสดงให้เห็นว่า งบประมาณของประเทศไทยถูกนำไปใช้เพื่อจ่ายเงินเดือนให้กับบุคลากรของภาครัฐสูงมากๆ เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา
แต่แม้จะน้อยกว่าไทยมากแล้ว รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ยังเห็นว่า ระบบราชการของตัวเองใช้คนมากเกินไป ไม่มี ประสิทธิภาพ สามารถลดได้อีก
ในส่วนรายการที่ 1 ของงบรายจ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่า รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับบำนาญและสวัสดิการของประชาชนทุกคนตามรายการที่ 1.1 – 1.4 ที่ตั้งงบประมาณไว้สูงถึง 12.8% ของจีดีพี และตั้งเงินบำนาญและสวัสดิการของข้าราชการไว้เพียง 1.3% ของจีดีพี ในขณะที่ประเทศไทยมีสูงถึง 2.7% ของจีดีพี ตามรายการที่ 2 และ 3 ในขณะที่งบสวัสดิการของประชาชนรวมประกันสังคมรวมอยู่ในรายจ่ายดำเนินงานของหน่วยงาน ซึ่งเป็นที่รวมงบของทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งแสดงว่า น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา
จริงอยู่ที่งบข้าราชการอีกส่วนหนึ่งจะกระจายอยู่ในแต่ละรัฐ แต่ไม่ว่าจะรวมอย่างไร ก็น้อยกว่าที่รัฐบาลตั้งไว้ให้ประชาชน เพราะภาษีมาจากประชาชน
ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่สร้างขึ้นโดยรัฐได้เป็นอย่างดี และเป็นเหตุให้ผู้ด้อยโอกาส (ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเค้า เพราะรัฐไม่สร้างโอกาสที่เท่าเทียมได้ดีเท่าที่ควร) ผู้ขาดความสามารถในการสร้างรายได้ด้วยตนเอง (ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเค้า แต่เพราะระบบการศึกษาของรัฐทำให้เค้าไม่เก่ง) และผู้ที่ต้องการได้สิทธิเหนือคนอื่นในประเทศนี้เกือบทั้งหมดต้องดิ้นรนให้ได้เข้าทำงานในระบบราชการ
นี่คือความเหลื่อมล้ำที่สร้างขึ้นโดยรัฐ
และด้วยความไม่มีประสิทธิภาพของระบบ ทำให้ประชาชนของประเทศนี้ต้องร่วมกันจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ไม่ใช่ความผิดของข้าราชการ เป็นความผิดของระบบที่ทำให้เค้าต้องทำงานที่ไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล) ในอัตราที่สูงกว่าประโยชน์ที่ได้รับกลับมา ตัวอย่างเช่น
เรามีกระทรวงศึกษาที่ไม่สามารถสร้างความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นก่อนเข้ารับการศึกษาในระดับสูงกว่าให้กับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ผู้จบการศึกษาในระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย ปวช. ปวส. เกือบทั้งหมด ไม่สามารถใช้ความรู้และทักษะที่ได้รับจากสถานศึกษาในการเอาตัวรอดและต่อยอดในชีวิตประจำวันในโลกปัจจุบันได้ หลักสูตร ปวช. ปวส. จำนวนมาก ไม่แตกต่างจากเมื่อ 40 – 50 ปีก่อน
เรามีกระทรวงอุดมฯ และมหาวิทยาลัย ที่มุ่งแต่มอบวุฒิการศึกษาแต่ไม่มอบความสามารถที่เอาไปประกอบอาชีพที่ทันโลกสมัยใหม่ได้ และแม้แต่ความรู้ ทันทีที่สอบเสร็จ ก็ลืม (ไม่ใช่ทุกที่ แต่ส่วนใหญ่ ใช่)
เรามีหน่วยงานภูมิภาคจำนวนมาก ที่ไปกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อทำงานตามที่กระทรวงที่อยู่ส่วนกลางสั่งให้ทำเหมือนกันทั้งประเทศ ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ แม้จะอยากทำ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะติดข้อจำกัดหลายอย่าง รวมถึงให้ความสำคัญกับการต้อนรับนายจากส่วนกลางมากกว่าให้ความสำคัญกับการทำงานให้ประชาชนในพื้นที่
เรามีผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานสนับสนุนเช่นสำนักงานจังหวัด เข้าไปทำหน้าที่ควบคุมและประสานการทำงานของหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค และทำงานการปกครอง ที่ยังปฏิบัติเหมือนผู้ปกครอง และยังมีหน่วยงานเช่นปกครองจังหวัดที่มีปลัดจังหวัดเป็นหัวหน้าซ้อนเข้าไปอีก ทั้งที่เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พร้อมจะทำงานดังกล่าวแทนโดยไม่ทำตัวเป็นผู้ปกครอง
เรามีหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่หลายงาน ไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนไปมาก เทคโนโลยีเปลี่ยนไปมาก แต่ก็ยังทำอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง
หลายงานแม้จะยังต้องทำอยู่แต่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปสามารถใช้คนได้น้อยลง ก็ยังคงคนไว้เหมือนเดิม
หลายงาน มูลค่างานที่ทำไม่คุ้มกับเงินเดือนที่จ่าย แต่ก็อ้างงานของรัฐต้องไม่มีคำว่าขาดทุนกำไร ซึ่งก็จริง แต่ถ้าไม่คุ้มที่จะให้ข้าราชการทำ ก็ควรให้เอกชนทำแทนได้โดยรัฐเป็นผู้จ่าย ใครทำไม่คุ้มก็เปลี่ยน นอกจากประหยัดงบ ได้ประสิทธิภาพมากกว่าแล้ว ยังจะเกิดการรั่วไหลน้อยกว่าที่ข้าราชการทำกันเองเสียอีก ซึ่งพิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศ
ประเทศเราเป็นประเทศที่ระบบราชการใหญ่และเทอะทะเกินไป กฎเกณฑ์มากเกินไป ถ้าเราลดขนาดลงได้ ปรับโครงสร้างและกฎเกณฑ์ให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น ให้กลไกตลาดเป็นผู้จัดการแทนการให้นักปกครองหรือนักกฎหมายที่ไม่ฉลาด หรือฉลาดแต่มี agenda ส่วนตัวมาเป็นผู้เขียนกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมให้ประเทศเป็นไปตามที่ตนเองต้องการ
ประเทศจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดเงินได้เป็นจำนวนมาก และนำเงินที่เหลือมาใช้พัฒนาประเทศ พัฒนาและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ใช่การแจกเงิน ได้อีกเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ ประเทศต้องเผชิญกับสภาวะกบต้มและคงไม่สามารถหาทางออกได้ หากไม่เปลี่ยนแปลง
โดยเริ่มจากระบบราชการ
แนวคิด
เศรษฐกิจ
บันทึก
3
2
1
3
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย