12 มี.ค. เวลา 09:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ลุ้น! ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จับตาประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง 12 มี.ค.นี้

“พิพัฒน์” หนุนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควบคู่มาตรการลดค่าครองชีพ พร้อมดูแลแรงงาน-นายจ้างเต็มที่ เผย ลุ้นผลประชุม คณะกรรมการค่าจ้างวันนี้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอบกระทู้ถามสมาชิกวุฒิสภา ย้ำถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับมาตรการช่วยเหลือแรงงานและนายจ้าง เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างสมดุล
นายพิพัฒน์ ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยต้องคำนึงถึง ค่าครองชีพ ศักยภาพธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมกันนี้ในวันที่ 12 มีนาคม ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ขอให้คณะกรรมการค่าจ้างทุกฝ่าย เห็นใจลูกจ้างที่ต้องการขึ้นค่าแรง
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ร่วมพิจารณาให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างสมดุล
6 แนวทางสำคัญของกระทรวงแรงงาน
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างมีหลักการ
โดยคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาปรับขึ้นค่าแรง ปัจจุบันสูงสุดที่ 400 บาท และต่ำสุดที่ 337 บาท ใช้หลักเกณฑ์ด้าน ค่าครองชีพ ศักยภาพของธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และแผนในอนาคตจะพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้น เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน แรงงานต้องมีรายได้ที่เพียงพอสำหรับค่าครองชีพ แต่ต้องไม่กระทบต่อศักยภาพของนายจ้างในการดำเนินธุรกิจ
ปรับค่าแรงตามพื้นที่
เพื่อสะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยให้ คณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด เป็นผู้เสนออัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมและ มีแผนสำรวจค่าครองชีพของแรงงานและสถานประกอบการในไตรมาส 2 ของปี 2568 ใช้แนวทางปรับค่าแรงที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สะท้อนค่าครองชีพที่แท้จริง
สร้างโอกาสการจ้างงาน ลดอัตราการว่างงานพร้อมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน
มีโครงการจับคู่แรงงาน (Matching Jobs) เชื่อมโยงผู้หางานกับสถานประกอบการ เช่น ขยายโอกาสแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อรับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตและ สนับสนุนมาตรการป้องกันอุบัติเหตุ ลดความเสี่ยงจากการทำงาน ควบคู่กับการพัฒนาแรงงานคุณภาพ ให้ตรงกับความต้องการของตลาด
ปฏิรูปประกันสังคม-สวัสดิการแรงงานให้ครอบคลุม
โดยปรับปรุงระบบประกันสังคม ให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ และกลุ่มเปราะบาง โดยพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและบำนาญชราภาพที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาปรับสูตรการคำนวณ รวมถึงพัฒนาระบบ ดิจิทัลในการเข้าถึงสวัสดิการแรงงาน ให้สะดวกและโปร่งใสยิ่งขึ้น
นโยบายบริหารแรงงานต่างด้าว โปร่งใส เป็นธรรม
โดยใช้ ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อลดปัญหาทุจริต และการค้ามนุษย์ มีการตรวจสอบสถานประกอบการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติอย่างเท่าเทียม ป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
มาตรการช่วยเหลือธุรกิจ
ลดผลกระทบจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับธุรกิจที่ต้องปรับตัวและสนับสนุน โครงการฝึกอบรม Upskill-Reskill ฟรี เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงานและเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ส่วนภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) จะได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งต้องดูแลทั้งแรงงานและนายจ้าง เพื่อให้ภาคธุรกิจยังคงสามารถแข่งขันได้ และแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายพิพัฒน์ กล่าวเน้นว่า แรงงานไทยควรได้รับค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ และภาครัฐมีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพ ควบคู่กับการขึ้นค่าแรง ภาคธุรกิจได้รับการสนับสนุนให้ปรับตัว ลดผลกระทบจากต้นทุนแรงงาน ส่วนแรงงานไทยมีโอกาสพัฒนาฝีมือ เพื่อได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ควบคู่กับ การบริหารแรงงานต่างด้าวให้เหมาะสม
“กระทรวงแรงงานจะเดินหน้าสร้างสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตแรงงานและความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปพร้อมกัน” นายพิพัฒน์ กล่าว
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/244543
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา