13 มี.ค. เวลา 03:56 • ไลฟ์สไตล์

บัตรเรา เขารูด ใครจ่าย?

ข่าวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กรณีมีผู้เสียหายใช้บริการออนเซน ถูกมิจฉาชีพขโมยบัตรเครดิตจากตู้ล็อกเกอร์ไปรูด ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สั่งการให้ธนาคารและผู้ให้บริการบัตรเครดิตเร่งตรวจสอบ ดูแล และชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ลูกค้าทุกราย โดยกรณีบัตรเครดิต ผู้ถือบัตรจะไม่ต้องชำระเงินและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีบัตรเดบิต ธนาคารจะคืนเงินให้ผู้ถือบัตรตามยอดที่ถูกตัดชำระภายใน 5 วัน นับแต่วันที่มีเหตุอันเชื่อได้ว่าไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถือบัตรหรือผู้ถือบัตรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้อแนะนำส่วนใหญ่ของธนาคารเมื่อเกิดกรณีบัตรเครดิตถูกขโมย คือ ให้แจ้งอายัดโดยเร็วที่สุด เพื่อที่ผู้ถือบัตรจะไม่ต้องรับผิดชอบกับรายจ่ายภายหลังที่มีการอายัดบัตรแล้ว แต่ในสภาพความจริงนั้น พวกโจรไวกว่าเรามาก กว่าจะรู้ตัวบัตรถูกรูดไปหลายบาทแล้ว
ตามกฎหมาย ใครเป็นผู้รับผิดชอบในยอดค่าใช้จ่ายจากการรูดบัตรก่อนที่จะมีการอายัดบัตรเครดิต?
ตามข้อตกลงการใช้บัตรเครดิตระหว่างธนาคารผู้ออกบัตร (bank issuer) กับผู้ถือบัตร (card holder) แจ้งไว้ว่า “ธนาคารจะไม่รับผิดชอบในยอดค่าใช้จ่ายก่อนที่จะมีการอายัดบัตร” หมายความว่า ผู้ถือบัตรจะต้องรับผิดชอบในยอดที่โจรซื้อของเอง เหตุเป็นเพราะผู้ถือบัตรแจ้งอายัดบัตรช้าเกินไป”
การผลักความรับผิดชอบของธนาคารเช่นนั้นถูกต้องบนข้อกฎหมายหรือไม่?
เพื่อความเข้าใจในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขอยกเอาบทความ “บัตรเครดิตสูญหาย: ใครรับผิดหนี้(โจรกรรม)? “ของ อาจารย์ ปรวิชย์ มะกรวัฒนะ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมายอาญา สรุปคร่าวๆได้ดังนี้
สัญญาการใช้บัตรเครดิตถือเป็นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสามฝ่ายด้วยกัน คือธนาคารผู้ออกบัตร ลูกค้าผู้ถือบัตรและร้านค้า โดยธนาคารจะออกบัตรเครดิตให้แก่บุคคลที่ธนาคารได้ไว้วางใจและมีสถานะทางการเงินหรือเครดิตที่ดีเท่านั้น การเป็นผู้ถือบัตร ย่อมแสดงให้เห็นถึงว่าเป็น “บุคคลหรือลูกหนี้เฉพาะเจาะจง” ที่ธนาคารอนุญาตให้ก่อหนี้กับธนาคารได้เท่านั้น
ผู้ถือบัตรจะอนุญาตให้บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตไปรูดแทนตนเองไม่ได้ ธนาคารจึงมีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ทำบัตรเสริมได้ แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ผู้ถือบัตรเสริม ก็ยังเป็น “บุคคลหรือลูกหนี้เฉพาะเจาะจง” ที่ธนาคารต้องอนุญาตให้ก่อหนี้กับธนาคารได้ ดังนั้น บุคคลที่ไม่ใช่คู่สัญญากับธนาคารเจ้าของบัตร เช่นโจรหรือขโมย จึงไม่มีสิทธิใช้หรือทำธุรกรรมในบัตรใบนั้นได้
บัตรเครดิตถูกขโมย ผู้ถือบัตรจะต้องรับผิดแทนโจรหรือขโมยในหนี้ที่เกิดขึ้นจากการโจรกรรมหรือไม่
การใช้บัตรเครดิตอธิบายได้ด้วยกฎหมายนิติกรรมสัญญาและเรื่องหนี้ โดยผู้ถือบัตรมีหนี้และความรับผิดในยอดเงินที่ผู้ถือบัตรได้ใช้จ่ายไปจริงเท่านั้น ธนาคารและร้านค้าย่อมมีหน้าที่พึงระมัดระวังให้รอบคอบว่าผู้รูดบัตรเครดิตนั้น เป็นผู้รับอนุญาตให้ถือบัตรโดยแท้จริงหรือไม่ เช่น ตรวจสอบลายมือชื่อหลังบัตร ตรวจสอบหน้าจากบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง
แต่ร้านค้าส่วนใหญ่ และธนาคารผู้ออกบัตรมักจะละเลยในการตรวจสอบสถานะบุคคลดังกล่าว ในทางปฏิบัติภาวะการหละหลวมดังกล่าวกลับถูกผลักให้เป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคหรือเจ้าของบัตรผู้ทำบัตรสูญหาย สิ่งนี้ถูกต้องแล้วหรือ?
อย่างที่กล่าวข้างต้น หนี้บัตรเครดิตเป็น “หนี้เฉพาะตัวบุคคล” บุคคลอื่นที่มิใช่เจ้าของบัตรจะเข้ามาสวมสิทธิเป็นหนี้หรือใช้บัตรแทนกันไม่ได้ ดังนั้นโจรจะเข้ามาสวมสิทธิหรือมีสถานะตามสัญญาเพื่อรูดบัตรเครดิตแทนผู้ถือบัตรไม่ได้
และเมื่อมีการโจรกรรมบัตรเครดิตขึ้นมา ย่อมต้องถือว่ามีความผิดอาญาเกิดขึ้น (criminal activities) บัตรเครดิตดังกล่าวจะถูกนำไปใช้โดยบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นโจร ขโมยหรือบุตรของเจ้าของบัตร ย่อมถือว่าเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะทั้งสิ้น เพราะหนี้อันเกิดจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมายนั้นย่อมมีผลเป็นโมฆะตามกฎหมายที่มิอาจฟ้องหรือชำระความกันใดๆ ได้เลยทางกฎหมาย
ใครคือผู้เสียหาย?
บัตรเครดิต “เป็นกรรมสิทธิ์ของ” ธนาคารเจ้าของบัตรซึ่งได้อนุญาตให้ผู้ถือบัตรยืมบัตรภายใต้อายุการใช้บัตรเครดิตเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะธนาคารเป็นผู้มีอำนาจก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนและระงับซึ่งกรรมสิทธิ์ในการใช้บัตรได้อยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตและร้านค้าที่ถูกโจรกรรมเป็นผู้เสียหายร่วมกันในความผิดฐานฉ้อโกงสินค้าในร้านค้าผ่านบัตรเครดิต เพราะการโจรกรรมได้เกิดขึ้นจากการที่โจรสวมรอยหรือหลอกลวงให้ร้านค้าและธนาคารเข้าใจผิดในสถานะที่ถูกต้องของตัวบุคคลและลายเซ็นของผู้ถือบัตรเครดิต ธนาคารเจ้าของบัตรและร้านค้าจะต้องเป็นโจทก์ร่วมหรือผู้เสียหายร่วมกันในคดีฉ้อโกงบัตรเครดิต ส่วนผู้ถือบัตรนั้นมีฐานะเป็นเพียงพยานในคดีเท่านั้น เพราะว่าผู้ถือบัตรมิได้มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่มีการโจรกรรมแต่อย่างใดเลย
ดังนั้น เมื่อการดำเนินคดีเสร็จสิ้นแล้ว ร้านค้ามีหน้าที่จะต้องคืนเงินตามสลิปบัตรเครดิตที่มีการโจรกรรมบัตรเครดิตคืนกลับให้ธนาคารเจ้าของบัตรในฐานะลาภมิควรได้ ส่วนสินค้าแบรนเนมของกลางที่ถูกโจรกรรม พนักงานอัยการจะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคืนของกลางให้กับร้านค้าที่ถูกฉ้อโกงซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่สถานะเดิม
การแจ้งอายัดบัตร แจ้งเพื่อ?
การที่ผู้ถือบัตรเครดิตแจ้งอายัดบัตรให้ธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อดำเนินการออกบัตรใบใหม่กับตนเองแทนบัตรใบเดิมที่หายไปนั้น เป็นเพียงการขอระงับการใช้บัตรใบเดิมและเพื่อขอออกบัตรใหม่เพื่อความสะดวกในการใช้จ่ายทางธุรกิจเท่านั้น มิได้ทำให้ผู้ถือบัตรตกเป็นผู้เสียหายตามนัยประมวลกฎหมายกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 28 แต่อย่างใด
เพราะเป็นเพียงการแจ้งเตือนเพื่อให้ธนาคารผู้ออกบัตรหรือธนาคารเจ้าของบัตรที่แท้จริงได้ทราบว่า บัตรเครดิตของธนาคารของผู้ออกบัตรใบนั้นอาจจะกำลังมีผู้โจรกรรมในอนาคตและ “ธนาคารกำลังจะตกเป็นผู้เสียหาย” ที่จะต้องไปใช้สิทธิแจ้งความตามกฎหมายอาญาร่วมกับร้านค้าที่กำลังจะถูกรูดซื้อสินค้าไป
สรุปได้ว่า ในการโจรกรรมบัตรเครดิตนั้น ผู้ถือบัตรเครดิตที่ทำบัตรหาย มิได้ก่อให้เกิดหนี้หรือธุรกรรมใดๆ ที่ตนจะมีส่วนต้องรับผิดชอบในยอดค่าใช้จ่ายภายใต้หลักกฎหมายเรื่องหนี้และนิติกรรมสัญญาแต่อย่างใดเลย
เป้าหมายชีวิตสำเร็จได้ด้วย นักวางแผนการเงิน CFP®
ติดตามข่าวสารสมาคมฯ ผ่านช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่
📌 LINE Official Account https://page.line.me/cfpthailand
📌 Spotify Podcast https://spoti.fi/45kkuIV
📌 Apple Podcast https://apple.co/3QwZ4UJ
โฆษณา