13 มี.ค. เวลา 11:51 • ข่าวรอบโลก

วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีเป็น วันช้างไทย

ช้างไทย หรือช้างเอเชีย เป็นสัตว์ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) มีถิ่นอาศัยอยู่ใน 13 ประเทศทั่วโลก
ในประเทศไทยมีช้างเลี้ยงอยู่ประมาณ 3,800 เชือก (ข้อมูลปี 2566)
ส่วนช้างป่า มีอยู่ 4,013 – 4,422 ตัว อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 46 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 36 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 9 แห่ง
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเราคงได้ยินข่าวช้างป่าออกมาหากินอยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์บ่อยๆ ครั้ง
และหลายๆ ครั้งได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างคนกับช้าง
ตามรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ถึง 71 แห่ง
ครอบคลุม 42 จังหวัด 128 อำเภอ 151 ตำบล ทั่วประเทศ
สถิติในปีงบประมาณ 2567 พบการรายงานช้างป่าออกนอกพื้นที่ถึง 11,468 ครั้ง
มีผู้บาดเจ็บ 34 ราย
ผู้เสียชีวิต 39 ราย
และสร้างความเสียหายต่อพืชผลและทรัพย์สินรวมกว่า 4,000 ครั้ง
สาเหตุหลักของปัญหา มาจากการที่พื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งถูกแบ่งแยกเป็นหย่อมป่า (Habitat Fragmentation) ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างลดลง
รวมถึงยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น รูปแบบการเคลื่อนย้ายตามธรรมชาติของช้าง
รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยวิเคราะห์ปัญหานี้ไว้ว่า ในอดีตที่ผ่านมาการประเมินจำนวนช้างป่าต่ำกว่าความเป็นจริง จึงกลายเป็นความชะล่าใจจนเกิดปัญหา
เมื่อประชากรช้างป่าเพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ช้างป่าจะขยายถิ่นที่อยู่อาศัยจากบริเวณที่มีอาหารและน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ไปยังพื้นที่ข้างเคียง เช่น ทางฝั่งตะวันตกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ หรือในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก
อีกปัจจัยมาจากอุปนิสัยการหากินของช้าง เมื่อช้างออกจากป่าไปพบถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เช่น เขตสัมปทานไม้เก่าที่ฟื้นตัวขึ้นมาเป็นป่ารุ่น 2 มีลักษณะโปร่งโล่งเป็นหย่อมป่า ซึ่งเป็นลักษณะที่ช้างป่าชอบ
บวกกับพื้นที่รอบๆ มีการปลูกยางพารา ปลูกยูคาลิปตัส เหมาะเป็นที่หลบภัย ขณะที่ถัดออกไปมีการทำแปลงอ้อย สัปปะรด มันสัมปะหลัง และการส่งสริมการขุดแหล่งน้ำรอบๆ พื้นที่เกษตรกรรม จึงกลายเป็นทั้งแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับช้างป่าไปโดยปริยาย
เช่นเดียวกับความเห็นของ รองลาภ สุขมาสรวง คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ปัจจัยจาก ‘ช้างป่า’ ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของจำนวนประชากรช้างป่าในพื้นที่อนุรักษ์แต่ละแห่ง
ขณะที่ปัจจัยอีกอย่างจาก ‘มนุษย์’ เป็นเรื่องจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การใช้พื้นที่เพื่อเพาะปลูกพืชเกษตรต่างๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกำหนดนโยบายพืชเกษตรต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เร่งให้เกิดตัวแปรความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น อาทิ เรื่องค่าชดเชยเยียวยา เพราะถ้าเราไม่จัดการเรื่องค่าชดเชยเยียวยาความเสียหาย ก็อาจเร่งให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น
โดย รองลาภ ได้เสนอแนวคิดลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ควรทำบนฐานที่เรียกว่า HEC Perception คือการยอมรับและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า
ซึ่งมีส่วนประกอบทั้งหมด 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่
(1) การจัดการถิ่นอาศัยของช้าง (Managing land use) เช่น การปรับปรุงถิ่นที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับช้าง การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ให้เหมาะสมกับและรองรับช้างป่าได้จริง
(2) กลยุทธ์การป้องกัน (Conducting HEC prevention strategies) เช่น การขุดคูกันช้าง
(3) การบรรเทาความขัดแย้ง (Establishing HEC mitigation schemes) เช่น การจ่ายค่าชดเชย หรือการประกันภัย
และ (4) วิธีการจัดการ (Improving HEC management) อันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เช่น มีการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งฐานของเรื่องนี้คือการกระจายอำนาจ เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวในการแก้ปัญหา
นอกจากนี้ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ยังเคยเสนอไว้ว่า ควรคาดการณ์ถึงอนาคตเอาไว้ด้วย
เช่น อาจมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือสถานการณ์โลกร้อนที่ทำให้การปลูกพืชเกษตรหลายชนิดทำไม่ได้ และต้องเปลี่ยนพืชเกษตรใหม่
“ที่ผ่านมาสถานการณ์สัตว์ป่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การที่หน่วยงานหนึ่งต้องมาดูแลทั้งหมดอาจจะมองไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด การกระจายอำนาจการจัดการไปยังท้องถิ่นเป็นหนึ่งในแนวทางที่ควรเกิดขึ้น”
“และต้องเติมเรื่องความรู้ทางวิชาการควบคู่กันไป เพราะถ้ามีการจัดการผิดวิธี ความรุนแรงจากสัตว์ป่าที่เปลี่ยนพฤติกรรม ก็อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงและคาดไม่ถึง”
“และสิ่งสำคัญคือต้องมีการจัดการอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีงานวิจัยชี้ว่า หากได้ผลกระทบซ้ำๆ นานๆ วิธีการแก้ไขปัญหามักจะมีแนวโน้มไปสู่การใช้วิธีที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น” รศ.ดร.รัตนวัฒน์ กล่าว
ทางด้านนโยบายของรัฐ ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2568 ในการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างครั้งที่ 1/2568 มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และจัดการทั้งช้างเลี้ยงและช้างป่า
รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าและลิงรบกวนประชาชน และการกำหนด (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่าแห่งชาติ พ.ศ. 2568 – 2572
โดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ได้มีข้อสั่งการที่สำคัญ 6 ประการ ได้แก่
1. สร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างหน่วยงาน
2. เพิ่มประสิทธิภาพชุดป้องกันและเฝ้าระวังช้างป่า
3. พัฒนาระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าและการรับแจ้งเหตุ
4. สร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชน
5. ยกระดับมาตรฐานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
6. ศึกษาวิจัยการใช้เทคโนโลยีช่วยลดผลกระทบจากปัญหาช้างป่า
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่แนวกันชน และพื้นที่ชุมชน เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้าง
อ้างอิง
Green News “ช้างบ้านจะสิ้นเพราะทุนต่างชาติ ช้างป่าขาดอาหาร-ที่อยู่” วิกฤตช้างไทย 66
เวทีเสวนาหัวข้อ วิถีชีวิตที่ยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก: การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ เพื่อการจัดการคนกับช้างป่า
“วันช้างไทย” การอนุรักษ์เข้าใจและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างยั่งยืน
โฆษณา