Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Story BOWL
•
ติดตาม
16 มี.ค. เวลา 07:00 • การศึกษา
ทำไม… ถึงต้องเขียนให้จบ !?!
หลายคนอยากเติบโตในเส้นทางสายนักเขียน จะเขียนนิยาย การ์ตูน บทหนัง ละคร ซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนเล่าเรื่องแบบไหนก็แล้วแต่ หากอยากเติบโตต้องเขียนให้จบ
…ซึ่งมันก็แน่อยู่แล้วสิ ไม่เห็นจะต้องมาบอกกันเลย
นั่นสินะ…
แต่ก็ต้องมีบทความนี้ครับ เพราะว่าในความเป็นจริง มีมือใหม่มากมายที่ยังไม่เคยเขียนจบเลย หนักที่สุดคือบางคนมีงานที่เผยแพร่อยู่ที่มันไม่เคยจบ แต่ก็หากินกับมันอยู่นะ
สำหรับเรา การเขียนไม่จบคือเรื่องใหญ่ ใครส่งงานมาให้เราช่วยอ่าน ไม่ว่าจะขั้นตอนไหน อย่างน้อยจะต้องสมบูรณ์ในขั้นตอนนั้น
ถ้าส่ง Lock Story Line ก็ต้องมีครบทั้ง 5 องค์ประกอบ 6 หัวข้อ
ถ้าส่งโครงเรื่อง ทั้ง 3 องก์ก็ต้องครบถ้วนจบสมบูรณ์แล้ว
โครงเรื่องขยายและตัวงานจริงก็เช่นกัน
งานที่ไม่จบ เราวิจารณ์ไม่ได้ ไม่รู้จะวิจารณ์ยังไง เราไม่ค่อยอยากให้ความเห็น เพราะว่ามันเห็นไม่ครบ ส่งนิยายสามตอนแรกจากสิบตอนมาให้อ่าน เราอ่านได้ แต่ก็อาจจะได้คำตอบแบบ “ก็สนุกดีนะ” “ใช้ได้” หรือ “ไม่เห็นจะอยากอ่านต่อเลย”
แต่ถ้ามันจบ… เราจะสามารถเช็คองค์ประกอบทั้งหมดได้ บอกได้ว่าอะไรอยู่แล้วดี อะไรอยู่ไปก็ไม่มีผล บางครั้งของที่พาเรื่องอืดที่ตอนที่สาม อาจจะส่งผลที่บวกมาก ๆ ที่ตอนที่เจ็ดก็ได้ ถ้าเรายังเห็นไม่ครบ เราอาจจะเหมาไปว่าเรื่องนี้มันต้องไม่เวิร์คแน่นอนก็ได้
ส่วนนี้เป็นมุมของคนที่คอมเมนต์
แต่ถ้าเป็นมุมมองของนักเขียนล่ะ การเขียนให้จบมันดียังไง มาดูกันเป็นข้อ ๆ ดีกว่าครับ
1. เขียนจบมันทำให้เราภูมิใจ แน่นอนว่าการเขียนอะไรสักอย่างจบ มันคือการมีจุดฟูลสต็อปในแต่ละชิ้นงาน เมื่อถึงจุดนี้ เราจะภูมิใจว่า เราทำสำเร็จ เราทำได้แล้วนะ นี่คือผลงานของเราที่ให้เขียนใหม่อีกรอบก็จะไม่เหมือนงานชิ้นนี้หรอก ไม่ว่าเอาจริง ๆ มันจะสมบูรณ์แบบหรือไม่ก็ตาม เมื่อเขียนจบ เราจะใจฟูทุกครั้ง
2. เราจะเห็นจุดแข็ง จุดเจ๋ง และส่วนที่ชอบในตัวเรา หากเราเขียนจบได้ ไม่ว่าจะส่งให้คนอื่นคอมเมนต์ หรืออ่านและประเมินเองก็ตาม เราจะได้เห็นส่วนที่เราทำได้มาก ๆ หรือตัวเราเองอาจจะเห็นขั้นตอนที่เราสนุกกับมันมาก ๆ และทำได้ดีมาก ๆ เช่น
เมื่อจบแล้ว เราอาจจะรู้สึกได้ว่าขั้นตอนที่สนุกที่สุดของเราไม่ใช่ขั้นตอนการเขียนบรรยายในงานจริง แต่เราสนุกมาก ๆ กับการวางโครงสร้าง
เราอาจจะพบว่าตัวเองทำได้ดีกับการออกแบบเหตุการณ์และสถานการณ์ต่าง ๆ
เราอาจจะพบว่าจุดแข็งของเราคือ การเขียนบทสนทนาที่มีชีวิตชีวา
หรือบางคนอาจจะพบว่าตัวเองสนุกกับการบรรยายฉากมากกว่าอะไรอย่างอื่น
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องเก็บไว้ และพัฒนามันให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ยิ่งในยุคนี้โลกแคบลง เราอาจจะเอาจุดเด่นของเราไปรวมกับจุดเด่นของคนอื่น ๆ แล้วช่วยกันทำ เราออกแบบเหตุการณ์เก่ง เมื่อไปรวมตัวกับคนที่บรรยายได้ดี มันก็น่าจะได้ชิ้นงานที่ดีขึ้น
3. เราจะได้เห็นข้อบกพร่อง จุดกาก และสิ่งที่เราควรจะแก้ไข เราอาจจะคิดโครงเรื่องไม่เวิร์กเลย จุดเชื่อมโยงแต่ละจุดดูไม่สัมพันธ์กัน แต่บรรยายสนุกและเขียนบทสนทนาดีมาก เราก็ต้องยอมรับและหาวิธีพัฒนาในส่วนโครงเรื่อง คิดบ่อย ๆ เช็คบ่อยๆ หาเครื่องมือมาช่วย หาคนสอน คนช่วยอ่าน หรือเอาจริง ๆ เราอาจจะค้นพบว่า เราไม่อยากทำในส่วนโครงเรื่องเลย แต่เราอยากเขียนบรรยายทั้งชีวิต กลายเป็นว่าเรารับเขียนบรรยายเป็นอาชีพ ปรับแก้คำบรรยายจากนิยายที่มีคนเขียนมาแล้วก็ได้ครับ
4. เมื่อมีโอกาสเข้ามา คนที่มีผลงานจบแล้วมักได้เปรียบ อย่างน้อยมันก็คือความไว้วางใจว่าเราจะสามารถทำงานได้จนจบเป็นเรื่อง บางครั้งงานที่เขียนจบมันก็เดินทางไกลกว่านั้น มันอาจจะไปเข้าตาใครบางคนที่สามารถพามันไปต่อยอดได้ และที่สำคัญเมื่อมันเสร็จแล้ว
มันจะสร้างไอพีในคอนเทนต์นั้นทำให้เราเป็นเจ้าของคอนเทนต์นั้นไปด้วย จนมีโอกาสในการซื้อขายเข้ามา แต่ถ้ามันอยู่ในระหว่างกระบวนการทำงาน ยังไม่จบ มันจะกลายเป็นการถูกจ่ายเงินเพื่อจ้างทำ และเมื่อไหร่เขาเป็นคนจ่ายเงิน คือเราไม่ได้เป็นเจ้าของงานชิ้นนั้นของตัวเองก็ได้นะ
เอามาสี่ข้อกับข้อดีของการเขียนให้จบ แล้วมันมีวิธีที่ทำให้เราเขียนให้จบมั้ย ??
มีสิ มาลองดูกันดีกว่าว่าทำยังไงได้บ้าง
1. เขียนให้สั้นไว้ก่อน หากเขียนยาว ๆ ยังไม่ไหว มันดึงพลังงานเกินไป ให้ลองเขียนสั้น ๆ ก่อน เรื่องสั้น ๆ แปดถึงสิบหน้าเอสี่ก็ได้แล้ว อย่างนี้จบง่ายขึ้น หรือในความสั้น ๆ เราทำหลาย ๆ เรื่องจากแนวคิดเดียวกัน แต่คนละแก่นสาร ก็ทำเป็นรวมเรื่องสั้นได้นะ
2. เขียนให้เสร็จเป็นลำดับ แทนที่จะเริ่มต้นเขียนทันทีหลังจากที่มีไอเดีย ให้ลองวางลำดับการทำงาน เริ่มต้นจากคิดแก่นสาร แนวเรื่อง สรุปไอเดียให้เรียบร้อย หาองค์ประกอบหลัก ๆ ให้ครบ รีเสิร์ชตัวละครและสร้างตัวละครให้น่าสนใจ วางโครงเรื่องให้เสร็จ สร้างลำดับเหตุการณ์ ออกแบบสถานการณ์ไปจนจบเรื่องแล้วค่อยเขียนตัวนิยาย เราทำแบบนี้เป็นขั้น ๆ ทำให้จบไปทีละขั้น อย่างนี้ก็มีโอกาสจบสูงขึ้นกว่าด้นไปเรื่อย ๆ ครับ
3. มีวินัย ข้อนี้เอาจริง ๆ น่าจะยากสุดในสามข้อ ความรักในงานเขียน เราไม่สงสัยเลย เพราะถ้าได้มานั่งอ่านบทความนี้ และอ่านมาถึงตรงนี้แปลว่าคุณมีความรักในการเขียนไม่มากก็น้อย วินัยต่างหากที่เป็นตัวยาก ยิ่งมีวินัยแต่คิดไม่ออกนี่ยิ่งหนัก แต่ถ้าเราวางโครงเรื่องมาแล้ว อย่างน้อยการมีวินัยก็น่าจะง่ายขึ้นเพราะมันวางแผนได้ วันนี้เขียนให้จบช่วงนี้ ช่วงนั้น มีโครงแล้วเบื่อช่วงที่ทำอยู่ หนีไปเขียนตอนท้ายก่อนก็ได้ เดี๋ยวค่อยกลับมาข้างหน้า แต่ไม่ว่ายังไงวันนี้ต้องได้ครึ่งบท อะไรแบบนี้ครับ
4. วางแผน ในข้อที่แล้วได้เอ่ยถึงไว้เล็ก ๆ เอามาเป็นหัวข้อเลยแล้วกัน จะวางแผนแบบไหนก็ได้ อาทิตย์นี้เขียนกี่บท หรือเขียนกี่หน้า แล้วทำให้ได้ตามนั้น ไม่ต้องรอบิลด์อารมณ์ (แต่ถ้าเป็นไปได้ หาที่ที่เราเขียนแล้วอารมณ์ดี มีสมาธิครับ) เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าเราจะมีอารมณ์เต็มเปี่ยม กับไม่มีอารมณ์เขียนงานเลย ผลงานที่ได้ออกมาไม่ต่างกัน
แต่หัวใจอยู่ที่การเข้าเกียร์ครับ เริ่มสตาร์ตอาจจะฝืดหน่อย ๆ ในวันที่ไม่มีอารมณ์ กว่าจะเปลี่ยนเกียร์ได้อาจจะนานนิดนึง แต่ถ้าเป็นวันที่มีอารมณ์ เราน่าจะเปลี่ยนเกียร์เร่งความเร็ว และวิ่งได้นานกว่าวันที่เราอารมณ์บูด ๆ นอย ๆ ส่วนคนที่มีประสบการณ์แล้ว เหมือนพวกขับเกียร์ออโต้ สตาร์ตปุ๊บวิ่งปั๊บ ซึ่งก็ต้องอาศัยประสบการณ์ และประสบการณ์มาจากวินัยนี่ล่ะครับ
5. เขียนไปก่อน ยังไม่ต้องเพอร์เฟ็กต์ ง่าย ๆ เลยว่าเดี๋ยวเรามีอีกขั้นตอนที่เรียกว่ารีไรต์ เท่าที่ผ่านมาในชีวิตยังไม่เคยเจอคนเขียนงานร่างแรกแล้วดีจริง ๆ เลย ดังนั้นไม่ต้องกังวลไปครับ ไม่ต้องกลัวว่ามันไม่ดี เพราะเดี๋ยวเราต้องกลับมาแก้อยู่ดี เขียนให้จบให้ไวที่สุด เพื่อที่เราจะได้เข้าสู่การรีไรต์ไว ๆ ดีกว่า
เอาไปห้าข้อก่อน ลองทำดูนะ เราว่าช่วยได้ครับ หวังว่าใครที่ยังไม่เคยเขียนอะไรจบมาก่อนเลย จะเขียนอะไรได้จบในเร็ววันนะครับ
นิยาย
ภาพยนตร์
นักเขียน
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
โฆษณา
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย