20 มี.ค. เวลา 12:00 • นิยาย เรื่องสั้น

💘เมโลดราม่า ภาษาลิเกที่เติมเต็มนิยาย

เคยได้ยินคำว่า “เมโลดราม่า” กันไหมคะ พี่พราวเชื่อว่าจริง ๆ แล้ว นอกจากคำว่า “ดราม่า” ที่คุ้นเคย คำว่าเมโลดราม่านี้ก็เคยผ่านตาคนชอบดูละครมาบ้าง เพียงแต่บ้านเราเรียกกันง่าย ๆ ว่า “ละครน้ำเน่า” นั่นเอง
โดยปกติแล้วเรามักจะเห็นนิยายแนวดราม่า หรือก็คือนิยายที่เน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต เน้นอารมณ์และจิตใจ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งทุกข์ สุข เศร้า ซึ้ง นิยายแนวนี้จะแสดงให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวละครในด้านความรู้สึกนึกคิดและการเติบโต ซึ่งยังคงเป็นแนวเรื่องที่ขายดีได้ตลอด เนื่องจากมีการสื่อสารกับคนได้ทุกเพศทุกวัย อยู่ที่คนเขียนต้องการจะสื่อถึงกลุ่มคนอ่านกลุ่มไหนเป็นหลัก
ในขณะที่ “เมโลดราม่า” นั้นมีรากมาจาก Melody (เพลง) รวมกับ Drama (ละคร) จนกลายเป็นการแสดงอารมณ์ของตัวละครที่ดูมากเกินจริง เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคที่มีความ “เกินจริง” ในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนา การสร้างคาแรกเตอร์ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น มีเหตุการณ์บังเอิญเกิดขึ้นมากมายที่สุดท้ายทำให้พระเอกกับนางเอกต้องพลัดพรากโดยไม่ได้บอกความในใจกัน
ซึ่งสมัยก่อนแนวเมโลดราม่านั้นจะแสดงออกมาในรูปแบบของละครเวทีที่ต้องการให้ผู้ชมซาบซึ้ง จึงใช้เสียงเพลงเข้ามาเพิ่มอรรถรสด้วย กระทั่งถูกนำมาใช้กับนิยาย บทละคร หรือซีรีส์อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน อย่างซีรีส์เกาหลีเรื่อง The Innocent Man , I Miss You , 49 Days หรือละครไทย เช่น คู่กรรม เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้คนอินกับเรื่องที่เรานำเสนอนั่นเอง
แล้วสำหรับนักเขียนนิยาย เราใช้ “เมโลดราม่า” กันอย่างไร ?
ภาษาเมโลดราม่าในนิยายของไทย เรียกกันง่าย ๆ ว่า “ภาษาลิเก” นั่นเองค่ะ ลักษณะของเมโลดราม่าปรากฏให้เห็นในไทยตั้งแต่การแสดงลิเก ที่ต้องร้องและเล่นให้คนดูอินกับเรื่องราวที่นำเสนอ จนกลายมาเป็นรสชาติที่คนไทยเคยชิน
ในสมัยก่อน นิยายที่ใช้เทคนิคนี้มักจะสร้างตัวละครค่อนข้างแบน มีมิติเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ แล้วมีการเพิ่มความรู้สึกในการอ่าน เช่น เวลาเจ็บปวดก็บรรยายให้เจ็บลึกทรมานเกินจริง
แต่ในปัจจุบัน เมโลดราม่ามักซับซ้อนไปกับพลอต เช่น พลอตที่เขียนให้ตัวละครเจอเรื่องร้ายซ้ำ ๆ จนเราต้องเอาใจช่วยและอินไปกับชะตากรรมที่น่าสงสาร หรือ หลายครั้งก็นำฉากที่มีความเป็นเมโลดราม่ามาช่วยเติม Turning Point ให้ทำลายล้างจนคนดูรู้สึกไปด้วยกันอย่างสุดซึ้ง
เรามักจะสร้างเมโลดราม่าจากบทสนทนาพูดคุยระหว่างตัวละครที่แสดงอารมณ์ใส่กัน เช่น เมื่อคนรักต้องพรากจากกันด้วยโรคร้าย นักเขียนจะสร้างบทสนทนาที่ทำให้คนอ่านเจ็บปวด อยากจะร้องไห้ตามมากขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่การจัดงานศพ แต่พรรณนาไปถึงช่วงเวลามีชีวิต หรือเล่าว่าหากยังอยู่ด้วยกันจะเป็นเช่นไร แล้วใส่ความดิ่งของอารมณ์ด้วยฉากซ้ำไปมา ชนิดที่ว่าปิดหน้าหนังสือไปแล้ว ความรู้สึกนั้นก็ยังคงอยู่
เรียกได้ว่าสำหรับการเขียนนิยายแล้ว “เมโลดี” ที่เราสร้างให้กลายเป็น “เมโลดราม่า” ก็คือท่วงทำนองของข้อความที่เราร้อยเรียงให้คนอ่านดำดิ่งไปกับฉากดราม่านั้นเกินกว่าชีวิตปกตินั่นเอง และมันนำมาซึ่งความเหนือจริงที่บีบคั้นมากกว่าชีวิตปกติ
สรุปก็คือการเขียนโดยใช้เทคนิคเมโลดราม่าจะช่วยสร้าง “ความอิน” ในเรื่องราวจนทำให้คนอ่านอยู่กับนิยายเรา และเก็บความรู้สึกออกไปแม้ว่าจะอ่านจบแล้วก็ตาม แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่เช่นกันค่ะ เพราะงานเขียนแบบนี้ต้องมีแรงจากการปูเรื่องมาระยะหนึ่ง มิเช่นนั้นมันจะกลายเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้นิยายฉากนั้นของเรากลายเป็นฉากเวิ่นเว้อและคนอ่านไม่รู้สึกตามได้
ลองนำเทคนิคนี้ไปใช้ดูนะคะ
โฆษณา