14 มี.ค. เวลา 11:22 • ธุรกิจ

6 เงื่อนไขที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ใช้เลือกบริษัทภายใน 5 นาที

ดีลซื้อบริษัท RV ที่เขาไม่เคยรู้จักรายได้แสนล้านในหนึ่งสัปดาห์ จากจดหมายหนึ่งฉบับและเจอเจ้าของแค่ครั้งเดียว
📜 เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณปู่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ออกมาพูดหรือแสดงความคิดเห็น นักลงทุนส่วนใหญ่จะตั้งใจฟังเพื่อซึมซับบทเรียนและความรู้จากประสบการณ์การลงทุนหลายทศวรรษของคุณปู่เสมอ
และทุกปีตามธรรมเนียม ก้อนความรู้ตรงนี้จะถูกส่งผ่านมาในรูปแบบของสิ่งที่เรียก ‘จดหมายถึงนักลงทุน’ หรือ Berkshire Hathaway Annual Shareholders Letter
ปี 2025 ก็เช่นเดียวกัน
⚡ แต่นอกจากเรื่องงบการเงิน ผลประกอบการธุรกิจ การลงทุน ต่างๆนานา ของ Berkshire Hathaway แล้ว มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับหนึ่งในซีอีโอที่เขาชื่นชมมากที่สุดชื่อ พีท ลีเกิล (Pete Liegl) ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีก่อน
ลีเกิลเป็นซีอีโอของบริษัทผู้ผลิตรถบ้าน (RV) ในรัฐอินเดียนาชื่อ Forest River บริษัทในเครือ Berkshire Hathaway ที่สร้างรายได้ปีล่าสุดที่ประมาณ 6,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท 🚐
หลายคนอาจจะไม่รู้จัก เพราะลีเกิลเป็นคนที่ไม่ได้ออกสื่อมากมาย ไม่มีแม้แต่คอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน ขนาดเวลาจะตอบอีเมล เลขาฯ จะปรินต์ออกมาแล้วเขาจะเขียนตอบด้วยมือด้วยซ้ำ
ลีเกิลเป็นซีอีโอที่งานให้กับบัฟเฟตต์มายี่สิบปี ตั้งแต่วันที่เขาขาย Forest River ให้บัฟเฟตต์ในปี 2005 ด้วยการเสนอขายผ่านจดหมายหนึ่งฉบับ บัฟเฟตต์เช็กตัวเลข วันต่อมายื่นข้อเสนอ อีกอาทิตย์หนึ่งทั้งคู่มาเจอกัน และดีลของบริษัทที่ทำรายได้ปีล่าสุดระดับแสนล้านนี้จบลงภายในเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที 🤯
ในระดับที่ลีเกิลยังบอกเลยว่า “การขายธุรกิจของผมมันง่ายกว่าไปต่ออายุใบขับขี่ซะอีก”
และบัฟเฟตต์ก็เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “ผมชอบแนวทางตรงไปตรงมานี้มากเลย”
❓ ทำไมมันถึงง่ายขนาดนั้น? และบัฟเฟตต์ใช้เงื่อนไขอะไรในการวัดว่าจะซื้อบริษัทนี้ภายในระยะเวลาที่สั้นขนาดนี้ได้?
ในการประชุมผู้ถือหุ้น บัฟเฟตต์ เคยพูดเอาไว้ว่า
“หากเราไม่สามารถตัดสินใจได้ภายในห้านาที เราก็จะไม่สามารถตัดสินใจได้ภายในห้าเดือนเช่นกัน เราไม่มีทางเรียนรู้ได้มากพอในช่วงห้าเดือนถัดไป จนสามารถชดเชยความไม่พร้อมตั้งแต่แรกได้”
นี่คือแนวคิดของบัฟเฟตต์ไม่ว่าจะมองธุรกิจไหนก็ตาม มันคือการตระหนักถึงขีดจำกัดของตนเองและไม่ก้าวออกนอกขอบเขตความเชี่ยวชาญ (Circle of Competence) เขากับชาร์ลี มังเกอร์บอกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่วิเคราะห์ธุรกิจ พวกเขาจะแยกออกเป็น 3 ตะกร้า
✅ Yes (ธุรกิจที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ)
❌ No (ธุรกิจที่ไม่ผ่านเกณฑ์)
🤯 Too Hard (ธุรกิจที่ซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจ)
ตอนที่ลีเกิลเสนอขาย Forest River ให้กับบัฟเฟตต์ ในวันที่ 21 มิถุนายน 2005 เข้าข่ายในกลุ่มแรกที่ใช่ เป็นโมเดลธุรกิจที่เข้าใจง่ายและนั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบัฟเฟตต์ถึงสนใจ
🔍 บัฟเฟตต์เล่าว่า “ผมได้ยินชื่อของ Forest River บริษัทที่พีทก่อตั้งและบริหารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2005 บริษัทนี้เป็นผู้ผลิตรถบ้าน (RV) ในรัฐอินเดียนา วันนั้นผมได้รับจดหมายจากตัวแทนคนหนึ่งที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท และบอกว่า Pete ซึ่งเป็นเจ้าของ 100% ของ Forest River อยากขายกิจการให้ Berkshire โดยตรง พร้อมเสนอราคาที่เขาคาดหวัง ผมชอบแนวทางตรงไปตรงมานี้”
หลังจากนั้นบัฟเฟตต์ก็ไปถามข้อมูลจากดีลเลอร์รถบ้าน เพื่อดูความน่าเชื่อถือ เช็กตัวเลขต่างๆ ข้อเสนอที่ลีเกิลเสนอคือ 800 ล้านเหรียญในตอนนั้น
💰 วันถัดมา บัฟเฟตต์ ยื่นข้อเสนอให้ลีเกิลและในสัปดาห์ถัดมาลีเกิลก็บินไปโอมาฮาพร้อมภรรยาและลูกสาว ทั้งสองใช้เวลาเจรจาเพียง 20 นาที ก่อนจับมือกันและปิดดีลสำเร็จ
รายละเอียดในการพูดคุยครั้งนั้น บัฟเฟตต์เล่าว่ามีอสังหาริมทรัพย์บางส่วนที่ให้เช่าแก่ Forest River แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงในจดหมายวันที่ 21 มิถุนายน เขาก็ให้ลีเกิลประเมินราคามาตรงนั้นเลย และก็ตกลงกันได้อย่างรวดเร็ว
เรื่องต่อมาคือค่าตอบแทน เพราะเหตุผลที่ลีเกิลอยากขายบริษัทไม่ใช่เพราะไม่อยากทำงานแล้ว แต่เขายังอยากทำงานอยู่ เพียงแค่อยากให้ชีวิตครอบครัวของเขามีความมั่นคง และการอยู่ภายใต้บริษัทใหญ่อย่าง Berkshire ก็จะช่วยสร้างเกราะป้องกันตรงนี้ได้
บัฟเฟตต์เลยถามว่าลีเกิลว่าอยากได้เงินเดือนเท่าไหร่ และยังบอกอีกว่าไม่ว่าลีเกิลจะตั้งราคาเท่าไหร่ เขาก็จะรับตามนั้นเลย (ซึ่งบัฟเฟตต์ก็บอกว่าไม่ใช่แนวทางที่ควรเอาไปใช้นะ)
ลีเกิลหยุดคิดครู่หนึ่ง จากนั้นเขาก็พูดขึ้นว่า
“ผมดูรายงานของ Berkshire แล้ว และผมไม่อยากได้เงินเดือนมากกว่าหัวหน้าผม งั้นเอาแค่ปีละ 100,000 ดอลลาร์ก็พอ แต่เราจะทำกำไรได้ X (เขาระบุตัวเลข) ในปีนี้ และผมอยากได้โบนัส 10% ของกำไรที่เกินจากระดับปัจจุบันของบริษัท”
บัฟเฟตต์ตกลงตามนั้น และมันก็กลายเป็นการร่วมมือที่ยอดเยี่ยมมาตลอดเกือบ 20 ปี และด้วยความเชื่อใจอย่างมากในการทำงานของลีเกิลจนไม่ต้องเข้าไปก้าวก่ายอะไรเลย ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา บัฟเฟตต์ไม่เคยไปออฟฟิศของ Forest River เลยด้วยซ้ำ
“พีททำผลงานได้อย่างสุดยอด ไม่มีคู่แข่งคนไหนเทียบเขาได้เลย!” บัฟเฟตต์กล่าว
ปัจจุบัน Forest River บริษัทที่ลีเกิลก่อตั้งในปี 1996 ขายให้ Berkshire Hathaway ในปี 2005 และบริหารต่อจนวาระสุดท้ายของชีวิต ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถบ้าน (RV) รายใหญ่ที่สุดของอเมริกา
ภายใต้ Berkshire Hathaway บริษัทนี้อยู่ใน กลุ่มสินค้าผู้บริโภค ร่วมกับบริษัทที่ผลิต รองเท้าผ้าใบ ชุดชั้นใน และ Squishmallows (ตุ๊กตานุ่มยอดนิยม) และถึงแม้จะเป็นผู้ผลิต RV แต่ Forest River มีรายได้ต่อปีราว 6,000 ล้านเหรียญ ซึ่งมากพอ ๆ กับรายได้ของ Ferrari เลย
แม้ว่าลีเกิลอาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ในอุตสาหกรรมรถบ้าน ไม่มีใครไม่รู้จักเขา
ลีเกิลเป็นผู้บริหารและนักธุรกิจโดยธรรมชาติ ใส่ใจในทุกรายละเอียด ซื่อสัตย์ และจริงใจ (ที่จริงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเขาอีกเพียบ ใครสนใจลองอ่านต่อในอ้างอิงได้นะครับลิงก์ของ WSJ) นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ลีเกิลเป็นหนึ่งในซีอีโอที่บัฟเฟตต์ชื่นชมมากที่สุดคนหนึ่ง
อีกประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือวิธีการตัดสินใจของบัฟเฟตต์ที่รวดเร็วมาก ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยได้ยินชื่อของบริษัทนี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ
ที่จริงแล้วบัฟเฟตต์มีหลักการเลือกธุรกิจง่ายๆ อยู่ 6 เงื่อนไข
1️⃣ มีกำไรที่สม่ำเสมอ
2️⃣ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน *(Durable Competitive Advantage)*
3️⃣ การเสนอราคาขายที่แฟร์
4️⃣ มีทีมผู้บริหารที่ซื่อสัตย์และพร้อมทำงาน
5️⃣ หนี้น้อยหรือไม่มีเลย
6️⃣ (สำคัญที่สุด) ต้องเข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อน
และ Forest River บริษัทนี้เป็นผู้ผลิตรถบ้านของลีเกิลเข้าเงื่อนไขทุกข้อที่กล่าวมาเลยนั่นเอง
🎯 นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบัฟเฟตต์ถึงพูดเสมอว่า “หากเราไม่สามารถตัดสินใจได้ภายในห้านาที เราก็จะไม่สามารถตัดสินใจได้ภายในห้าเดือนเช่นกัน”
ในตอนสุดท้าย บัฟเฟตต์จบเรื่องเล่าเกี่ยวกับลีเกิลในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นได้อย่างน่าประทับใจว่า
“ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะมีโมเดลธุรกิจที่เข้าใจง่าย และมีเจ้าของหรือผู้บริหารที่ยอดเยี่ยมแบบพีทนั้นมีอยู่น้อยมาก แน่นอนว่าผมเองก็เคยทำผิดพลาดในการซื้อกิจการของ Berkshire และบางครั้งก็ตัดสินใจพลาดเกี่ยวกับคนที่ผมร่วมงานด้วย แต่ผมก็ได้รับเซอร์ไพรส์ดี ๆ มากมาย ทั้งในแง่ของศักยภาพของธุรกิจ และความสามารถของผู้บริหารที่ซื่อสัตย์และเปี่ยมด้วยความสามารถ”
“และจากประสบการณ์ของเรา การตัดสินใจที่ถูกต้องเพียงครั้งเดียว สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอันน่าทึ่งในระยะยาว”
“ความผิดพลาดจะจางหายไป แต่ชัยชนะสามารถเบ่งบานตลอดไป” 💎
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
#MakeRichGeneration #WarrenBuffett #ForestRiver #BerkshireHathaway #หนังสือถึงผู้ถือหุ้น #พีทลีเกิล #PeteLiegl
โฆษณา