16 มี.ค. เวลา 09:52 • ข่าวรอบโลก

“บอสเนีย และ เฮอร์เซโกวีนา” สามสิบปีแห่งความสมดุลอันเปราะบางระหว่างชนชาติทั้งสาม

กับความตึงเครียดที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งในปี 2025
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อสำนักงานอัยการกลางบอสเนียได้ร้องขอให้ตำรวจควบคุมตัว “มิลอรัด โดดิก” เพื่อสอบปากคำเมื่อวันพุธที่ 12 มีนาคม 2025 โดดิกเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเซิร์ปสกา (RS) ดินแดนของชาติพันธ์เซิร์บในบอสเนียอีกทีหนึ่ง นับเป็นการเผชิญหน้าครั้งใหม่ระหว่างหน่วยปกครองส่วนกลางกับดินแดนของชาวเซิร์บในประเทศบอลข่านแห่งนี้ ซึ่งยังได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสงครามระหว่างเชี้อชาติในช่วงทศวรรษ 1990 [1]
สำนักงานอัยการกลางบอสเนียได้ออกหมายจับและขอให้ตำรวจจับกุมโดดิกประธานาธิบดีของดินแดนชาวเซิร์บ เพื่อสอบปากคำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนกรณีการโจมตีต่อต้านรัฐธรรมนูญของประเทศ โดดิกเป็นผู้นำสาธารณรัฐส่วนของชาวเซิร์บแห่งบอสเนีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสามดินแดนที่ประกอบเป็นบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามบอสเนียที่สร้างความหายนะให้กับประเทศระหว่างปี 1992 ถึง 1995 และทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100,000 ราย
1
มิลอรัด โดดิก ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเซิร์ปสกา (RS) เครดิตภาพ: EPA, Illustration: Shutterstock
ทางเพจได้สรุปไทมไลน์ความขัดแย้งภายในของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงปัจจุบัน ดังต่อไปนี้
  • 1992: เริ่มต้นสงครามกลางเมือง
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 1992 บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาประกาศเป็นเอกราชจากยูโกสลาเวียหลังจากประชามติที่ถูกชาวเซิร์บในบอสเนียคว่ำบาตร การปะทะกันครั้งแรกเกิดขึ้น ชาวเซิร์บในบอสเนียต่อต้านเอกราชและสนับสนุนการก่อตั้ง “Greater Serbia” มีการปะทะกับชาวมุสลิมและชาวโครแอตในบอสเนีย
1
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 1992 สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริการับรองสถานะประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เพื่อเป็นการตอบโต้ ชาวเซิร์บในบอสเนียได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเซิร์ปสกาในบอสเนีย (RS) ซึ่งนำโดย “ราโดวาน คาราจิช” กองกำลังกึ่งทหารชาวเซิร์บเริ่มโจมตีหมู่บ้านที่มีชาวบอสเนียและโครแอตเป็นส่วนใหญ่ และปิดล้อมเมืองซาราเยโว (การปิดล้อมกินเวลาจนถึงปี 1996) ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม
ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน สหประชาชาติรับรองเอกราชของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาและส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (UNPROFOR) เข้าไปช่วยเหลือคุ้มครอง โดยมีทหารประมาณ 7,000 นายถูกส่งเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นทหารฝรั่งเศส อังกฤษ และแคนาดา กองกำลังเหล่านี้ไม่มีอำนาจทางทหารที่แท้จริง จึงมีหน้าที่เพียงปกป้องการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก
1
เครดิตภาพ: Ron Haviv / VII / Redux
  • 1993: การสู้รบรุนแรงขึ้น และ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ในปี 1993 บอสเนียถูกแบ่งออกเป็นเขตปกครองควบคุมระหว่าง “ชาวบอสเนีย-ชาวโครแอต-ชาวเซิร์บ” การสู้รบทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้จะมีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (ทหารประมาณ 25,000 นาย) และมีการจัดตั้งเขตปลอดภัยของสหประชาชาติในสเรเบรนิตซา ซาราเยโว โกราซเด บิฮัช ตูซลา และเซปา
องค์กรนานาชาติค้นพบว่ามีค่ายกักกันหลายแห่ง รวมถึงค่ายที่โอมาร์สกาและทรโนโพลเย ซึ่งเป็นหลักฐานของนโยบายการกวาดล้างชาติพันธุ์ที่กองกำลังเซิร์บในบอสเนียและกองทัพยูโกสลาเวียดำเนินการ ชาวบอสเนียและโครแอตหลายพันคนถูกคุมขังที่นั่น และมีรายงานการสังหารหมู่หลายครั้ง
ความตึงเครียดระหว่างชาวโครแอตและชาวบอสเนียเพิ่มมากขึ้น โดยชาวโครแอตเรียกร้องให้จัดตั้งดินแดนภายใต้การปกครองของชาวโครแอตในบอสเนีย ส่วนชาวบอสเนียคัดค้าน เมืองโมสตาร์ซึ่งเป็นเมืองที่มีหลายเชื้อชาติกลายเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งรุนแรงครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสะพานโมสตาร์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันของชุมชนทั้งสองในเมืองถูกทำลายในปี 1993 [2]
เครดิตภาพ: DIMITAR DILKOFF / AFP
  • 1994: ข้อตกลงวอชิงตันและการโจมตีของนาโต
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 1994 ข้อตกลงวอชิงตันทำให้เกิดการยุติการสู้รบระหว่างชาวบอสเนียและชาวโครแอต และก่อตั้งสหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โดยทั้งสองชนชาติต่างแบ่งอำนาจกันอย่างเท่าเทียมกัน สหรัฐอเมริกาผลักดันให้เกิดการปรองดองนี้เพื่อให้ชาวมุสลิมในบอสเนียและชาวโครแอตกลับมาเป็นพันธมิตรกันอีกครั้งเพื่อต่อต้านกองกำลังของชาวเซิร์บที่ตอนนี้ถูกโดดเดี่ยวในบอสเนีย
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1994 นาโตได้รับคำสั่งจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้โจมตีทางอากาศต่อตำแหน่งฐานที่มั่นของชาวเซิร์บในบอสเนียซึ่งถูกระบุว่าคุกคามเข้ามาในเขตปลอดภัยและต่อพลเรือน ในเดือนพฤษภาคม 1994 กองกำลังเซิร์บของบอสเนียจับทหารรักษาสันติภาพมากกว่า 200 นายเป็นตัวประกันและใช้พวกเขาเป็นโล่มนุษย์เพื่อขัดขวางไม่ให้นาโตโจมตีเพิ่มเติม [3]
เครดิตภาพ: C-Span
  • 1995: การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่สเรเบรนิตซาและการสิ้นสุดของสงครามกลางเมือง
ระหว่างวันที่ 11 ถึง 22 กรกฎาคม 1995 กองทัพเซิร์บได้เปิดฉากโจมตีสเรเบรนิตซา ทำให้ชาวบอสเนียเสียชีวิตมากกว่า 8,000 คน เมืองทางตะวันออกของบอสเนียได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยโดยสหประชาชาติ แต่เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพไม่สามารถป้องกันการสังหารหมู่ครั้งนี้ได้ ซึ่งต่อมาศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (ICTY) ได้ประกาศให้เป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกและทำให้นาโตต้องเพิ่มการโจมตีทางอากาศขึ้นไปอีก [4]
หลังการสังหารหมู่ครั้งนี้ การเจรจาสันติภาพก็ถูกเร่งรัดขึ้น และมีการลงนาม “ข้อตกลงเดย์ตัน” ในกรุงปารีสในเดือนธันวาคม 1995 ข้อตกลงดังกล่าวระบุการยุติสงครามและก่อตั้งรัฐสหพันธรัฐที่ประกอบด้วยสามดินแดนปกครอง ได้แก่ สหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (รวมชาวโครแอตและชาวบอสเนีย) สาธารณรัฐเซิร์ปสกา (Republika Srpska) และเขตบรึคโกซึ่งเป็นดินแดนที่มีหลายเชื้อชาติ [5]
ดินแดนปกครองสามแห่งเหล่านี้เป็นอิสระต่อกันในทางทฤษฎี โดยมีรัฐบาล รัฐสภา และกองทัพของตนเอง (จนถึงปี 2005) อย่างไรก็ตามดินแดนปกครองตนเองเหล่านี้มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในกิจการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ และกิจการเศรษฐกิจที่สำคัญ ข้อตกลงเดย์ตันได้สร้างระบบการปกครองส่วนกลาง โดยมีประธานาธิบดี 3 คนของแต่ละดินแดน เพื่อป้องกันไม่ให้ชุมชนใดชุมชนหนึ่งครอบงำชุมชนอื่นๆ
การลงนามข้อตกลงเดย์ตัน ปี 1995 โดยผู้นำที่มีความเกี่ยวข้องกับสามเชื้อชาติในบอสเนีย เครดิตภาพ: Eric Miller/Reuters
  • 2001-2017: การพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามที่ ICTY
ในปี 2001 การพิจารณาคดีก่ออาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เริ่มต้นขึ้นที่ศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (ICTY) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจสำหรับสถานการณ์ในบอสเนียโดยสหประชาชาติในปี 1993 โดยมีผู้ถูกกล่าวหา 161 คน และการพิจารณาคดีใช้เวลาหลายปี ส่งผลให้มีผู้ตัดสินว่ามีความผิด 90 ราย [6]
“สโลโบดาน มิโลเซวิช” อดีตประธานาธิบดีของดินแดนเซิร์บเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปี 2006 ก่อนที่จะถูกพิจารณาคดี ราโดวาน คาราจิช ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเซิร์ปสกาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในปี 2016 รัตโก มลาดิช ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังเซิร์บในบอสเนียถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในปี 2017 ICTY ได้ยุติบทบาทและปิดตัวลงในปี 2017
สโลโบดาน มิโลเซวิช อดีตประธานาธิบดีของดินแดนชาวเซิร์บถูกนำตัวขึ้นให้การต่อศาล ICTY ที่กรุงเฮก เมื่อปี 2001 เครดิตภาพ: ICTY
  • 2017: สหรัฐฯ คว่ำบาตรสาธารณรัฐเซิร์ปสกาในบอสเนีย
ในเดือนมกราคม 2017 สหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินต่อ “มิโลรัด โดดิก” ซึ่งเป็นผู้นำของดินแดนชาวเซิร์บในบอสเนียตั้งแต่ปี 2010 เขาถูกกล่าวหาว่าทำลายบูรณภาพแห่งดินแดนหลังจากจัดการลงประชามติเพื่อกำหนดให้วันหยุดประจำชาติในสาธารณรัฐเซิรปสกา เป็นวันหยุดประจำชาติ (9 มกราคม) ซึ่งรัฐบาลกลางได้ประกาศว่าวันหยุดดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ [7]
  • 2022: สัญญาณเริ่มต้นของการแบ่งแยกดินแดนของโดดิก
ในปี 2022 โดดิกซึ่งได้กลับมาเป็นผู้นำของ RS ได้ประกาศความตั้งใจที่จะถอนตัวจากหน่วยงานปกครองกลางของบอสเนีย รวมถึงด้านกองทัพ ตุลาการ และหน่วยงานด้านเก็บภาษี ในเดือนมิถุนายนปีนั้นรัฐสภาของดินแดนเซิร์บได้ผ่านกฎหมายชุดหนึ่งที่มุ่งจำกัดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันดินแดนชาวเซิร์บได้จัดการซ้อมรบโดยไม่ได้ประสานงานกับกองทัพแห่งชาติบอสเนีย (แข็งข้อ)
เหตุผลหนึ่งเชื่อกันว่าโดดิกมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย หรือเป็นโปรรัสเซียนั่นเอง เขาหวังว่ารัสเซียจะช่วยแบ็คเขาได้สำหรับการปกครองของ RS และในปีนั้นก็เป็นปีเริ่มต้นที่รัสเซียบุกเข้ายูเครนเต็มรูปแบบ [8]
มิโลรัด โดดิก ประธานาธิบดีของ RS (ซ้าย) ภาพถ่ายเมื่อปี 2018 เครดิตภาพ: IMAGO/ITAR-TASS
  • ธันวาคม 2022: บอสเนียได้รับพิจารณาให้เข้าร่วมสหภาพยุโรป
ในเดือนธันวาคม 2022 บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาได้กลายเป็นผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เริ่มขึ้นเมื่อหกปีก่อน ก่อนที่จะเริ่มการเจรจาเข้าร่วม รัฐบาลจะต้องดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง ตุลาการ และเศรษฐกิจ นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังเฝ้าติดตามความตึงเครียดภายในระหว่างสหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาและสาธารณรัฐเซิร์ปสกาอย่างใกล้ชิด [9]
1
  • 2024: ดินแดนชาวเซิร์บในบอสเนียยืนยันสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 รัฐสภาของสาธารณรัฐเซิร์ปสกาได้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกซึ่งยืนยันสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ถือเป็นการยั่วยุ ไม่กี่เดือนต่อมาเจ้าหน้าที่ของสาธารณรัฐเซิร์ปสกาได้ประกาศเจตนาที่จะสร้างกองกำลังติดอาวุธขึ้นใหม่โดยแยกจากกองทัพแห่งชาติบอสเนีย [10]
เครดิตภาพ: telegrafi
  • 2025: ความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อ 7 มีนาคม 2025 ประธานาธิบดีโดดิกของ RS ได้ร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกอำนาจของตำรวจหน่วยกลางของบอสเนียและระบบตุลาการกลาง การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เขาถูกตัดสินจำคุก 1 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ในข้อหาท้าทายอำนาจของการทูตสันติภาพระหว่างประเทศในบอสเนีย แต่เขายังอุทธรณ์ได้อยู่ [11]
1
โดยระหว่างนี้ “มาร์ก รุตเต” เลขาธิการนาโตได้เดินทางไปเยือนซาราเยโวเป็นการด่วน โดยที่เขาอยู่ฝ่ายสนับสนุนทางการบอสเนีย และไม่เห็นด้วยต่อท่าทีของผู้นำเซิร์บในบอสเนีย [12]
1
และล่าสุด 12 มีนาคม 2025 อัยการกลางของบอสเนียได้ออกหมายจับมิโลรัด โดดิกและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสาธารณรัฐเซิร์ปสกาอีกหลายคนในข้อหาละเลยหมายเรียกของศาลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำเพื่อแบ่งแยกดินแดน อัยการต้องการสอบปากคำโดดิก ซึ่งกำลังถูกสอบสวนในข้อหาเป็นปริปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญและตำรวจกลางของบอสเนียอีกด้วย
เรียบเรียงโดย Right Style
16th Mar 2025
  • อ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: (บน) Getty Images (ล่าง) Dado Ruvic / Reuters>
โฆษณา