23 มี.ค. เวลา 07:00 • การศึกษา

✨Show Don’t Tell การกระทำทรงพลังกว่าคำพูด

ในวงการเขียนนิยายหลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า Show Don’t Tell กันมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ แต่สำหรับมือใหม่หรือคนที่ยังไม่เคยได้ยิน คำว่า Show Don’t Tell ก็คือเทคนิคการเขียนที่ผู้เขียนจะแสดงความรู้สึกและการกระทำออกมาให้เห็นภาพ แทนที่จะเขียนให้ชัดไปเลย เพื่อให้คนอ่านรู้สึกลึกซึ้ง มีความเข้าใจ และมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร
“อย่าให้ตัวละครรีบเอ่ยคำว่ารัก แต่ให้คนอ่านรู้สึกได้เองว่าตัวละครนี้รักอีกตัวละครด้วยสิ่งที่เขาปฏิบัติและเอาใจใส่ต่อเธอ”
แล้วการแสดงให้เห็นเป็นเช่นไร
สิ่งที่นักเขียนจะแสดงให้กับคนอ่านเห็นได้ต้องเริ่มจาก “การคาดหวัง” เสียก่อนว่าฉากนี้อยากให้คนอ่านนั้นรู้สึกเช่นไร เช่น
ในฉากของนิยายสืบสวนสอบสวน แทนที่ตัวละครของเราจะพูดตรง ๆ ออกมาว่า “ฉันกลัวมาก ๆ” เราสามารถ อธิบายความกลัวโดยไม่ต้องพูดออกมาว่า “กลัว” ดังนี้ค่ะ
แค่มองสภาพห้องรับแขกตรงหน้า หญิงสาวก็รู้สึกใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เธอสูดหายใจลึก ๆ เมื่อคิดว่าบ้านหลังนี้เคยมีคนถูกฆาตกรรมและทิ้งศพไว้ตรงจุดที่เธอยืนมองอยู่ ศพของเขาถูกหั่นจนเลือดกระจายไปทั่วห้อง ปลายนิ้วของเธอเริ่มเย็นเยียบ คราบเลือดที่หายไปจากการทำความสะอาดกลับเข้ามาในจินตนาการ เช่นเดียวกับความคิดในหัวตีกันว่าจะก้าวเข้าไปในห้องครัวหรือควรหันหลังวิ่งหนีไปจากตรงนี้เสียเลยดีกว่า
เห็นไหมคะว่า บทบรรยายด้านบนไม่มีคำว่า “กลัว” อยู่ในนั้น แต่อากัปกิริยาของตัวละคร รวมทั้งความคิดของเธอกับข้อมูลที่เราเขียน ก็ทำให้คนอ่านรู้สึกกลัวไปกับตัวละครนี้ได้เช่นกัน และมันได้ผลมากกว่าการเขียนแค่ว่า “เธอกลัวมาก ๆ จนไม่อยากอยู่ในห้องนั้น”
เพราะฉะนั้น เทคนิคง่าย ๆ ในการใช้ Show Don’t Tell ก็คือ
ลองเช็ก Genre นิยายของเรา เพื่อใส่เทคนิคนี้เข้าไปใน Mood & Tone ของเรื่อง คุณสามารถทำให้ฉากนี้ตลกได้โดยไม่ต้องบอกว่า “เขาหัวเราะ” หรือทำให้ฉากนี้เศร้าได้โดยไม่ต้องเขียนว่า “เขากำลังเศร้า”
จงเลือกจังหวะที่เหมาะสมในฉากที่ไม่ทำให้รู้สึกเวิ่นเว้อเกินไป หากเราต้องบรรยายให้คนอ่านเข้าใจ เราไม่ควรใช้กับทุก ๆ ความรู้สึกในเรื่องถ้าตรงนั้นไม่จำเป็น รวมทั้งการใส่รายละเอียดที่มากเกินไปก็อาจทำให้เรื่องไม่กระชับและเป็นบทบรรยายที่น่าเบื่อ
เราสามารถสร้างนิสัยตัวละครให้คนอ่านเห็นแบบ Show Don’t Tell ได้ด้วยบทสนทนา เช่น เราไม่ต้องบอกว่า “คาแรกเตอร์นี้เป็นคนพูดมาก” เพียงแค่แสดงให้เห็นว่า เขามักจะพูดยาว รัว และพูดแทรกคนอื่น ในขณะเดียวกัน หากเราแสดงให้เห็นว่าคาแรกเตอร์นี้มักจะตอบสั้น ๆ ชอบตัดบท ก็ทำให้คนอ่านรู้สึกว่า “เขาเป็นพวกขี้รำคาญ” ได้โดยไม่ต้องเขียนบอกไป
และนี่ก็เป็นเทคนิคที่ทำให้นิยายของคุณมีความคมและแยบยลได้มากขึ้น ยังไงลองนำไปใช้กันดูนะคะ
โฆษณา