Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Story BOWL
•
ติดตาม
27 มี.ค. เวลา 12:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
❗️🎬ทำไมบทภาพยนตร์จึงต่างจากนิยาย ทั้งที่เป็นเรื่องเรื่องเดียวกัน !?!
ก่อนไปรู้เรื่องนี้กัน มาเข้าใจเรื่องของบทภาพยนตร์กันนิดนึงก่อนครับ
ในโลกของภาพยนตร์มีบทอยู่สองแบบที่เรามักจะได้ยินในงานประกาศรางวัลเสมอ นั่นคือบทภาพยนตร์ดั้งเดิม (Original Screen Play) และบทภาพยนตร์ดัดแปลง (Adapted Screen Play)
บทดั้งเดิม คือ บทที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ไม่ได้เอามาจากไหนทั้งนั้น เป็นไอเดียที่สร้างขึ้นมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนั้นตั้งแต่ต้น
ส่วนบทดัดแปลง คือ บทที่หยิบเรื่องราวมาจากอีกสิ่งหนึ่ง เช่น เอามาจากเรื่องสั้น นิยาย หนังสั้น ซีรีส์ เพลง Comic หรืออัตชีวประวัติ หรือแม้กระทั่งแนวคิดในหนังสือ Text Book วิจัยที่เป็น Non Fiction ก็สามารถหยิบมาดัดแปลงให้เป็นบทภาพยนตร์ได้
ใน Hollywood ภาพยนตร์ที่มาจากบทดัดแปลงนี่มีเยอะมาก ทั้งจากนิยาย เรื่องสั้น หนังสั้นด้วยกัน หรือในยุคนี้ก็เช่นการดัดแปลงจาก Comic ต่าง ๆ ที่ฟาดฟันกันอยู่อย่างจักรวาลของ Marvel และ DC ที่ดัดแปลงจนมีเส้นเรื่องเป็นของตัวเองซึ่งแตกต่างจากใน Comic ไปเรียบร้อยแล้ว
ทีนี้มาพูดกันตามหัวข้อของเราในวันนี้ ทำไมเรื่องเรื่องเดียวกัน แต่บทภาพยนตร์กลับแตกต่างจากนิยาย ?
เมื่อพูดถึงการดัดแปลง หลายคนอาจจะได้อ่านทั้งเวอร์ชันนิยายและได้ดูทั้งเวอร์ชันหนัง แล้วก็พบว่ามันแตกต่างกัน บางเรื่องต่างกันแค่องค์ประกอบเล็ก ๆ ในขณะที่บางเรื่องตัวละครบางตัวหรือเหตุการณ์สำคัญบางเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปแทบทั้งหมด และยิ่งถ้าเป็นแฟนเรื่องเรื่องนั้นก็จะเกิดอาการเกรี้ยวกราดเพราะถือว่าเป็นการไม่เคารพต้นฉบับ…
แล้วทำไมถึงต้องเปลี่ยน เอาเดิม ๆ มาสร้างเลยไม่ได้เหรอ ?
คำตอบก็คือ สองสื่อนี้มีภาษา วิธีการสื่อสาร และวิธีการเสพที่แตกต่างกันมาก ๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราไม่สามารถเล่าหนังได้แบบนิยาย และเอาจริง ๆ หากมองในมุมกลับกัน หากเขียนนิยายจากภาพยนตร์มันก็มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างจากตัวภาพยนตร์ไปบ้างเช่นเดียวกัน
เรามาดูความแตกต่างของสื่อสองประเภทนี้กันก่อน เอาแบบของใหญ่ ๆ ก่อนเลยนะ
นิยาย : เล่าเรื่องด้วยตัวอักษร มาประกอบกันเป็นคำ และใช้การบรรยายให้เกิดจินตนาการ
ภาพยนตร์ : เล่าเรื่องด้วยการร้อยต่อของภาพ การแสดง และยังมีแสง สี และเสียงที่มาสร้างให้คนดูเกิดประสบการณ์ร่วม
สรุปง่าย ๆ ว่า นิยายเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือ ในขณะที่ภาพยนตร์เล่าเรื่องด้วยภาพ มีภาพเป็นพระเอก
นิยาย ทำงานกับจินตนาการของผู้เสพ
ภาพยนตร์ ทำงานกับประสบการณ์ของผู้เสพ
นิยาย สามารถแบ่งท่อนอ่านได้ เหนื่อยก็คั่นไว้
ภาพยนตร์ ซึ่งออกแบบมาให้ดูในโรงภาพยนตร์ คนดูแบ่งเรื่องดูไม่ได้ ต้องดูตั้งแต่ต้นไปจนจบ
นิยาย สามารถเล่าความคิดของตัวละครได้ทันทีผ่านการบรรยาย
ภาพยนตร์ เล่าความคิดของตัวละครไม่ได้ ต้องเปลี่ยนการบรรยายเหล่านั้นให้กลายเป็นภาพที่กล้องสามารถบันทึกได้ เราขอเรียกว่าเป็นภาพที่กล้องถ่ายติด
นิยาย เล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ เราสามารถสร้างสรรค์อะไรที่ใหญ่โต หวือหวาแค่ไหนก็ได้
ภาพยนตร์ เราต้องสร้างภาพเหล่านั้นขึ้นมา ซึ่งมันจะกลายเป็นงบประมาณ และอาจจะต้องปรับหลาย ๆ อย่างให้พอดีกับงบประมาณการสร้าง
เมื่อเห็นความต่างแบบนี้แล้วน่าจะพอเข้าใจได้แล้วนะครับว่า เราจำเป็นต้องดัดแปลงบางอย่างของนิยายให้เหมาะสมกับการเป็นภาพยนตร์ในทุก ๆ ปัจจัย แล้วเราจะดัดแปลงอะไร มีวิธีการยังไงล่ะ ?
สิ่งสำคัญมาก ๆ ที่เราบอกทุกคนที่มาเรียนเสมอว่า หากต้องดัดแปลงเรื่องราวจากนิยายมาเป็นบทหนัง เราต้องรักษาหัวใจของคนเขียนเอาไว้ และนี่คือส่วนที่เราต้องพยายามคงไว้ แบ่งออกเป็นสี่เรื่องคือ
1. รักษาแก่นเรื่องเอาไว้
เรารับการส่งต่อข้อความที่มันพิเศษมาก ๆ จนเราอยากจะสร้างเป็นภาพยนตร์ ดังนั้นเราควรยึดมันไว้ให้แน่น นี่คือสิ่งแรกที่เราให้เกียรติคนประพันธ์เริ่มต้นได้
2. รักษาลีลาและบรรยากาศที่โดดเด่นจากตัวนิยายเอาไว้
บางเรื่องลีลาเป็นตลกร้าย บางเรื่องมีลีลาสวิงสวาย บางเรื่องมีลีลาที่เนิบช้า รุ่มรวย หรูหรา บรรยากาศที่เวลาอ่านเราซึมซับไว้ได้ อันนี้เราน่าจะต้องพยายามรักษาเอาไว้ เปลี่ยนมันจากการพรรณนาด้วยตัวหนังสือ มาเป็นการพรรณนาด้วยภาพ
3. รักษาเหตุการณ์สำคัญที่เป็นภาพจำตอนที่อ่าน
ส่วนนี้เอามันมาอยู่ในหนังได้จะดีมาก ๆ เวลาเราดัดแปลงเอง เราจะวงเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลัก ๆ ที่ควรจะต้องมีให้นักอ่านที่ตามมาดูหนังได้เห็นมันเป็นภาพขึ้นมา และเหตุการณ์เหล่านี้มันคือสิ่งที่เขารอคอย และเขาจะไม่ผิดหวัง
4. รักษาเหล่าตัวละครสำคัญที่เป็นเสน่ห์ของเรื่องเอาไว้
แน่นอนว่าตัวเอกต้องตามมาอยู่แล้ว แต่หัวใจและทัศนคติ รวมถึงความสามารถใด ๆ ของเขาน่าจะต้องตามมาด้วย ในกลุ่มตัวละครแวดล้อมก็อาจจะมีการรวด Function เข้าไว้ด้วยกันบ้าง หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะบางอย่างตามการตีความของผู้กำกับบ้าง แต่ควรจะต้องคงหัวใจของตัวละครตัวนั้นเอาไว้
ที่เหลือนอกจากสี่ข้อนี้ ผู้เขียนบทจะทำการปรับ แปลง เปลี่ยน ปรุง ให้มีความเหมาะสมกับการถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์ให้ได้ความยาวที่เหมาะสม สามารถถ่ายทอดด้วยการใช้ภาพ แสง สี เสียง และการแสดงได้ เหมาะสมกับรสนิยมของผู้ชมในวงกว้างขึ้น และเหมาะสมกับงบประมาณที่มี
ซึ่งเวลาผู้สร้างภาพยนตร์สนใจนิยายเรื่องไหน ทางโปรดิวเซอร์หรือสตูดิโอก็จะไปติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ในการนำมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ ราคาค่างวดก็ขึ้นอยู่กับความนิยมในนิยายเรื่องนั้น ชื่อชั้นของคนเขียน ซึ่งโดยมากก็จะเป็นตัวเลขหกหลัก แต่จะต้นหรือปลายอันนี้ก็แล้วแต่จะตกลงกัน หรืออาจจะมีสัญญาส่วนแบ่งหากหนังมีกำไร แล้วค่าซื้อสิทธิ์ตอนต้นราคาถูกหน่อย ก็ขึ้นอยู่กับข้อสัญญาของแต่ละฝ่าย
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วเราเป็นเจ้าของนิยาย ก็รับรู้ไว้ก่อนเลยว่า มันมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวจากนิยายแน่ ๆ ไม่มากก็น้อย หากใครรู้สึกว่าผู้สร้างต้องทำให้ตรงกับต้นฉบับก็อาจจะเจรจาขอพ่วงการเป็นที่ปรึกษาเข้าไปด้วย หรืออาจจะมีในข้อสัญญาว่าขอดูบทภาพยนตร์เมื่อเขียนเสร็จด้วยก็ได้ แต่เมื่อมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยดุลยพินิจของใครก็ตาม
อยากให้ระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่เราทำคือการส่งต่อแรงบันดาลใจข้ามสื่อไปยังอีกสื่อหนึ่ง ดังนั้นก็ทำใจร่ม ๆ เพราะเอาจริง ๆ หากผู้ชมไม่ชอบเวอร์ชันภาพยนตร์ นิยายที่เป็น ต้นฉบับของเราก็ยังคงอยู่ให้เขาได้ลิ้มลองกันอยู่ดี ต้นฉบับของเราไม่ได้หายไปไหน
แต่ถ้าหากภาพยนตร์ประสบความสำเร็จขึ้นมา มันจะส่งผลต่อยอดขายของหนังสือต้นฉบับอย่างแน่นอน
มันก็จะประมาณนี้แหละครับ✨
นิยาย
นักเขียน
ภาพยนตร์
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย