17 มี.ค. เวลา 06:47 • ครอบครัว & เด็ก

พ่อแม่ควรรู้!! เด็กทั่วโลก 70% เสี่ยงภัยไซเบอร์ 1 ครั้งต่อปี

ไทยเจอบูลลี่ออนไลน์-โพสต์ข้อมูลส่วนตัว-ข่มขู่
โลกยุคดิจิทัลมีผลทำให้เด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาภัยคุกคามบนสื่อออนไลน์ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ การค้ามนุษย์ การกลั่นแกล้งออนไลน์ หลอกลวงออนไลน์ และการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีชี้วัดความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก จากกลุ่มตัวอย่างเด็กอายุ 8-18 ปี 351,376 คนทั่วโลก โดยสถาบันดีคิว สิงคโปร์ พบว่า
- เด็กและเยาวชน 70% ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี
- ประเด็นความเสี่ยงทางไซเบอร์แตกต่างกันตามช่วงอายุ
สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมการถูกกลั่นแกล้งรังแกของเด็กและเยาวชนไทย เดือน มิ.ย. 2567 โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สำนักอนามัย และสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
พบเด็กและเยาวชนถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ด้วยการ
- ส่งรูป คลิปวิดีโอ ข้อความที่ทำให้อับอาย 22.81%
- ถูกโพสต์ข้อมูลส่วนตัว 16.97%
- ถูกข่มขู่ว่าร้าย 14.91%
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะ มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อ
จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการรู้เท่าทันสื่อฯ เปิดพื้นที่ถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางแก้ปัญหาการใช้สื่อของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมให้มีทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยบนโลกออนไลน์
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร
ตั้งเป้านำร่องพัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชน ในกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยจากทุกจังหวัด และเด็กในสถานสงเคราะห์ สังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน กว่า 200 คน พร้อมยกระดับให้เป็นต้นแบบนักสื่อสารสุขภาวะที่มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ และสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนของตนเองต่อไป
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2568 ที่โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพฯ สสส.ร่วมกับสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)
จัดงานเปิดตัวโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการรู้เท่าทันสื่อ เท่าทันชีวิตและสังคม สำหรับเด็กและเยาวชน มุ่งติดอาวุธความรู้ สร้างทักษะเท่าทันสื่อ เท่าทันชีวิต และสังคมให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ
นายอนุกูล ปีดแก้ว
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิต การส่งเสริมให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนมีทักษะการใช้สื่อดิจิทัลที่ปลอดภัย เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
พม. สานพลัง สสส. และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการรู้เท่าทันสื่อฯ มีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชนทั่วประเทศให้มีทักษะการสื่อสารที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย และมีจริยธรรม ร่วมเป็นเครือข่าย
"เยาวชนคนสร้างสื่อ สื่อสารสังคมทุกช่วงวัย"
สามารถนำองค์ความรู้ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เท่าทันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทักษะด้านการสื่อสารอย่างผู้นำ ไปออกแบบการสื่อสารในรูปแบบของตนเอง เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย ลดปัญหาการสื่อสารในครอบครัวและชุมชน ร่วมสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะที่ปลอดภัย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
ด้าน พล.ต.ต.ศิลา กาญจน์รักษ์ ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า
ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และเนื้อหาไม่เหมาะสมบนโลกออนไลน์มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยการกระทำผิดกฎหมายที่พบมากที่สุด ในช่วงที่ผ่านมา คือ
- การซื้อของแล้วไม่ได้ของ ที่ไม่ได้ทำเป็นขบวนการ พบมากที่สุด
- การซื้อของแล้วได้ของไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ หรือได้ของไม่ตรงปก
- ปัญหาการถูกปลอมแปลงโปรไฟล์เพื่อไปหลอกลวงผู้อื่น
- การหลอกให้ลงทุน
- การหลอกให้รัก
- หลอกให้โอนเงิน
นอกจากนี้ ยังมีการพนันออนไลน์ที่ บช.สอท.กำลังปราบปรามจับกุมอย่างเข้มข้น
พล.ต.ต.ศิลา กาญจน์รักษ์
ดังนั้น การใช้สื่ออย่างเข้าใจ รู้เท่าทัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ บช.สอท. จึงร่วมกับ สสส. พัฒนาให้เด็กและเยาวชนใช้สื่ออย่างเข้าใจ มีทักษะรับมือกับภัยไซเบอร์ ผ่านการสนับสนุนวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญ ด้านการถ่ายทอดข้อมูลและเทคนิครับมือกับภัยไซเบอร์ หลายรูปแบบ ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พนันออนไลน์ การแสวงประโยชน์ทางเพศ เป็นต้น
เด็กและเยาวชนจะมีทักษะในการใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อออนไลน์ สามารถนำความรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรม ไปเผยแพร่สู่ครอบครัว ชุมชน และสังคมในภาพรวมได้
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการรู้เท่าทันสื่อฯ ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีขีดความสามารถในการใช้สื่อได้อย่างปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสังคม สร้างเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะ สร้างค่านิยมที่ถูกต้องในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ พร้อมพัฒนาทักษะอย่างรอบด้าน
ผ่านการอบรมในรูปแบบการเข้าค่าย ในช่วงเดือนมีนาคม 2568 โดยมีหลักสูตรเสริมสร้างทักษะให้กับเด็กและเยาวชน 4 ด้าน คือ
1.การรู้เท่าทันสื่อและภัยออนไลน์ ติดอาวุธความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัย
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก
2.การรู้เท่าทันชีวิตและสังคม สร้างความตระหนักรู้เรื่องของการใช้ชีวิตให้มีสุขภาวะดีและสร้างทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
3.พัฒนาทักษะการสื่อสารแบบผู้นำ เน้นพัฒนาทักษะการสื่อสารอย่างมืออาชีพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงชุมชน
4.การออกแบบการสื่อสารในชุมชน เพื่อสร้างนวัตกรรมสื่อที่เป็นประโยชน์ พร้อมสื่อสารสร้างค่านิยมในหมู่เด็กและเยาวชนในการเป็นพลเมืองตื่นรู้ต่อภัยออนไลน์รอบตัว ติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.)’
โฆษณา