17 มี.ค. เวลา 12:18 • ข่าว

ตีกลับชง "ขายเหล้าบนรถไฟ" หลังนิยาม "รถจัดเฉพาะ" ยังไม่ชัด

"สถานีหัวลำโพง" รอเคาะให้ขายชั่วคราวแบบเช่าพื้นที่จัดอีเวนต์
ที่ผ่านมาประเด็นการขอยกเว้นสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ มีการนำเสนอสู่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และถูกปัดตกให้กลับไปทำรายข้อมูลและรายละเอียดให้ชัดเจนมาหลายครั้ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2568 มีการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 2/2568 โดยมีวาระพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ส่งผลให้กองทัพธรรม พร้อมด้วยพรรคสัมมาธิปไตยและประชาชนชาวไทย กว่า 50 คน มารวมตัวกันหน้าห้องประชุม พร้อมอ่านแถลงการณ์ และข้อเรียกร้องคือ
1. ยกเลิกการผ่อนปรนวันและเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
2. ไม่ขยายสถานที่จำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปยังพื้นที่สาธารณะเช่นสถานีรถไฟกรุงเทพฯหรือสถานที่ซึ่งเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
3. กำหนดมาตรการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเข้มข้น และยกเลิกนโยบายพิจารณาการจำหน่ายแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์โดยสิ้นเชิง
4.ยกเลิกการเว้นให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวและสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษระดับชาติหรือนานาชาติซึ่งเป็นการเปิดช่องให้มีการตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางเกินไป
5. พิจารณาทางเลือกอื่นในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไม่ต้องพึ่งพาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สุขภาพเชิงนิเวศน์ และเชิญสุขภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ
"การขยายพื้นที่และเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีรถไฟกรุงเทพฯ จะสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสมต่อนักท่องเที่ยว ขัดต่อวิถีวัฒนธรรมไทยที่ควรจะส่งเสริมค่านิยมที่ดีงาม ส่วนการศึกษาการขยายการขายแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์จะเปิดโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงแอลกอฮอล์ง่ายขึ้น ขัดต่อคำกล่าวของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าจะคำนึงถึงการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสมของเยาวชนเป็นสำคัญ" แกนนำผู้ชุมนุมระบุ
ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เป็นประธานการประชุม ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมที่ห้องประชุมโดยตรง แต่ใช้วิธีเข้าประชุมผ่านระบบออนไลน์แทน ขณะที่สถานที่จัดประชุมเจ้าหน้าที่มีการล็อกประตูทางเข้าด้วย
การประชุมใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง โดยเวลา 18.20 น. นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า ประเด็นสถานีรถไฟหรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ ที่ประชุมยังเลื่อนไปก่อน เพราะมีความไม่เข้าใจบางประเด็น อย่าง รฟท.เสนอจะขายตรงสถานีรถไฟหัวลำโพง ส่วนเช่าเป็นรถโดยสารเช่าเหมาคันรถจัดเฉพาะ หรือเช่าเหมาขบวนพิเศษรถจัดเฉพาะ คือ เช่าแบบพิเศษ มีคำว่า "รถจัดเฉพาะ" เพิ่มเข้ามา แต่ก็ยังไม่เข้าใจในคณะกรรมการ รัฐมนตรีจึงขอขยับไปก่อน ทำความเข้าใจให้ชัดเจน
"รฟท.เสนอแบบพิเศษ คือ ไปเที่ยวเหมาทั้งหมดเลย แบบกลุ่มเดียวกัน แต่ก็ยังมีข้อสงสัย ว่าจะทั้งขบวนหรือทั้งโบกี้ จึงให้ รฟท.ไปเขียนนิยามมาให้ชัดๆ เพื่อให้ทุกคนสบายใจ ไม่ให้กลัวว่าทำไปแล้วไปตีความอีก ที่สำคัญคือเราห้ามในผู้โดยสารทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งความเข้าใจของผมคือทั้งคันแล้วไปทีเดียว ไม่ใช่ไปโบกี้นึงแล้วไปอาละวาดโบกี้อื่น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่อยากเห็น" นพ.ภาณุมาศกล่าว
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล
ถามว่าขบวนพิเศษรถจัดเฉพาะต้องมีการกำหนดมาตรการรองรับหรือควบคุมอายุด้วยหรือไม่ เพราะเช่าเหมาคันไปเที่ยวก็มักไปแบบครอบครัว และมีเด็กด้วย  นพ.ภาณุมาศกล่าวว่า เราใส่ข้อกำหนดให้มีการคัดกรองและมาตรการที่จำเป็นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ความปลอดภัยของประชาชนและการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาสมของเด็กและเยาวชน รฟท.ก็ต้องไปดูว่าต้องทำอย่างไร หลายคนมองว่ายังไม่ชัดเจนอยากให้มีรูปธรรมออกมา เพื่อไม่ให้ต้องตีความ รัฐมนตรีจึงให้ไปทำความเข้าใจอีกครั้ง
"ตรงสถานีรถไฟเข้าใจกันตรงหมดแล้ว แต่จะให้ไม่ให้ต้องรอมติคณะกรรมการ คือ ตรงห้องโถงที่ปรับอากาศ ที่มีการเช่าจัดอีเวนต์ บางทีต่างประเทศมาจัดอีเวนต์มีเรื่องแอลกอฮอล์ ถ้าไม่ได้ก็ไม่จัด ที่มาของการรถไฟฯ ที่จะใช้สถานที่ แต่ไม่ใช่ลักษณะว่าจัดให้เป็นสถานที่เมาเลยก็ไม่ใช่ แต่ให้เช่าเพื่อจัดอีเวนต์ โดยกรมสรรพสามิตก็ต้องไปออกใบอนุญาตขายชั่วคราวรองรับ ไม่ได้มีการตั้งร้านถาวร" นพ.ภาณุมาศกล่าว
ส่วนร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบเพราะได้รับนโยบายมาจากคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาต โดยมีการผ่อนปรนเรื่องเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันเราให้ขายเฉพาะ 2 ช่วงเวลา คือ  11.00-14.00 น. และ 17.00 - 24.00 น. ให้ขาย 2 ช่วงเวลานี้เช่นเดิม แต่ข้อกำหนดในปัจจุบันที่ให้ขายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ และขายในสถานบริการ ซึ่งเป็นไปตามกำหนดเวลาเปิดปิดของสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการนั้น
มีการเติมในส่วนของท่าอากาศยานนานาชาติเราเปลี่ยนชื่อ เพราะนิยามท่าอากาศยานนานาชาติไม่มีจริง จึงเปลี่ยนใหม่เป็นอาคารที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารในสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับถ้อยคำตามกฎหมายในปัจจุบัน คือ อาคารท่าอากาศยานนานาชาติเป็นคำเก่า ตอนนี้ตามกฎหมายปัจจุบันของที่เกี่ยวข้องไม่มีแล้วจึงต้องเปลี่ยนชื่อ
และเพิ่มข้อยกเว้นการขายในโรงแรมตาม พ.ร.บ.โรงแรม คือให้ขายในโรงแรมได้ตามประกาศคณะปฏิวัติ (ปว.) 253 ที่ต้องปฏิบัติตามเวลาที่กำหนดอยู่
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า สนามบินไม่มีเวลาเปิดปิด คือ ตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ส่วน พ.ร.บ.ดรงแรม ก็ไม่มีเวลาเปิดปิด แต่ยังติดปัญหาขายนอกเวลา 2 ช่วงที่อนุญาตขาย มีกฎหมาย ปว. 253 ถ้าจะขายนอกเวลานี้ให้ขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ใช้ทั่วประเทศมานานแล้ว ที่ผ่านมาหลายส่วนทำตามกฎหมายนี้ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องไปปรับปรุงเพิ่มเติม และปว. 253 ก็ยังไม่ยกเลิก ยังเป็นมาตรการต้องใช้กฎหมายควบคู่กัน
โฆษณา