ประธานาธิบดี Alar Karis ของเอสโตเนียกล่าวว่า “เรากำลังเปิดศักราชใหม่ในการพัฒนาระบบการศึกษา AI กำลังเปลี่ยนโลกอย่างถาวรแล้ว และทุกภาคส่วนรวมถึงการศึกษาต้องปรับตัว”
1
แคนาดาและเกาหลีใต้ก็ไม่น้อยหน้า พวกเขาอัดเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าสู่การศึกษาระดับ K-12 ใช้ตำราดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI และโปรแกรมให้ครูใช้ AI ในห้องเรียน
โรงเรียนเอกชนในสหราชอาณาจักรไปไกลถึงขั้นเปิดห้องเรียน “ไร้ครู” มีนักเรียนประมาณ 20 คนใช้ชุดหูฟัง Virtual Reality กับแพลตฟอร์ม AI เรียนแทนการฟังจากครูที่เป็นมนุษย์
ส่วน McGraw Hill ยักษ์ใหญ่การศึกษาของอเมริกาไม่ยอมแพ้ เปิดตัวเครื่องมือ genAI สองตัวสำหรับห้องเรียนในปี 2024 ทั้ง AI Reader และ Writing Assistant
แม้ว่า AI จะเนื้อหอมเป็นอย่างมากในวงการการศึกษา บริษัทและหน่วยงานรัฐก็ยังระแวงการพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป
Dylan Arena หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ข้อมูลและ AI ของ McGraw Hill กล่าวในการสัมภาษณ์กับ Fortune ว่า “ความไว้วางใจในแบรนด์เราสูงมาก ความเสี่ยงใหญ่สุดไม่ใช่การเคลื่อนไหวช้าเกินไปในเรื่อง AI แต่เป็นการเคลื่อนไหวเร็วเกินไป”
การนำ AI เข้าสู่ห้องเรียนไม่ใช่แค่การเพิ่มเครื่องมือใหม่ แต่เป็นการปฏิวัติการเรียนรู้ทั้งระบบดังนี้
ข้อที่ 1 : การเรียนรู้เฉพาะบุคคลกำลังกลายเป็นความจริง AI สามารถปรับเนื้อหาและวิธีสอนให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน ลดช่องว่างการเรียนรู้ เพิ่มโอกาสให้เด็กทุกคนอย่างทั่วถึง
ข้อที่ 2 : ทักษะที่จำเป็นกำลังเปลี่ยนไป การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการร่วมงานกับ AI กำลังกลายเป็นพื้นฐานสำคัญ แทนที่การท่องจำหรือการคำนวณ
การแข่งขัน AI ในห้องเรียนระดับโลกไม่ใช่แค่การเร่งเด็กให้เรียนเทคโนโลยี แต่เป็นการวางรากฐานอนาคตของประเทศและเศรษฐกิจโลก ประเทศใดที่เตรียมเยาวชนให้เข้าใจและทำงานกับ AI ได้ดีก็จะได้เปรียบในระยะยาว
ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดในการเพิ่ม AI เข้าไปในโรงเรียน มีคำถามสำคัญที่ต้องคิดก็คือ เราจะรักษาสมดุลระหว่างเทคโนโลยีและความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร?
การศึกษาที่มีคุณภาพไม่ได้หมายถึงแค่เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่รวมถึงการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแม้แต่ AI โครตเทพที่สุดก็ยังทดแทนไม่ได้อย่างสมบูรณ์
ในขณะที่จีนกำลังฝึกเด็กประถมให้คุ้นเคยกับ AI แบบจัดเต็ม ประเทศอื่นๆ ก็กำลังหาวิธีเตรียมเยาวชนเข้าสู่โลกที่ AI กำลังขีดชะตาอนาคตของประเทศเช่นเดียวกัน
ความสำเร็จระยะยาวอาจไม่ได้อยู่ที่ใครสอน AI ได้เร็วที่สุดหรือมากที่สุด แต่อยู่ที่ใครผสมผสานมันเข้ากับการพัฒนาความเป็นมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ความท้าทายของระบบการศึกษาทั่วโลกคือการใช้พลัง AI ปลดล็อกศักยภาพเยาวชน โดยไม่ทิ้งทักษะความเป็นมนุษย์
มองในมุมนี้ สงคราม AI ในห้องเรียนไม่ควรเป็นแค่การแข่งขันระหว่างประเทศ แต่เป็นความร่วมมือสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน
การตัดสินใจของจีนในการส่ง AI เข้าโรงเรียนประถมอาจเป็นกลยุทธ์ชาญฉลาดในการแข่งขันระดับโลก แต่ความสำเร็จที่แท้จริงจะวัดจากคุณภาพพลเมืองรุ่นใหม่
เราอาจไม่จำเป็นต้องทำเหมือนจีนทุกอย่าง แต่เราควรถอดบทเรียนและปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทไทย สร้างระบบการศึกษาที่เตรียมเด็กไทยให้พร้อมสำหรับโลกที่ AI กำลังเปลี่ยนแปลงทุกอย่างอย่างรวดเร็ว
หากรัฐบาลไทยและภาคเอกชนร่วมมือกันอย่างจริงจัง เราอาจเห็นการพัฒนาหลักสูตร AI ที่เข้าถึงได้สำหรับเด็กไทยทุกคน ไม่ใช่แค่โรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนในเมืองใหญ่
1
นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการตามทันเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของการเตรียมเยาวชนไทยให้พร้อมสำหรับการทำงานและใช้ชีวิตในโลกที่ AI จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกอาชีพและทุกแง่มุมของชีวิต
เด็กไทยไม่ควรเป็นเพียงผู้บริโภคเทคโนโลยี AI จากต่างประเทศ แต่ควรได้รับการเตรียมพร้อมให้เป็นผู้สร้างและกำหนดอนาคตของเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย