18 มี.ค. เวลา 04:33 • หนังสือ

“สูญสิ้นความเป็นคน” หนังสือที่ชวนตั้งคำถามถึงนิยามความเป็นมนุษย์

นวนิยายที่จุดประกายความสงสัยให้ทบทวนคำนิยามความเป็น ”มนุษย์” ของเราเสียใหม่ ด้วยประโยคเปิดที่ว่า “ผมผ่านชีวิตอันมากด้วยความอัปยศ” ความรู้สึกหลังอ่านจบของผมก็คือ แม้ชีวิตจะชอกช้ำเพราะความอัปยศถึงขนาดนี้ แต่ผู้เขียนกลับมีทัศนคติต่อมนุษย์ที่แปลกแยกอย่างน่าสนใจ อุปมาเหมือนกุหลาบที่เรามักนึกถึงกลิ่นหอมและกลีบดอกงดงาม ทว่ากลับหลงลืมหนามแหลมแสนอันตราย ซึ่ง “โอบะ โยโซ” ตัวละครหลักของนวนิยายเล่มนี้ชี้ให้เห็น
“สูญสิ้นความเป็นคน” เป็นนวนิยายแนวกึ่งอัตชีวประวัติของ “ดะไซ โอซามุ” ผู้เล่ามุมมองที่มีต่อมนุษย์ สังคม และชีวิตผ่านตัวละคร “โอบะ โยโซ” ชีวิตวัยเด็กที่ปกบิดตัวตนด้วยหน้ากากรอยยิ้มก็ดี ชีวิตวัยรุ่นที่เหลวแหลกไม่เป็นท่าก็ดี และชีวิตบั้นปลายที่ตายอย่างน่าสงสารก็ดี “ชีวิตอันมากด้วยความอัปยศ” นี้ล้วนเกิดจากความระแวงและความกลัวมนุษย์ทั้งสิ้น
ขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านจะรู้สึกหม่นหมองตลอดเวลา เราจะได้เรียนรู้ถึงแนวคิดที่โยโซมีต่อมนุษย์ อันค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงและลึกซึ่งขึ้นทุกขั้นของการเติบโต เมื่อได้อ่านประวัติของผู้อ่านที่ระบุใน “คำตาม” ช่วงท้ายเล่มก็จะเห็นถึงสภาพแวดล้อมหรือสังคมที่ผู้เขียนประสบ ซึ่งตอกย้ำชีวิตอันชอกช้ำ กระนั้นก็สามารถสร้างความฉงนแก่เราว่า ผู้ที่มีแต่ความคิดเชิงลบเช่นนี้ ไฉนจึงทัศนคติที่ลึกซึ้งถึงเพียงนี้ ผมเองก็เป็นคนอินโทรเวิร์ต จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบางครั้ง ผมเองก็เคยคิดเช่นเดียวกับผู้เขียนเหมือนกัน
ประโยคจากหนังสือเล่มนี้ที่ว่า “…แม้นมนุษย์ถูกเตรียมให้ถึงพร้อม ‘เต็มคน’ แล้ว สุดท้ายก็จะถูกนำเข้าสู่สงคราม และกระบวนการ ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ ในนามของชาติ…” ทำให้ผมคิดต่อยอดไปได้ว่า ความคิดของโยโซอาจถูกต้อง มนุษย์ผู้ย่อมมองตนเองว่าเป็นคนดีและสมบูรณ์พร้อมนั้นเป็นเพียงหน้ากากเช่นกัน แท้จริงแล้วเราอาจเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัวเพียงเท่านั้น ความโสมมที่โยโซเห็นอาจเป็นหนึ่งในนิยามความเป็นมนุษย์ของเรามาตลอดอยู่แล้วหรือเปล่า…
คุณคิดว่า “มนุษย์” นั้นสมบูรณ์พร้อมหรือไม่
เคยจำเป็นต้องใส่หน้ากากเพื่อเข้าสังคมเฉกเช่นโยโซหรือเปล่า
คุณคิดว่าความเป็นมนุษย์หมายถึงอะไร
คิดเห็นอย่างไร สามารถคอนเมนต์กันได้นะครับ
โฆษณา