18 มี.ค. เวลา 11:30 • การตลาด

รวม 7 การตลาดพื้นฐาน ที่สำคัญมาก สำหรับครีเอเตอร์มือใหม่ ให้เก่งแบบตัวท็อป

ในยุคปัจจุบันที่ “คอนเทนต์คือทุกอย่าง” อาชีพครีเอเตอร์ (Creator) ก็ยิ่งได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีตหลายเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม อาชีพนี้มีเพียงสกิลการสร้างสรรค์เนื้อหาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ยังจำเป็นต้องเข้าใจ “หลักการตลาดเบื้องต้น” เพื่อให้คอนเทนต์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ดึงดูดผู้ติดตาม และมีโอกาสสร้างรายได้ได้มากขึ้นอีกด้วย
แล้วการตลาดพื้นฐาน ที่สำคัญมากสำหรับครีเอเตอร์ มีอะไรบ้าง ?
1. การทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
สิ่งแรกที่คนอยากเป็นครีเอเตอร์ต้องรู้ก็คือ การเข้าใจว่า “ใครคือกลุ่มเป้าหมาย”
1
หรือพูดให้ง่ายขึ้นอีกก็คือ เราจะทำคอนเทนต์ขึ้นมาให้ใครดู ซึ่งถ้าเราตอบคำถามนี้ได้จะช่วยให้เราวางแผนสร้างคอนเทนต์ให้เนื้อหาตรงใจและดึงดูดให้มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นได้
ตัวอย่างเช่น
ถ้าเราทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เราก็ต้องคิดแล้วว่า ผู้ชมที่จะเข้ามาติดตามเราเป็นใครได้บ้าง เช่น
- คนที่ชอบดูรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ วิธีการเดินทาง
- คนที่ชอบฟังเรื่องเล่าหรือประวัติศาสตร์ของสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง
- คนที่ชอบดูคลิปหรือรูปภาพแบบไวบ์สวย ๆ โปรดักชันส์ดี ๆ
- คนที่ชอบดูคลิปแนว Vlog ท่องเที่ยวยาว ๆ เพื่อซึมซับบรรยากาศ
จากนั้น เราก็มาวิเคราะห์ Persona หรือบุคลิกภาพของบุคคลสมมติที่จะเป็นผู้ติดตามของเรา เช่น
เขาน่าจะอายุเท่าไร มีพฤติกรรมแบบไหน ชื่นชอบอะไร อยากดูคอนเทนต์ประมาณไหน ดูสื่ออะไรบ้าง
จากนั้นก็ลองนำข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ มาปรับใช้กับแนวทางการทำคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของเราที่เลือกไว้ต่อไป
อีกสิ่งที่ควรทำก็คือ การทำ A/B Testing กับคอนเทนต์ หรือการทดสอบลงคอนเทนต์หลาย ๆ รูปแบบ เพื่อดูว่าแบบไหนเวิร์กมากกว่ากัน
จากนั้นเราก็ดัดแปลงคอนเทนต์ที่ได้ผลตอบรับที่ดีออกมาให้กลายเป็นคอนเทนต์ชิ้นใหม่ ซึ่งค่อนข้างการันตีได้ว่า คอนเทนต์ชิ้นใหม่นี้จะยังได้ผลตอบรับที่ดีไม่แพ้คอนเทนต์ชิ้นเดิม
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ
ถ้าเราเห็นว่าคอนเทนต์รีวิวร้านอาหารในช่องของเราได้ผลตอบรับที่ดี ก็อาจจะทำคอนเทนต์แนวนี้เพิ่มขึ้น เช่น รีวิวร้านอาหารที่น่าสนใจอื่น ๆ รีวิวสถานที่อื่น ๆ เพิ่มอย่าง โรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยว
2. การสร้าง Personal Branding
สิ่งสำคัญต่อมาที่จะทำให้ช่องหรือเพจของเรามีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นและทำให้ผู้ติดตามจดจำเราได้ก็คือ การสร้าง Personal Branding หรือการสร้างแบรนด์ให้กับตัวเอง
ยกตัวอย่างคนที่สร้าง Personal Branding จนทำให้เป็นที่จดจำได้ เช่น
- คุณซีเค เจิง ซึ่งเป็น CEO แพลตฟอร์มจ้างงานฟรีแลนซ์ Fastwork
- คุณอูน ชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ หรือ TheChanisara
ทีนี้ถ้าถามว่า แล้วเราจะสร้าง Personal Branding ให้ตัวเองได้อย่างไร ?
กลยุทธ์นี้ก็อาจจะเริ่มจากการกำหนด Positioning ที่ชัดเจนให้กับตัวเองก่อนว่าเป็นครีเอเตอร์สายไหน เช่น สายให้ความรู้ (Educator), สายบันเทิง (Entertainer) หรือสายไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Influencer)
จากนั้นตอนทำคอนเทนต์เราก็ใส่ความเป็นตัวของตัวเองและความจริงใจเข้าไป เช่น เล่าไลฟ์สไตล์ ความชอบส่วนตัวของตัวเอง, เล่าหรือแบ่งปันความรู้ที่เรามีให้ผู้ชมได้รับรู้ หรือถาม-ตอบคำถามกับผู้ติดตาม
นอกจากนี้ก็ต้องสร้าง Brand Identity หรือเอกลักษณ์ให้กับคอนเทนต์ของตัวเองผ่านการใช้โลโก ธีม สี ฟอนต์ เสียงเพลง ที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อสร้างความแตกต่างจากครีเอเตอร์คนอื่น ๆ
ที่สำคัญคือ สี ธีม ฟอนต์ เสียง ก็ต้องใช้ให้เหมือน ๆ กันในทุกแพลตฟอร์มและทุกคอนเทนต์ เพื่อให้คอนเทนต์ไปในทิศทางเดียวกันและทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความสม่ำเสมอ (Brand Consistency)
3. การทำ Content Marketing
สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ “คุณภาพ” ของคอนเทนต์ โดยคอนเทนต์ที่ดี มีคุณภาพ จะช่วยให้เกิดการแชร์ต่อ และทำให้เราเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
ดังนั้นคนที่อยากเป็นครีเอเตอร์จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Content Marketing ด้วย โดยทักษะที่เกี่ยวข้องกับ Content Marketing เช่น
- Storytelling หรือทักษะการเล่าเรื่องราวให้มีความน่าสนใจและดึงดูดให้คนอยากดูหรืออ่านจนจบ
ซึ่งอาจจะใช้เทคนิคเล่าเรื่องราวของตัวเองประกอบ เล่าเรื่องที่ใกล้ชิดกับผู้ฟัง เล่าปัญหาและวิธีการแก้ไข รวมไปถึงการสร้างจุดไคลแม็กซ์และจุดหักมุมให้กับเรื่องที่เล่า จะช่วยให้สตอรีของเราน่าสนใจมากขึ้น
- Hook (การสร้างจุดดึงดูดให้กับคลิปตั้งแต่ 3 วินาทีแรก) เช่น เปิดด้วยคำถาม เปิดด้วยสิ่งที่เป็นประเด็นของสังคม หรือเปิดด้วยฮุกหรือสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของเรื่องทันที
- SEO หรือ Search Engine Optimization คือ การทำเว็บไซต์ของเราให้มีประสิทธิภาพ และติดอันดับการค้นหาบน Google ในหน้าแรก ๆ ทำให้เว็บไซต์ของเรามีคนเข้ามาชมมากยิ่งขึ้น
4. เข้าใจวิธีสร้างรายได้จากการทำคอนเทนต์
1
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำคอนเทนต์ก็ต้องใช้ต้นทุนจำนวนมหาศาลในการสร้างเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น เงิน ความรู้ ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์
ดังนั้น ถ้าเกิดว่าครีเอเตอร์ไม่รู้วิธีการสร้างรายได้เข้ามาผ่านการทำคอนเทนต์ ก็อาจไม่สามารถทำเป็นอาชีพหลักได้ หรือทำได้แต่ก็ต้องควักเงินของตัวเองอยู่เรื่อย ๆ จนเข้าเนื้อตัวเองและสุดท้ายก็ไปไม่รอด
ซึ่งจริง ๆ แล้ว การหารายได้ผ่านการทำคอนเทนต์ก็มีหลากหลายวิธี เช่น
- การหาสปอนเซอร์หรือผู้สนับสนุนหลัก
- รายได้จากการรีวิวสินค้าหรือโปรโมตสินค้าและบริการ
- รายได้จากการทำ Affiliate
- การทำ Barter กับแบรนด์ เพื่อแลกสิทธิพิเศษบางอย่าง
- การสร้างแบรนด์และขายสินค้าบางอย่าง เช่น คอร์สเรียนออนไลน์ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับช่อง
- รายได้จากแพลตฟอร์มที่แบ่งจ่ายให้กับครีเอเตอร์ เช่น Facebook และ YouTube
- รายได้จากการรับเป็นวิทยากรหรือเข้าร่วมงานต่าง ๆ
5. เข้าใจ Social Media Marketing
ครีเอเตอร์ยังจำเป็นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของแต่ละแพลตฟอร์มด้วย เพราะอัลกอริทึมแต่ละแพลตฟอร์มไม่เหมือนกันและทำให้สร้างคลิปไวรัลได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างเช่น
- TikTok เน้นการดูคลิปวิดีโอจนจบและการดูวนซ้ำ
- YouTube เน้นระยะเวลาที่รับชมวิดีโอ (Watch Time)
- Facebook เน้น Engagement โดยเฉพาะการแชร์
1
นอกจากนี้ ครีเอเตอร์ยังควรทำความเข้าใจผู้ติดตามของตัวเองในแต่ละแพลตฟอร์มที่ลงคอนเทนต์ด้วย เพื่อให้ได้ยอดวิวสูงสุด
เช่น การค้นหาเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการลงวิดีโอ (Best Posting Time) ผ่านช่วงเวลาที่ผู้ติดตาม Active มากที่สุด
6. การสร้าง Community
อีกอย่างที่สำคัญก็คือ การสร้าง Community ให้มีความแข็งแกร่ง ซึ่งจะทำให้ครีเอเตอร์มีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นและภักดีคอยสนับสนุน
ตัวอย่างการสร้าง Community อาจเริ่มจาก
- การตอบคอมเมนต์และ Direct Message เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับผู้ชมและผู้ติดตาม
- Live Streaming เป็นอีกช่องทางการสื่อสารหนึ่งที่ให้เราได้สื่อสารกับผู้ชมแบบเรียลไทม์
- สร้างคอนเทนต์แบบ Interactive เช่น Q&A, โพลสอบถามผู้ติดตาม หรือ Challenges
- สร้าง Community ผ่านกลุ่มบน Facebook เพื่อให้สมาชิกได้โพสต์พูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยกันได้ด้วย
7. การวิเคราะห์ข้อมูล
สุดท้ายแล้ว นอกจากการสร้างคอนเทนต์ให้น่าสนใจและดึงดูดให้ผู้ชมอยู่กับเราได้แล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน
ซึ่งครีเอเตอร์สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากหลังบ้านในแต่ละแพลตฟอร์ม หรือดู Sentiment ได้จากคอมเมนต์ที่ผู้ชมให้ฟีดแบ็กก็ได้
เช่น ถ้าเราทำคอนเทนต์ลง TikTok เราสามารถกดเข้าไปดูข้อมูลหลังบ้านได้ที่ TikTok Studio ซึ่งจะบอกทั้งข้อมูลแบบภาพรวม เป็นรายคอนเทนต์ ข้อมูลผู้ชม ข้อมูลผู้ติดตาม และข้อมูลการไลฟ์แบบเจาะลึก
และถ้าเราคลิกเข้าไปในแต่ละคอนเทนต์ก็จะมีข้อมูลอีกหลาย ๆ อย่าง เช่น
- ยอดดูคลิป (Video View)
- ระยะเวลาการเล่นคลิป (Total Play Time)
- ระยะเวลาเล่นโดยเฉลี่ย (Average Watch Time)
- จำนวนคนที่ดูวิดีโอจนจบแบบเป็นเปอร์เซ็นต์ (Watch Full Video)
- จำนวนผู้ติดตามใหม่ที่ได้จากคอนเทนต์นี้ (New Followers)
โดยข้อมูลและสถิติเหล่านี้จะช่วยให้ครีเอเตอร์รู้ว่าคอนเทนต์ไหนที่ได้รับความนิยม ได้รับเอนเกจเมนต์มากเท่าไร ผู้ชมมีฟีดแบ็กอย่างไรบ้าง ผู้ติดตามของเราเป็นคนแบบไหน และยังมีอะไรอีกบ้างที่ต้องปรับปรุง
โฆษณา