18 มี.ค. เวลา 07:18 • สุขภาพ

บุหรี่ไฟฟ้ามี "สารเอโทมิเดต" ทำเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว

ห่วง Gen Alpha สูดควันจากในบ้าน
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2568 นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข่าวเตือนภัยเกี่ยวกับ “บุหรี่ไฟฟ้าซอมบี้” หรือ “บุหรี่ไฟฟ้าทำให้หลับ” โดยการเติมสารเอโทมีเดต (Etomidate) ลงในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า
การใช้บุหรี่ไฟฟ้าผสมสารเอโทมีเดต ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและความดันโลหิตสูง รวมถึงพบความผิดปกติของการทำงานของต่อมหมวกไต ที่ควบคุมสมดุลฮอร์โมนและเกลือแร่ในร่างกาย ทำให้ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล
ด้าน นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และรักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กล่าวว่า สารเอโทมีเดตเป็นยาควบคุมพิเศษที่ใช้ในวงการแพทย์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะสลบชั่วคราวหรือใช้ในการดมยาสลบ การใช้สารดังกล่าวอย่างไม่ถูกวิธีอาจอันตรายถึงชีวิต
ขอฝากให้ผู้ที่คิดจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าโปรดระวัง การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และขออย่าหลงเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อ และอย่าตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายที่ถูกห้ามนำเข้า ผลิต และจำหน่ายในประเทศ สำหรับ ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้า สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนเพื่อรับคำปรึกษาเลิกบุหรี่ 1600
วันเดียวกัน ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “ร่วมปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า” ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่า  มูลนิธิฯ ดำเนินโครงการสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ในบ้านเพื่อปกป้องเด็กเล็ก (Gen Alpha) คือกลุ่มเด็กแรกเกิด - 7 ปี จากการได้รับควันบุหรี่ในบ้าน
จึงได้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านสื่อรณรงค์กล่องออมสินสำหรับเด็ก ในหัวข้อ “ค่าบุหรี่ของพ่อ หนูขอเป็นค่าขนม” ร่วมกับภาคีเครือข่ายครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน สังกัด กทม. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จากข้อมูลการสำรวจการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
ค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับบุหรี่ไฟฟ้า เฉลี่ยต่อเดือนสูงถึง 718 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของคนที่จนที่สุดที่มีรายได้ต่อเดือนแค่ 1,043 บาทเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเร่งให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและครูให้รู้เท่าทันโทษ พิษภัยของควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเด็กเล็ก และตระหนักถึงความสำคัญของการทำให้บ้านปลอดจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนปลูกฝังให้เด็กเล็กเกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า
ด้าน พญ.พิมพ์ชนก จันทร์สวัสดิ์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) กล่าวว่า อันตรายและผลกระทบของควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้ามือสองต่อเด็ก น่าตกใจมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กทารกและเด็กเล็กมีปอดและระบบภูมิคุ้มกันยังไม่พัฒนาเต็มที ไม่สามารถต่อสู้กับสารพิษได้ดีเท่าผู้ใหญ่
เด็กมีอัตราการหายใจเร็วกว่า ทำให้สูดดมสารพิษเข้าไปในปริมาณมากกว่า หากเด็กได้รับควันมือสองจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก ในระยะสั้นจะทำให้โรคหืด ภูมิแพ้กำเริบ เกิดโรคปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับบุหรี่ไฟฟ้า ในระยะยาวจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม มีสมรรถภาพปอดเสื่อมถอย ปริมาตรปอดลดลงและก่อให้เกิดมะเร็งปอด
พญ.พิมพ์ชนก จันทร์สวัสดิ์
ขณะที่ผลของบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อระบบประสาทต่อเด็กและเยาวชนในทุกช่วงอายุ ส่งผลเสียต่อสมาธิ ความจำ การคิดวิเคราะห์ การควบคุมอารมณ์ การพัฒนาระบบประสาทและสมอง  รวมถึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าด้วย ผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั่งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มที่จะใช้สารเสพติดชนิดอื่นด้วย
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่า เสพแล้วไม่ติด แต่ความจริงคือมีสารนิโคติน จึงทำให้ผู้สูบติดได้ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา รูปแบบและขั้นตอนในการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่มวน ทำให้ผู้สูบยังคงติดในพฤติกรรมการสูบเหมือนบุหรี่มวน โฆษณาของบุหรี่ไฟฟ้ามีการเน้นถึงข้อดีบางอย่างที่เหนือกว่าบุหรี่ เช่น มีรสชาติที่หลากหลายกว่า ดีต่อสุขภาพมากกว่า ดูทันสมัยและหลากหลายกว่า ไม่มีกลิ่นเหม็น ดึงดูดและทำให้ผู้สูบมีแนวโน้มที่จะติดกับการสูบได้มากขึ้น  ซึ่งทั้งหมดเป็นการโกหกหลอกลวงผู้บริโภค
น.ส.อลิสษา ยูนุช นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า กทม. มีแนวทางการขยายผลและหนุนเสริมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็กในการปกป้องจากอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการ คือ
1.กำหนดมาตรการแนวทางปฏิบัติ เฝ้าระวังควบคุมป้องกันสร้างทัศนคติการไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า
2.รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้องให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน
น.ส.อลิสษา ยูนุช
3.ส่งเสริมและสนับสนุนการบำบัดรักษาผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า
4.สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า
5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติติงานตามที่มอบหมาย  รวมถึงปฏิบัติการอื่นใดตามที่ผู้ว่าฯ กทม. มอบหมาย  และในปี 2568 นี้ จะเร่งสร้างและขยายความรู้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเด็ก เยาวชนและประชาชน ให้เข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อกระชากหน้ากากที่หลอกลวงให้เด็กและผู้ปกครองเข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่อันตรายต่อไป
แหล่งที่มา
•Wu W, Xia C, Gan L, et al. (2024). Etomidate-induced hypokalemia in electronic cigarette users: two case reports and literature review. Frontiers in Endocrinology, 15:1321610.
•Thai National Formulary 2015 of Anesthetics and Pain Medication. (2015). คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตามบัญชีหลักแห่งชาติ: ยาที่ใช้ทางวิสัญญีวิทยาและการระงับปวด. (เข้าถึงเมื่อ 11 ธันวาคม 2024)
ข้อมูลจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
โฆษณา