Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
sansati ศานสติ
•
ติดตาม
18 มี.ค. เวลา 09:45 • สุขภาพ
ตัวกูของกู
เคยได้ยินเกี่ยวกับโรค hoarding disorder ไหมคะ? มันคือโรคชอบสะสมของ จากที่ศึกษามา ผู้เขียนขอสรุปคร่าวๆดังนี้ ผู้ป่วยมีอาการ คือ ไม่สามารถละทิ้งความเป็นเจ้าของในสิ่งของหนึ่งๆได้ แม้ว่าสิ่งของนั้นจะไม่มีค่าแล้วก็ตาม โดยผู้ป่วยรับรู้ว่าจะต้องเก็บสิ่งของนั้นไว้ และจะรู้สึกไม่สบายใจที่จะทิ้งไป ทำให้มีการสะสมสิ่งของไว้มากมาย และรกบริเวณที่อยู่อาศัย โรคนี้คนที่อายุไม่มากก็เป็นได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนสูงอายุ
อาการของโรคเกิดได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ต้นๆ ยิ่งอายุมากอาการจะยิ่งหนัก และของที่เก็บสะสมจะเริ่มเป็นของที่ไม่มีความจำเป็นต่อชีวิต ซึ่งผู้ป่วยมักจะคิดว่าเดี๋ยวก็ต้องได้ใช้ แต่มักไม่ได้ใช้จริง สาเหตุของโรคยังระบุไม่ได้ แต่คาดว่ามาจากพันธุกรรม ความผิดปกติของสมอง และความเครียด คนที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการทางจิตเวชอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคสมองเสื่อม, OCD, โลกหลงๆลืมๆ ฯลฯ
หรือบางรายเป็นกลไกทางจิต ที่ชดเชยจากการวิตกกังวล และการเก็บของไว้ทำให้รู้สึกอุ่นใจขึ้น ของที่มักเก็บเป็นของที่ไม่จำเป็นต้องมีในจำนวนมากๆ หรือบางอย่างเป็นขยะ ของเน่าเสีย และไม่มีการจัดระเบียบ โรคนี้รักษาได้ด้วยยา และการให้คำปรึกษาด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ในที่นี้ผู้เขียนเพียงแต่วิเคราะห์จากประสบการณ์ การแก้ปมของตัวเอง คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ในการที่จะทำให้การรักษาได้ผลมากขึ้น หรือในกรณีที่ยังเป็นไม่มาก อาจได้ข้อคิดหรือการกระตุ้นเตือน แล้วทำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
คนเราทุกคนต้องรู้สึกหวงข้าวของไม่มากก็น้อย แล้วแต่ว่า ของนั้นจะมีคุณค่ากับเรามากแค่ไหน การยึดมั่นถือมั่นก็จะมีอัตราสูงต่ำตามนั้น ในทางพุทธแล้วท่านสอนว่า ไม่ให้ยึดว่าเป็นตัวกูของกู เพราะจะนำมาซึ่งความทุกข์ ยึดมากก็ทุกข์มาก ยึดน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่ยึดก็ไม่ทุกข์เลย และมีสิ่งใดก็จะทุกข์เพราะสิ่งนั้น สิ่งใดนำมาซึ่งความสุข ก็จะนำความทุกข์มาให้ด้วย สิ่งใดนำมาซึ่งความสะดวกสบาย สิ่งนั้นก็จะเป็นภาระให้ต้องสงวนดูแลรักษา
เป็นความจริงของธรรมคู่ ไม่สามารถเลือกรับเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้ มีมากจึงไม่ได้หมายความว่าดีเสมอไป เพราะสำหรับปุถุชนคนธรรมดาแล้ว มีแล้วไม่ใส่ (’s) {เรียกว่า อะโพสโทรฟี เอ็ส (Apostrophe s)} ไม่ได้ ของกูๆอยู่นั่น หากสิ่งที่มีนั้นแตกหักเสียหาย หรือถูกขโมยไปก็จะนำมาซึ่งความทุกข์ แถมยังต้องเหน็ดเหนื่อย กับการดูแลรักษาสิ่งเหล่านั้นอีกด้วย การซื้อสิ่งหนึ่งมาไม่ว่าจะเพื่อความสุข หรือความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ก็จะนำมาซึ่งภาระทั้งกายและใจ
หากอยากสะดวกสบายในการดูแลรักษา ก็ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อที่จะมารักษาสิ่งที่มีอยู่ในตอนแรก เมื่อไม่เคยฝึกวางใจอย่างชาวพุทธ ความทุกข์ย่อมเป็นที่แน่นนอน พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรารู้จักสละละวาง ตั้งแต่ข้าวของเงินทอง ร่างกาย จนไปถึงขั้นสูงสุดคือจิตของเราด้วย เพราะจะนำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริง
ดังนั้นขั้นแรก เราควรจะหัดรู้จักสละข้าวของ ของเราก่อน ด้วยการให้ทาน แต่ถ้าจะแนะนำเกี่ยวกับโรคนี้โดยเฉพาะ ก็วางใจเอาไว้ว่า ข้าวของที่มีไว้ใช้ก็ให้ใช้อย่างรู้คุณค่า รู้จักถนอมแต่ถ้าแตกหักเสียหาย ก็ถึงเวลาที่จะบอกลาและปล่อยเขาไป เราทุกคนต้องฝึกไม่ใช่แค่เห็นคุณค่า เตรียมตัวบอกลาคนที่รัก แต่ต้องรู้จักเห็นคุณค่า บอกลาของที่รักด้วย เพราะความตายนั้น ไม่รู้ว่าจะมาเยือนเมื่อไหร่ อายุเท่าไหร่ก็ตายได้
อย่าคิดว่าของที่ซื้อมาวันนี้เราจะได้ใช้ ยิ่งเอาเก็บไว้เพราะเสียดาย ชอบเพราะมันสวยงามถูกใจ กลัวมันแตก หัก เสียหาย เสียดายงั้นอย่าเพิ่งใช้เลย เก็บไว้เดี๋ยวก็ได้ใช้เอง แต่คนเรามักประมาทและลืมไปว่า คุณอาจจะตายโดยที่ไม่ได้ใช้ของชิ้นนั้นเลยซักครั้งเดียว คุณตายไปแล้วของชิ้นนั้นก็ไปเป็นของคนอื่น แล้วอย่างนี้ไม่เท่ากับโยนเงินทิ้งทะเลหรอกเหรอ
คนที่ไม่ยอมใช้ของดีๆ จะใช้แต่ของเก่าที่แม้มีรอยแตก รอยบิ่นก็ยังใช้อยู่ ของแตกใช้ของใหม่เก็บ ครูบาอาจารย์ท่านเคยกล่าวไว้ว่า บุคคลเหล่านี้มีบุญแต่ไร้วาสนา มีเงินซื้อของดีๆได้ แต่ไร้วาสนาที่จะได้ใช้ การรู้จักใช้ของอย่างรู้คุณค่า ไม่ใช่การซื้อมาเพื่อเก็บไว้อมฝุ่น การทำแบบนี้นอกจากจะไม่ประหยัดแล้ว ยังเป็นการสุรุ่ยสุร่ายซะมากกว่า เพราะของใหม่ก็ถูกทิ้งให้เก่าโดยไม่ได้ใช้
ของเก่าที่บอกว่ายังใช้ได้อยู่นั้น ก็ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และอาจจะเกิดอันตราย จากการที่มันมีรอยบิ่นหรือแตกหักด้วย แถมยังทำให้กินพื้นที่เก็บ แทนที่จะได้ใช้สอยพื้นที่ในบ้านให้เกิดประโยชน์ ต้องเอามาใช้เก็บของ บางครั้งแม้แต่ทางเดินก็ไม่มี เราเข้าใจนะของบางอย่างซื้อเพื่อสะสม แต่นั่นมันเป็นคนละกรณีกัน ของที่ซื้อมาเพื่อใช้ ก็ควรจะใช้มัน ให้มันได้ทำประโยชน์ สมกับคุณค่าที่ต้องจับจ่ายซื้อหามา
ถ้าของชิ้นนั้นๆไม่ได้สร้างคุณค่า ให้สมกับที่เสียทรัพยากรในการสร้างมันขึ้นมา ไม่ใช่แค่โยนเงินทิ้งทะเล แต่คุณกำลังทำลายทรัพยากรของโลกโดยสูญเปล่า เพราะกว่าของชิ้นหนึ่งจะถูกสร้างขึ้นมา ต่อให้มีราคาถูกแค่ไหน ก็ต้องใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมากมายของโลก
ในการจะสร้างสรรค์ของชิ้นนั้น ถ้าคุณจะอ้างเรื่อง มันยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ให้สมกับที่มันถูกสร้างมา เพื่อเก็บของที่ควรจะทิ้งไว้ นั่นคือคุณขี้เหนียว สิ่งที่ควรทิ้งกลับไม่ทิ้ง หรือไม่หากเป็นของเก่าเก็บ มันก็ควรจะไปทำประโยชน์ให้กับคนอื่น เพราะอยู่กับคุณไม่ได้ใช้ การเก็บของด้วยความคิดเช่นนั้น ไม่ใช่การเห็นคุณค่าของสิ่งของ แต่เป็นความยึดมั่นถือมั่นในข้าวของ เป็นเรื่องของความตระหนี่ไม่ใช่การประหยัด
คุณรู้หรือว่าไม่ว่า ข้าวของต่อให้คุณไม่ได้ใช้ เก็บไว้อย่างดีก็ยังเสื่อม เพราะตกอยู่ในกฎของอนิจจัง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นไม่ว่าจะดูแลดีแค่ไหนก็ยังเสื่อมสลายไป เป็นธรรมดาเพราะธรรมชาติของทุกๆสิ่งนั้นไม่เที่ยง ฉะนั้นการที่คุณไม่ได้ใช้มัน เท่ากับเอาของมาตั้งให้มันเสื่อม มันเก่าไปโดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไร
หากให้วิเคราะห์ในมุมของผู้เขียนแล้ว สาเหตุหนึ่งของอาการนี้ อาจมาจากเมื่อสมัยยังเล็ก ครอบครัวยากจนข้นแค้น พอมีแล้วจึงทำให้เสียดายของทิ้งได้ยาก หรือไม่ก็หนักกว่านั้นมีเรื่องค้างคาใจ มีปมที่ทำใจไม่ได้ มีความทุกข์ใจที่ไม่รู้สาเหตุ หรือรู้แต่ไม่อยากบอกใคร อาจมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้การสะสมของ ทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้ คงคล้ายๆกับคนธรรมดา สะสมคอลเลคชั่นข้าวของต่างๆ ที่ทำให้ตัวเองมีความสุข เพื่อผ่อนคลายความเครียดนั่นแหละ
เพียงแต่ของที่ใช้สะสมสำหรับคนเป็นโรคนี้ ส่วนมากเป็นขยะเท่านั้นเอง ถ้าไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ คือปมในใจ (หากว่าปมเป็นสาเหตุที่แท้จริง) ต่อให้คุณจะช่วยเขา ด้วยการเคลียร์ของทั้งหมดให้เหลือใช้เท่าที่จำเป็น เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็จะกลับมาเริ่มต้นสะสมใหม่อยู่ดี การแก้ปมอาจจะต้องทำก่อน แล้วค่อยปรับพฤติกรรม
ต่อให้เจ้าตัวสมัครใจเก็บของออกไปเองก็เถอะ ยังต้องอาศัยทำให้เคยชิน อาจจะต้องมีคนคอยช่วยเตือน ในการที่ให้เขาทิ้งของบ้างอยู่ดี และควรจะให้เจ้าตัวเป็นคนทำเองในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ตัดสินใจว่าของชิ้นไหน ควรจะเอาออกไปจากชีวิต จำแนกว่าของชิ้นไหนจะทิ้ง จะการบริจาค จะขาย และเก็บไว้ใช้ ฯลฯ
ตรงส่วนนี้มีผู้เชี่ยวชาญ ด้านการจัดระเบียบภายในบ้านที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ได้เขียนแนวทางโดยละเอียด ไว้ให้ไปศึกษาเพิ่มเติมได้ ลองปรับใช้วิธีการได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน ที่ต้องให้ผู้ป่วยมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ เพราะจะต้องทำให้เป็นนิสัยใหม่คือ ทำให้เป็น new normal สำหรับเจ้าตัว ให้ชินกับการมีที่ทางโล่งๆ การจัดระเบียบบ้าน ข้าวของอยู่เป็นที่ และไม่ได้มีมากเกินความจำเป็น ปรับความเคยชินให้ติดเป็นนิสัยได้ยิ่งดี
ในระยะแรกๆ อาจจะต้องช่วยเคลียร์ของทุกอาทิตย์ นานไปอาจจะสักเดือนละครั้ง ถ้าหากอยากจะช่วยเก็บหรือช่วยจัดของก็ทำได้ แต่ไม่ควรทำแทนทั้งหมด เพราะหลักใหญ่ใจความ คือการฝึกนิสัยใหม่ ฉะนั้นการให้เจ้าตัวทำเองจึงสำคัญมาก
นอกจากนี้ยังมีความน่ากลัว ที่ยิ่งกว่าของการเป็นโรคนี้อยู่อีก หากจะให้วิเคราะห์ในทางพุทธแล้ว พฤติกรรมแบบนี้หากปล่อยไว้โดยไม่แก้ไข อาจส่งผลถึงภพภูมิต่อไป ทำให้ทุกข์ซะยิ่งกว่าตอนมีชีวิตอยู่อีก หากผู้ป่วยมีนิสัยหวงมาก ยิ่งหวงขนาดที่ไม่ยอมให้ใครเอาไปเนี่ย ฝึกวิสัยการเป็นเปรตเลยนะ เพราะเมื่อตายแล้วปล่อยไม่ได้ ภพภูมิที่คุณจะไปเป็น คือ เปรต
เหตุที่ทำให้ไปเกิดเป็นเปรตมีหลายอย่าง เช่น คนที่มีความตระหนี่ถี่เหนียว โลภมากไม่รู้จักพอ อยากมีอยากได้อยากเป็น แบบไม่รู้จักบันยะบันยัง หรือไม่ก็ห่วงของที่รัก คนที่รักแบบไม่ยอมปล่อย บางครั้งไม่ได้ชั่วเลวอะไรมาก หรือแม้กระทั่งทำบุญให้ทานมาชั่วชีวิต แต่หวงบุญตัวเองจนต้องไปเป็นเปรตก็มีมาแล้ว
เป็นเพราะปล่อยไม่ได้นี่แหละ ส่งผลให้จิตสุดท้ายเกิดอกุศล และไปถือกำเนิดในภพภูมิเปรต แทนที่จะได้ไปอยู่บนสวรรค์ อยู่ในวิมานสวยสดงดงามเสวยสุข อย่าให้ต้องไปเป็นเปรตเพราะเศษขยะเลย มันไม่คุ้มกับความทุกข์ทรมานหรอก จงรู้ไว้เถอะว่าของทุกอย่างในโลกนี้ แม้กระทั่งร่างกายของเราก็เป็นของโลก ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง
เราแค่ยืมมาใช้งาน สุดท้ายก็ต้องปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ กลายเป็นของโลกไป ยิ่งข้าวของเงินทองด้วยแล้ว ก็แค่สมบัติผลัดกันชม เราตายไปแล้วเอาไปได้เมื่อไหร่ เงินปากผียังเอาไปไม่ได้เลย ถ้าไม่อยากเกิดเป็นเปรต ก็ปล่อยซะตั้งแต่ตอนมีชีวิตอยู่เถิด
โรคของคนทุกยุคทุกสมัย ทุกภพทุกชาติ คือตัวกูของกู จะทำยังไงถึงจะให้หมดตัวกูของกู มีแต่ปฏิบัติตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยสัมมาทิฏฐิและความเพียรอย่างยิ่งเท่านั้น จึงจะรักษาโรคนี้ได้อย่างหายขาดโดยไม่กลับมาเป็นอีก
จงมีชีวิตอยู่กับสิ่งที่รักอย่ามัวแต่ stuck กับสิ่งที่เกลียด
ศานสติ
โดนกอลลัมสิงต้องแก้ด้วยองค์เอลซ่า
(ยึดมั่นถือมั่นในข้าวของ my precious => ปล่อยวาง Let it go)
ศานสติ
อ้างอิง
โรคชอบสะสมสิ่งของ (Hoarding Disorder) มีวิธีรับมือกับคนที่เป็นโรคนี้อย่างไรกันบ้าง
https://pantip.com/topic/33865994
ชอบเก็บสะสมสิ่งของ ถือเป็นโรคทางจิตที่ควรรักษา
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/%E0%B8%8A%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B8%AD-2/
รู้จัก “Hoarding Disorder” โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของที่มักพบได้ในวัยสูงอายุ
https://baanlalisa.com/understanding-hoarding-disorder-in-seniors/
Hoarding Disorder เก็บจนเกรอะ ภาวะป่วยทางจิตที่ควรไปพบแพทย์
https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30429
ภัยเงียบ! เอะอะก็เสียดาย สุดท้ายอาจเข้าข่ายกลายเป็นโรค Hoarding Disorder
https://pankansociety.com/news-events/5329
ขอบคุณภาพจาก
https://www.pinterest.com/pin/158400111880012740/
#hoarding disorder #โรคหวงของ #กรรมที่ทำให้เป็นเปรต #กฎแห่งกรรม
จิตวิทยา
พัฒนาตนเอง
ไลฟ์สไตล์
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย