19 มี.ค. เวลา 03:30 • ธุรกิจ

Xiaohongshu แพลตฟอร์มจีนที่กำลังแย่งคนรุ่นใหม่ ไปจาก Baidu และ Douyin

หากพูดถึง Google แห่งประเทศจีน หลายคนอาจจะนึกถึง Baidu ที่เกิดมาแล้วตั้งแต่ปี 2000 หรือ 25 ปีที่แล้ว
แต่รู้หรือไม่ว่า ตอนนี้มีคู่แข่งหน้าใหม่อย่าง Xiaohongshu (อ่านว่า เสี่ยวหงซู) ที่วัยรุ่นจีนเริ่มหันมาใช้แทนแล้ว
ยอดการค้นหาต่อวัน ในปี 2024
- Baidu มี 1 พันล้านครั้ง
- Xiaohongshu มี 600 ล้านครั้ง
จะเห็นได้ว่า Xiaohongshu ไล่ตามมาติด ๆ
Xiaohongshu คือใคร
และการเติบโตที่รวดเร็วนี้ คือของจริง หรือเป็นเพียงกระแสชั่วคราว ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Xiaohongshu แปลเป็นไทยได้ว่า “สมุดโน้ตสีแดง” ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว
ในช่วงหลังการจัดโอลิมปิกที่ปักกิ่ง คุณ Charlwin Mao Wenchao และคุณ Miranda Qu Fang สองผู้ก่อตั้ง Xiaohongshu เห็นว่าเศรษฐกิจจีนดีขึ้น กำลังซื้อเพิ่มขึ้น และคนจีนก็เริ่มไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น
เมื่อคนออกไปเที่ยวนอกประเทศ การซื้อของกลับมาใช้ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่รีวิวสินค้าหรือจุดช็อปปิงที่น่าเชื่อถือในต่างประเทศ ยังเป็นข้อมูลที่หาได้ยาก
ตอนแรก Xiaohongshu ไม่ใช่โซเชียลมีเดีย แต่เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับแนะนำสินค้าบิวตีเป็นหลัก ให้กับคนจีนที่ไปเที่ยวต่างประเทศ
เช่น ไปญี่ปุ่นต้องซื้อครีมอะไร หรือควรแวะช็อปร้านไหน
โดยจุดเด่นของแพลตฟอร์มก็คือ “ความเรียล” คล้ายกับสิ่งที่คนไทยเจอได้ใน Pantip
ความเรียล ในที่นี้คือการแนะนำในลักษณะ “เพื่อนบอกเพื่อน” ที่ไปใช้ของจริงมาแล้วรู้สึกอย่างไรก็เล่าให้ฟัง หรือถ้าเรียกเป็นศัพท์วัยรุ่นไทยก็คือ “โดนป้ายยา”
วิธีนี้ดันเป็นสิ่งที่ตรงกับจริตของผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ให้ค่ากับประสบการณ์ตรงของการได้ลองสินค้า ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 79% ของผู้ใช้งานบน Xiaohongshu
1
แล้วทำไมคนใช้ Xiaohongshu ส่วนใหญ่ถึงเป็นผู้หญิง ?
เพราะผู้หญิง เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อบนโลกออนไลน์เยอะที่สุดในจีน
ถ้าเรียงกลุ่มผู้บริโภคออนไลน์ในจีนตามกำลังซื้อจากมากไปน้อย เราจะได้อันดับแบบนี้
1. ผู้หญิง
2. เด็ก (พ่อแม่ซื้อของให้)
3. ผู้สูงวัย
4. สัตว์เลี้ยง (เจ้าของซื้อให้)
5. ผู้ชาย
5
โอกาสในตลาดตรงนี้จึงเป็นจุดที่ Xiaohongshu เข้าไปจับ เริ่มจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิง จนทำให้แพลตฟอร์มกลายเป็นศูนย์กลางของคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ ทั้งความงาม, แฟชั่น, ร้านอาหาร และรีวิวการท่องเที่ยวหรือสินค้าต่าง ๆ
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือโมเดลการสร้างรายได้ของ Xiaohongshu ที่แตกต่างจากโซเชียลมีเดียอื่น ที่เน้นแต่การโฆษณา
ผู้ใช้งาน Xiaohongshu สามารถเลือกซื้อสินค้าโดยตรงบนแอป ทำให้การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และการปิดการขายของธุรกิจบนแพลตฟอร์มง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งแพลตฟอร์ม ก็จะได้ค่าคอมมิชชันจากการขายสินค้า
รู้หรือไม่ว่า ฟีเชอร์การช็อปปิงในแอปนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 โดยเป็นต้นแบบของ TikTok Shop ที่เพิ่งออกฟีเชอร์นี้ตามหลังในปี 2021 หรือ 7 ปีถัดมา
ดังนั้นถ้าถามว่าจุดเด่นของ Xiaohongshu คืออะไร ?
ก็คงจะเป็นการเน้นเรื่องราวไลฟ์สไตล์จากประสบการณ์ตรง เน้นความเป็นคอมมิวนิตีที่ถูกแบ่งตามความสนใจ มากกว่าการใช้แบรนด์สินค้า หรือกระทั่ง “ชื่อเสียง” ของอินฟลูเอนเซอร์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
และถ้าเทียบกับแอปชื่อดังที่คนทั่วโลกใช้กันอย่าง Instagram ซึ่งคนจีนใช้ไม่ได้ Xiaohongshu ก็เลยเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์
รายได้ของ Xiaohongshu เลยโตระเบิด
ปี 2022 รายได้ 6.8 หมื่นล้านบาท
ปี 2023 รายได้ 1.3 แสนล้านบาท
ปี 2024 รายได้ 1.6 แสนล้านบาท
1
ส่วนโครงสร้างรายได้ Xiaohongshu มาจาก
- ค่าโฆษณา 60%
- ค่าคอมมิชชันจากการขายสินค้า 30%
- ค่าธรรมเนียมจากการจับมือกับพาร์ตเนอร์แบรนด์ต่าง ๆ 10%
และผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านรายในปี 2021 สู่ 300 ล้านรายในปี 2024
ซึ่งผู้ใช้งานมาจาก
- ประเทศจีน 84.6%
- ฮ่องกง 3.4%
- สหรัฐฯ 3.0%
- ประเทศอื่น ๆ 9.0%
แต่เรื่องที่น่าสนใจกว่าที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2025 ก็คือ ยอดการค้นหาต่อวันบน Xiaohongshu พลิกแซงเจ้าตลาดเดิมในจีนอย่าง Baidu ได้แล้ว
โดยเหตุผลหลักของการเติบโต ก็มาจากพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ ที่การหาข้อมูลและความคาดหวังคำตอบ ไม่เหมือนเดิม
เช่น “ร้านคาเฟในเชียงใหม่บรรยากาศปัง” หรือ “เที่ยวปักกิ่งแบบวัยรุ่นคนจีน”
ซึ่งการหาข้อมูลด้วยวิธีใหม่ แพลตฟอร์มเซิร์ชเอนจินเดิมที่มักจะโยงไปเพจ Official หรือเว็บไซต์ขายของ ที่ไม่ตรงกับความต้องการส่วนตัวของผู้ใช้ ซึ่งก็อาจจะไม่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ ทำให้ Xiaohongshu เป็นตัวเลือกที่คนรุ่นใหม่หันไปใช้มากขึ้น
1
โดยผู้ใช้งานส่วนใหญ่บนแพลตฟอร์มคือ กลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี มากถึง 79%
จะเห็นได้ว่าแพลตฟอร์มนี้เป็นแพลตฟอร์มของคนรุ่นใหม่ และเป็นผู้นำด้านไลฟ์สไตล์ในประเทศจีน
ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สินค้าแฟชั่น ความงาม เสื้อผ้า หรือท่องเที่ยว ก็จะเข้ามาโฆษณาทำการตลาดในแพลตฟอร์มนี้
การเติบโตของ Xiaohongshu ทำให้ถูกประเมินมูลค่าธุรกิจอยู่ที่ 6.8 แสนล้านบาท เมื่อต้นปี 2025 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในช่วงที่ TikTok มีข่าวถูกแบนในสหรัฐฯ ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อย ก็เริ่มค้นหาทางเลือกใหม่ และ Xiaohongshu ก็กลายเป็นทางเลือกนั้น ซึ่งแย่งผู้ใช้งานไปกว่า 3 ล้านรายในเวลาเพียง 1 วัน จนเกิดเป็นชื่อเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ผู้ลี้ภัย TikTok”
เรื่องนี้จึงมีอีกหนึ่งผู้ฉวยโอกาสที่ทนเห็นผู้ใช้งานต่างชาตินับล้านไหลเข้าไป Xiaohongshu อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ และนั่นก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็น Douyin เจ้าตลาดโซเชียลมีเดียของจีน นั่นเอง…
ก่อนหน้านี้ Douyin จะเปิดให้แค่ผู้ใช้งานที่มีเบอร์โทรศัพท์จีนลงทะเบียนได้เท่านั้น แต่เมื่อ Xiaohongshu กลายเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ชาวต่างชาติสนใจ Douyin ก็ไม่อยากปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือเหมือนกัน
จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า แม้แต่ในตลาดโซเชียลมีเดีย ที่หลายคนคิดว่า TikTok หรือ Douyin จะครองโซเชียลมีเดียในประเทศจีน จนไม่มีใครสู้ได้แล้ว แต่ในความจริงกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น..
1
Xiaohongshu ที่หาจุดเด่นของตัวเองเจอในเรื่องไลฟ์สไตล์ และ Social Commerce ก็ทำให้ตัวเองมีมุมที่แตกต่างและก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมนี้ได้
1
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า Xiaohongshu จะขยายฐานผู้ใช้งานในจีนได้อีกมากแค่ไหน และจะเป็นที่นิยมของคนทั่วโลกในวันหนึ่งเหมือนรุ่นพี่อย่าง TikTok ได้หรือไม่..
References
-บทสัมภาษณ์กับ คุณบุญชัย ลิ่มอติบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำโซเชียลมีเดียในจีน และผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน moomall
-Xiaohongshu revenue, valuation & growth rate | Sacra
-Xiaohongshu: active user gender distribution 2024 | Statista
-The Ultimate Xiaohongshu (Rednote) User Demographics Guide 2024 - Nanjing Marketing Group
3
โฆษณา