19 มี.ค. เวลา 08:43 • ข่าวรอบโลก

Radio Liberty “สื่ออเมริกัน” ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โปรเจคแรกซีไอเอ

อดีตเคจีบีของรัสเซียยังรับมือไม่ได้ มาตอนนี้ “ทรัมป์” สั่งปิดสถานีเอง
ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาได้หยุดให้เงินสนับสนุนแก่สื่ออเมริกันที่มีเครือข่ายทั่วโลกอย่าง Radio Liberty และอีกสื่อหนึ่งคือ Voice of America (VOA) อย่างกะทันหัน (ทรัมป์บอกว่าไม่มีใครอ่านหรือฟังสื่อเก่าแก่เหล่านี้แล้วในปัจจุบัน) ภายใต้โครงการหั่นงบใช้จ่ายครั้งใหญ่ซึ่งนำโดย อีลอน มัสก์ [1][2]
สื่อ Radio Liberty ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโครงการสื่อชวนเชื่ออเมริกันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดทั่วโลกและจัดเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ของอเมริกา และมีบทบาทสำคัญในการที่สหรัฐฯ ได้รับชัยชนะใน “สงครามเย็น” มาลองย้อนดูประวัติศาสตร์ของสื่ออเมริกันนี้ดูกัน
  • Radio Liberty ถือกำเนิดขึ้นในฐานะโครงการของซีไอเอ เพื่อต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลก
ในปี 1949 หลังจากที่กลุ่มประเทศพันธมิตรยุโรปตะวันออกรวมตัวขึ้น คณะกรรมการยุโรปฝ่ายเสรีก็ได้ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นองค์กรสาธารณะอย่างเป็นทางการที่มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์
1
ซึ่งประกอบด้วยนายพล Dwight Eisenhower “ไอเซนฮาวร์” วีรบุรุษในสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาเขาได้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 34 และเจ้าพ่อสื่อ Henry Luce (ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Time, Life และ Fortune) เซซิล เดอมิลล์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง และบุคคลสำคัญอื่นๆ คณะกรรมการได้ประกาศสงครามเพื่อเสรีภาพ ซึ่งเป็นแคมเปญเพื่อระดมทุนสำหรับการต่อสู้ทางอุดมการณ์เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์
เครดิตภาพ: Hoover Institution
ในความเป็นจริงแล้วการก่อตั้งครั้งนี้เป็นปฏิบัติการในทางลับ คณะกรรมการยุโรปฝ่ายเสรีดำเนินการภายใต้การควบคุมของกลุ่มประสานงานทางการเมืองซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของซีไอเอ ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นใหม่ซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติการลับในต่างประเทศ และสงครามเย็น พวกเขามีความจำเป็นที่ต้องใช้การฟอกเงินงบประมาณที่คณะกรรมการได้รับจากซีไอเอ ไม่ให้ใครในตอนนั้นรู้ [3]
เรื่องราวอุดมการณ์ที่ซีไอเอส่งเสริมนั้นฟังดูเรียบง่ายนั่นคือ ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นเพียงเปลือกนอกรูปแบบใหม่ของจักรวรรดินิยมรัสเซีย (โซเวียต) หลังสงครามโลกและเกิดการแบ่งแยกดินแดนเยอรมนี ฝ่ายอเมริกาได้จัดตั้ง “สถานีวิทยุอเมริกัน” ขึ้น โดยตั้งใจจะออกอากาศในเบอร์ลินตะวันตก แต่ไม่นานเรื่องนี้ก็ถึงหูในเบอร์ลินตะวันออกซึ่งถูกสหภาพโซเวียตยึดครอง
ซีไอเอจึงตัดสินใจทำสถานีวิทยุรูปแบบเดียวกันในยุโรปตะวันออก จึงเป็นที่มาของ Radio Free Europe ในปี 1950 ซึ่งเริ่มออกอากาศในภาษาหลักทั้งหมดของกลุ่มตะวันออก ได้แก่ ภาษาเช็ก สโลวัก โรมาเนีย ฮังการี โปแลนด์ และบัลแกเรีย สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในมิวนิก ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของฝ่ายตะวันตกที่อยู่ทางตะวันออกสุดของยุโรป เป็นศูนย์กลางสำคัญของการรับผู้อพยพจากยุโรปตะวันออก
เครดิตภาพ: RFE/RL
Radio Free Europe พยายามสื่อสารออกมาโดยไม่ให้ถึงกับเป็นโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายโลกเสรีจนเกินไป หลักการนี้ไม่ได้ทำให้คลื่นวิทยุเต็มไปด้วยการประณามลัทธิคอมมิวนิสต์โดยตรง พนักงานที่นั่นส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถพูดคุยกับผู้ฟังได้ราวกับว่าเป็นประเทศของตนเอง [4]
ข่าวและการวิเคราะห์ทางการเมืองในช่วงแรกได้รับการนำเสนออย่างเป็นกลาง และต่อมาค่อยทวีการโจมตีฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น พวกเขาเล่นเพลงตะวันตกที่เป็นที่นิยมมากมาย ภาพลักษณ์ที่น่าดึงดูดใจของตะวันตกและภาพลักษณ์ของสหภาพโซเวียตในฐานะผู้กดขี่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นราวกับว่าแยกกันไม่ออก
บุคคลสำคัญในการก่อตั้ง Radio Free Europe คือเจ้าหน้าที่ข่าวกรองชาวอเมริกันผู้มากประสบการณ์ Allen Dulles ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 เขาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาหลายตำแหน่งและทำหน้าที่ประสานงานระหว่างซีไอเอกับกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองของอเมริกา
ในปี 1951 เขาได้เป็นรองผู้อำนวยการซีไอเอฝ่ายวางแผน (โดยทำหน้าที่ประสานงานการปฏิบัติการลับ) สองปีต่อมาไอเซนฮาวร์ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และได้แต่งตั้งให้ Dulles เป็นผู้อำนวยการซีไอเอ
งานของ Radio Free Europe ถือว่าประสบความสำเร็จในยุโรป ภายในสองถึงสามปีให้หลังซีไอเอก็เริ่มคิดว่าควรขยายการประชาสัมพันธ์ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ให้ครอบคลุมถึงในดินแดนสหภาพโซเวียตด้วย คราวนี้คณะกรรมการอเมริกันเพื่อการปลดปล่อยประชาชนรัสเซียซึ่งเป็นอีกองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของซีไอเอเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ก่อตั้งแนวร่วมนี้
เช่นเดียวกับ Radio Free Europe คณะกรรมการได้ดึงดูดความรู้สึกของประชาชนในชาติของสหภาพโซเวียต โดยเปรียบเทียบกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในฐานะรูปแบบใหม่ของจักรวรรดินิยมรัสเซีย คณะกรรมการได้สร้างความสัมพันธ์กับชาวยูเครน เบลารุส จอร์เจีย อาร์เมเนีย และกลุ่มคนนอกรีตอื่นๆ
Radio Osvobozhdenie ซึ่งถอดแบบมาจาก Radio Free Europe เริ่มออกอากาศเป็นภาษารัสเซียเมื่อ 1 มีนาคม 1953 โดยบังเอิญหรือไม่หลังเปิดตัวไม่กี่วัน “โจเซฟ สตาลิน” เสียชีวิตเมื่อ 5 มีนาคม และการรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สถานีได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว ภายในสิ้นปีนั้นขยายการออกอากาศใน 17 ภาษาของกลุ่มรัฐในสหภาพโซเวียต อย่างภาษาจอร์เจีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน อุซเบก คาซัค ทาจิก อาวาร์ เชเชน และตาตาร์ การออกอากาศของยูเครนเริ่มขึ้นในปี 1954
เครดิตภาพ: The Cold War
มีการเปลี่ยนชื่อจาก Radio Osvobozhdenie เป็น Radio Svoboda ในปี 1959 เป็นผลมาจากการปรับกลยุทธ์การส่งต่ออุดมการณ์ ตอนนั้นทางการโซเวียตสามารถปราบปรามขบวนการปลดปล่อยต่างๆ เช่น กองทัพกบฏยูเครน และ พี่น้องแห่งผืนป่าในกลุ่มประเทศบอลติกได้สำเร็จ ในปีเดียวกันนั้น สายลับโซเวียตได้สังหารผู้นำกลุ่มชาตินิยมยูเครน “สเตฟาน บันเดรา” ในมิวนิก
ทำให้มีการเปลี่ยนแนวทางและการแสดงจุดยืนของการโฆษณาชวนเชื่อของซีไอเอให้เปลี่ยนไปที่การส่งเสริมแนวคิดเรื่องเสรีภาพทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนแทนที่จะเป็นต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์
Radio Liberty ไปได้ไกลมากในโซเวียต และกลายมาเป็นแหล่งข้อมูลอิสระที่สำคัญในโซเวียตสำหรับการนำเสนอรายละเอียดเหตุการณ์สำคัญที่สุดที่สื่อคอมมิวนิสต์ทางการพยายามปกปิด เช่น การลุกฮือในฮังการีในปี 1956 วิกฤตเบอร์ลินในปี 1961 และเหตุการณ์ปรากสปริงในปี 1968
สหภาพโซเวียตและรัฐบริวารพยายาม “รบกวน” การออกอากาศของ Radio Liberty ผ่านทางคลื่นความถี่วิทยุ แต่ก็ไม่เป็นผล การฟังคลื่นวิทยุเสรีของอเมริกันจึงกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับพลเมืองโซเวียตหลายล้านคน ทำให้เกิดการตื่นรู้และคิดอยากเป็นอิสระ จนต่อมาผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายระหว่างประเทศเรียกสิ่งนี้ในเวลาต่อมาว่า “ซอฟต์เพาเวอร์”
ในปี 1967 นิตยสาร Ramparts ซึ่งเป็นนิตยสารของฝ่ายซ้ายในอเมริกาได้ตีพิมพ์บทความสืบสวนสอบสวนที่เน้นไปที่กิจกรรมของซีไอเอภายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาได้ให้เงินทุนลับแก่องค์กรต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่เป็นอิสระอย่างเป็นทางการหลายแห่ง และใช้องค์กรเหล่านี้ในการหาเหตุผลในการทำสงครามเวียดนาม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี Radio Free Europe และ Radio Liberty [5]
หลังจากการสอบสวนของสภาคองเกรสเป็นเวลานาน ซีไอเอถูกสั่งห้ามไม่ให้ดำเนินกิจกรรมลักษณะนี้ต่อไป แต่ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ไม่ต้องการสูญเสียทรัพย์สินอันสำคัญนี้ ในปี 1973 การปฏิรูปจึงเกิดขึ้น โดยสถานีวิทยุทั้งสองแห่งถูกควบรวมเป็นหนึ่งเดียวชื่อว่า RFE/RL และจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยได้รับเงินสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เป้าหมายขององค์กรคือ “นำความจริง” ไปสู่ผู้ที่อาศัยอยู่หลังม่านเหล็ก
ห้องควบคุมการออกอากาศของ Radio Free Europe ในมิวนิก เมื่อปี 1972 เครดิตภาพ: Bettmann/Getty Images
RFE/RL จึงลดดีกรีลงไม่ได้เป็นเพียงองค์กรโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐฯ ในความหมายที่เข้มงวดอีกต่อไป ไม่มีหน่วยงานใดสามารถเข้าครอบงำกำหนดนโยบายของบรรณาธิการอย่างเป็นทางการได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้วองค์กรนี้ยังคงทำหน้าที่ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์อย่างแน่นอน
จนกระทั่งถึงปี 2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ออกคำสั่งประธานาธิบดีให้ตัดงบของสื่ออเมริกันดังกล่าวที่มีเครือข่ายทั่วโลกลง ถือว่าเป็นการสิ้นสุดองค์กรสื่ออเมริกันเก่าแก่ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐในการเป็นกระบอกข่าวและสื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดี (โฆษณาชวนเชื่อ) ให้กับสหรัฐอเมริกา
เรื่องนี้ก็มีการโยงกันไปถึงก่อนหน้าที่มีทฤษฎีสมคบคิดบอกว่า “ทรัมป์เป็นอดีตสายลับเคจีบีในรหัสชื่อ Krasnov” ประจวบเหมาะกับจังหวะที่ทรัมป์เร่งเดินหน้าคืนดีสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย (ปูติน)
ไวรัลบนโซเชียลมีเดีย เครดิตภาพ: X
เรียบเรียงโดย Right Style
1
19th Mar 2025
  • อ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Ted Lipien>
โฆษณา