Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
19 มี.ค. เวลา 12:11 • ท่องเที่ยว
Egypt (01) .. Land of the ancient Kingdom
อิยิปต์ .. ดินแดนแห่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่แห่งหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ประเทศที่อดีตกาลยังคงนำความยิ่งใหญ่สร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่นักเดินทางจากทั่วโลกให้ดั้นด้นเดินทางมาสัมผัสด้วยตนเอง
เมืองน่าดู ที่เต็มเปี่ยมด้วยอารยะธรรมโบราณ ความสวยงามที่ยากที่จะหาที่ไหนเสมอเหมือนในโลกใบนี้ อีกทั้งยังมีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาที่หยั่งรากลึกมานานนับพันๆปี
ที่นี่ จึงเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่ฉันตั้งใจจะไปเยือนสักครั้ง
ระยะทางกว่าเจ็ดพันกิโลเมตร กับการเดินราว 10 ชั่วโมง (ไม่นับการแวะเปลี่ยนเครื่องบิน) โดยสายการการบินแอร์โอมาน พาเรามาถึงกรุงไคโร จุดเริ่มต้นของการเดินทาง ท่ามกลางอากาศที่ค่อนข้างดี เหมาะสมกับกับการท่องเที่ยว
Cairo เมืองหลวงของประเทศอียิปต์
กรุงไคโร ตั้งริมฝั่งแม่น้ำไนล์ ไคโรมีประชากรประมาณ 15.2 ล้านคน ซึ่งเป็นเมืองที่ประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา .. ชื่อเมือง "ไคโร" ในภาษาอาหรับมีความหมายว่า “ชัยชนะ” โดยความเชื่อว่าเกิดจากที่มีการมองเห็นดาวอังคารในช่วงที่ก่อสร้างเมือง และดาวอังคารเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการทำลายล้าง
อย่างไรก็ตามในอีกความเชื่อหนึ่ง ชื่อไคโรมาจากที่เมืองไคโรเป็นเมืองที่รบชนะทุกกองทัพที่มาตีเมืองไคโร รวมไปถึง กองทัพมองโกล กองทัพครูเสด หรือแม้แต่กองทัพออตโตมัน
ภายในกรุงไคโรบอกเรื่องราววิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยกว่า 19.5 ล้าน ผ่านการจราจรที่คับคั่ง ด้วยพาหนะทุกประเภท อาทิ ม้า-ลาเทียมเกวียนเพื่อขนม้วนผ้า งานสิ่งทอ พรม ที่เป็นงานหัตกรรมขึ้นชื่อ รถตู้-รถแวนที่ดัดแปลงเป็น รถขนส่งสาธารณะที่พร้อมรับผู้โดยสารและสัมภาระเมื่อมีผู้คนโบกเรียก
อารยะธรรมอียิปต์โบราณ
อารยะธรรมอียิปต์ เป็นอารยะธรรมที่มีความยิ่งใหญ่อันเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขว้าง มีถิ่นกำเนิดในดินแดนใกล้เคียงกับอารยะธรรมเมโสโปเตเมีย เป็นแหล่งอารยะธรรมที่มีองค์ความรู้จากมรดกทางสถาปัตยกรรม รวมถึงมีแนวความคิดและความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาและปรัชญาอีกด้วย
อารยะธรรมของอียิปต์ดั้งเดิม มาจากการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดจากความโหดร้ายของธรรมชาติ ผสมผสานกับความคิดความเชื่อทางศาสนาและชีวิตหลังความตาย ทำให้ชาวอียิปต์ยอมรับนับถือเทพเจ้ามากมาย มีการสร้างศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา บูชาเทพเจ้า และดวงวิญญาณของฟาโรห์
Photo : Internet
ความเชื่อในโลกหน้าหรือความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณที่เป็นอมตะเรียกว่า Ka อันเนื่องมาจากเทพสูงสุดเป็นคนสร้างวิญญาณให้มนุษย์ จึงมีชีวิตหลังความตาย อันเป็นแรงจูงใจที่สำคัญยิ่งในการก่อสร้างพีรามิดและการทำมัมมี่ เพื่อให้วิญญาณของผู้ตายกลับมาสู่ร่างเดิมได้
ความเชื่อเรื่องเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์หยั่งรากลึกและเจริญเติบโตอยู่ในชีวิตและจิตวิญญาณของคนอียิปต์อย่างแท้จริง ชาวอียิปต์นับถือเทพเจ้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นหมาใน จระเข้ ฮิปโปโปเตมัส แมว แมลงเต่าทอง ..
ในเวลาต่อมาการบูชาสัตว์ได้เปลี่ยนเป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ และเป็นคนโดยสมบูรณ์ เช่นการนับถือดวงอาทิตย์ ซึ่งถือว่าเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ และเทพเจ้าที่สำคัญที่มีรูปร่างเป็นมนุษย์ซึ่งชาวอียิปต์ให้ความนับถือ คือ โอซิริส (Osiris) ถือว่าเป็นเทพเจ้าที่มีความอมตะ เป็นประมุขแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย และเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และความตาย เทพเจ้ารา (Ra) เป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ผู้ประทานชีวิต
ประวัติศาสตร์คร่าวๆ เรื่องเล่าของอดีต
อียิปต์โบราณ .. ตั้งอยู่ระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก โลกตะวันตกคือดินแดนที่อยู่รอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนโลกตะวันออก ได้แก่ ดินแดนเมโสโปเตเมียและดินแดนในแถบลุ่มแม้น้ำสินธุ
ทิศเหนือของอียิปต์จรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทิศตะวันตกติดกับทะเลทรายซาฮารา ทะเลทรายลิเบีย และทะเลทรายนูเบียทางทิศตะวันออก ถัดไปคือ ทะเลแดง
ทิศใต้จรดประเทศนูเบียหรือซูดานในปัจจุบัน
อียิปต์เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีพื้นที่ตั้งอยู่บนสองฟากฝั่งแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีลักษณะที่ต่างไปจากแม่น้ำอื่นๆ คือ ทอดตัวไหลจากภูเขาและที่ราบสูงทางตอนใต้ลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนเหนือที่มีพื้นที่ต่ำกว่า อันมีผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวอียิปต์โบราณ ด้วยเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักและเป็นเสมือนเข็มทิศในการเดินทาง โดยใช้ร่วมกับทิศทางการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์
ชาวอียิปต์แบ่งช่วงแม่น้ำไนล์เป็น 2 ช่วง คือ ต้นน้ำทางตอนใต้เรียกว่า “อียิปต์บน” (Upper Egypt) และปลายแม่น้ำในดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทางเหนือว่า “อียิปต์ล่าง” (Lower Egypt)
กำเนิดแห่งอาณาจักรโบราณ .. ในราว 3200 ปีก่อนคริสตกาล ราชาแมงป่อง (Scorpion king) ผู้ครองนครธีส (This) อันตั้งอยู่บริเวณตอนกลางแห่งลุ่มน้ำไนล์ได้กรีฑาทัพ เข้ายึดครองนครรัฐต่างๆในอียิปต์บนและตั้งตนเป็นฟาโรห์แห่งอาณาจักรบน
ราชาแมงป่องปรารถนาจะรวมอียิปต์เข้าด้วยกันแต่พระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อน โอรสของพระองค์(ข้อนี้นักประวัติศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักแต่จากหลักฐานที่มีแสดงว่าทั้งสองพระองค์น่าจะเกี่ยวดองกัน) นามว่า นาเมอร์ (Namer)ได้สานต่อนโยบายและกรีฑาทัพเข้าโจมตีอียิปต์ล่าง
ประมาณ 3,150 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าเมเนส (Menes) หรือนาเมอร์ (Narmer) สามารถรวบรวมเมืองต่างๆ ทั้งในอียิปต์บนและอียิปต์ล่างเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน และตั้งเมืองเมมฟิส (Memphis) เป็นเมืองหลวง ประวัติศาสตร์ของอียิปต์ยุคราชวงศ์จึงเริ่มต้นขึ้น ประวัติศาสตร์ของอียิปต์อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ยุค ดังนี้
1. ยุคราชวงศ์เริ่มแรก อยู่ในช่วง 3100-2686 ปีก่อนคริสตกาล โดยเริ่มตั้งแต่พระเจ้าเมเนส รวบรวมเมืองต่างๆ ได้ทั้งในอียิปต์ล้างและอียิปต์บนเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน จนกระทั่งมาถึงสมัยของฟาโรห์เมเนส (Menese) พระองค์สามารถผนวกทั้งสองอาณาจักรเข้าด้วยกันได้สำเร็จและสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นฟาโรห์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ที่ 1 ของอียิปต์โบราณ และเข้าสู่ราชวงศ์ที่ 1 และ 2 ยุคนี้เป็นยุคการสร้างอียิปต์ให้มีความเป็นปึกแผ่นเข็มแข็ง ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า องค์ฟาโรห์คือร่างประทับของสุริยะเทพ ที่ลงมาปกครองมนุษย์
2. ยุคราชวงศ์เก่า อยู่ในช่วง 2686-2181 ก่อนคริสตกาล โดยเริ่มจากราชวงศ์ที่ 3 อียิปต์ประสบความวุ่นวายทางการเมือง มีการย้ายเมืองหลวงไปตามเมืองต่างๆ แต่หลังจากนั้นก็มีราชวงศ์อียิปต์ปกครองต่อมาอีก 2 ราชวงศ์ คือ ราชวงษ์ที่ 9 และ 10
ในยุคนี้อียิปต์มีฟาโรห์ปกครองเริ่มตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 3 ถึงราชวงศ์ที่ 6 … ราชวงศ์ที่โดดเด่นในสมัยนี้คือ ราชวงศ์ที่ 4 ซึ่งมีการสร้างพีรามิดที่ยิ่งใหญ่มากมายโดยเฉพาะ มหาปิรามิดของฟาโรห์คูฟู ที่เมืองเซห์ ซึ่งสร้างขึ้นประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล
อียิปต์ในยุคนี้ถือว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่ง และการสร้างสรรค์ความเจริญในยุคนี้ได้เป็นรากฐานและแบบแผนของความเจริญของอียิปต์ในสมัยราชวงศ์ต่อๆ มา
3. ยุคราชวงศ์กลาง อยู่ในช่วง 2,040-1,782 ปีก่อนคริสตกาล ระหว่างราชวงศ์ที่ 11-13 ฟาโรห์ที่มีบทบาทในการสร้างความรุ่งเรืองให้กับอียิปต์ในยุคนี้คือ อเมนเนมเฮต ที่หนึ่ง (Amenemhet I) จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอียิปต์ด้านเศรษฐกิจ สถาปัตยกรรม การสร้างคลองติดต่อไปถึงทะเลแดง การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ วรรณคดีทั้งบทร้อยแก้วและร้อยกรอง
ยุคนี้เป็นช่วงเดียวกันกับอารยะธรรมบาบิโลนของพระเจ้าฮัมมูราบี แต่ความรุ่งเรืองของอียิปต์ก็หยุดชะงักลงจากการรุกรานของกลุ่มชนปศุสัตว์เร่ร่อนคือ พวกฮิกโซส (Hyksos) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เข้ายึดครองซีเรีย ปาเลสไตน์ และเอเชียไมเนอร์ได้แล้ว เพราะพวกฮิกโซสมีความเก่งกาจในการรบกว่าชาวอียิปต์ ทำให้สามารถครอบครองอียิปต์ไว้ได้ตั้งแต่ 1,670-1,570 ปีก่อนคริสตกาล แต่เนื่องด้วยอียิปต์มีความเจริญที่เหนือกว่า พวกฮิกโซสจึงเป็นฝ่ายรับความเจริญไปจากอียิปต์ จึงทำให้อารยะธรรมอียิปต์ไม่ขาดความต่อเนื่องแต่อย่างใด
4. ยุคราชวงศ์ใหม่ อยู่ในช่วง 1,570-332 ก่อนคริสตกาล ระหว่างราชวงศ์ที่ 18-31 เมื่อ ชาวอียิปต์ได้ก่อกบฏและมีชัยเหนือชาวฮิกโซส จึงเริ่มราชวงศ์ที่ 18 และขยายอำนาจการปกครองไปยังดินแดนซีเรีย ปาเลสไตน์และฟินิเซีย เพาะมีอาณาเขตกว้างมากขึ้น สมัยนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “สมัยจักรพรรดิ” (Empire)
แต่ในช่วงหลังๆ อำนาจการปกครองจากส่วนกลางค่อยลดลง เหล่าขุนนางที่ปกครองเมืองที่ห่างไกลก็เริ่มแข็งขืนต่ออำนาจมากขึ้นจนถึงประมาณ 700 ปีก่อนคริสตกาล อียิปต์ก็พ่ายแพ้ต่อชาวอัสซีเรียน และเมื่ออาณาจักรเปอร์เซียได้เข้ายึดครองเมโสโปเตเมีย อียิปต์ก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของเปอร์เซีย และประมาณ 332 ปีก่อนคริสตกาล ดินแดนอารยะธรรมทั้งเมโสโปเตเมีย เปอร์เซีย และอียิปต์ก็ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
การเมืองการปกครอง :
ในสังคมอียิปต์มีการแบ่งออกเป็นสามชนชั้น คือ
ชนชั้นสูง : ได้แก่ เชื้อพระวงศ์ นักบวช ขุนนาง .. นอกจากฟาโรห์แล้ว บุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดคือหัวหน้านักบวชของสุริยะเทพ รา ซึ่งเป็นจอมเทพสูงสุด ฟาโรห์จะมีคณะเสนาบดีที่นำโดย วิเซียร์ (Vizier) ซึ่งเป็นตำแหน่งขุนนางสำคัญ เป็นผู้ช่วย และส่งข้าหลวง (Nomarch) ไปทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองต่างๆ โดยขึ้นตรงต่อองค์กษัตริย์ ในยุคอาณาจักรเก่านี้ อียิปต์ไม่มีกองทหารประจำการ แต่จะเกณฑ์พลเมืองเข้ากองทัพเมื่อเกิดสงคราม
ชนชั้นกลาง :ได้แก่ พ่อค้า เสมียน ช่างฝีมือ
ชนชั้นล่าง : คือพวกชาวนาและผู้ใช้แรงงาน ในการบริหารงาน
ความเชื่อ :
เดิมทีก่อนการรวมแผ่นดิน หัวเมืองต่างๆทั้งในอียิปต์บน และ ล่าง ต่างนับถือเทพต่างๆกันต่อมาเมื่อรวมแผ่นดินแล้วก็ยังคงความเชื่อแบบพหุเทวะนิยม อยู่ โดยมี เทพเจ้ารา (RA) เป็นเทพสูงสุด
ชาวอียิปต์เชื่อว่าพระองค์เป็นผู้สร้างโลกและสวรรค์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตทั้งปวง นอกจากเทพเจ้าราแล้ว เทพที่ชาวอียิปต์นับถือกันมากได้แก่
เทพเจ้าโอซิริส เทพแห่งยมโลกผู้มีหน้าที่ตัดสินดวงวิญญาณ
.. เทพีไอซิสเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์
.. เทพเจ้าเซ็ท เทพแห่งสงคราม
.. เทพีฮาธอร์เทพีแห่งความรัก
.. และเทพเจ้าฮอรัส เทพผู้เป็นตัวแทนของฟาโรห์ทุกพระองค์
นอกจากนี้ยังมีเทพอื่นๆที่ถือเป็นเทพเจ้าประจำแต่ละเมือง
วิถีชีวิต :
ชาวอียิปต์โบราณดำรงชีวิตด้วยการกสิกรรม โดยเฉพาะในเขตที่ราบน้ำท่วมถึงหรือที่เรียกว่าเขตดินสีดำที่ชื่อว่า เคเมต เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ การเพาะปลูกได้ผลดี พืชผลที่ได้จะถือเป็นสมบัติของฟาโรห์และจะมีการแจกจ่ายแก่ประชาชนอย่างเหมาะสม
พืชที่นิยมปลูกกันคือข้าวสาลีและข้าวบาเล่ย์ โดยพวกเขาจะใช้ข้าวสาลีทำขนมปังและทำเบียร์จากข้าวบาเล่ย์ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นอาหารหลัก ของชาวอียิปต์โบราณ และพืชผลเหล่านี้ยังใช้เป็นสินค้าส่งออกไปยังดินแดนอื่นๆอีกด้วย
นอกจากการเพาะปลูกแล้วชาวอียิปต์ยังทำการจับปลา ล่านกน้ำและฮิปโปโปเตมัสในแม่น้ำไนล์ โดยใช้เรือที่ผูกจากต้นกก ส่วนในเขตดินสีแดงที่เรียกว่า เชเครต ซึ่ง อยู่ในเขตอียิปต์บน พวกเขาจะทำการล่าสัตว์ป่าอย่าง แอนทีโลป และแพะป่า ซึ่งมีอยู่มากมาย
บ้านเรือนของชาวอียิปต์สร้างจากอิฐตากแห้งและใช้ไม้ทำส่วนประกอบ เช่น กรอบประตูเนื่องจากในอียิปต์ไม้ค่อนข้างหายาก บ้านแต่ละหลังจะมีบันไดขึ้นดาดฟ้าเนื่องจากชาวอียิปต์จะใช้ดาดฟ้าเป็นที่ทำงานต่างๆเช่นการทำขนมปัง หรือแม้แต่เป็นที่พักผ่อนนั่งคุย
อักษรอียิปต์ :
ชาวอียิปต์ใช้อักษรภาพที่เรียก ว่าเฮียโรกลิฟฟิค (Hieroglyphic) ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็นรูปภาพและแบบที่เป็นสัญลักษณ์ประกอบเป็นคำ โดยจะบันทึกลงในแผ่นหินและม้วนกระดาษปาปิรัสซึ่งทำจากต้นกก
ตัวอักษรอียิปต์มีประมาณ 1000 ตัว .. ในสมัยก่อน ผู้ที่สามารถอ่านเขียนอักษรเฮียโรกลิฟฟิคได้คล่องแคล่วจะมีโอกาสได้ทำงานเป็นอาลักษณ์ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสที่จะเลื่อนขึ้นเป็นขุนนาง หรือนักบวชสำคัญได้
สำหรับอักษรของอียิปต์นั้น นับแต่อารยธรรมล่มสลายลงไปก็ไม่มีใครสามารถตีความได้ จนกระทั่งได้มีการค้นพบ ศิลาจารึก โรเซทต้า (ROSETTA) ในปี ค.ศ. 1799 ที่มีจารึกอักษรเฮียโรกลิฟฟิคกับอักษรกรีกโบราณเอาไว้ ฟรองซัวส์ ชองโพลียอง ใช้วิธีการค้นคว้าโดยอ่านเทียบกับอักษรกรีกโบราณ และสามารถตีความได้สำเร็จในปี 1822
บันทึก
3
2
2
3
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย