22 มี.ค. เวลา 01:30 • ประวัติศาสตร์

ต้องแบบใดจึงหรูหรา? มองย้อนคอนเซ็ปต์แห่งความแพงจากยุคโบราณถึงศตวรรษที่ 21

ความหรูหราได้ถูกผูกติดกับสถานภาพทางสังคมของผู้คนมาเป็นเวลานานทุกยุคทุกสมัย อย่างเช่นในปัจจุบันเองเราก็พบกับการมีอยู่ของแบรนด์หรูต่าง ๆ เป็นแบรนด์เนมที่ตอบสนองความต้องการสไตล์ชีวิตที่ต้องการความแพงและหรูหรา
1
คอนเซ็ปต์ของความหรูหราในสังคมปัจจุบันจึงมีความเกี่ยวข้องกับการแสดงความมั่งคั่งของตนเองออกมา ไม่ว่าจะผ่านการมีรถหรู, กระเป๋าแบรนด์ดัง, นั่งเครื่องบินเฟิร์สคลาสไปต่างประเทศ รวมไปถึงข้าวของต่าง ๆ ที่มีห้อยต่อว่า “ชิ้นเดียวในโลก” หรือ “10 ชิ้นในโลก” เพื่อจำกัดความเป็นหายากของมันเอาไว้ ผู้ที่คู่ควรและมั่งคั่งพอเท่านั้นถึงจะครอบครองความหรูหราเอาไว้ได้ แต่… ในอดีตมันมีคอนเซ็ปต์เรื่องความหรูหราแบบเดียวกับที่เรามีในปัจจุบันไหมนะ?
All About History สัปดาห์นี้จึงจะขอพาย้อนเวลาไปสำรวจคอนเซ็ปต์ความหรูหราของมนุษย์เราในแต่ละยุคสมัยกัน
-----
⭐ เพราะความหรูหรามาพร้อมกับสถานะทางสังคม
สถานะทางสังคมเป็นสิ่งที่มาคู่เคียงกับความมั่งคั่งและความหรูหรา แน่นอนว่าในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น ที่ไม่ปรากฎบันทึกเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษร หรือสิ่งของอื่นใด แต่ในขณะเดียวกันมันก็ยังพอหลงเหลือให้เห็นผ่านวัฒนธรรมงานศพของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
แต่ทั้งนี้สิ่งที่เราพบในหลุมศพก่อนประวัติศาสตร์ที่เป็นไห และเครื่องประดับลูกปัดหลากสีไปจนถึงเครื่องประดับสำริดนั้น มันไม่เชิงว่าเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความหรูหราในสังคมขณะที่มีชีวิตอยู่ หากแต่สามารถบ่งบอกถึงสถานะทางสังคมของโครงกระดูกที่อยู่ในหลุมนั้นได้
1
ครั้นพอล่วงเข้าสู่สมัยอียิปต์โบราณ แน่นอนว่าเป็นยุคสมัยที่มีระบบความเชื่อเกี่ยวกับสมมุติเทพ นั่นจึงทำให้เจ้าผู้ปกครองมีสถานะประดุจเทพเจ้าและพึงได้รับการปรนนิบัติและสักการะ ทำให้ความหรูหราเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยความหรูหราของฟาโรห์มาพร้อมกับการสรรเสริญย่องย่องผ่านการที่มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการอุทิศให้แก่ตนเอง การมีพระราชวังที่โอ่อ่า ไปจนถึงการมีพีระมิดสำหรับตนเองหลังความตาย
2
นอกเหนือจากฟาโรห์แล้ว ตัวของบุคคลที่มีสถานะทางสังคมเป็นชนชั้นสูงเองก็มีความหรูหราผ่านเครื่องประดับจากทองคำและเครื่องแต่งกายจากผ้าลินิน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มองว่าเป็นวัตถุดิบที่ดูแพงมาก ๆ ในสมัยนั้น
ชาวอียิปต์โบราณเองก็รู้จักแฟชั่นพอที่จะมีสไตล์เป็นของตัวเอง พวกเขารู้จักการใช้เครื่องสำอางไปจนถึงน้ำหอมต่าง ๆ จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางสังคมเช่นเดียวกันตลอดไปจนถึงความหรูหราในเรื่องหลังความตายผ่านการทำมัมมี่ และการประดับประดาสุสาน ซึ่งการที่ได้รับการทำมัมมี่เป็นของตัวเองก็นับว่าเป็นอะไรที่หรูพอสมควร เพราะขั้นตอนและวิธีการนั้นใช้เงินมากพอสมควร กลายเป็นความหรูหราที่มีเพียงแค่ผู้มีสถานะทางสังคมสูงเท่านั้นจึงจะเข้าถึงได้
-----
⭐ แม้แต่สีสันก็ยังมีความหรูหรา
ความนิยมทอง ไม่ได้อยู่แค่ในอียิปต์ แม้แต่ในกรีกเองก็ยังมีความนิยมทองอยู่เหมือนกัน ดังที่ปรากฎผ่านไหต่าง ๆ ที่มีการเลี่ยมทองลงไปในภาชนะสีแดงสีแดงของกรีก โดยนอกเหนือจากทองแล้วก็ยังมีเงินที่มีการทำเหมืองในเงินในกรีกด้วย
โดยเรื่องการใช้เงินและทองในฐานะของสิ่งหรูหราของชาวกรีกนี้ เป็นไปได้ว่าอาจจะมีอิทธิพลมาจากทางฝั่งตะวันออกอย่างเปอร์เซียที่มีความสัพันธ์กับกรีกในด้านสงคราม และอียิปต์ที่ความสัมพันธ์ในด้านการค้าตลอดจนองค์ความรู้ต่าง ๆ
ใน Oeconomicus ของ Xenophon มีอยู่บทหนึ่งกล่าวเอาไว้ว่า “บอกข้าเถิดที่รัก ข้าควรทำตัวอย่างไรจึงจะคู่ควรต่อความรักของเธอ… หรือบางทีอาจจะยั่วเย้าเธอด้วยสร้อยไม้ทาสีทองแลชุดย้อมม่วง?” จากเนื้อหาดังกล่าวเราจะเห็นว่าตัวละครได้ยกเอาสร้อยทาทองกับชุดย้อมม่วงมาเทียบว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาหรูหรา มั่งคั่งและคู่ควรกับความรักของภรรยาที่ให้เขามา ซึ่งนอกจากทองแล้วเราจะเห็นว่า “สีม่วง” ก็ได้มามีบทบาทด้านความหรูหราด้วย
ความหรูหราของสีม่วงมาจากการที่มันเป็นสีที่หาทำได้ยาก ทำให้มีแต่คนรวยหรือขุนนางเท่านั้นที่สามารถครอบครองมันได้ ซึ่งสีม่วงหลายเฉดอย่างสีม่วงไทเรียนนี้ว่ากันว่าต้องใช้หอยทากทะเลที่เรียกว่า Bolinus brandaris กว่า 250,000 ตัวในการทำสีปริมาณ 1 ออนซ์ และถ้าย้อมขนแกะไปขาย 1 ปอนด์มันจะมีราคาเทียบเท่ากับเงินเดือนข้าราชการระดับสูง 1 ปีเลยทีเดียว
จากกรีกสู่โรมัน คอนเซ็ปต์เรื่องความหรูหราก็ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็ยังพอปรากฎการใช้ทองและสีม่วงอยู่ในสังคมโรมันอันเนื่องมาจากอิทธิพลทางวัฒนธรรมกรีกที่ชาวโรมันรับมาอย่างเต็มที่
สังคมโรมันเป็นสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นอยู่ขีดสุด แน่นอนว่าความหรูหราจึงผูกติดกับชนชั้นสูงอย่างพาทริเขียน ซึ่งก็จะมีวัฒนธรรมประจำชนชั้นที่แตกต่างไป มีวิลล่าสุดหรูที่ประดับประดาด้วยงานจิตรกรรมและประติมากรรม แม้แต่เครื่องใช้ก็ใช้แต่ที่สวย ๆ จากช่างฝีมือดี ไปถึงสินค้านำเข้า ไม่ว่าจะเป็นไหมจีน, งาแอฟริกา, วิกผมสีหรูหราที่ทำจากพวกทาสชาวบริติชและเยอรมัน เป็นต้น
-----
⭐ ของสะสมและรสนิยมศิลปะ
เมื่อสังคมเริ่มเข้าสู่ยุคศักดินาในช่วงหลังยุคโบราณ ความหรูหราก็ยังคงผูกกับสถานะทางสังคมและแสดงออกผ่านเสื้อผ้าและเครื่องประดับ แต่สิ่งหนึ่งที่เพิ่มมาจากการประดับประดาทั่วไปที่เจอมายุคก่อนหน้าก็คือความนิยมขนเฟอร์ในภูมิภาคบอลติก ที่จะส่งอิทธิพลไปยังส่วนอื่น ๆ งานช่างทองได้รับความนิยม เครื่องประดับทองมีฝีมือเชืงช่างที่วิจิตรมากขึ้น
นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว แม้แต่อาหารเองก็ยังเป็นของที่หรูหรา โดยเฉพาะกับอาหารที่ปรุงขึ้นมาด้วยเครื่องเทศราคาแพงจากดินแดนตะวันออก เกิดความนิยมพรมตะวันออกมาปูประดับหรือแขวนไว้ในบ้าน ตลอดจนมีการแสดงถึงรสนิยมผ่านการเป็นผู้อุปถัมป์งานศิลปะด้วย
ยุคกลางเป็นสังคมที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความศรัทธาต่อศาสนา แน่นอนว่าถึงแม้ความหรูหราจะเป็นเครื่องแสดงสถานะของชนชั้นสูง ก็ยังมีมุมมองทางคริสต์ที่มองว่าความหรูหราเหล่นี้เป็นบ่วง เป็นบาปของมนุษย์ด้วย
จากยุคกลาง ไล่มาถึงยุคสมัยใหม่หลังการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ค่านิยมจากในอดีตหลายอย่างก็ถูกขุดขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะกับงานศิลปกรรมที่ถูกมองว่าสวยงาม ตลอดจนความสนใจใคร่รู้ในเรื่องของยุคโบราณ การหาสิ่งของต่าง ๆ มาเติมเต็มตู้พิศวง (Cabinet of Curiosities) จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งการละเล่นหรู ๆ ของชนชั้นสูง ของแปลกหายากจากต่างถิ่นรวมไปถึงโบราณวัตถุสำคัญ อีกทั้งยังมีความนิยมในการอุปถัมป์ศิลปินคนต่าง ๆ เนื่องจากมองว่างานศิลปะเป็นอะไรที่สามารถบ่งบอกถึงกำลังซื้อและความหรูหราได้เป็นอย่างดี
1
ซึ่งความหรูหราของการครอบครองศิลปวัตถุและโบราณวัตถุก็ได้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงศตวรรษหลัง ๆ เกิดการนำเข้างานศิลปกรรมจากต่างประเทศ อย่างเช่นพวกเครื่องลายครามที่เราเคยกล่าวถึงไปในโพสต์ “เมื่อการค้าโลกถูกยึดครองด้วยเครื่องลายคราม” อีกทั้งเรื่องความหรูหราไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องบาปเหมือนในยุคกลางแล้ว ความหรูหรากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
จากยุคโบราณจนถึงยุคต้นสมัยใหม่ที่เราได้กล่าวไปในข้างต้น เราจะสามารถเห็นถึงความข้องเกี่ยวและสัมพันธ์อย่างประการณ์ ก็คือความหรูหราของคนในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ล้วนแต่มองความหรุหราที่ตัววัตถุ ตั้งแต่ ของนำเข้า, เสื้อผ้า, เครื่องประดับ, อัญมณี ที่พวกเขาครอบครอง
การครอบครองซึ่งของราคาแพงและสวยงามจึงเป็นคอนเซ็ปต์คราว ๆ เกี่ยวกับความหรูหราของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นสูง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีแง่มุมทางสังคมบางส่วนที่มองว่ามันเป็นของไม่ดี เป็นบาป หรือเป็นเปลือกนอกที่ฟุ่มเฟือย ซึ่งข้อถกเกียงเกี่ยวกับคุณค่าและคุณประโยชน์ของความหรูหราก็เคยมีในกรีกโบราณ แต่อย่างไรก็ดีมันถูกนำกลับมาวิพากษ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งในยุคเรืองปัญญา
-----
⭐ เมื่อความหรูหราไม่ได้อยู่แค่ในสิ่งของ
ถึงม้ว่าเราจะเห็นถึงความหรูหราของผู้คนในอดีตมาเป็นระยะเวลานานหลายยุคหลายสมัย แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว ความหรูหราก็ยังยึดโยงกับสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะกับชนชั้นสูง และทำให้เกิดคำถามในหมู่ปัญญาชนศตวรรษที่ 18 ขึ้นมาว่า แบบไหนที่เรียกว่า “หรูหรา”? ไลฟ์สไตล์เหรอ? หรือสิ่งของที่ครอบครอง? แล้วความหรูหรานี้มันดีแค่ไหนกัน? คำถามดังกล่าวได้นำมาซึ่งการถกเถียงครั้งสำคัญของปัญญาชนยุโรปที่เรียกกันว่า “การวิวาทแห่งความหรูหรา” ในฝรั่งเศส ซึ่งมีนักปรัชญาคนสำคัญสองคนอย่างรูสโซ และวอลแตร์ เป็นคู่ชกหลักของการวิวาทครั้งนี้
1
รูสโซมองว่าความฟุ่มเฟือยเป็นกับดัก เป็นบ่วงที่ให้คนรวยสนุกสนานไปกับมันและในขณะเดียวกันก็เป็นบ่วงที่ทำให้คนจนกระหายกระเสือกกระสนอยากได้มันเช่นเดียวกัน ความหรูหราเป็นตัวชี้วัดถึงความไม่เท่าเทียมในสังคม ที่ซึ่งผู้คนส่วนน้อยอย่างชนชั้นสูงได้รับสิ่งที่ดีกว่าคนส่วนใหญ่อย่างไพร่ทั่วไป ความหรูหราจึงมีคุณค่าในฐานะของ “สถานะทางสังคม”
อย่างไรก็ดีสำหรับวอลแตร์แล้วเขามองความหรูหราต่างไปจากรูสโซ วอลแตร์มองว่าความงามและความสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่ปรากฎผ่านความหรูหรานั้นเป็นเสาหลักสำคัญในสังคมที่ดี วอลแตร์มองความหรูหราในฐานะของศิลปะ เป็นสิ่งที่เติมเต็มความเป็นมนุษย์ ความหรูหราของวอลแตร์จึงมีคุณค่าในฐานะ “คุณภาพชีวิต”
ในสังคมศตวรรษที่ 18 ในหลาย ๆ พื้นที่ก็นับว่ามั่งคั่งและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจำนวนไม่น้อย และได้ทำให้ความหรูหราไม่ได้เป็นสิทธิพิเศษสำหรับชนชั้นสูงอย่างพวกกษัตริย์ ขุนนาง หรืออัศวินอีกต่อไป พ่อค้าวาณิชเองก็สามารถสัมผัสกับความหรูหราได้ถ้าหากมีเงินมากพอ
และสำหรับวอลแตร์เขาก็ยังมองว่าความหรูหรามันไม่ได้ยึดติดกับแค่สิ่งของที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียว ความหรูหราเราสามารถสัมผัสมันได้ด้วยประสบการณ์ ได้ไปเที่ยวได้ไปเรียนรู้ ได้ไปชื่นชมก็นับว่าเป็นการสัมผัสกับความหรูหราแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าตัวของวอลแตร์นั้นก็เดินทางไปในหลากหลายสถานที่ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมตะวันออกมากพอที่จะหยิบมาเขียนเป็นปรัชญานิยายได้ จะทำให้วอลแตร์มองมองความหรูหราเป็นมากกว่าแค่สิ่งของก็ไม่แปลกนัก
การท่องเที่ยวนับว่าเป็นอีกหนึ่งความหรูหราที่เราสามารถพบได้ในศตวรรษที่ 18 อย่างการเที่ยวแกรนด์ทัวร์ของลูกผู้ดีชาวอังกฤษที่ท่องเที่ยวศึกษาประวัติศาสตร์, ศิลปะ และโบราณคดีตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในยุโรป เพื่อเสริมสร้างซึ่งรสนิยมที่เป็นไปตามที่ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่เป็น ตลอดจนรับรู้ถึงความมั่งคั่งและยิ่งใหญ่ของชาวยุโรปด้วย
นอกเหนือจากการท่องเที่ยวแล้วก็ยังมีรสนิยมการจัดงานเลี้ยงปาร์ตี้ ซึ่งในศตวรรษที่ 18 จะมีความนิยมจัดเลี้ยงในสวนที่ให้อารมณ์เหมือนอยู่ในชนบทที่หลีกหนีความวุ่นวายในเมืองเข้าไป ที่เรียกกันว่าแฟ็ตกาล็องต์ ซึ่งทั้งแกรนด์ทัวร์ และแฟ็ตกาล็องต์ก็ล้วนแต่สะท้อนถึงแนวคิดของวอลแตร์ที่ว่าความหรููหรายังหมายรวมถึงประสบการณ์ด้วย ไลฟ์สไตล์นี้จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งคอนเซ็ปต์หลักของความหรูหราในช่วงสมัยใหม่ราวศตวรรษที่ 18 จนถึงช่วงศตวรรษที่ 19 นอกเหนือไปจากสิ่งของสะสม
-----
⭐ กำเนิดแบรนด์หรู ความหรูหราที่อยู่คู่สังคมจนถึงศตวรรษที่ 21
ก่อนหน้าที่เราจะมีของแบรนด์เนมใช้ ในอดีตผู้คนจะหาซื้อสิ่งของที่มีคุณภาพก็จากชื่อช่างเป็นหลัก ยังไม่ได้มีการตั้งเป็นแบรนด์อย่างเป็นทางการที่ค้าขายสินค้าในระดับอุตสาหกรรมเสียทีเดียว โดยในศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มมีแบรนด์เนมต่าง ๆ ผุดขึ้นมามากมาย งานช่างได้ถูกยกระดับ สตูดิโอได้ถูกยกระดับเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าเฉพาะนั้น ๆ อย่างแบรนด์แรก ๆ ก็เช่นแบรนด์แอร์เมส ของเธียร์รี่ แอร์เมส ที่ขายอานม้าและอุปกรณ์ขี่ม้า ก่อนที่จะกลายมาเป็นแบรนด์กระเป๋าซื้อดังในปัจจุบัน
ความหรูหราของแบรนด์เนมยุคแรกล้วนแต่เป็นสิ่งที่จำเพาะเจาะจงไปที่ตัวของเสื้อผ้าและแฟชั่นมากกว่า ในขณะที่ยุคอดีตก่อนหน้า จะเน้นไปที่การแสดงความหรูหราผ่านงานศิลปกรรมจำพวกผลงานศิลปะและเครื่องประดับ การที่ความหรูหราจากแบรนด์เนมเหล่านี้ได้มาเป็นอาภรณ์ประดับเรือนกาย ได้ทำให้มันกลายเป็นสิ่งของที่สามารถเอาออกไปอวดโฉมได้ และแสดงถึงสถานะทางสังคมและความหรูหราของเจ้าของได้เป็นอย่างดี
ความหรูหราที่ปรากฎผ่านแฟชั่นยังคงดำเนินอยู่ในสังคมรื่อยมา จากศตวรรษที่ 19 ล่วงมาจนถึงศตวรรษที่ 2 ในปัจจุบันนี้ ซึ่งมันก็ยังคงสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์หลักจากในอดีตในฐานะของสิ่งของที่เป็นเครื่องแสดงถึงสถานะของผู้คน เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ผูกขาดอยู๋กับชนชั้นสูงเหมือนแต่ก่อนแล้ว เรา ๆ ก็สัมผัสความหรูหราได้เพียงแค่มีเงินก็เท่านั้นเอง
นอกจากนี้การศึกษาของหลายแหล่งอย่างเช่นในบทความของ Mario Fernandez Hernandez บน Jing Daily ก็ได้ชี้ให้อยู่บ้างว่าคนในยุคมิลเลนเนียล ให้ความสนใจกับความหรูหราผ่านประสบการณ์แบบที่วอลแตร์กล่าวถึงมากกว่าความหรูหราผ่านสิ่งของด้วยซ้ำไป และถ้าเป็นสิ่งของ ผู้บริโภคในยุคมิลเลนเนียลก็ยังคงมองในแง่ของจริยธรรมในการผลิต ต้องเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่อุดหนุนสินค้าที่มีการทดลองกับสัตว์ด้วย เป็นต้น ทำให้ความหรูหรานั้นมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…
-----
ผู้เขียน : ณัฐรุจา งาตา
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#ประวัติศาสตร์ #ความหรูหรา #แบรนด์เนม #สินค้า #รสนิยม #ยุโรป #Bnomics #BBL #BangkokBank #ธนาคารกรุงเทพ
-----
อ้างอิง:
Veiga, Paula. Lifestyles of the rich and famous... Egyptians.
Crowe, Kelly Accetta. All that glitters is not gold – emulating luxury in the ancient Greek world.
HunterLab. The Color Purple — History, Meaning and Facts.
Lightfoot, Christopher S. Luxury Arts of Rome
Dryl, W. History as a Factor Creating the Value of a Luxury Brand.
Annales Universitatis Mariae Curie-Skłodowska, sectio H – Oeconomia, Vol. 56, No. 5.
DOI:10.17951/h.2022.56.5.63-80
Lamens, Antoinette. Back to Basics: Defining Luxury for the 21st Century
Hernandez, Mario Fernandez. Opinion: China Does Care About Ethical Luxury
Ellis, Kristi. The Evolution of Luxury: From Golden Elegance to Green Excellence.
โฆษณา