22 มี.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

มนุษย์เงินเดือนควรรู้ !! 2 เครื่องมือช่วยออมเงิน เตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ

การวางแผนเกษียณเป็นเรื่องที่หลายคนคิดว่าไกลตัวเลยยังไม่รีบวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ บางคนเน้นวางแผนกับเป้าหมายในระยะสั้นเพียงเท่านั้น จึงทำให้มีเงินเก็บไม่เพียงพอเมื่อถึงเวลาเกษียณ
วันนี้เราเลยมาแนะนำตัวช่วยออมเงินเพื่อวัยเกษียณสำหรับมนุษย์เงินเดือนโดยเฉพาะ เพราะเป็นเครื่องมือที่ทั้งออมเงินเพื่อเกษียณและยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีอีกด้วย
ซึ่งเครื่องมือช่วยออมเงินเพื่อเกษียณที่เหมาะกับมนุษย์เงินเดือน ก็คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แม้ชื่อจะคล้ายกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันในหลายประเด็น ทั้ง 2 กองทุนนี้จะเหมือนและต่างกันตรงไหนบ้าง ตามมาอ่านต่อกัน!!
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
เป็นกองทุนภาคสมัครใจที่นายจ้างและลูกจ้างบริษัทเอกชนร่วมกันจัดตั้งขึ้น ถือเป็นสวัสดิการที่นายจ้างให้กับลูกจ้าง และลูกจ้างมีสิทธิเลือกว่าจะเป็นสมาชิกกองทุนหรือไม่ก็ได้ ซึ่งบางบริษัทอาจจะมีหรือไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างก็ได้เช่นกัน
รูปแบบการลงทุน : ประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ ในอัตรา 2 - 15% ของเงินเดือน
สินทรัพย์ลงทุน : ลงทุนได้ทุกประเภทสินทรัพย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนายจ้างกำหนดนโยบายคัดเลือกกองทุนให้ลูกจ้างเลือกลงทุน
ระยะเวลาการถือครอง : จนกว่าจะออกจากงานในทุกกรณี ต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี และระหว่างการถือครองจะไม่มีการเบิกจ่ายเงินสะสมออกมาโดยเด็ดขาด
การสลับกองทุน : เมื่อลาออกจากบริษัท สามารถสับเปลี่ยนไปกองทุน RMF for PVD ได้
สิทธิประโยชน์ทางภาษี : สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง และเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เมื่อเกษียณอายุ : เลือกได้ว่า จะถอนออกบางส่วน หรือรับเงินเป็นงวด หรือรับเงินทั้งก้อนได้ (ตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด)
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
เป็นกองทุนรวมที่รัฐบาลไทยส่งเสริมสนับสนุนคนไทยออมเงินเพื่อการเกษียณ โดยจะเน้นให้ลงทุนต่อเนื่องในระยะยาว พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้คนไทยลงทุน
รูปแบบการลงทุน : เป็นเงินลงทุนของผู้ลงทุนที่ตัดสินใจเองทั้งหมด ไม่มีกำหนดจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ
สินทรัพย์ลงทุน : ลงทุนได้ทุกประเภทสินทรัพย์
ระยะเวลาการถือครอง : ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี และสามารถขายคืนหน่วยลงทุนเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ลงทุนครบ 5 ปี นับแบบวันชนวัน
การสลับกองทุน : สามารถสับเปลี่ยนจากกองทุน RMF ด้วยกันได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนประเภทกองทุนได้ (ตัวอย่างเช่น ไม่สามารถสับเปลี่ยนจาก RMF ไป SSF)
สิทธิประโยชน์ทางภาษี : 30% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับสิทธิเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เมื่อเกษียณอายุ : ได้รับเป็นเงินก้อน พร้อมผลตอบแทนจากการลงทุน
โฆษณา